เพลงอีแซว ตอนที่ 11 เกาะติดเวทีเพลงอีแซวห้อง 512 สกรุ๊ปชีวิต ช่อง 11 บันทึกการแสดงสด


สิ่งที่ผมได้ลงทุนลงแรงหยาดเหงื่อที่ไหลจนแทบจะหมดร่างกาย ไม่ได้สูญเปล่าแน่ ในเมื่อยังมีสถานีโทรทัศน์ (ฟรีทีวี) ของไทยอีก 1-2 ช่องตามหาภูมิปัญญาท้องถิ่นทั่วประเทศไทยอย่างเต็มกำลัง

เพลงอีแซว ตอนที่ 11

เกาะติดเวทีการแสดงเพลงอีแซว

(เวทีจำลองห้อง 512 อาคาร 5)

“รายการข่าวศิลปวัฒนธรรมไทย

สกรุ๊ปชีวิตคนเพลง ช่อง 11 ตามมาเก็บภาพถึงที่”

โดย นายชำเลือง มณีวงษ์

ผู้มีผลงานดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ด้านการแสดงเพลงพื้นบ้าน ปี 2547

 

           วันนี้ เป็นวันศุกร์ที่ 21 มกราคม 2554 ผมมีนัดกับคุณแอม และคุณเฉลียว แก้วอาษา หัวหน้าฝ่ายผลิตรายการและข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จังหวัดกาญจนบุรี (สทท. 11) โดยมีประชาสัมพันธ์จังหวัดสุพรรณบุรีประสานมาเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2554 ในช่วงเย็นโดยบอกกับผมว่า “รายการข่าวโทรทัศน์ ช่อง 11 จะเข้ามาหาอาจารย์เพื่อขอบันทึกเทปนักแสดงเพลงอีแซวและขอสัมภาษณ์อาจารย์ สัมภาษณ์นักแสดงด้วย” ต่อจากนั้นสักพักหนึ่งก็มีสายโทรศัพท์เข้ามาโดยคุณแอมยืนยันว่าในวันพรุ่งนี้จะเข้ามาพบและบันทึกเทปการแสดงเพลงอีแซวเอาไปออกอากาศทาง สทท.11
           วันที่ 20 มกราคม 2554 ผมนัดหมายเด็ก ๆ ที่เป็นแกนนำในทีมงาน ได้แก่ ธีระพงษ์  พูลเกิด  ภาธิณี นาคกลิ่นกุล อนุสรณ์ นพวงค์ และจิระพงศ์ มามีสุขให้ช่วยกันส่งข่าวถึงคนอื่น ๆ ในวงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ ให้มาพร้อมกันที่ห้อง 512 อาคาร 5 ในวันพรุ่งนี้ (21 มกราคม 2554) เด็ก ๆ เขามาถึงโรงเรียนกันตรงเวลายังไม่ทันที่ทีมงานรายการโทรทัศน์จะมาถึงเด็ก ๆ ก็พร้อมกันแล้ว ผมชี้แจงเด็ก ๆ ไปว่า ทางรายการเขาจะบันทึกเทปโทรทัศน์ตั้งแต่เริ่มแต่งหน้า แต่งตัวนักแสดงกันเลย จึงต้องนั่งรอทีมงานอีกสักครู่
           คณะของคุณเฉลียว แก้วอาษา มาถึงห้อง 512 อาคาร 5 ในเวลา 11.00 น. ได้ทักทายทำความรู้จักและพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องของเพลงพื้นบ้านในประเทศไทย เพลงพื้นบ้านภาคกลางและเพลงพื้นบ้านที่ยังมีให้เห็นอยู่ในยุคปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะเพลงอีแซวที่จังหวัดสุพรรณบุรี ต่อจากนั้นน้องแอมก็อธิบายคริปการบันทึกเทปโทรทัศน์ในวันนี้ให้ผมทราบคร่าว ๆ เสียก่อนว่า
 
              
             
              
              
              
 
           จะขอสัมภาษณ์อาจารย์ก่อน ต่อจากนั้นเป็นบันทึกการแสดงสดในห้อง 512 นี้ และตอนท้ายจะเป็นการสัมภาษณ์เด็ก ๆ นักแสดง 2 คน ผมจัดให้สัมภาษณ์ นนทวัชร์ (พล) บุญเกิด และ ยุพร (อร) สุขเกษม เพราะว่า 2 คนนี้จะขึ้นมายืนร้องนำในปีหน้าแทนรุ่นพี่ที่จบการศึกษาชั้น ม.6 ออกไป 5 คน ทั้ง 2 คนให้สัมภาษณ์ไปว่าอย่างไรบ้างผมไม่ค่อยได้ยิน แต่ดูเหมือนว่าจะพูดเกี่ยวกับแรงบันดาลใจที่เข้ามาอยู่ในวงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ เด็ก ๆ ก็คงคิดได้แบบเด็กเป็นไปตามวัยเพียงแต่ว่าเด็ก 2 คนนี้สนิทกับผมมากขึ้นเมื่อต้องฝึกนอกเวลาและนัดหมายมในวันหยุดมาฝึกเพิ่มเติมให้ทันเวลาที่จะมาแทนรุ่นพี่
            เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ห้องศิลปะ 512 อาคาร 5 ได้เป็นสถานที่บันทึกรายการโทรทัศน์ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยมีรายการโทรทัศน์หลายช่องพึงพอใจกับสภาพของห้องนี้และทำการบันทึกการแสดงสดนำอาไปออกอากาศกันมาแล้วหลายครั้ง ต่อจากนั้นผมถูกจัดให้นั่งที่เก้าอี้เพื่อที่จะให้สัมภาษณ์ น้องแอมเป็นผู้ตั้งคำถาม ผมเป็นผู้ตอบ ในข้อคำถามจะเกี่ยวข้องกับที่มาของเพลงอีแซวสุพรรณฯ มีความเป็นมาเป็นไปอย่างไร เพลงอีแซวมีรูปแบบลักษณะการร้องอย่างไร  เด็ก ๆ ที่เข้ามาฝึกหัดเพลงอีแซวและเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ มาอย่างไรและเด็ก ๆ เขาได้อะไรบ้าง ยากไหมกว่าที่ยืนได้อย่างมั่นคง และต่อจากนี้ไป เมื่อผมเกษียณอายุราชการไป ใครจะมาทำแทน เพลงอีแซวนักเรียนจะสูญหายหรือหมดไปจากสุพรรณไหม
           ผมตอบคำถามในภาพรวม ๆ เช่นคำถามสุดท้ายที่ว่า “เพลงอีแซวนักเรียนจะสูญหายหรือหมดไปจากสุพรรณไหม” ผมตอบว่า “เพลงอีแซวนักเรียนจะไม่สูญหายไปไหน ไม่มีวันที่จะหมดไปจากสุพรรณ เพียงแต่ว่า สถานที่ที่เคยอยู่อาจจะไม่มีแต่ไปมีในอีกสถานที่หนึ่งเนื่องจากคนทำเพลงผุดขึ้นมา ณ สถานที่นั้น ๆ แทน แต่จะให้มีวงเพลงอีแซวนักเรียนที่มีความสามารถทำการแสดงได้อย่างเข้มแข็ง คืนละ 180-240 นาที อย่างต่อเนื่องบนเวทีคงหาได้ยาก” วงเพลงอีแซวและเพลงพื้นบ้านของผมเล่นคืนละ 3-4 ชั่วโมง โดยไม่มีเวลาหยุดพักในระหว่างการแสดง
 
               
 
               
 
ต่อจากนั้นเป็นบันทึกสดการแสดง ผมแบ่งนำเสนอเป็น 3 ตอน ได้แก่
           ตอนที่ 1 ร้อง รำเชิญเทวา บูชาครู โดยนักร้องนำชาย-หญิง
           ตอนที่ 2 เล่นเรื่องที่เป็นประโยชน์ และตามด้วยเพลงถาม-ตอบกันระหว่างชาย-หญิง
           ตอนที่ 3 ร้องเพลงอำลา อาลัย ให้พรท่านผู้ชม จบการแสดงปั
           ผมร่วมแสดงอยู่กับเด็ก ๆ ด้วยในตอนก่อนที่จะสู่เพลงถาม-ตอบ สุดท้ายคือ การสัมภาษณ์นักแสดง 2 คน นนทวัชร์ บุญเกิด กับ ยุพร สุขเกษม ทั้งหมดนี้เป็นการเก็บภาพในห้องศิลปะ 512 ทั้งหมดจนจบรายการ ติดตามชมกันได้ทางภาคข่าวศิลปวัฒนธรรม ทางสถานีโทรทัศน์ NBT (ช่อง 11)
                       
           เกาะติดเวทีการแสดงเพลงอีแซว ในตอนนี้ ผมขอนำเสนอภาพในห้องศิลปะ 512 ซึ่งเป็นสถานที่บันทึกเทปโทรทัศน์ ของช่อง NBT บรรยากาศภายในห้องศูนย์การเรียนรู้เพลงพื้นบ้านมีสภาพคล้ายเวทีการแสดงซึ่งสามารถสร้างความคุ้นเคยให้แก่เด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี ทีมงานลาจากผมไปเวลาประมาณ13.30 น. เด็ก ๆ แยกย้ายกันไปเรียน ไปทำงานเพราะตอนกลางคืนเด็ก ๆ ส่วนหนึ่งช่วยครูออกร้านจำหน่ายอาหารในงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์ อีก ส่วนหนึ่งเป็นนักแสดงอยู่ในเวทีกลางแจ้งประกอบแสงเสียง หลายร้อยคน
           ผมรู้สึกว่า สิ่งที่ผมได้ลงทุนลงแรงหยาดเหงื่อที่ไหลจนแทบจะหมดร่างกายกับเวลาที่ผ่ามา 60 ปี (40 ปีบนเวทีการแสดง) ไม่ได้สูญเปล่าแน่ ในเมื่อยังมีสถานีโทรทัศน์ (ฟรีทีวี) ของไทยอีก 1-2 ช่องตามหาภูมิปัญญาท้องถิ่นทั่วประเทศไทยอย่างเอาจริงเอาจังและอย่างเต็มกำลัง เพื่อที่จะหาโอกาสและเวลาในการสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนได้เห็นผลงานอย่างเต็มที่  ผมขอขอบคุณทีมงานผลิตรายการและข่าว สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 เอาไว้ ณ โอกาสนี้ที่ได้นำเอาผลงานเพลงพื้นบ้านของเยาวชน วงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ ไปนำเสนอผ่านสื่อโทรทัศน์อีกครั้งหนึ่ง
 
               
                 
 
           ติดตามเพลงอีแซว ตอนที่ 12 เกาะติดเวทีการแสดงเพลงอีแซวสายเลือดสุพรรณฯ บนเวทีกลาง ในงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี  วันที่ 28 มกราคม 2554 เวลา 19.00 น.
                
หมายเลขบันทึก: 421833เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2011 22:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 23:27 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท