ราชทัณฑ์ Free Trade: Privatization


ราชทัณฑ์ Free Trade: Privatization

เรื่อง  พนิดา วสุธาพิทักษ์/ภาพ ดนยา จุฒพุฒิพงษ์ 

จาก นิตยสาร A Day Weekly ฉบับที่ 78

หลังจากตัดสินใจยอมยกเลิกการถ่ายทอดชีวิตนักโทษและสภาพในแดนประหารผ่านทางเว็บไซต์ เนื่องจากกระแสสังคมไม่เข้าใจ นัทธี จิตสว่าง อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยังคงเดินหน้าในแนวนโยบายต่อ ด้วยการออกมาเปิดตัวโครงการ “เรือนจำเอกชน”หรือที่สื่อเข้าใจและเรียกขานกันในนาน “คุกไฮโซ”ภายใต้คำถามคลางแคลงถึงประโยชน์สูงสุดที่สังคมจะได้รับ มากไปกว่าเรื่องของการทำกำไรเพียงอย่างเดียว

*******************

1. ตอนนี้เรายังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะจัดตั้งเรือนจำเอกชนหรือไม่ เพียงแต่อยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษา โดยว่าจ้างสถาบันวิจัยสังคมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ไปทำการวิจัย ประเมินผลดี – ผลเสียต่างๆ ออกมา ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เพียงใด และต้องมีการทำประชาพิจารณ์ด้วย หลังจากที่ผลการศึกษาแล้วเสร็จภายใน 7-8 เดือน ก็จะนำเสนอให้กระทรวงยุติธรรมตัดสินใจ ถ้าตกลงให้มีการจัดตั้งก็อาจจะต้องปรับปรุงแก้ไขกฏหมายบางส่วนให้มาสอดรับ

 

2. เราไม่อยากให้มีการขยายคุกเพิ่มมากขึ้น เพราะการที่ประเทศมีคุกมาก ไม่ได้หมายความว่าประเทศเจริญหรือร่ำรวย ประทศไหนคุกมากยิ่งไม่ดี ยิ่งแสดงให้เห็นว่า ประเทศนั้นมีการกระทำผิดมาก มีอัตราการเกิดปัญหาสังคมมาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการจะทำคือ พยายามจะลดจำนวนผู้ต้องขังลง ขณะเดียวกัน อะไรที่รัฐไม่ควรจะต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือเข้าไปทำ เราก็ถ่ายโอนให้เอกชนทำ อย่างเช่น การดูและผู้กระทำผิดในคดีเล็กน้อย คิดว่าน่าจะมีการถ่ายโอนไปได้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบการบริหารจัดการเรือนจำที่มีประสิทธิภาพ

 

3. ความจำเป็นมันอยู่ตรงที่ว่า ขณะนี้ระบบราชการมันเติบโตขยายตัวตลอดเวลา มีเรือนจำเพิ่มขึ้น มีข้าราชการเพิ่มขึ้น เงินงบประมาณที่ใช้ก็ต้องเพิ่มมากขึ้น เราก็พยายามที่จะทำให้ระบบราชการมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่มีขนาดเล็กลง อย่างที่เรียกว่า downsizing การลดภารกิจบางอย่าง เช่น การถ่ายโอนงานคุกไปให้กับเอกชน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในแผนการปฏิรูประบบราชการ เหมือนอย่างการบริการสาธารณะอื่นๆ เช่น โทรศัพท์ สามารถแปรรูปได้ทั้งนั้น ยกเว้นเพียงแต่เรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคง

 

4. เราต้องการก็เพื่อให้เกิดการแข่งขัน รัฐต้องพร้อมแล้วที่จะแข่งขัน ต่อไปถ้ามีคุกเอกชน มีคุกราชการ ก็ต้องแข่งขันกันว่า ใครจะทำได้มีประสิทธิภาพมากกว่ากัน และเมื่อเป็นการว่าจ้างเอกชน รัฐเองก็ไม่ต้องมานั่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ไม่ต้องมารับภาระไปจนกระทั่งถึงเกษียณ แล้วจ่ายบำเหน็จบำนาญอีก มันหมดกันแต่ละปีแต่ละปีเลย ถ้าเกิดบริษัทไหนทำไม่ดีก็เปลี่ยน เอาบริษัทอื่นมาทำ จะเป็นจุดที่ทำให้เกิดการแข่งขัน ข้าราชการก็จะทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม หรือแบบไม่มีประสิทธิภาพไม่ได้อีกแล้ว เพราะว่ามีคู่แข่งแล้ว ทุกคนจะต้องแข่งขันกันเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของสังคม

 

5. แน่นอน นักโทษไม่ใช่ลูกค้า แต่นี่ถือเป็นบริการสาธารณะ ไม่ใช่ว่าเอกชนมาทำแล้วจะมุ่งแสวงหากำไรอย่างเดียวได้ เอกชนจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ทางรัฐเป็นผู้กำหนดด้วย เช่น เรือนจำเอกชนที่จะสร้างจะต้องมีลักษณะไม่แตกต่างจากเรือนจำของรัฐเหมือนอย่างโรงเรียนราษฎร์กับโรงเรียนหลวง ยังไงก็ยังมีลักษณะของการเป็นโรงเรียนอยู่ ไม่ใช่หมายความว่า ถ้าเป็นโรงเรียนราษฎร์แล้วจะได้อยู่แบบราชา รัฐยังจะต้องเข้าไปคุมมาตรฐาน ทำหน้าที่ในการติดตามดูแลอยู่ คุกก็ยังเป็นคุก จะเป็นคุกรัฐหรือคุกเอกชนก็เป็นคุกเหมือนกัน เพียงแต่คดีที่เล็กน้อย หรือว่าคดีที่ผู้ต้องขังอยู่ระหว่างการพิจารณา คดียังไม่ตัดสิน หรือผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษ ไม่จำเป็นต้องควบคุมอย่างแน่นหนา อย่างนี้เราถึงจะให้ไปอยู่เรือนจำเอกชน

 

6. เรื่องค่าใช้จ่ายมันขึ้นอยู่กับรูปแบบของเรือนจำเอกชนที่เรากำหนด ซึ่งแนวทางเบื้องต้นมีอยู่ 3 โมเดลคือ รัฐสร้างให้เอกชนบริหาร เอกชนสร้างให้รัฐบริหาร และเอกชนสร้างและบริหาร ซึ่งถ้าเป็นแบบให้เอกขนมาลงทุนเอง ก็หมายความว่า เรือนจำเอกชนจะต้องเก็บเงินจากผู้ต้องขัง และคนที่จะไปอยู่ได้ ก็คือ คนที่ต้องมีเงิน หรืออาจจะมีการเรียกเก็บเงินจากส่วนที่เกิน เช่น อยากจะกินช้าวที่ดีหน่อย อยากจะมีโทรทัศน์ดูก็ต้องเช่า อย่างนี้เป็นต้น ถ้าเป็นรูปแบบนี้นะ มันก็คือคนรวยที่จะได้เช้าเรือนจำเอกชน เหมือนนักเรียนที่มีฐานะก็จะได้เข้าโรงเรียนเอกชน นักโทษก็สามารถจะเลือกตรงนี้ได้เหมือนกัน แต่ตอนนี้เรายังไม่ตัดสินใจว่าจะใช้รูปแบบไหน

 

7. เรื่องเรือนจำเอกชนที่ลงในหนังสือพิมพ์ มันยังมีความเข้าใจผิด คือไปลงว่าเป็นคุกไฮโซอะไรต่างๆ เหล่านี้ จริงๆ ไม่ใช่ ประการแรก เรายังไม่รู้เลยว่ารูปร่างหน้าตามันจะออกมายังไง ประการที่สอง คุกเอกชนจะต้องไม่แตกต่างจากคุกของรัฐมากมาย ไม่ใช่เป็นคุกไฮโซหรูหรา ไอ้ที่บอกว่าเรือนจำสวยๆ ดีๆ มันเป็นเรือนจำของต่างประเทศ ซึ่งไม่ว่าคุกของรัฐหรือของเอกชนในประเทศเขามันก็ดีเหมือนกันทั้งนั้น เพราะมาตรฐานชีวิตประชาชนของเขาดี ของเราจะไปเปรียบเทียบกับต่างประเทศไม่ได้

 

8. คุกเอกชนจะต้องเหมือนกับคุกของรัฐ และจะต้องดูไปถึงสภาพความเป็นอยู่ของคนข้างนอกด้วย ต้องไม่แตกต่างกันมาก ไม่ใช่ว่า โอ้โห ในคุกทำดี แต่คนข้างนอกแย่ นอนสลัม ไม่ได้ มันมีหลักของการบริหารงานเรือนจำ จะต้องสอดคล้องกัน ไม่สูงกว่าสภาพความเป็นอยู่ของคนข้างนอก แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ตกต่ำจนทำให้ไปลดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มาตรฐานของคนข้างนอก มาตรฐานในเรือนจำของรัฐ และมาตรฐานของเรือนจำเอกชน มันจะต้องเท่ากัน

หมายเลขบันทึก: 420413เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2011 09:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 11:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท