หลักสูตรอาเซียนสู่หลักสูตรไทย


หลักสูตรไทยเมื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน

 

                                                                                               เฉลิมลาภ  ทองอาจ

 

          ประเทศไทยและมวลสมาชิกประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีวิสัยทัศน์ร่วมกันที่จะจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ในปี ค.ศ. 2015  หรือในอีก 3 ปีข้างหน้านี้  เพื่อสร้างศักยภาพทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศที่เป็นสมาชิก และการแสดงบทบาทในประชาคมโลก  กล่าวถึงในด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน  (ASEAN)  ได้มีวิสัยทัศน์ร่วมกันเกี่ยวกับการจัดการศึกษา ซึ่งประกาศไว้ในกฎบัตรอาเซียน ในส่วนความมุ่งหมายในข้อ 9 และ 10 ดังนี้  (ASEAN, 2007: online)

 

                   ข้อ 9  เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน อันจะทำให้เกิดความมั่นใจในการป้องกันสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันทรัพยากรธรรมชาติ  มรดกทางวัฒนธรรมและคุณภาพชีวิตของประชากรของประเทศสมาชิก

 

                   ข้อ 10  เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  ด้วยการประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในด้านการจัดการศึกษา เพื่อส่งเสริมให้ประชากรเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต  โดยมุ่งเน้นการศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันจะนำไปสู่การสร้างศักยภาพของประชากรให้ก้าวสู่ประชาคมอาเซียน

 

          จากจุดมุ่งหมายด้านการศึกษาของสมาคมอาเซียน หรือที่กำลังจะยกระดับเป็นประชาคมอาเซียนนั้น  จะเห็นได้ว่า ประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมศึกษา การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน          การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการศึกษาด้านสังคมและวัฒนธรรม จะเป็นประเด็นหลักในการวางแผนเกี่ยวกับการศึกษาของประชาคมอาเซียน  ด้วยเหตุนี้ การจัดหลักสูตรการศึกษาในประเทศไทยเพื่อให้รองรับกับประชาคมอาเซียน จึงจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับประเด็นดังกล่าว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ถือว่าเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับภูมิภาค   ในการพัฒนาหลักสูตร จึงจะต้องกำหนดเนื้อหาเกี่ยวกับทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของประเทศในกลุ่มสมาชิก และวิธีการบริหารจัดการเพื่อให้เกิด         ความยั่งยืนเป็นสาระหรือเนื้อหาที่สำคัญ  นอกจากนี้ ยังควรเพิ่มเนื้อหาในด้านอื่นๆ เข้าไปด้วย       ซึ่งในที่นี้สามารถพิจารณาได้จากขอบเขตของการศึกษาและพัฒนาขององค์การรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  (The Southeast Asian Ministers of Education Organization: SEAMEO) ซึ่งได้กำหนดขอบเขตความรับผิดชอบ  (areas of priority) ไว้ 7 ประเด็นด้วยกันดังนี้  (SEAMEO, 2010: online)

 

                   1.  เกษตรกรรมและทรัพยากรธรรมชาติ  (agriculture and natural resources)

 

                   2.  วัฒนธรรมและประเพณี  (culture and tradition)

 

                   3.  เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (information and communications technology)

 

                   4.  ภาษา (language)

 

                   5.  การบรรเทาความยากจน  (poverty alleviation)

 

                   6.  การศึกษาเกี่ยวกับสุขอนามัยเพื่อป้องกัน  (preventive health education)

 

                    7.  คุณภาพและความเสมอภาคทางการศึกษา  (quality and equity in education)

 

          ขอบเขตของการพัฒนาข้างต้น เป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ออกแบบหลักสูตรอาเซียนศึกษา  เช่น การกำหนดให้ผู้เรียนในประเทศสมาชิกจะต้องเรียนภาษาของประเทศสมาชิกอื่นๆ อย่างน้อย 1-2 ภาษา   การศึกษาด้านวัฒนธรรมและประเพณี ด้วยการจัดให้ผู้เรียนได้ศึกษาเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของประเทศในกลุ่มสมาชิก  หรือการศึกษาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งในส่วนที่เป็นจุดแข็งหรือข้อได้เปรียบ รวมถึงปัญหาด้านการจัดการทรัพยากรในประเทศกลุ่มสมาชิก เป็นต้น         นักหลักสูตรจะต้องยึดหลักเกณฑ์สำคัญที่ว่า  การสร้างหลักสูตรอาเซียนศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกันของประเทศสมาชิกอาเซียน  และจากความเข้าใจนั้นจะนำไปสู่ความร่วมมือในด้านการสร้างความเข้มแข็งให้กับทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน เพราะการสร้างประชาคมย่อมหมายถึงการอยู่ร่วมกัน ประเทศในกลุ่มสมาชิกจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้กันและกัน ทั้งนี้มิใช่เพื่อเอาชนะหรือแข่งขัน แต่จะต้องเป็นไปเพื่อสร้างมิตรภาพและศักยภาพในภูมิภาค 

 

          เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาเกี่ยวกับหลักสูตรอาเซียนศึกษา พบว่าส่วนใหญ่เป็นหลักสูตรในระดับมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม หลายโรงเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เสนอหลักสูตรอาเซียนศึกษาขึ้นใช้ในสถานศึกษาบ้างแล้ว ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค  โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นจัดหลักสูตรในรูปหลักสูตรรายวิชา ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการศึกษาความเป็นมาของการต่อตั้งสมาคมอาเซียนและประชาคมอาเซียน  รวมถึงการศึกษาเนื้อหาในกฎบัตรอาเซียน และการดำเนินงานของประชาคมอาเซียนใน 3 ด้าน ได้แก่  1)  การดำเนินงานของประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political and Security Community- APSC)  2)  การดำเนินงานของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community-AEC) และ 3)  การดำเนินงานของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community-ASCC)  ทั้งนี้มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการออกแบบหลักสูตรอาเซียนศึกษา ซึ่งผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหลักสูตรของไทยควรจะได้มีการอภิปรายต่อไป เช่น

 

                   1.  จุดประสงค์ของหลักสูตรอาเซียนศึกษาที่ว่า เป็นการสร้างความเข้าใจอันดีและสร้างอัตลักษณ์ร่วมระหว่างประเทศสมาชิกนั้น  จะทำให้เกิดการแบ่งแยกเยาวชนจากประชาคมโลกหรือแนวคิดมนุษย์ที่สมบูรณ์หรือไม่  เพราะหากจะมองให้ลึกลงไปแล้ว ความมุ่งหมายที่แท้จริงของการมารวมกันก็เพื่อการสร้างศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศในกลุ่มอื่นๆ นักหลักสูตรจะต้องตีความต่อไปว่า การแข่งขันเป็นเรื่องที่ดีจริงหรือไม่  เพราะในการแข่งขันต้องมีการเอาชนะผู้อื่น  ความต้องการที่จะเอาชนะหรือการพอใจที่เห็นผู้อื่นแพ้นั้น  ไม่น่าจะเป็นคุณลักษณะของการพัฒนามนุษย์ในทุกแนวคิด

 

                   2.  เนื้อหาของหลักสูตร เช่น ภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ทรัพยากร ฯลฯ      ที่นำมาจัดไว้เป็นเนื้อหาให้ผู้เรียนได้ศึกษานั้น  จะต้องมีการจัดการอย่างไร วางขอบเขตและความลุ่มลึกในระดับใด จึงจะเหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละระดับชั้น  ที่สำคัญคือ ทำอย่างไรมิให้เนื้อหาของหลักสูตรที่เพิ่มเข้ามาทำให้ผู้เรียนเรียนหนักขึ้น  ในประเด็นนี้ จึงเกิดประเด็นที่น่าสนใจต่อมาว่า  ควรเพิ่มหลักสูตรอาเซียนศึกษาเข้าไปในหลักสูตรแกน หรือสร้างหลักสูตรแกนให้เป็นหลักสูตรอาเซียน   คือจัดเนื้อหาหรือกลุ่มสาระการเรียนรู้ใหม่ ให้สอดคล้องและรองรับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยกำหนดจากขอบเขต เนื้อหาตามแนวทางการพัฒนาที่ได้เสนอไว้ก่อนหน้านี้   ซึ่งในประเด็นหลังนี้มีความท้าทายและอาจต้องมีการดำเนินการวิจัยต่อไป     

                

________________________________________

รายการอ้างอิง

ASEAN.  2007.  Charter of the association of southeast asean nations [Online].  Available from: http://www.aseansec.org/21069.pdf  [2010 December, 17]

SEAMEO.  2010.  What is SEAMEO ? [Online].  Available from: http://www.seameo.org/index.php?option=com_ content&task=view&id=25&Itemid=31 [2010 December, 17]

 

หมายเลขบันทึก: 419207เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2011 13:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มีประโยชน์มากๆเลยคะน้องลาภ ตอนนี้พี่เริ่มสนใจอาเซียนมากขึ้นแต่ยังไม่ค่อยเข้าใจอย่าถ่องแท้ พออ่านจบบรรทัดสุดทำให้น่าสนใจยิ่งขึ้นเรื่องที่ควรจะนำไปทำวิจัยต่อไป เพราะตอนนี้ concept paper กำลังเผาหัวอยู่จ๊ะ ยังนึกไม่ออกเลยว่าจะทำเรื่องอะไร ขอบคุณมากเลยสำหรับสาระความรู้ที่ดีๆ พี่ติดตามอ่านงานที่น้องเขียนเสมอ และมักจะนำไปใช้ประโยชน์ในการเรียน เยี่ยมคะ

ขอบคุณ กำลังต้องการ ขออนุญาตินำไปให้โรงเรียนได้ใช้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท