EK-KARIN CHUAYCHOO
นาย เอกรินทร์ EK-KARIN CHUAYCHOO ช่วยชู

เห็ด : ขอบหมวกดอกหงิก เหี่ยวแห้ง เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อโรคจริงหรือ ?


อาการขอบหมวกดอกหงิก เหี่ยวแห้ง เกิดจากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม เช่น ความแปรปรวนของอากาศ อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ภายในโรงเรือน เชื้ออ่อนแอ มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเกินไป หรืออากาศร้อนจัด

ลักษณะดังกล่าวเกิดจากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม เช่น ความแปรปรวนของอากาศ อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ภายในโรงเรือน นอกจากนี้อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น เชื้ออ่อนแอ มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเกินไป หรืออากาศร้อนจัด เป็นต้น ซึ่งไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคสาเหตุแต่อย่างใด ตามความเข้าใจของผู้เพาะเห็ด ความผิดปกติของดอกเห็ดที่พบโดยทั่วไป เช่น อาการขอบดอกหงิกในเห็ดสกุลนางรม ซึ่งได้แก่ เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า เห็ดภูฐาน เห็ดนางรมฮังการี และเห็ดเป๋าอื้อ ลักษณะอาการของดอกหงิกที่พบในเห็ดนางรมและเห็ดภูฐานจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน นั้นคือ ดอกเห็ดเกิดเป็นกระจุกๆ ละหลายดอก ประมาณ 5-15 ดอก แต่ละดอกมีขนาดเล็กประมาณ 1-2 เซนติเมตร บางดอกมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อยแต่ไม่เกิน 4 ซม. หมวกดอกไม่บานหรือไม่คลี่ออก ก้านดอกอาจเกิดเดี่ยวหรือติดเป็นเนื้อเดียวกันจากก้านของดอกเห็ด 3-4 ดอก ไม่มีลักษณะของหมวกดอกปกติให้เห็น ขอบหมวกหงิกงอหยักไปมา หรือขอบหมวกม้วนออก ส่วนอีกลักษณะหนึ่งที่พบ คือ มีความผิดปกติที่ก้านซึ่งค่อนข้างยาวบิดเบี้ยวไม่มีหมวกเห็ด หรือก้านดอกเห็ดใหญ่ผิดปกติ หมวกดอกมีลักษณะเป็นกรวยคล้ายปากแตร ดอกเล็กไม่คลี่บาน ส่วนสีของดอกเห็ดนั้นยังคงมีสีขาวหรือสีขาวนวลปกติหรือสีเทาอ่อน สำหรับอาการบนเห็ดเป๋าอื้อ จะแตกต่างกับเห็ดนางรมและเห็ดภูฐาน คือ ก้านดอกจะสั้นผิดปกติ มีลักษณะลีบไม่สมบูรณ์ หมวกดอกมีขนาดเล็กบิดเบี้ยว ดอกไม่คลี่บานออก ในดอกที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจะไม่บานเต็มที่ ขอบดอกหยักโค้งไปมา บางดอกขอบอกม้วนลงหงิกงอ หมวกดอกแตกเป็นติ่งเล็กบนก้านดอกเดียวกัน สีดอกเห็ดมีสีเทาดำทั้งด้านหน้าและด้านหลัง

กรณีพบว่าดอกเห็ดในโรงเรือนแสดงอาการหมวกดอกหงิกดังที่กล่าวข้างต้นแนะนำให้แก้ไขปัญหาตามแนวทางต่อไปนี้

  1. การถ่ายเทอากาศ โรงเรือนที่เพาะเห็ดจะต้องมีช่องระบายอากาศอย่างเพียงพอควรเปิดประตูและหน้าต่างในตอนเช้ามือเพื่อระบายอากาศ และป้องกันการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

  2. แสงสว่าง ตรวจความเข้มของแสงในโรงเพาะให้เพียงพอพอกับการพัฒนาเจริญเติบโตของดอกเห็ด โดยใช้วิธีเปิดช่องหน้าต่างหรือช่องแสง หรือใช้แสงไฟช่วย โดยเฉพาะในช่วงเก็บดอกเห็ดตอนเช้ามือ

  3. ความชื้น ควรตรวจตราความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศภายนอกและภายในโรงเรือนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งโดยทั่วไปความชื้นสัมพันธ์ในระยะเปิดดอกจะอยู่ระหว่าง 80-90 เปอร์เซ็นต์และความชื้นในโรงเพาะจะมีความสัมพันธ์กับอุณหภูมิสูงต่ำของอากาศภายนอกโรงเรือน ดังนั้นในฤดูหนาวที่มีอากาศแห้งความชื้นต่ำ ควรใช้ผ้าพลาสติกบุโรงเรือนด้านในปิดประตูหน้าต่างโรงเรือนไว้ป้องกันความชื้นระเหยให้น้ำวันละ 3 เวลา ก็จะช่วยให้โรงเรือนเปิดดอกมีความชื้นพอเหมาะส่วนในฤดูร้อน อุณหภูมิและอากาศภายนอกโรงเรือนจะสูง การรักษาความชื้นจะกระทำโดยให้น้ำวันละหลายครั้ง รวมทั้งน้ำที่พื้นโรงเรือน ข้างฝา และหลังคา มีการระบายอากาศภายในโรงเรือนก็จะช่วยให้โรงเรือนมีความชื้นได้ตามต้องการ

  4. สูตรอาหาร จะต้องเป็นสูตรอาหารที่ได้มาตรฐานมีส่วนประกอบที่เหมาะสมกับความต้องการของเห็ด เพราะการเตรียมวัสดุเพาะผิดไป การย่อยสลายของวัสดุเพาะ การเปลี่ยนแปลงทางเคมีฟิสิกส์ของวัสดุจะไม่สมดุล ซึ่งจะทำให้คุณภาพของวัสดุเพาะเห็ดและธาตุอาหารเปลี่ยนแปลงไปด้วย

เกษตรกรผู้เพาะเห็ดท่านใด สงสัยต้องการสอบถามหรือขอข้อมูลเพิ่มเติมสามารถโทรติดต่อได้ที่ คุณเอกรินทร์  ช่วยชู (081-3983128)

หมายเลขบันทึก: 419433เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2011 18:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท