พัฒนาการของภาษา (language development)


การสอนภาษาไทยตามระบบพัฒนาการ

 


เฉลิมลาภ ทองอาจ

 

            ความรู้ประการหนึ่งที่อาจจะกล่าวได้ว่า ครูภาษาไทยให้ความสำคัญน้อยมากก็คือความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการของภาษาในเด็ก (language development) ทั้งที่จริงแล้ว ความรู้หรือทฤษฎีนี้จะช่วยให้ครูภาษาไทยเข้าใจบทบาทและหน้าที่ของตนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น  น่าเป็นห่วงว่า สถาบันครุศึกษาที่ทำหน้าที่ผลิตครู โดยเฉพาะในสาขาวิชาการสอนภาษาไทยหลายแห่ง มิได้กำหนดรายวิชาเกี่ยวกับพัฒนาการของภาษาลงไปในหลักสูตร  ครูภาษาไทยอันเป็นผลิตผลของหลักสูตรจึงมีความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาษา ไม่ว่าจะเป็นความรู้เกี่ยวกับประวัติวรรณคดี  หลักภาษาไทย วัฒนธรรม  ฯลฯ       แต่ไม่ทราบเลยว่าภาษามีพัฒนาการมาได้อย่างไร ซึ่งนับว่าเป็นการผลิตครูภาษาที่ผิดทิศทางไปมาก 

          ความไม่รู้คืออันตรายและหายนะของครู  เพราะเมื่อไม่ทราบพัฒนาการของภาษา  ครูก็จะไม่ทราบจุดเน้นที่แท้จริงของการสอนภาษา  ซึ่งทำให้การสอนไม่เป็นระบบและขาดความสอดคล้องกัน  การศึกษาทางด้านภาษาศาสตร์และจิตวิทยาที่เกี่ยวกับพัฒนาการของภาษาในเด็ก  จึงมีบทบาทสำคัญที่จะขจัดความไม่รู้ดังกล่าวให้สิ้นไป  ซึ่งทฤษฎีที่เสนอขึ้นนั้นเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยเป็นอย่างยิ่ง 

          นักภาษาศาสตร์และนักจิตวิทยาให้ความหมายของภาษาว่า เป็นแบบแผนของการสื่อสาร ซึ่งมีหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารด้วยการพูด เขียนหรือใช้สัญลักษณ์  ซึ่งหากจะกล่าวให้แคบเข้า ภาษาก็คือระบบของสัญลักษณ์ (system of symbols) ที่สามารถสื่อความหมายได้นั่นเอง                ทั้งนี้  องค์ประกอบของทุกภาษาย่อมประกอบด้วยคำ (words)  ที่สังคมนั้นกำหนดความหมายร่วมกัน และกฎเกณฑ์ (rules)  หรือที่เรียกว่าไวยากรณ์  (grammar)  ในการที่จะนำคำเหล่านั้นมาร่วมกันเป็นวลี (phrases)  หรือประโยค (sentences)  ที่ยอมรับได้ หรือก็คือสามารถสื่อความหมายอย่างใดอย่างหนึ่งได้ (Santrock, 2008: 54)  กล่าวถึงเฉพาะเรื่องของกฎเกณฑ์ หรือภาวะอันเป็นระเบียบที่ควบคุมให้ภาษาสื่อความหมายได้นั้น  นักจิตวิทยาได้แบ่งกฎเกณฑ์ดังกล่าวไว้ 5 ระบบ ซึ่งเรียงตามพัฒนาการของภาษา ประกอบด้วย  1)  ระบบเสียง  (phoneme)  2)  ระบบคำ (morphology)  3)  ระบบคำและประโยค (syntax) 4)  ระบบความหมาย (semantic) และ  5)  ระบบการใช้ (pragmatics) ซึ่งแต่ละระบบนี้เอง ที่ครูภาษาไทยจะต้องศึกษาและสร้างความเข้าใจ เพื่อให้เห็นลำดับของพัฒนาการและจุดเน้นในการสอนในแต่ละระดับขั้นของพัฒนาการ  ดังที่จะได้สรุปต่อไปนี้ 

                   1.  ระบบเสียง  (phonology) หมายถึง ระบบของเสียงที่ผู้ใช้ภาษานั้นเปล่งออกมา ประกอบด้วยหน่วยเสียง และวิธีการที่จะประกอบแต่ละหน่วยเสียงเข้าไว้ด้วยกัน  หน่วยเสียงในแต่ละภาษามีจำกัดและแตกต่างกันไปในแต่ละภาษา  รวมถึงวิธีการประกอบเสียงก็ต่างกันด้วย  ในทางภาษาศาสตร์ หน่วยเสียงเป็นหน่วยของภาษาที่เล็กที่สุด แต่มีอิทธิพลต่อความหมาย จากความรู้ข้อนี้  ในการสอนภาษาไทยเรื่องหน่วยเสียงนั้น ในระดับประถมศึกษาจึงจะต้องเน้นให้ผู้เรียนได้ฝึกจำแนกความแตกต่างระหว่างหน่วยเสียง อันเป็นผลให้คำมีความหมายเปลี่ยนไป  เช่น การเปลี่ยนเสียงพยัญชนะต้นในคำ แล้วทำให้เปลี่ยนความหมาย เช่น  า เปลี่ยนเป็น า  เปลี่ยนเสียงสระแล้วเปลี่ยนความหมาย เช่น ติ  เปลี่ยนเป็น  ตี  และเปลี่ยนเสียงวรรณยุกต์แล้วเปลี่ยนความหมาย เช่น  มา  เปลี่ยนเป็น  ม้า  เป็นต้น  การให้ผู้เรียนได้สังเกตหน่วยเสียง จะทำให้ผู้เรียนให้ความสำคัญกับหน่วยเสียงมากยิ่งขึ้น เกิดความแม่นยำและส่งผลให้อ่านออกเสียงได้ชัดเจนขึ้น  เนื่องจากจะต้องใช้เสียงในการจำแนกความแตกต่างคำ

                   2.  ระบบคำหรือหน่วยคำ (morphology)  หรือในภาษาบาลีเรียกว่า “วจีวิภาค”  เป็นพัฒนาการที่เกิดจากการยกระดับหน่วยเสียงขึ้นมาเป็นหน่วยคำ  เพราะหน่วยเสียงนั้นยังมิได้คำนึงเรื่องของความหมาย ส่วนระบบคำ หรือที่จริงคือระบบของหน่วยคำ  (morpheme) นั้น คือ กลุ่มของหน่วยเสียงที่เล็กที่สุดที่เริ่มสื่อความหมายได้  คำคำหนึ่งอาจประกอบด้วยหน่วยคำเพียงหน่วยเดียว  เช่น  “ธรรม”  หรือมากกว่าหนึ่งหน่วยก็ได้ เช่น คำว่า “อธรรม” ประกอบด้วยหน่วยคำ “อ” (ซึ่งเป็นหน่วยเสียง) ที่มีความหมายโดยการไปกลับความหมายของคำ และหน่วยคำ “ธรรม” เป็นต้น  สำหรับในภาษาอังกฤษรวมทั้งภาษาบาลีและสันสกฤต ดังที่ยกตัวอย่าง  หน่วยคำอาจจะไม่ได้มีรูปลักษณ์    เป็นคำ แต่มีลักษณะเป็นส่วนประกอบของคำ ที่เมื่อนำไปรวมกับอีกหน่วยเสียงแล้วเปลี่ยนความหมาย เช่น หน่วยเสียง /pre-/, /-er/, /-tion/, /-ing/ ในภาษาอังกฤษ และหน่วยคำอุปสรรคในภาษาบาลี ซึ่งมี   20 หน่วย  (วิรัติ วรินทรางกูร, 2546: 210) ได้แก่

                             /อติ/  ยิ่ง, เกิน, ล่วง                         /ทุ/ ชั่ว, ยาก

                             /อธิ/  ยิ่ง, ใหญ่, ทับ                         /นิ/  เข้า, ลง

                             /อนุ/  น้อย, ภายหลัง, ตาม                 /นิ/  ไม่มี, ออก

                             /อป/  ปราศ, หลีก                           /ป/  ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก

                             /อปิ/, /ปิ/  ใกล้, บน                         /ปฏิ/ เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ

                             /อภิ/  ยิ่ง, ใหญ่, จำเพาะ, ข้างหน้า        /ปรา/  กลับความหมายของคำ

                             /อว/, /โอ/ ลง                                 /ปริ/  รอบ

                             /อา/  ทั่ว, ยิ่ง, กลับความหมายของคำ    /วิ/  วิเศษ, แจ้ง, ต่าง

                             /อุ/   ขึ้น, นอก                               /สํ/  พร้อม, กับ, ดี

                             /อุป/ เข้าไป, ใกล้, มั่น                       /สุ/  ดี, งาม, ง่าย

                   จากแนวคิดเกี่ยวกับระบบหน่วยคำข้างต้น  จุดเน้นที่ควรจะทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจที่กระจ่างชัดคือ ที่เราเรียกเสียงที่มีความหมายว่าคำนั้น  แท้จริงแล้ว  คำอาจประกอบด้วยหน่วยคำมากกว่าหนึ่งหน่วยก็เป็นได้ ดังนั้นในการจัดการเรียนการสอน  จะต้องให้ผู้เรียนได้สังเกตและฝึกฝนการวิเคราะห์หน่วยคำที่มาประกอบเป็นคำต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน        การศึกษาเรื่องการประกอบคำ ทั้งในเรื่องคำประสม  คำประสาน (มีหน่วยคำเติมหน้า เช่น  การ-, ความ-ผู้-, ชาว-, นัก-, ช่าง-, ที่-, เครื่อง-, พระ-, ทรง- และหน่วยคำเติมท้าย ได้แก่  -นิยม, -กร)  และ          การประกอบคำบาลีดังที่กล่าวข้างต้น                      

                   3.  ระบบวลีและประโยค (syntax) หรือ “วากยสัมพันธ์” หมายถึง ระบบของการนำคำมารวมกันให้อยู่ในรูปของวลี (phrases)  และประโยค (sentences)  ที่สังคมยอมรับได้ว่าสามารถสื่อความหมายได้  การนำคำมาสัมพันธ์กันอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ในแต่ละภาษาจะมีระเบียบแบบแผนที่ต่างกันออกไป  ตัวอย่างเช่น วากยสัมพันธ์ของภาษาอังกฤษกำหนดไว้ว่า  คำขยายนาม (adjective) จะต้องวางไว้หน้าคำนาม เช่น “black shoe”  หมายถึง  รองเท้าสีดำ แต่ในภาษาสเปนหรือในภาษาไทย คำขยายนาม (ไทยเรียกว่าวิเศษณ์) จะวางไว้หลังคำนาม เป็นต้น  นอกจากเรื่องความสัมพันธ์ของระหว่างคำแล้ว  ระบบประโยคยังจะเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประโยคด้วย เช่น  หากเรามีประโยคดังต่อไปนี้

                             1)  แมวไล่จับหนู

                             2)  หนูแอบกินขนมในครัว

                             3)  แม่วิ่งตามแมว

                   จากระเบียบของวากยสัมพันธ์  เราสามารถที่จะรวมประโยคทั้งสามประโยคข้างต้นไว้ด้วยกันในลักษณะของประโยคซับซ้อนว่า  “แม่วิ่งตามแมวที่ไล่จับหนูซึ่งแอบกินขนมในครัว”  แต่เราจะไม่สร้างประโยคว่า  “แมว แม่ หนู วิ่งตามไล่แอบกินในครัวขนม”  ความคิดที่เรานำคำมาเรียงเพื่อให้คงความหมายของประโยคเดิมและสื่อความหมายให้เข้าใจได้นั้นเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ อันเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงระบบประโยคที่ซ่อนอยู่ในโครงสร้างปัญญาของบุคคล  แนวคิดพัฒนาการทางภาษาในเรื่องระบบประโยคนี้ จะทำให้ครูภาษาไทยเข้าใจธรรมชาติของการรวมประโยค หรือความสามารถในการเรียบเรียงคำ เพราะฉะนั้นในการสอนเรื่องประโยคประเภทต่างๆ ก็ดี หรือการเรียนเรื่องวลีก็ดี            ครูภาษาไทยจะต้องเน้นที่การเรียบเรียง  หรือการนำคำหรือกลุ่มคำมาสัมพันธ์กันเพื่อให้ใช้สื่อความหมายที่ถูกต้อง  กล่าวให้ง่ายคือ มุ่งสอนสร้างประโยค  มิใช่มุ่งแต่เฉพาะการวิเคราะห์ประโยคที่กำหนดเป็นประโยคประเภทใด หรือมีวลีชนิดใดอย่างที่นิยมทำกัน  เพราะผลปรากฏเด่นชัดแล้วว่า  แม้ว่านักเรียนจะวิเคราะห์ว่าประโยคใดเป็นประโยคซ้อนได้ แต่เมื่อให้ผู้เรียนลองสร้างประโยคความซ้อนหรือสร้างย่อหน้า กลับพบว่านักเรียนประสบปัญหาในการเรียบเรียงคำเป็นอย่างมาก  ทั้งนี้ก็เพราะ    การสอนแบบประเพณีนิยมในเรื่องประโยคดังที่กล่าวนั้น  เป็นการขัดกับธรรมชาติของพัฒนาการทางภาษานั่นเอง     

                   4.  ระบบความหมาย (semantics) หรือที่เรียกกันว่า  “อรรถศาสตร์” เป็นระบบเกี่ยวกับความหมายของคำ วลีหรือประโยค  ในทางภาษาศาสตร์นั้น คำทุกคำจะมีสิ่งที่เรียกว่า “ลักษณะของความหมาย”  (semantic features) ซึ่งในทางจิตวิทยา ความหมายของคำก็คือมโนทัศน์ (concept) ที่บุคคลมีต่อคำนั้น  ซึ่งมโนทัศน์แต่ละมโนทัศน์จะมีลักษณะ (attribute)  ที่เหมือนหรือต่างจากมโนทัศน์อื่นๆ ลักษณะจะเป็นเครื่องแยกความแตกต่างคำแต่ละคำ หรือเป็นสิ่งที่บ่งว่าคำหนึ่งมีความหมายต่างจากอีกคำหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น  คำว่า  อา กับ น้า มีลักษณะร่วมกันคือ “ความเป็นน้อง” แต่ลักษณะที่ต่างก็คือ “เพศของพี่” กล่าวคือ ถ้าพี่เป็นชาย (คือพ่อ)  จะเรียกอา  แต่ถ้าพี่เป็นหญิง (คือแม่)  จะเรียกน้า เป็นต้น ดังนั้นในการสอนภาษาไทย พัฒนาการทางภาษาเกี่ยวกับความหมายจะเกี่ยวกับเรื่องของ  คำพ้อง คำที่มีความหมายหลายนัย รวมถึงเรื่องการของความหมายของคำในบริบทต่างๆ จุดเน้นของการสอนจึงต้องให้ความสำคัญกับการตีความหมายของคำ และการใช้วิธีการทางอรรถศาสตร์ในการแยกความหมายและกำหนดความแตกต่างของคำ หรือการวิเคราะห์ลักษณะของคำที่ใกล้กันมากออกมาให้ชัดเจนว่า มีลักษณะที่เหมือน/ร่วม  และลักษณะใดบ้างที่แตกต่าง และลักษณะที่ต่างนั้นเอง    จะใช้เป็นเกณฑ์การจำแนกคำ  เพราะเมื่อนักเรียนสามารถเข้าใจความแตกต่างของความหมายของคำ วลี ประโยคแล้ว ก็จะสามารถนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง ตัวอย่างปัญหาที่สอดคล้องกับพัฒนาการข้อนี้ คือ เรามักจะพบว่า  นักเรียนสับสนในการใช้สำนวนไทยที่มีความหมายใกล้เคียงกัน เช่น เหยียบเรือ      สองแคม นกสองหัว  จับปลาสองมือ  หรือคำที่ความหมายคล้ายกัน เช่น หั่น เฉือน  ปาด ฝาน ตัด แล่  ฯลฯ เป็นต้น    

                   5.  ระบบการใช้ภาษา (pragmatics) หรือ  “วัจนปฏิบัติศาสตร์”  อันเป็นแบบแผนหรือระเบียบการใช้คำหรือประโยคในบริบทต่างๆ ซึ่งหมายรวมถึงความรู้และทักษะเกี่ยวกับการใช้ภาษาให้มีประสิทธิภาพที่สุดในบริบทหนึ่งๆ ความรู้ดังกล่าวหมายถึงการทราบว่าในบริบทหรือในสถานการณ์หนึ่งๆ นั้น สิ่งใดควรพูดหรือไม่ควรพูด และสิ่งนั้นควรพูดสื่อสารออกไปอย่างไร  ระบบการใช้ภาษาจึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับค่านิยมและวัฒนธรรม  การใช้ถ้อยคำที่สุภาพและเหมาะสมกับฐานะ   ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และบริบทที่เกิดการสื่อสาร เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของระบบการใช้ภาษา อันถือเป็นพัฒนาการขั้นสูงสุดของภาษา  จุดเน้นของการพัฒนาระบบการใช้ภาษาของผู้เรียน คือการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้วิเคราะห์บุคคลที่สื่อสารด้วยว่า เขามีความคิด ค่านิยม และความสัมพันธ์กับเราในลักษณะใด ที่สำคัญคือผู้เรียนจะต้องวิเคราะห์บริบทในการสื่อสารเป็น  ตัวอย่างเช่น การกล่าวปฏิเสธเพื่อนสนิทที่อาจจะชักชวนให้ปฏิบัติในสิ่งที่ไม่เหมาะสม  หรือการพูดโดยไม่ทำลายน้ำใจ  ซึ่งในเรื่องของบริบทนี้  เห็นได้ชัดว่า  ครูภาษาไทยให้ความสำคัญน้อยมาก ผลก็คือผู้เรียนของเราไม่ทราบว่าในสถานการณ์วิกฤติ หรือเมื่อต้องเผชิญกับความยากลำบากนั้น ตนเองจะพูดอะไรและพูดอย่างไร     เป็นต้น  การเรียนการสอนที่จะช่วยพัฒนาในการวิเคราะห์บริบท คือการใช้สถานการณ์จำลองหรือบทบาทสมมติ ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนได้วิเคราะห์ค่านิยมและความคิด ตลอดจนสิ่งแวดล้อมต่างๆ  ก่อนที่จะใช้ภาษาสื่อสารออกไป การสอนการใช้ภาษาเท่าที่ปฏิบัติอยู่คือการเขียนหรืออ่านให้ถูกต้องนั้น ถือว่าเป็นการใช้ระบบภาษาในระดับผิวเผิน เพราะหากผู้เรียนได้พบกับบริบทอื่นๆ ที่ต่างออกไป ผู้เรียนก็อาจจะสื่อสารไม่สัมฤทธิ์ผลก็เป็นได้ 

          พัฒนาการของภาษาดังที่กล่าวมามีความสำคัญต่อการกำหนดจุดเน้น  อันเป็นเป้าหมาย       ในการสอน ทำให้การเรียนการสอนภาษาไทยสอดคล้องกับพัฒนาการของภาษาอย่างแท้จริง  เป็นการสอนที่ดำเนินตามหลักทฤษฎีที่ได้มีการศึกษาไว้ ซึ่งผลจากการปฏิบัตินอกจากจะช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนมีพัฒนาการด้านภาษาไทยที่ถูกต้องแล้ว ยังอาจจะทำให้ครูได้ค้นพบข้อความรู้ใหม่ๆ อันเป็นพัฒนาการเฉพาะภาษาไทย ซึ่งยังต้องการการ “แผ้วถาง” และ “บุกเบิก” จากครูภาษาไทยอีกมาก และไม่ใช่เรื่องยากเพราะครูย่อมคลุกคลีอยู่กับ  “พัฒนากร” ทางภาษาตัวน้อยๆ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน 

_______________________________

รายการอ้างอิง

วิรัติ  วรินทรางกูร.  2546.  คู่มือบาลีไวยากรณ์ นามและอัพยยศัทพท์. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.

Santrock, J. W. 2008. Educational psychology. 3rd ed. Boston: Mcgraw-Hill.

หมายเลขบันทึก: 419306เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2011 01:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท