แอลกอฮอล์เพิ่มเสี่ยงหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ(AF) [EN]


สำนักข่าวรอยเตอร์ตีพิมพ์เรื่อง 'Drinking may raise risk of abnormal heart rhythm' = "(การ)ดื่ม(แอลกอฮอล์)เพิ่มเสี่ยงหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ", ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ [ Reuters ] 
  • [ risk of ] = ความเสี่ยง(ในเรื่อง...)
  • [ abnormal ] > adjective = (ซึ่ง)ผิดปกติ; 'ab-' นำหน้าคำใด = "ไม่" หรือ "ผิดปกติ"
  • [ rhythm ] > [ ริต - ตึ่ม ] > http://www.thefreedictionary.com/rhythm > noun = จังหวะ ลีลา
.
คณะผู้เชี่ยวชาญทบทวนการศึกษาวิจัย 14 รายงานพบว่า คนที่ดื่ม (แอลกอฮอล์ - เหล้า เบียร์ ไวน์ ฯลฯ) หนักที่สุดเพิ่มเสี่ยงหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ หรือหัวใจเต้นรัวชนิด AF (atrial fibrillation) 51% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ดื่ม (non-drinkers / abstinence) หรือดื่มนานๆ ครั้งและไม่ดื่มหนัก (occasional drinkers)
.
การศึกษานี้นิยามว่า คนดื่มหนัก (heavy drinkers) = ผู้ชายที่ดื่มเกิน 2 ดริ๊งค์/วัน, ผู้หญิงที่ดื่มเกิน 1 ดริ๊งค์/วัน (1 ดริ๊งค์ = ไวน์เจือจาง 125 มิลลิลิตร = เบียร์เจือจาง 325 มล./กระป๋องเล็ก, ถ้าเป็นชนิดเข้มข้นจะมีปริมาณน้อยกว่านี้ เช่น เบียร์ไทยส่วนใหญ่ ฯลฯ)
.
หัวใจคนเรามี 4 ห้อง, ปกติหัวใจคนเราจะหดตัวพร้อมกันทั้งห้อง โดยห้องบน(บนขวา-บนซ้าย)หดก่อนห้องล่าง(ล่างขวา-ล่างซ้าย)เล็กน้อย
.
AF เป็นภาวะที่หัวใจห้องบนเต้นรัว หรือหดตัวไม่พร้อมกันทั้งห้อง
.
การดื่มหนัก (drinking binge) เพิ่มเสี่ยง AF ซึ่งอาจทำให้มีอาการใจสั่น หน้ามืด เป็นลม วูบ หัวใจวาย, และอาจเกิดลิ่มเลือดหรือก้อนเลือดจากกระแสเลือดไหลวน หลุดลอยไปอุดหลอดเลือดต่างๆ เช่น อุดหลอดเลือดสมอง เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือตายได้
.
การดื่มหนักนานๆ ครั้ง (episodic) เช่น ทุกเทศกาล ทุกงานศพ-งานบวช-งานสังสันทน์ ฯลฯ เสี่ยงอันตรายมากกว่าการดื่มขนาดต่ำมากๆ เป็นประจำ (habitual)
.
อ.ดร.ซาโตรุ โคดามะ จากมหาวิทยาลัยสถาบันคลินิกซึคุบะ อิบารากิ ญี่ปุ่น ทำการศึกษา (ตีพิมพ์ใน Am J Cardiology) พบว่า การดื่มเป็นประจำก็เพิ่มเสี่ยง AF เช่นกัน
.
ความเสี่ยง AF เพิ่มขึ้น 8% ทุกๆ หน่วยแอลกอฮอล์ 10 กรัม
.
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) รายงานว่า คนอเมริกันมี AF มากกว่า 2.6 ล้านคน/ปี(2010), ความเสี่ยงภาวะนี้เพิ่มตามอายุ คือ อายุมากขึ้น-เสี่ยงเพิ่มขึ้น
.
นอกจากนั้นยังเพิ่มตามปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ความดันเลือดสูง เบาหวาน น้ำหนักเกินหรืออ้วน ต่อมธัยรอยด์ทำงานมากผิดปกติ
.
การศึกษาใหม่พบว่า การดื่มหนัก (5 ดริ๊งค์/วันขึ้นไปในผู้ชาย น้อยกว่านั้นในผู้หญิง และผู้ชายน้ำหนักตัวน้อย หรือรูปร่างเล็กกว่าฝรั่ง) เพิ่มเสี่ยง AF ชัดเจน
.
การตรวจแอลกอฮอล์ในลมหายใจคนขับรถเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันอุบัติเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งป้องกันคนดีๆ ถูกคนเมาทำร้าย เช่น คนเมาขับรถชน ก่อเหตุทะเลาะวิวาท ฯลฯ
.
อาจารย์ท่านหนึ่งเสนอให้ตำรวจตรวจแอลกอฮอล์ทุกคนที่รับการรักษาอุบัติเหตุที่โรงพยาบาล นี่เป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยคนไทย ไม่ให้บาดเจ็บ หรือตายโดยไม่จำเป็น
.
การไม่ดื่มหนักลดเสี่ยงโรคภัยไข้เจ็บมากมาย เช่น ตับอักเสบ, ตับอ่อนอักเสบ (ทำให้ปวดท้องทะลุหลังรุนแรง ท้องอืดนานนับสัปดาห์ และถึงตายได้) ฯลฯ
.
ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ
.
 

 > [ Twitter ]

ที่ มา                               

  • Thank [ Reuters ] > SOURCE: bit.ly/guQxql Journal of the American College of Cardiology, online January 17, 2011. 
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 20 มกราคม 2554.
  • ข้อมูล ทั้งหมดเป็นไปเพื่อ การส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแล ท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
หมายเลขบันทึก: 421837เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2011 22:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 20:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท