มหกรรม KM เบาหวาน-ความดันโลหิตสูง ปีที่ ๔ : ขยายพันธุ์คนรักเท้า (๑)


ปัจจุบันนี้การดูแลเท้าของไทยก้าวหน้าขึ้นมาก มีการนำวิธีการดูแลแผลสารพัดแบบมาใช้เพื่อช่วยให้แผลหาย ไม่ต้องตัดขา หมอไทยรู้จักการดูแลแผลดูแลเท้ามากขึ้น เราก็เลยได้เห็นเท้าแปลกๆ อย่าง Charcot foot มากขึ้น

บันทึก ๔ บันทึกต่อไปนี้ ดิฉันขอให้คุณธัญญา วรรณพฤกษ์ เขียนเล่าเรื่องราวกิจกรรมของเครือข่ายผู้ดูแลเท้าที่มีขึ้นในช่วงเย็นของวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๓ พวกเราทีมทำงานไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมตลอดเพราะต้องพูดคุยและเตรียมงานสำหรับการประชุมในวันรุ่งขึ้น

วัลลา ตันตโยทัย

และแล้วก็ถึงวันที่รอคอย ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๓ วันที่จะเกิดงาน KM ของเท้าโดยเฉพาะ ตื่นเต้นมากๆ เลยค่ะ ตื่นเต้นเพราะไม่รู้ว่างานจะออกมาอย่างไร ไม่รู้ว่าคนจะสนใจหรือเปล่า แล้วถ้าคนสนใจ ไม่รู้ว่าทำให้งานออกมาดีได้หรือเปล่า เต็มไปด้วยความ “ไม่รู้” เยอะแยะไปหมด แถมตอนแรกตั้งใจมีผู้ร่วมงานเพียง ๑๐๐ พอถึงตอนประชาสัมพันธ์งาน อาจารย์วัลลาแนะนำให้เพิ่มเป็น ๒๐๐ ใกล้ๆ ถึงวันได้รับแจ้งว่ามีคนลงจองร่วมงานเกิน ๒๐๐ โดยที่ยังไม่ได้รวมทีมต่างๆ ที่จะมานำเสนอ เลยขยายจำนวนไปเป็น ๓๐๐ ตัวเลขจำนวนผู้สนใจที่มากเช่นนี้ มีส่วนทำให้เกิดความตื่นเต้นพอควร

งาน KM เท้านี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่มี code name ว่า WDF09-413 เป็นโครงการที่มูลนิธิเพื่อพัฒนาการบริบาลผู้ป่วยเบาหวานขอทุนมาจาก World Diabetes Foundation จุดประสงค์ของโครงการคือ “ขยายพันธุ์คนรักเท้า” เพิ่มจำนวนคนทำงานด้านเท้าเบาหวานให้ประเทศไทย คนไทยมีตั้ง ๖๕ ล้านคน ๑๓๐ ล้านเท้า เราจึงต้องมีคนทำงานด้านนี้มากๆ หน่อย สิ่งที่ทำในโครงการนี้มี ๓ อย่าง คือ

๑. จัดอบรมหลักสูตร Advance Foot and Wound Care เพื่อสร้างทีมคุณครูเท้า

๒. ให้ทุนคุณครูเท้าสำหรับไปจัดอบรมในพื้นที่

๓. จัดเวที KM ให้ทีมคุณครูได้เล่าประสบการณ์ทำงาน สร้างแรงกระตุ้นและเป็นตัวอย่างให้คนอื่นๆ มาร่วมกันทำงานเท้า ซึ่งก็คืองาน KM ขยายพันธุ์คนรักเท้าที่เพิ่งผ่านไปเมื่อ ๑๓ ธํนวาคม ๒๕๕๓ นั่นเอง

งานนี้การเตรียมการค่อนข้างสดๆ ทีมคุณครูผู้รับทุนไปทำการจัดอบรมในพื้นที่มีทั้งหมด ๕ ทีม ได้แก่

๑. ทีมจังหวัดนครราชสีมา โดยโรงพยาบาลครบุรี

๒. ทีมจังหวัดแพร่ โดยโรงพยาบาลแพร่

๓. ทีมจังหวัดสุรินทร์ โดยโรงพยาบาลสุรินทร์

๔. ทีมจังหวัดสมุทรปราการ โดยสถาบันราชประชาสมาสัย

๕. ทีมจังหวัดร้อยเอ็ด โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด

ทีมต่างๆ ไม่เคยได้คุยกันหรือพบกันมาก่อน มีเพียงทีมงานของมูลนิธิฯ ที่ได้สลับกันลงพื้นที่เยี่ยมแห่งละ ๑ ครั้ง เรานัดพบกันในงานวันที่ ๑๓ นั่นเลย ใช้เวลาชุมนุมกันเพียงประมาณ ๒๐ นาที ก็ได้โครงคร่าวๆ ออกมาว่า แต่ละทีมจะมีเวลาเล่าเรื่องของตัวเอง ๑๒ นาที โดยที่แต่ละทีมจะเน้นจุดเด่นที่ต่างกัน และจะเรียงลำดับการนำเสนอจากเรื่องเล็กแต่ลึก แล้วค่อยๆ ไต่ระดับไปจนถึงเรื่องเล่าระดับนโยบายจังหวัด

เท้าไทย อดีต ปัจจุบัน อนาคต  

กิจกรรม KM เท้า เริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา ๑๖.๓๐ น. โดยอาจารย์เทพ (ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ) มาสรุปเรื่องราวของเท้าไทยตั้งแต่อดีต มาปัจจุบัน และในอนาคต

 

ซ้าย ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ เล่าเรื่องเท้า ขวา ผู้ฟัง

อาจารย์เทพ เล่าว่าแต่ก่อนประเทศไทยไม่ค่อยเห็นเท้าแปลกๆ ไม่ค่อยเห็นเท้าผิดรูป ทั้งนี้ก็เพราะเท้าถูกตัดออกไปหมดซะก่อนแล้ว แต่ปัจจุบันนี้การดูแลเท้าของไทยก้าวหน้าขึ้นมาก มีการนำวิธีการดูแลแผลสารพัดแบบมาใช้เพื่อช่วยให้แผลหาย ไม่ต้องตัดขา หมอไทยรู้จักการดูแลแผลดูแลเท้ามากขึ้น เราก็เลยได้เห็นเท้าแปลกๆ อย่าง Charcot foot มากขึ้น

อนาคตเท้าไทยนั้นอาจารย์เทพ เน้นเรื่องการผลิตบุคลากรที่มีความตระหนักและมีความรู้ในการดูแลเท้า โดยเฉพาะการเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนเกิดแผล และคิดว่าการดูแลเท้าควรถูกยกระดับขึ้นเป็นวิชาชีพสาขาเฉพาะเลยทีเดียว

ผู้เล่าเรื่อง : ธัญญา วรรณพฤกษ์

หมายเลขบันทึก: 419195เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2011 12:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 18:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท