ชีวิตที่เมืองลาว : 24 มกราคม 2554 งานเร็วหรือ "ช้า..."


สำหรับแปลนงานวันนี้หลัก ๆ ก็จะมี 2 ส่วนก็คือ การเทเสาอีก 3 ต้นที่เหลือ และเตรียมตั้งแบบคานพื้นที่มีความยาวประมาณ 70 เมตร

แต่ก็เนื่องจากมีข่าวการเสียชีวิตของพี่น้องที่เคยมาช่วยงานท่านหนึ่ง ทำให้คนงานจากบ้านสานะคามวันนี้ไม่มีใครมา
เหลือก็แต่เพียงคนงานบ้านโนนยางซึ่งมีชาย 5 ญ 5 คนเป็นกำลังหลัก

Large_2401201103

 

งานของผู้หญิงวันนี้มีค่อนข้างน้อย นอกจากที่จะขนดินเป็นกิจวัตรประจำวันแล้ว ก็มีเพียงหิ้วถังปูนเพื่อทำเทเสาเพียงสามต้นเท่านั้น
วันนี้ผู้หญิงจึงว่าง ๆ ทำให้มีโอกาสวิพากษ์วิจารณ์ข่าวการเสียชีวิตของพ่อใหญ่ที่ตายไปได้หลากหลายแนว

สิ่งที่ได้แง่คิดในวันนี้...
จากการที่ข้าพเจ้าสังเกตดูการทำงานของช่างสุภาในวันนี้แล้วก็ “แว๊บ” ความคิดหนึ่งขึ้นมาได้
ความคิดนั้นก็คือ “ถ้าไปทำงานเหมาคงจะเจ๊งแน่ ๆ”
คือช่างสุภาทำงานละเอียดประณีตมาก สมแล้วกับการทำงานรายวัน เพราะถ้าไปรับเหมาแล้วคิดเป็นเมตรเหมือนอย่างที่เราเคยจ้าง ค่าจ้างตัวเองกับคนงานกินตายเลย...

การทำงานรายวันก็ดีอย่าง เราจะได้งานละเอียด แต่ถ้าคุมไม่ดี คนงานก็อู้ เสียเงินไปโดยใช่เหตุ
ส่วนการทำงานเหมา งานจะเร็วมาก แต่ถ้าคุมไม่ดีก็ “ชุ่ย” เพราะคนงานรีบเร่งเพื่อทำให้เสร็จเร็ว ๆ

ดังนั้น การมีช่าง 2 คนหลักในงานนี้ก็คือว่า “สมดุล”
เพราะข้าพเจ้าเคยได้ยิน “คำถามทางการบริหาร” ที่เขาเคยถามกันว่า คนที่ใช้หลักวิชาการในการบริหารงาน กับคนที่ใช้สัญชาตญาณในการบริหารงาน ใครที่จะประสบความสำเร็จในการบริหารมากกว่ากัน

สำหรับคำตอบที่เขาเฉลยให้ข้าพเจ้าฟังนั้นก็สรุปได้ว่า “เท่ากัน” คือมีโอกาสความสำเร็จเท่ากัน

เพราะนอกจากหลักการทางวิชาการที่เมื่อก่อนมักน้อย Economy of scale คือผลิตมากต้นทุนต่ำแล้ว บัดเดี๋ยวนี้ยังต้องคำนึงถึง Economy of speed ด้วย จะมาชักช้า ๆ อีกาก็คาบไปกินหมด

ดังนั้น คนที่มีฝีมือประณีตแบบช่างสุภา เมื่อมาเจอ “ไอ้หนุ่มมัดเมา” อย่างช่างเนาแล้ว ก็คานน้ำหนักกันได้อย่างพอดี

ช่างเนานี่ไม่ต้องพูดถึงเรื่องความปราณีต ทำงานได้ รวดเร็ว ว่องไว ใช้สัญชาตญาณเป็นตัวนำ
แต่ช่างสุภาเน้นวิชาการ ทุกอย่างต้องเนี๊ยบ บางทีเนี๊ยบเกินไปในสิ่งที่ไม่จำเป็น

เวลาเรานั่งดูงาน พอเห็นช่างสุภาทำงานก็อึดอัดว่า ทำเร็ว ๆ กว่านี้ก็ได้ ช้าเกินไป เปลืองเกินไป
เวลาเรานั่งดูงาน พอเห็นช่างเนาทำงานก็อึดอัดว่า ช้า ๆ หน่อยก็ได้ ไม่ต้องรีบอะไรวุ่นวายขนาดนั้น

แต่ก็อยู่ที่เรานี่แหละ ที่จะแจกงานให้ใครทำอะไร
เช่นเรื่องงานตัดเหล็กผูกเหล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง “โม่ปูน” แจกให้ช่างเนาไปได้เลย ทำงานอย่างกะม้าวิ่ง เรื่องร้อนเรื่องเหนื่อยไม่ต้องพูดถึง สู้ทุกสถานการณ์

ส่วนช่างสุภาทำท้องคานไป จะประณีตขนาดไหนก็สุดแต่ใจปรารถนา เพราะถ้าให้ช่างเนาไปตีท้องคาน หรือดีดเส้นเสา เสาและคานคงคดเคี้ยวเลี้ยวลดไม่รู้จักจบจักสิ้น...

งานนี้ช่างสุภาจึงมีหน้าที่ ดึงเอ็น ตีเส้น ดีดเต๊า อันเป็นงานที่ต้องการความเที่ยงตรง
ส่วนช่างเนา ใครจะมาแย่งหน้าที่ผสมปูนเขาไม่ได้ เพราะเขาใช้สัญชาตญาณทางตาผนวกกับวิชาการบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ

เรื่องผสมปูนนี่ ต้องยกให้ช่างเนา เพราะใช้ตามากกว่าหู
เพราะงานนี้คนเยอะ คนโน้นก็บอกสูตรนั้น คนนั้นก็บอกสูตรนี้ ใครจะบอกอะไรก็บอกไป ช่างเนาดูปูนในโม่อย่างเดียว ใครตักทรายมาก หินน้อย ไม่สน ฉันจะเติมตามที่ตาฉันเห็นว่าขาดอะไร

อย่างช่างเนาก็ดีไปอย่าง คือ บางคนก็ยึดติดกับสูตรมากเกินไปเช่น 1 : 2 : 3
ที่จริงก็น่าเป็นอย่างนั้น ถ้าหากเราควบคุมคนตักหินทรายได้ว่า กรุณาตักทรายแล้วบาดขาดถังให้เรียบ หินนี่ก็ต้องขนาดเท่ากันทั้งหมด กรุณาไปชั่งน้ำหนักมาก่อนเทลงไปโม่

แต่พฤติกรรมการทำงานจริง ๆ บางคนก็ตักทรายล้นถัง บางคนก็ตักครึ่งหนึ่ง
หินนี่ก็ไม่เคยที่จะกะให้ได้เหมือนกันทุกถัง บางถังเจอหินก้อนใหญ่ บางถังเจอหินก้อนเล็ก แล้วยิ่งที่นี่เป็นหินแม่น้ำโขงด้วยแล้ว ขนาดแตกต่างกันมาก

แล้วยิ่งเรื่องน้ำไม่ต้องพูดถึง
บางคนก็สตริ๊กถึงเรื่องน้ำว่าต้องใส่เท่านั้นถังเท่านี้ถัง
ข้าพเจ้าเคยสตริ๊กอย่างนี้มาแล้ว แต่เมื่อได้คำถามว่า “แล้วทรายเปียกกับทรายแห้ง จะทำอย่างไร...?” ก็ถึงกับหงายเก๋ง...

ดังนั้น อย่างช่างเนาก็ดีไปอย่าง คือ ใครจะตักอย่างไงมาฉันไม่สน
มากน้อย ฉันใช้ตาและหัวของฉันที่มีประสบการณ์พิจารณา มากน้อยฉันก็เติม
ฉันรู้ว่าหน้างานนี้เป็นตอหม้อ เป็นเสา เป็นคาน ต้องใช้ความแข็งแรงขนาดไหน
สตง สเต๊ง ไม่ต้องมาพูด พูดแค่ว่าจะเอาแข็งหรือไม่แข็ง...

แล้วตอนก่อนกลับบ้านวันนี้ แม่ออกแววมาถามเราว่า งานที่ทำผ่านมา “เร็วหรือช้า...?”
เราก็ตอบไปว่า “เร็วนะ” เพราะถ้าหากพูดถึงเหตุปัจจัยที่ไม่สมบูรณ์พร้อมของที่นี่แล้ว ก็ถือว่าทำไปได้เร็วพอสมควร เนื่องจากมี “แรงคนและแรงใจมาช่วยเยอะ...”

 

Large_2401201101

การมีคนมาทำงานวันละ สิบยี่สิบคน บางวันถึงสามสิบคนนี้ งานอย่างที่เมืองไทยต้องใช้รถไถ รถแบ็คโฮ หรือรถปูนสำเร็จ ก็ทำเสร็จได้โดยใช้ระยะเวลาใกล้เคียงกัน

ถึงแม้นว่าจะไม่สะดวกเหมือนเมืองไทยที่โทรฯ สั่งได้ทุก ๆ อย่าง
ไม่ว่าจะเป็นปูน ไม้แบบ ไม้ตุ๊กตา หิน ปูน ทราย สั่งได้ วิ่งออกไปเอาเองก็ได้ แต่การที่ซื้อของแล้วขนข้ามมาทีเดียว ก็ทำให้ต้นทุนลดลงไปเยอะ

เพราะถ้าหากซื้อวัสดุก่อสร้างจากร้านที่นี่แล้ว ราคาจะสูงกว่าเมืองไทยกว่า 30 % เนื่องจากทั้งค่าขนส่ง ค่าภาษี บวกกำไรของเจ้าของร้าน ก็ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นไปอีกบาน

ดังนั้นการที่รวบรวมของแล้วขนมาทีเดียว โดยขออนุญาตขนวัสดุอุปกรณ์ข้ามประเทศเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากวัสดุก่อสร้างที่ขนมานี้ มิได้ขนมาเพื่อค้าขาย สร้างกำไร คือ ขนข้ามมาเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ จึงได้รับสิทธิยกเว้นค่าธรรมเนียมต่าง ๆ หรือค่าขนส่ง ค่ารถ ค่าคน ก็ได้รับการลดราคาอีกพอสมควร

ถึงแม้นว่าจะดูเหมือนซื้อของมากองทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานไม่ได้ใช้
แต่ไซด์งานของเราก็ไม่ได้มีข้อจำกัดทางด้านพื้นที่การจัดวาง ที่ต้องเช่า หรือไม่เกะกะใคร
การใช้หลัก Just in time แบบประเทศไทยที่มีปัญหาเรื่องพื้นที่บ้าง หรือคำนึงถึงความเสียหายของเหล็กที่เกิดจากสนิม หรือปูนที่จะเจอความชื้น เมื่อถ่วงน้ำหนักกับต้นทุนทางด้านการขนส่งสินค้าข้ามประเทศแล้วถือว่า “คุ้มค่า” และ “รวดเร็ว...”

24 มกราคม 2554
โครงการก่อสร้างเมรุฯ วัดป่าธรรมศักดิ์สิทธิ์
เมืองสานะคาม แขวงเวียงจันทน์
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว...

หมายเลขบันทึก: 422343เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2011 22:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 06:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท