We love the king # 34 “การผลิตแอลกอฮอล์ในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา”


นอกจากเหตุผลที่ว่าเรากำลังนับถอยหลังวันสิ้นพลังงานโลกแล้ว เหตุผลหลักที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวและ
หันมาพัฒนาน้ำมันทดแทนภายในประเทศอย่างจริงจังก็คือ ในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเป็นสิ่ง
ที่ไม่แน่นอน เพราะไม่ได้ขึ้นอยู่กับกลไกตลาดและปัจจัยด้านเงินตราต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังมี
ปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศตะวันออกกลางซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมัน
รายใหญ่ ที่มักขึ้นราคา จำกัด และลดปริมาณการผลิตน้ำมัน เพื่อกดดันทางการเมืองต่อประเทศมหา
อำนาจตะวันตก ผลกระทบจึงตกแก่ทุกประเทศที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันจากประเทศเหล่านี้

ในศตวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยพึ่งพาน้ำมันต่างชาติถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์ กรรมาธิการพลังงานแห่ง
ชาติรายงานว่า ในแต่ละปีเราสูญเสียเงินตราเพื่อซื้อพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ ถึง ๘ แสนล้านบาท
เนื่องจากประเทศไทยมีแหล่งพลังงาน เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ฯลฯ น้อย

แต่สิ่งที่ประเทศไทยได้เปรียบประเทศอื่น ๆ ก็คือ เรามีผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ มีภูมิอากาศและ
ภูมิประเทศที่เหมาะแก่การเพาะปลูกเป็นอย่างยิ่ง พืชผลทางการเกษตรที่สามารถนำมาผลิตเป็นเชื้อ
เพลิงทดแทน ไม่ว่าจะเป็น มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด ข้าวสาลี มันฝรั่ง อ้อย
สบู่ดำ ฯลฯ ก็ล้วนมีอยู่มากมายในผืนแผ่นดินนี้

จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นทั้งปัญหาและโอกาสที่ว่านี้ การผลิตแอลกอฮอล์
ในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา จึงถือกำเนิดขึ้นในปี ๒๕๒๘ อะเคื้อ บุญญสิริ หัวหน้าฝ่าย
เทคโนโลยีเกษตร โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เล่าถึงที่มาของโครงการนี้ให้ฟังว่า

“ช่วงปี ๒๕๒๘ ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องพลังงานอยู่แล้ว และมีปัญหาเรื่องราคาอ้อยที่ทำให้ชาวบ้าน
มาเดินขบวนอยู่เรื่อย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริว่า ถ้าเรานำผลิตผลทางการ
เกษตรมาทำเป็นเชื้อเพลิงได้ ก็จะแก้ปัญหาได้ทั้งด้านเกษตรและเชื้อเพลิง ต่อมา ก็ได้มีพระราช
กระแสให้ศึกษาต้นทุนการผลิตแอลกอฮอล์จากอ้อย เพราะทรงเล็งเห็นว่าในอนาคตอาจเกิดสภาวะ
น้ำมันขาดแคลน การนำอ้อยมาแปรรูปเป็นแอลกอฮอล์เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน จะเป็นแนวทาง
หนึ่งที่จะแก้ปัญหานี้ได้”

ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชทรัพย์จำนวน ๙๒๕,๕๐๐ บาท เพื่อ
ใช้ในการจัดสร้างอาคารและอุปกรณ์ต่าง ๆ ขึ้นในบริเวณสวนจิตรลดาเพื่อทดลองผลิตเอ
ทิลแอลกอฮอล์จากอ้อย โดยเริ่มเดินเครื่องเป็นครั้งแรกในปี ๒๕๒๙ สามารถผลิตเอทิลแอลกอฮอล์
๙๑ เปอร์เซ็นต์ได้ในอัตรา ๒.๘ ลิตรต่อชั่วโมง

เอทานอล หรือ เอทิลแอลกอฮอล์ ที่ได้จะนำไปผสมกับเบนซิน (gasoline) ในอัตราส่วน ๑ : ๙
เพื่อทดแทนสาร MTBE (Methyl Tertiary Buthyl Ether) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มปริมาณ
ออกซิเจนในน้ำมัน ทำให้การเผาไหม้สะอาด ปัจจุบันเรารู้จักน้ำมันชนิดนี้ในชื่อ แก๊สโซฮอล์

ในครั้งนั้นได้มีการทดลองใช้แก๊สโซฮอล์เติมในรถยนต์ของโครงการฯ แล้วทดลองวิ่ง ผลการทดลอง
เป็นที่น่าพอใจ สามารถใช้งานได้เช่นเดียวกับน้ำมันเบนซินซูเปอร์ธรรมดา และมีความเป็นไปได้สูง
ที่จะพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไป

ถึงเดือนตุลาคม ๒๕๓๗ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ได้ร่วมกับกลุ่มบริษัทสุราทิพย์ ขยาย
กำลังการผลิตแอลกอฮอล์เพื่อให้มีพอใช้ผลิตแก๊สโซฮอล์สำหรับรถยนต์เครื่องยนต์เบนซินทุกคันของ
โครงการฯ และหลังจากที่โรงงานผลิตแอลกอฮอล์ที่บริษัทสุราทิพย์สร้างน้อมเกล้าฯ ถวายเสร็จ
สมบูรณ์ในปี ๒๕๓๘ โครงการฯ จึงสามารถผลิตแอลกอฮอล์ได้มากขึ้น

ขณะนั้นองค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและเอกชน เริ่มสนใจพัฒนาน้ำมันทดแทนบ้างแล้ว แต่ส่วน
มากมักไม่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เมื่อวิกฤตพลังงานคลี่คลายหรือประชาชนคุ้นเคยกับราคาน้ำมันที่
สูงขึ้นแล้ว โครงการพัฒนาเอทานอลโดยสถาบันและองค์กรต่าง ๆ ก็เป็นอันถูกเก็บเข้าแฟ้ม ไม่มี
การดำเนินการศึกษาพัฒนาอีก ขณะที่โรงงานขนาดย่อมภายในสวนจิตรลดายังคงเดินหน้าผลิต
แอลกอฮอล์ต่อไป

“ที่อื่นอาจจะทำ ๆ หยุด ๆ แต่สำหรับที่นี่ ท่านผู้อำนวยการโครงการฯ บอกว่าให้ทำต่อเนื่อง ไม่ให้
ทิ้ง เพื่อสนองแนวพระราชดำริของพระองค์ท่าน” หัวหน้าฯ อะเคื้อกล่าว

กระทั่งปี ๒๕๔๑ ประเทศไทยประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาราคาน้ำมันแพง ทุกภาคส่วนจึง
หันมาให้ความสนใจเรื่องการพัฒนาพลังงานทดแทนกันอีกครั้ง แต่การดำเนินการในเรื่องนี้ก็ดูจะยัง
ไม่ก้าวหน้าไปมากนัก

ถึงปี ๒๕๔๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้พระราชทานแก่ผู้มา
เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ดังมีความตอนหนึ่งว่า

“…สมัยนี้อะไร ๆ ก็แพงขึ้นทุกที จะให้น้ำมันถูกลงมาก็ลำบาก นอกจากหาวิธีที่จะทำน้ำมันราคาถูก
ลง ซึ่งก็ทำได้เหมือนกัน …คือ แทนที่จะใช้น้ำมันที่มีออกเทน ๙๕ ก็ใช้ออกเทน ๙๑ แล้วก็เติม
แอลกอฮอล์เข้าไปนิดหนึ่ง ก็เป็นออกเทน ๙๕ อาจเป็นได้ว่ารถจะวิ่งไม่เร็ว ก็ดีเหมือนกัน รถไม่วิ่ง
เร็วเกินไป รถจะได้ไม่ชนกันมากเกินไป ทั้งหมดนี้เป็นความคิดที่ให้พอเพียง

“…แอลกอฮอล์ก็ทำมาหลายปี ๑๐ ปีแล้ว ก็ใช้ได้ แต่ว่าที่ยังไม่เผยแพร่มาก เพราะเหตุว่าถ้าทำ
แก๊สโซฮอล์จะต้องเสียภาษี เสียภาษีน้ำมัน แก๊สโซฮอล์จะต้องแพงกว่าน้ำมันอีก ๑๗ บาท (…)
แอลกอฮอล์ที่ทำแล้วใส่ในรถแล่นได้ ก็ไม่ต้องเก็บภาษีให้แพง แต่ว่านักเศรษฐศาสตร์บอกว่า
แอลกอฮอล์ต้องเก็บภาษี ถ้าไม่เก็บภาษีไม่ใช่แอลกอฮอล์ แล้วก็ยังไม่ค่อยเข้าใจเศรษฐศาสตร์ แต่
ว่ายังไงอาจจะคิดแล้ว ข้อสำคัญที่สุด แอลกอฮอล์นี้ถ้าดีจริง ๆ สามารถที่จะผลิตในประเทศก็ไม่ต้อง
เสียเงินตราต่างประเทศ แต่ไม่ทราบว่านักเศรษฐกิจ นักการคลัง ท่านชอบที่จะต้องซื้อเงินตราต่าง
ประเทศ ไม่ยอมซื้อเป็นเงินบาท แต่ยังไงขอแนะนำว่า ถ้าสมมุติว่าใช้แอลกอฮอล์ผลิตในประเทศ
การปลูกก็ต้องดี ให้กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมมือกันให้ผลิตแอลกอฮอล์ได้
ไม่ต้องเสียเงินตราต่างประเทศ …อันนี้พูดแบบคนไม่รู้เรื่อง ไม่รู้เรื่องการคลังเศรษฐกิจ แต่ว่า
ลองนึกดู ถ้าสมมุติว่าใช้ของที่ทำในเมืองไทย ทำในประเทศได้เองแล้ว ก็ทำได้ดีมีมาก อ้อยที่ปลูกที่
ต่าง ๆ เขาบ่นว่ามีมากเกินไป ขายไม่ได้ ราคาตก เราก็ไปซื้อในราคาที่ดีพอสมควร มาทำ
แอลกอฮอล์ แล้วผู้ที่ปลูกอ้อยก็ได้เงิน ผู้ที่ทำแอลกอฮอล์ก็ได้เงิน…”

พระราชดำรัสนี้เองที่ส่งผลให้มีการผลักดันการผลิตแก๊สโซฮอล์ในเชิงธุรกิจมากขึ้น และในที่สุดก็ได้มี
การตั้ง “คณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ” ขึ้น ในวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๔๔

ว่ากันว่า ความสำเร็จของน้ำมันทดแทนอาจไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี ไม่ได้อยู่ที่ปัญหาเชิงเศรษฐศาสตร์
แต่อยู่ที่เจตจำนงทางการเมืองที่ปลอดผลประโยชน์และการผูกขาด กระแสพระราชดำรัสข้างต้น
แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าใจปัญหาเรื่องพลังงานของ
ประเทศอย่างลึกซึ้งเพียงไร เช่นเดียวกับพระอัจฉริยภาพด้านอื่น ๆ ของพระองค์ที่เป็นที่ประจักษ์แก่
พสกนิกรชาวไทยเสมอมา

*อะเคื้อ บุญญสิริ
*หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีเกษตร โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา

*“พระองค์ท่านทรงมองการณ์ไกล พระราชดำริของพระองค์จุดประกายความคิดให้เรานำมาศึกษา
และพัฒนา” *

“จากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เราจะเห็นได้ชัดว่าพระองค์ท่านทรงมอง
การณ์ไกล ดิฉันเรียนทางด้านพลังงานมาโดยตรง แต่ตอนที่เรียนก็ไม่คิดว่าจะนำแอลกอฮอล์มาทำ
เป็นเชื้อเพลิงได้ ขณะที่พระองค์มีพระราชดำริเรื่องนี้มานานแล้วก่อนที่จะมีกระแสพระราชดำรัสให้
ทำการศึกษา พระองค์ท่านทรงมีพระอัจฉริยภาพมาก พระราชดำริของพระองค์จุดประกายความคิด
ให้เรานำมาศึกษาและพัฒนาต่อ

“ทรงรอบรู้ทุกอย่าง และรู้อย่างลึกซึ้งด้วย สนใจสิ่งไหนก็ทรงศึกษาอย่างจริงจังเพื่อให้รู้ว่าสิ่งนั้นดี
หรือไม่ดีตรงไหน แนวทางพระราชดำริของพระองค์มีประโยชน์กับประเทศชาติมาก ดิฉันจึงรู้สึกเป็น
เกียรติที่ได้ทำงานเพื่อสนองแนวทางพระราชดำริของพระองค์”

เกษร สิทธิหนิ้ว : เรื่อง

หมายเลขบันทึก: 41970เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2006 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยากณู้วิธีการผลิตอะคับช่วยบอกหน่อยนะครับ (วิธีการทำแอลกอฮอล์)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท