สถานศึกษาในพื้นที่จะเข้ามาร่วมเรียนรู้แก้จนได้อย่างไร


กระบวนการเรียนรู้ภาคประชาสังคมอย่างนี้น่าสนใจมาก วิทยากรได้เห็นความพยายามของสถานศึกษาในพื้นที่ที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้ ได้สนใจเข้ามาเรียนรู้กับภาคประชาชนหรือไม่อย่างไร เพราะสถานศึกษาก็ต้องทำหลักสูตรท้องถิ่น 30 % คล้ายอย่างนี้เหมือนกัน

เล่าเรื่องแก้จน มองในมุมของ จนท.พอช. 

บันทึกนี้ผมอยากจะนำเสนอเรื่องเล่าของน้องพัชณี พนิตอังกูร ที่เล่าประสบการณ์การเป็นคุณอำนวยตำบล โครงการจัดการความรู้แก้จนเมืองนคร พร้อมกับข้อสังเกตและคำถามจากผู้เข้าร่วมสัมมนา มหกรรม KM ราชการไทย ก้าวไกลสู่ LO ห้องประชุมแกรนด์ C วันที่ 21 ก.ค.49 นะครับ หากได้ติดตามครบทั้ง 3 บันทึกก็จะประติดประต่อเรื่องราวได้ภาพของโครงการจัดการความรู้แก้จนเมืองนครว่าจะสามารถพัฒนาบุคลากร ให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้บ้างหรือไม่อย่างไร

ก่อนจะสรุปเรื่องเล่าของน้องพัชณี ซึ่งเป็นวิทยากรผู้เล่าเรื่องท่านสุดท้ายของทีมนครศรีธรรมราช ผมขอแนะนำข้อมูลเกี่ยวกับผู้เล่าเรื่องสักเล็กน้อยพอเป็นพื้นฐานเข้าใจเรื่องราวนะครับ บนเวทีอาจจะไม่ได้แนะนำข้อมูลส่วนนี้ ข้อมูลส่วนนี้ผมศึกษาเอาจากบล็อกของน้องพัชณีเองครับ

     น้องพัชณี เป็นพนักงานองค์การมหาชน ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุมชน สถาบันพํฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.  จบปริญญาตรี คณะศึกษาศาสตร์   จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  เริ่มงานครั้งแรกที่มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ศูนย์ประสานงานเขตนครศรีธรรมราช  ทำงานกับสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง สังกัดการเคหะแห่งชาติ ปัจจุบันรับผิดชอบงานในสำนักพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยสนับสนุนส่วนกลางของ พอช. ทำหน้าที่รับผิดชอบงานด้านอำนวยสินเชื่อเพื่อการพัฒนา พัฒนาและติดตามองค์กรผู้ใช้สินเชื่อ  พัฒนาระบบการออม การจัดการทุนชุมชนสนับสนุนการพัฒนากระบวนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน

ให้อ่านประวัติของผู้เล่าเพื่อจะได้เข้าใจว่าทุนประสบการณ์เดิมของผู้เล่าเป็นอย่างไรต่อโครงการจัดการความรู้แก้จนเมืองนครนี้ น้องพัชณี เป็นคุณอำนวยกลาง ประจำโซนลุ่มน้ำปากพนัง 1 ดูแลรับผิดชอบอำเภอเมือง ปากพนัง หัวไทร และเชียรใหญ่ ด้วย คุณอำนวยกลางก็อย่างที่ผมเคยบอกแล้วนะครับว่าคือครูของคุณอำนวย แต่น้องพัชณีต้องการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้คุณกิจครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้นำประสบการณ์การทำงานทีมีอยู่มาใช้ได้อย่างเต็มที่ จึงสมัครใจเป็นคุณอำนวยตำบล รับผิดชอบตำบลบางจาก อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ร่วมกับที่มาจากหน่วยงานอื่นๆ น้องพัชณีเป็นผู้ที่มีจิตใจสาธารณะสูงมาก นอกจากทำหน้าที่รับผิดชอบตำบลบางจากแล้ว ก็อาสาช่วยเหลือในการทำเวทีชาวบ้านในตำบลอื่นๆอีกหลายตำบล ทั้งในอำเภอเมืองและต่างอำเภอ

ในบทบาทของคุณอำนวยตำบล น้องพัชณี เล่าว่าจะต้องรู้จักและเข้าใจทีมงานเสียก่อน เข้าใจข้อจำกัด จุดเด่นหรือสิ่งที่ทำได้ดีอยู่แล้ว จุดด้อยหรือสิ่งที่ต้องปรับปรุงแก้ไข ของกันและกัน เพื่อจะได้ทราบทักษะความสามารถของแต่ละคน แบ่งมอบหมายงานให้คุณอำนวยได้ทำให้ตรงตามความถนัดกับแต่ละคน เช่น ประสานงานหากได้คุณอำนวยที่อยู่ในพื้นที่อยู่แล้วก็จะประสานคุณกิจครัวเรือนก็จะง่ายและสะดวกกว่า เพราะรู้จักครัวเรือนต่างๆดีอยู่แล้ว ค้นหาคนดีคนเก่งของหมู่บ้านเพื่อมานำคุยเสวนาในวงเรียนรู้คุณกิจครัวเรือนได้ดีกว่าคุณอำนวยที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ เป็นต้น แต่ถ้าไม่มีคุณอำนวยที่อยู่ในพื้นที่คุณอำนวยทุกคนก็จะต้องช่วยกันทำหน้าที่ดังกล่าว

ในการทำเวทีชาวบ้าน หรือกิจกรรมชุมชนใดๆ ทีมคุณอำนวยก็จะต้องประชุมปรึกษาหารือวางแผนการทำงานกันทุกครั้ง ทั้งที่ประชุมกันแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ไม่ใช่ไม่เตรียมการอะไรไปเลย แม้จะได้เตรียมการไปแล้วก็จริง แต่จะต้องเรียนรู้ว่าจะต้องปรับเปลี่ยนแผนอย่างไรด้วยเมื่อปรากฏว่าสถานการณ์หรือเงื่อนไขปัจจัยบางอย่างเปลี่ยนไป อย่างน้อยๆก็จะได้รู้ล่วงหน้าว่าคุณอำนวยคนใด จะแสดงบทบาทเป็นคุณประสาน ลิขิต นำกระบวนการ เนื้อหา วาระการพูดคุย ฯลฯ

น้องพัชณี ยกตัวอย่างประสบการณ์การเป็นคุณอำนวยในโครงการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน ซึ่งเป็นโครงการทดลองนำร่องของจังหวัดนครศรีธรรมราชเมื่อกลางปีงบประมาณ 2548  ทำในพื้นที่อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช 3 ตำบล คือตำบลบางจาก ท่าไร่ และมะม่วงสองต้น ร่วมกันทำ 9 หน่วยงาน ด้วยงบประมาณกลางปีของจังหวัดซีอีโอ ว่าคุณอำนวยจะต้องสื่อสารใกล้ชิด พบปะ วางแผนกับกรรมการกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ คขกจ. ว่าจะให้กรรมการดังกล่าว(คุณอำนวยพื้นที่ หรือคุณอำนวยหมู่บ้าน)แสดงบทบาทอะไรในเวทีแต่ละครั้ง สมาชิกธรรมดาทีมาร่วมวงเรียนรู้จะต้องแสดงบทบาทเป็นผู้เรียนรู้อย่างไร จะเรียนรู้เนื้อหาใด ด้วยวิธีเรียนรู้ใด ให้สมาชิกทุกคนที่มาออกแบบและวิธีการเรียนรู้แต่ละเวทีกันเอง เรียนรู้เนื้อหาบางเนื้อหาจะต้องสาธิตให้ดูก่อนหรือเปล่า เช่น การทำบัญชี เรียนรู้เนื้อหาบางเนื้อหาเช่น การพิจารณาโครงการให้กู้ยืม จะต้องฝึกการวิเคราะห์ความจำเป็นกันหรือเปล่า เรียนรู้เรื่องสวัสดิการภาคประชาชน สัจจะลดรายจ่ายวันละบาท จะต้องไปดูงานในพื้นที่ที่ประสบผลสำเร็จหรือเปล่า เป็นต้น เมื่อเรียนรู้แล้วก็ต้องทำ ทำแล้วเกิดความรู้ประสบการณ์ ก็นัดหมายเวทีต่อไปเพื่อมาเล่าความรู้ประสบการณ์ จะมีการเรียนรู้ต่อเนื่องอย่างนี้เป็นวงรอบตลอดไป

ผลการทำทดลองนำร่องในพื้นที่ 3ตำบลดังกล่าว ทั้งทีมคุณอำนวยและทีมคุณกิจเกิดกระบวนการเรียนรู้ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีการประชุมปรึกษาหารือกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมากขึ้น ก่อนทำก็เรียนรู้ จนกระทั่งทำเสร็จแต่ละครั้งก็เรียนรู้อีก สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดจากโครงการนี้ในระดับของคุณกิจ คือเกิดทัศนคติที่ถูกต้อง มีการชำระหนี้ดีขึ้น พิจาณาโครงการอย่างมีเหตุผล เกิดสัจจะลดรายจ่ายวันละบาท สวัสดิการภาคประชาชน สถาบันการเงินชุมชนตำบลบางจาก ฯลฯ และที่สำคัญคือประชาชนเกิดกระบวนการเรียนรู้ เรียนรู้ที่จะเชื่อมต่อการพัฒนา หรือเรียกว่าต่อท่อการพัฒนากับหน่วยงานท้องถิ่น ท้องที่ หน่วยงานราชการในเรื่องใดได้อย่างไร

เมื่อนำประสบการณ์จากการทำนำร่องในพื้นที่ 3 ตำบล มาใช้ในโครงการจัดการความรู้แก้จนเมืองนครครั้งนี้ก็เรียกว่ามีทุนประสบการณ์แล้วไม่รู้สึกหนักใจ ปรับเปลี่ยนเนื้อหามาเป็นการแก้จนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งโครงการฯนี้มองความยากจนเชิงบูรณาการ เรื่องที่ไม่ใช่เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ออม ก็มาทำแก้จนได้ เช่น สิ่งแวดล้อม สุขภาพ เป็นต้น ประสบการณ์เรื่ององค์กรการเงินชุมชนที่ทำใน 3 ตำบล ก็นำมาใช้ได้เลย ขณะนี้ทีมคุณอำนวยตำบลบางจากที่รับผิดชอบอยู่ก็ได้จัดเวทีชาวบ้านไป 3 ครั้งแล้วจากทั้งหมด 6 เวที ได้ตั้งเป้าหมายแก้จนทั้งรายครัวเรือน รายกลุ่ม ออกแบบกิจกรรมเรียนรู้แก้จน บูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ที่เรียกว่าต่อท่อการพัฒนา จนเกิดกิจกรรมเรียนรู้ เช่น เชื่อมกับเกษตรตำบล เกิดเป็นกลุ่มสมุนไพรกำจัดแมลงศรัตรูพืช ปุ๋ยหมักชีวภาพเป็นต้น

ข้อสังเกตและคำถามจากอาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวรในตอนจบการพูดคุยน่าสนใจมาก อาจารย์ท่านตั้งข้อสังเกตุว่า กระบวนการเรียนรู้ภาคประชาชนอย่างนี้น่าสนใจมาก วิทยากรได้เห็นความพยายามของสถานศึกษาในพื้นที่ที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้ ได้สนใจเข้ามาเรียนรู้กับภาคประชาชนหรือไม่อย่างไร เพราะสถานศึกษาก็ต้องทำหลักสูตรท้องถิ่น 30 เปอร์เซ็น คล้ายอย่างนี้เหมือนกัน ซึ่งเสียดายที่คำถามนี้ไม่ได้แลกเปลี่ยนกันอย่างจริงจัง เพราะเวลาหมดเสียก่อน คงจะเป็นประเด็นทีมีคุณค่ายิ่งที่ทีมนครจะได้มาขบคิดเป็นการบ้านต่อไปว่าจะทำกันอย่างไร  ?

หมายเลขบันทึก: 42068เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2006 10:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
เรื่องนี้เราเคยคุยกันบ้างแล้ว คงต้องทททตามที่อาจารย์สำราญสรุปแล้วละครับ

 Construction Worker เรียนท่านครูนอกโรงเรียน แต่เพียรเรียนรู้

 ได้ตอบเรื่องKM ของกรมทางไว้แล้วครับ รบกวนท่านอาจารย์ให้ข้อคิดเห็นด้วยครับ





เรียน อ.ภีม

 ททท.กันทุกวงเรียนรู้ดีกว่าไม๊ครับ คุณอำนวยตัวเล็กตัวน้อยเข้าไปประสาน ดูว่าไม่ค่อยเป็นกระบวนระบบหรือหรือเปล่า ททท.พร้อมกันทุกวงเรียนรู้เกิดพลังมากกว่า วัฒนธรรมโรงเรียนเขาค่อนข้างจะเคร่งครัดนะครับ โพลีซีไฟเขียว การทำงานของคุณอำนวยตัวเล็กตัวน้อยข้างล่าง ก็สมูธกว่า พร้อมกันแบบแถวหน้ากระดานเลย อาจารย์ว่าไง

เรียน อ.หมอ JJ ที่เคารพ

ผมตอบอยู่ในบล็อกของคุณหมอแล้วนะครับ

เห็นด้วยกับอาจารย์จำนงครับ

ต้องเชื่อมกับเขตพื้นที่ด้วย

เท่าที่ทราบการประเมินของสมศ.ถือเป็นกลไกสร้างการเรียนรู้ได้ด้วย เพราะทำให้โรงเรียนต้องทำประเมินภายใน มีคณะกรรมการโรงเรียนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

 ท่านผู้ว่าวิชม ทองสงค์ เคยพูดถึงเมืองแห่งการเรียนรู้ในวิสัยทัศน์เมืองนครครอบคลุมการศึกษาในระบบด้วย
นโยบายระดับบนสอดคล้องอยู่แล้ว เหลือเพียงการประสานเชื่อมโยงในระดับจังหวัด อาจารย์กับผมและโรงเรียนก็คนบ้านเดียวกันนี่ครับ

ไม่ค่อยได้เข้าอ่านบล็อกเนื่องจากข้อจำกัดจากระบบitไม่สะดวกเหมือนที่หลายคนทราบแต่พยามแก้ไขอยู่อาจจะต้องติดตั้งที่บ้านในเร็วๆนี้ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคนที่บ้านแล้ว อ่านบันทึกที่อาจารย์จำนงเขียนถึงตัวเองแล้วรู้สึกขนลุกเลย ตื่นเต้นด้วย อ่านไปลุ้นไปด้วย อาจาย์บันทึกออกมาได้ดีกว่าที่ตัวเองตั้งใจจะเล่าเสียอีก ต้องขอบคุณมาก ๆค่ะ

เรียน อ.ภีม  จะคุยเรื่อง ร.ร.ที่ อาจารย์ว่าให้เป็นวงพูดคุยกันเมื่อไรดีครับ ข้างล่างจะได้ลุย ททท.กันอย่างมีกระบวนระบบ

น้องพัชณี

ตกเติมตรงไหน น้องพัช เขียนนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท