หมอข้าวหอม
แพทย์หญิง ลำพู(Lampu) โกศัลวิทย์(Kosulwit)

หรือความตายอยู่ใกล้เราเกินไป


หรือความตายอยู่ใกล้เราเกินไป

ข้าวหอม

ในช่วงเวลาตั้งแต่ต้นปี 2553 มาจนกระทั่งวันนี้ ใกล้เปลี่ยนศักราชอีกครั้ง แต่ละชีวิต ยังคงก้าวเดิน และถูกวันเวลากลืนกินไปตลอดเวลา

ช่วงต้นปี พวกเราชาวจิตเวชได้สูญเสีย อาจารย์ผู้ใหญ่อันเป็นที่รักของเราไป ผู้มีส่วนสำคัญทำให้เราได้มีภาควิชาจิตเวชศาสตร์ธรรมศาสตร์มาจนถึงทุกวันนี้ ท่านจากเราไปด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ กว่าที่จะมาถึงวันนี้ พวกเราได้เห็นปฏิกิริยาของท่านตั้งแต่วันแรกที่ตรวจพบโรคร้าย ช่วงเข้ารับการรักษาระยะต้น ระยะกลาง และ ช่วงสุดท้ายของชีวิต กลไกทางจิตและความเป็นไปของการปรับตัวต่อสถานการณ์อันเลวร้ายเหล่านั้น มันชัดเจน ทำให้ได้เรียนรู้ถึงขบวนการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในแต่ละช่วงวิกฤตของชีวิต มันเป็นความท้าทายของทั้งผู้ป่วยและญาติ ที่จะประคับประคองกันเพื่อทำให้วันสุดท้ายของชีวิตให้เป็นไปอย่างสงบมากที่สุด

ในช่วงกลางปี อาจารย์ในภาควิชาเดียวกันต้องประสบกับความโชคร้ายของญาติผู้ใหญ่ ฉันเองได้รับข่าวร้ายว่าพี่ชายป่วยเป็นมะเร็ง ในขณะที่คุณแม่ของอาจารย์อีกท่านเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย และอาจารย์อีกท่านในภาควิชาได้การสูญเสียคุณแม่ไปอย่างไม่มีวันกลับ เราทุกคนล้วนต้องผ่านวิกฤตเช่นนี้ในชีวิต สิ่งที่ฉันมองเห็นคือ ความทุกข์ยาก ความเหน็ดเหนื่อย ความคับข้องใจ ความขัดแย้ง ความเศร้า แต่สุดท้าย คือ การ(ต้อง)ยอมรับ ในสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น และ รอให้เวลาผ่านพ้นไป ทิ้งเอาไว้เพียงประสบการณ์ที่เราได้รับจากชีวิตจริง

วันนี้ ฉันได้รับเคสญาติของผู้ป่วยมะเร็งอีกคนหนึ่ง ญาติของเขาขอพบจิตแพทย์ด้วยตนเองโดยไม่มีใครแนะนำ เขาทำใจไม่ได้กับเรื่องราวที่เกิดขึ้นเพราะมันรวดเร็วเกินไป ชีวิตของเขามีเพียงภรรยาเท่านั้น ไม่มีบุตร เขาไม่รู้จะหันหน้าไปเล่าเรื่องราวที่น่าหวั่นใจนี้ให้ใครฟัง ปกติเขาอยู่บ้านกับภรรยาเพียง 2 คน ฉะนั้นที่ใครๆ บอกว่าบ้านคือความสุข เดิมทีอาจจะใช่ แต่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ บ้านกลับเป็นสถานที่ที่ร้าวรานที่สุด เป็นที่ที่เขาไม่อยากอยู่ที่สุด เพราะสิ่งที่ปรากฏในใจของเขามันมีแต่ภาพแห่งความสุขที่เขาเคยใช้ชีวิตอยู่กับภรรยา แต่วันนี้ภรรยาของเขาไม่สามารถพูดคุย หรือ ใช้วันเวลาร่วมกับเขาได้เหมือนเดิมอีกแล้ว มันจึงกลายเป็นความสับสน กลัว กังวล ที่ถาโถมเข้ามารอบด้าน แม้เหนื่อยหนักจากการเฝ้าไข้เพียงใด ก็ไม่สามารถข่มตาให้หลับพักผ่อนในบ้านหลังนี้ได้

ในกรณีเช่นนี้ หากใครแนะนำให้เขาพูดคุยถึงช่วงเวลาที่แสนดีระหว่างเขากับภรรยา ให้ภรรยาที่นอนป่วยฟัง สิ่งนั้นกลับทำให้เขายิ่งเศร้ามากขึ้น เพราะเขาตะหนักว่าความสุขในวันก่อนกำลังจะสลายไปอีกไม่นานนี้ เขาเล่าว่าจิตใจของเขาทรุดลงอย่างมาก เมื่อแพทย์บอกให้เขาทำใจไว้บ้าง เพราะภรรยากำลังติดเชื้ออย่างหนัก และไม่แน่ว่ายาที่ให้ไปนั้นจะเอาชนะเจ้าเชื้อร้ายได้หรือไม่ สิ่งนี้เป็นปฏิกิริยาของการได้รับข่าวร้ายที่ผู้ป่วยและญาติต่างต้องประสบ แต่ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นนั้นมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละคน

ในกรณีที่แพทย์ได้แจ้งข่าวร้ายให้แก่ผู้ป่วยหรือญาติแล้ว การ support และ ให้ข้อมูลการรักษาที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้บ่อยเป็นระยะๆ จะอาจช่วยลดความกังวลของญาติและผู้ป่วยได้ รวมถึงทำให้การตัดสินใจในระยะสุดท้ายของชีวิตที่แท้จริง เป็นไปได้ง่ายขึ้น

ย้อนกลับมาที่เคสของผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวรายหนึ่ง ตลอดชีวิตของเขามีความผูกพันกับบ้านและญาติๆ ของเขาในต่างจังหวัดอย่างมาก แต่เขาตัดสินใจเข้ารับการรักษาในกรุงเทพเพราะเชื่อมั่นในการรักษามากกว่า เขาได้รับเคมีบำบัดแล้ว 3 ครั้ง แพทย์นัดเขามาตรวจซ้ำ เขาเดินทางมาจากต่างจังหวัด ผลเลือดพบว่ามีปัญหา PANCYTOPENIA และ เขามีไข้ เขาจึงต้องถูก ADMIT

เขานอนอยู่โรงพยาบาลได้ 3 วัน อาการก็ดีขึ้น แต่ความโกรธของเขาค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละนิด เนื่องจากแพทย์ได้แจ้งข่าวร้ายกับเขาว่า การปลูกถ่ายไขกระดูกไม่อาจทำได้ การรักษาอาจมีเพียงการได้รับเดมีบำบัดที่มีฤทธิ์รุนแรงมาก ผิวหนังของเขาอาจจะต้องลอก เปื่อย และ ต้องนอนบนใบตอง เขาพอทำใจยอมรับสิ่งที่ได้ยินนั้นได้ แต่สิ่งที่เขาเข้าใจคือ แพทย์ได้บอกทางเลือก 2-3 ทางแก่เขา แต่แพทย์ไม่ได้มาถามว่า เขาต้องการเลือกอะไร ทั้งที่การถามนั้น ทำให้เขาร้องไห้ ใคร่ครวญ และนอนไม่หลับอยู่ 3 วัน แพทย์ประจำตึกเดินผ่านเตียงของเขา ไม่ได้พูดอะไร เขาเองกำลังจะอ้าปากถาม ก็ถามไม่ทัน เนื่องจากแพทย์เดินไวมาก ความรู้สึกของเขาคือ เขาเหมือนเด็กที่ถูกหลอกให้อยู่โรงพยาบาลไปวันๆ และ ไม่รู้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเขาในวันรุ่งขึ้น แพทย์เจาะเลือดไปแล้ว เขาได้รับเลือด, เกล็ดเลือด และ ยาฆ่าเชื้อ ผลเพาะเชื้อกลับมาแล้วไม่มีเชื้อ แต่แพทย์บอกว่าให้รอผล เขางง รอผลอะไร? ทำไมไม่เจาะตอนนี้เลย? เมื่อไรผลจะออก? แล้วจะเกิดอะไรต่อไป? จะได้กลับบ้านไหม นี่ก็ค่ำวันพฤหัสแล้ว จะกลับไปงานแต่งงานหลานสาวที่ต่างจังหวัดในวันอาทิตย์ แต่หมอไม่เคยทราบ เพราะไม่เคยคุย ดูแล็บอย่างเดียว และ เดินราวด์ผ่านเตียงเขาไปโดยไม่พูดอะไรกับเขาสักคำ

ด้วยความเป็นแพทย์เหมือนกันทำให้ฉันเข้าใจได้ทันทีว่า อ๋อ... ก็เพราะรอผลอย่างเดียว รอเจาะ CBC หลังจากที่ให้เลือดให้เกล็ดเลือดไปแล้ว 3 วัน ฉะนั้นเมื่อดู chart ไม่มีไข้ ผลเพาะเชื้อไม่ขึ้น ก็ไม่ต้องทำอะไร รออย่างเดียว ไม่ต้องราวด์.... แต่คนไข้....ไม่ได้คิดอย่างนั้น เขาคิดว่า อ้าวว.... แล้วที่หมอถามเขาไว้ล่ะ บอกข่าวร้ายเขาไว้ล่ะ ตกลงจะมาถามเขาอีกไหมว่าเขาเลือกแบบไหน เมื่อการไม่สื่อสารได้เกิดขึ้นโดยไม่เจตนา ผู้ป่วยเลือกที่จะตัดสินใจด้วยตนเอง คือ ไม่ว่าอย่างไร เขาเลือกที่จะกลับต่างจังหวัดในวันศุกร์ ไม่ว่าหมอจะว่าอย่างไร เพราะความโกรธที่ได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นมันมากเกินกว่าจะคุยกันต่อไปได้อีกแล้ว ซึ่งเมื่อเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น สิ่งที่แพทย์จะทำ ก็ไม่ยากที่จะเดาอีกเช่นกัน คือ การเซ็นไม่สมัครใจรักษา ทั้งที่เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ สามารถทำให้ดีขึ้นได้ ด้วยการสื่อสารเท่านั้นเอง

ผู้ป่วยแต่ละคนไม่เหมือนกัน แพทย์แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ผู้ป่วยบางคน ต้องการรู้ข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อวางแผนชีวิตในอนาคตระยะสั้น ระยะกลาง และ ระยะยาว เพราะการวางแผนสำหรับบางคนเป็นประโยชน์มาก ช่วยลดความวิตกกังวล เพราะชีวิตของเขาอาจต้องคิดเผื่อลูกๆ และภรรยาด้วย

อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยอยู่จำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถที่จะรับฟังข้อมูลมากมายแบบนั้นได้ แพทย์จำเป็นต้องให้ข้อมูลทีละน้อยๆ และอาจจะหลายครั้ง อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้ป่วยบางคนไม่ต้องการรู้อะไรเลยให้ญาติจัดการทั้งหมด....การสื่อสารเหล่านี้จึงเป็นเหมือนงานศิลปะที่ไม่ง่ายนักเมื่อบวกกับความเร่งรีบในการเป็นแพทย์ ยิ่งทำให้แพทย์หมดอารมณ์ที่จะประดิษฐ์งานศิลปะไปได้ง่ายๆ

ทุกแววตาของคนไข้และญาติ ที่มีต่อความรู้สึกสูญเสียนี้ แทบไม่มีความแตกต่างกัน เว้นไว้เพียงความต่างกันในวิธีการแก้ปัญหาเท่านั้น ในฐานะของมนุษย์คนหนึ่ง ที่แม้ไม่มีความรู้ใดๆ ทางจิตวิทยา ในภาวะที่คิดอยากจะช่วยประคับประคองพวกเขาให้ผ่านวิกฤตเหล่านี้ให้ได้ มันคงมีเพียงความรู้สึกเข้าใจ ซึ่งมันอาจไม่ใช่ความเห็นใจ เพราะเขาอาจไม่ได้ต้องการความเห็นใจ และ มันอาจคือ ความรู้สึกเป็นมิตร มากกว่าความหวังที่ว่าเราจะช่วยแก้ปัญหาทุกอย่างให้แก่เขาได้

ฉะนั้นทักษะที่สำคัญที่อาจจะช่วยพวกเขาได้ก็คือ การฟังพวกเขา เสมือนเรากำลังดูหนังชีวิตเรื่องหนึ่ง ที่คนไข้ของเราและญาติของเขาเป็นคนแสดง ในฐานะคนดูหนัง เราอาจจะเห็นประเด็นต่างๆ ได้กว้างมากกว่าผู้กำกับหรือคนเขียนบทด้วยซ้ำ หากไม่รู้ว่าจะทำอะไร อย่างน้อยก็ลองฟัง หรือทักทายเขาบ้าง (ถ้าเขาอยากคุยกับเรา) เช่น

“วันนี้เป็นอย่างไรบ้างคะ คะ/ครับ “

“ มีอะไรอยากถามหมอไหม ถ้านึกไม่ออกเขียนใส่กระดาษไว้

แล้วคราวหน้าถามนะคะ/ครับ”

ในกรณีของแพทย์ผู้ให้คำปรึกษาต่างแผนก อาการของคนไข้มิได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และ แพทย์อย่างเราๆ ทราบดีอยู่แล้วว่าจะไม่ได้มาราวด์คนไข้คนนั้นๆ ทุกวัน การบอกเขาก่อนว่าหมออาจไม่ได้มาทุกวันนะคะ/ครับ แต่ว่าจะมาพบคุณอีกครั้งเมื่อไร หรือ หากต้องการพบหมอ ก็ขอให้แจ้งพยาบาลเลยนะคะ/ครับ ก็อาจทำให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจ ลดความคาดหวัง และ ทำให้การรักษาเป็นไปได้อย่างราบรื่นมากขึ้น

หมายเลขบันทึก: 419616เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2011 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2016 16:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • น่าสนใจมากเลยครับ
  • ถ้าคุณหมอรักษากันหลายแผนกแบบองค์รวม
  • มาเขียนบ่อยๆๆนะครับ
  • เคยไปธรรมศาสตร์
  • สนุกมากเลยครับ

Dialogue  คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

http://gotoknow.org/blog/yahoo/320619
http://gotoknow.org/blog/yahoo/321061
http://gotoknow.org/blog/yahoo/322589

ขอบพระคุณค่ะ เราเป็นทีมค่ะ แต่ยังเป็นช่วงสร้างเนื้อสร้างตัวค่ะอาจารย์

  • อ่านแล้วก็เศร้าใจ แต่ก็เข้าใจทั้งสองฝ่ายว่าคิดต่างมุม
  • หมอก็เหนื่อยแต่คนไข้ทุกคนอยากได้กำลังใจจากหมอมากที่สุด เพียงแค่สายตาที่มองมาแล้วยิ้มก็คงเป็นสิ่งที่ช่วยประคับประคองจิตใจได้บ้างแล้ว
  • ก็อยากให้มีหมอคิดแบบหมอข้าวหอมมากๆนะคะ
  • เป็นกำลังใจให้เป็นหมอที่ดี ของคนไข้ต่อไปค่ะ

...สวัสดีครับ หมอข้าวหอม

อ่านแล้วนึกถึงตัวผมเองที่ ตอนนี้หมอบอกเป็นโรคไวรัสตับอักเสบชนิดซี (ผมมีบันทึกเก่าๆเรื่อง"ผลเลือด" ช่วงรู้ข่าววันแรกๆ)ซึ่งผมสับสน และทำอะไรไม่ถูก ไม่อยากบอกภรรยาและลูก ผมแอบร้องให้ในชะตากรรมที่กำลังเกิดกับผมและครอบครัวผมในอนาคตซึ่งไม่รู้อีกเช่นกันว่าจะเร็วหรือช้า

...วันศุกร์หน้านี้(21/01/2011)หมอท่านที่สองนัดพบอีกครั้งหลังให้ยามาทานครบ2เดือน และผมก็จะพยายามทำใจให้ได้อีกครั้ง

...มีพยาบาลที่รู้จักกันบอกว่าการรักษาทั่วๆไปต้องไม่เครียด ไม่ป่วยเป็นหวัด ทานอาหารต้องใช้ช้อนกลาง พักผ่อนให้เพียงพอ นั่นก็คือการรักษาร่างการให้แข็งแรง แต่งานผมมันตรงข้าม ผมอาจต้องปรึกษาผู้ใหญ่ที่ทำงานด้วยอีก

...เพื่อนที่ทำงานบางคนรวมทั้งภรรยาให้ความเห็นว่าเชื่อได้เหรอกับผลวินิจฉัยของหมอ เพราะเป็นระบบประกันสังคมให้ผมเปลี่ยนไปตรวจกับรพ.เอกชนหรือรพ.ที่มีชื่อเสียง แต่ผมมองกลับกัน ผมเชื่อเพราะหมอท่านแรกสงสัยอาการของผมมาเป็นปี และให้การตรวจผมและดูแลผมเป็นอย่างดี

...ผมขอถามหมอข้าวหอมว่า ผมควรทำอย่างไรดี

...จะเปลี่ยนรพ.เพื่อตรวจใหม่ดีหรือไม่

...ถ้าเป็นจริงๆจะรักษาตัวเองอย่างไรดี เพราะผมคงไม่มีเงินที่จะใช้ยา อินเตอร์เฟอรอน

...จะแจ้งผู้บังคับบัญชาดีหรือไม่เผื่อปรับเปลี่ยนลักษณะงานได้

...ขอรบกวนปรึกษาหมอข้าวหอมด้วยครับ

เรียน คุณ พ.แจ่มจำรัส ค่ะ

หมอว่าใจเย็นๆ ก่อนค่ะ ดูเหมือนมีความกังวลและเข้าใจอะไรคลาดเคลื่อนพอสมควรทีเดียวค่ะ

ส่วนหนึ่งเพราะไม่มั่นใจทั้งผลการตรวจและแพทย์ผู้ตรวจรักษา

หมอว่าคุณ พ.แจ่มจรัส อาจจะเริ่มต้นที่การตั้งสติก่อนค่ะ แล้วก็หาทางยืนยันการวินิจฉัยก่อน และ คุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อสอบถามเรื่องราวที่คุณกำลังเข้าใจว่าจริงๆ เข้าใจถูกต้องดีแล้วหรือยังก่อนดีกว่าค่ะ

อย่ากังวลจนเกินไปค่ะ

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท