เพลงอีแซว ตอนที่ 7 เกาะติดเวทีการแสดงเพลงอีแซว งานเทศกาลลอยกระทง


สิ่งที่ดีงามที่เราได้เห็นได้ทำ เป็นความคิดสร้างสรรค์ของคนเก่าที่เขาช่างประดิษฐ์คิดค้นสิ่งที่ดีเอาไว้สอนใจคนรุ่นใหม่มาได้ยาวนาน

เพลงอีแซว ตอนที่ 7

เกาะติดเวทีการแสดงเพลงอีแซว

(งานแสดงเทศกาลลอยกระทง)

โดย นายชำเลือง มณีวงษ์

ผู้มีผลงานดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ด้านการแสดงเพลงพื้นบ้าน ปี 2547

 

          วัฒนธรรมไทย ประเพณีไทยในรอบ 1 ปี มีหลายกิจกรรม ในแต่ละกิจกรรมนำไปสู่การร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจสมัครสมานสามัคคีกัน เมื่อมีคนมารวมกันเป็นจำนวนมากก็จะเกิดเป็นพลังในการที่จะแสดงให้เห็นถึงความเชื่อและศรัทธาที่ดี เป็นแบบอย่างให้เยาวชนรุ่นหลังได้เห็น ได้เก็บเอาไปคิดถึงในอนาคต เมื่อถึงยุคของเขา จะได้วางตัวได้อย่างถูกต้องตามจารีต ประเพณีที่ยึดถือกันมานาน ผมเก็บความทรงจำย้อนหลังเอาไว้มาก เพราะบทบาทชีวิตของคนเราไม่เหมือนกัน บ้างก็แสดงตนเด็ดเดี่ยวไม่ยอมรับบุคคลที่เป็นต้นแบบ บ้างก็แอบแผงมาในรูปแบบต่าง ๆ อำพรางความเป็นจริงเพื่อที่จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ใส่ตนเท่านั้น
          หากบทความที่คนเก่า ๆ เขียนบอกเอาไว้อย่างมีความน่าเชื่อถือเกิดประโยชน์ทำให้คนรุ่นหลังตาสว่าง ได้หยุดคิดบ้างก็นับได้ว่าเป็นโชคดีของประเทศชาติ บ้านเมือง ที่ในอนาคตข้างหน้ายังมีคนรุ่นใหม่ที่คิดแบบสร้างสรรค์มาแทนที่คนเก่า ประสบการณ์ที่ได้รับมาด้วยตนเองจะมีทั้งดี ไม่ดี ถูกต้องไม่ถูกต้อง เหมาะสมไม่เหมาะสม การที่มีผู้อาวุโส เข้ามาชี้แนวทางที่ถูกให้ เสมือนว่ามีทางลัดให้เลือกเดิน ประสบการณ์ของผู้ที่ประสบความสำเร็จมาก่อน มีคุณค่ายิ่งกว่ารอผลกระทบที่จะเกิดแก่ตนเอง เพราะสิ่งที่ได้ปะทะสังสรรค์อาจจะเป็นทางผิด เป็นข้อผิดพลาด เกิดปัญหาต่อสังคมในระยะยาวต่อไปก็เป็นได้
          เทศกาลลอยกระทง เป็นประเพณีที่มีความสำคัญต่อคนไทย เราทั้งหลายได้รับการบอกเล่ามาจากคนเก่า ๆ เล่าถึงตำนานการลอยกระทงตั้งแต่สมัยพระพุทธองค์ มาจนถึงสมัยพระร่วงเจ้า และในปัจจุบันการลอยกระทงมีความเปลี่ยนแปลงไป ในอดีตแต่ก่อน ผู้คนไปลอยกระทงเพื่อการตั้งจิตอธิษฐานขอโทษพระแม่คงคาที่ได้ใช้ดื่มกินอาบล้างร่างกายจึงได้นำกระทงมาลอยเสี่ยงทายกัน แต่วันนี้กลับมีสถิติว่า ในคืนวันลอยกระทงเป็นคืนหนึ่งที่วัยรุ่นหนุ่มสาวกระทำนอกจารีตประเพณีกันมากจนมีอันดับต้น ๆ ของการบันทึกสถิติที่ควรหันมามอง การทำอะไรตามอำเภอใจจะเป็นต้นเหตุหรือเป็นที่มาของความเสื่อมเสียที่จะตกต่อตนเอง ครอบครัว สังคมประเทศชาติ สิ่งที่ดีที่คนรุ่นก่อนสร้างสรรค์กันมาเลยกลายเป็นวันหนึ่งที่ต้องระมัดระวังว่าลูกหลานจะออกนอกจารีตประเพณีไปเสียแล้ว
          ในยุคก่อน ๆ คืนวันลอยกระทงจะมีผู้คนมารวมกันที่ศูนย์กลางของท้องถิ่น ได้แก่ ที่วัดใกล้ ๆ บ้านหรือไม่ก็เป็นที่มีท่าน้ำ สามารถปล่อยกระทงให้ลอยไปกับสายน้ำได้ การลอยกระทงเมื่อตอนที่ผมเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (ปี พ.ศ. 2508) ในกรุงเทพฯ ที่ภูเขาทอง วัดสระเกศ มีงานลอยกระทงที่คนไปร่วมกิจกรรมกันมาก รอเวลากันจนพระจันทร์ตรงหัว เที่ยงคืนจึงมีการนำกระทงไปยังท่าน้ำและอธิษฐานแล้วจึงปล่อยกระทงลอยลงไปในแม่น้ำ เจ้าของกระทงยืนมองกระทงที่ตนลอยไปจนสุดสายตา ส่วนมากมักจะไปร่วมลอยกระทงกันทั้งครอบครัวเพื่อที่จะได้อธิษฐานร่วมกัน
          ในยุคต่อมาจนถึงในปัจจุบัน ความเชื่อถือและศรัทธาเปลี่ยนแปลงไป หนุ่มสาวและประชาชนทั้งหลายไปลอยกระทงกันเป็นคู่ ๆ มากกว่าไปกับครอบครัว ช่วงเวลาของการลอยกระทงไม่ต้องรอเวลาเที่ยงคืนเหมือนอย่างในอดีต เรียกว่าใครไปถึงที่นัดหมายก็ลอยกันเรื่อย ๆ ไป กระทงถูกปล่อยลงในแม่น้ำเป็นระยะ ๆ ไม่เต็มพรึบพร้อมเพรียงกันอย่างในสมัยก่อน ที่น่าวิตกอีกอย่างหนึ่งคือ วัยรุ่นหุนุ่มสาวถือโอกาสในคืนวันลอยกระทงนัดหมายกันไปในสถานที่มิบังควรจนกลายเป็นสถิติใหม่ ว่า “คืนลอยกระทงเป็นคืนที่หนุ่มสาวต้องสูญเสียอะไรต่อมิอะไรกันมาก” เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่จะต้องเก็บเอามาคิดและเตือนใจ       
                    

 

                   
          วงเพลงอีแซวสายเลือดสุพรรณฯ มีโอกาสได้นำเอาผลงานไปนำเสนอ ณ สถานที่ต่าง ๆ ได้แก่ เทศบาล, อบต., สถานที่พักผ่อนหลายแห่ง ผมมองเห็นระเบียบแบบแผนของการจัดกิจกรรมในวันลอยกระทงที่ยังคงยึดเอาประเพณีแบบเก่าเอาไว้ได้มาก ถึงแม้ว่า จะมีดอกไม้ไฟจุดเล่นเฉลิมฉลองกันตั้งแต่ช่วงเย็นไปจนถึงเกือบเที่ยงคืนก็ตาม แต่ก็เป็นคนกลุ่มน้อยและไม่ได้เกิดอันตรายใด ๆ  บางสถานที่มีทั้งลอยกระทงในสายน้ำและลอยกระทงสวรรค์ เด็ก ๆ ในวงเพลงมีความสุขมากเมื่อครั้งที่ได้ไปแสดงที่บางเลน เมื่อการแสดงจบได้ไปลอยกระทงที่ท่าน้ำ ได้ลอยทั้งกระทงลงน้ำและกระทงที่เป็นโคมปล่อยให้ลอยขึ้นไปบนท้องฟ้าแล้วยืนดูไปจนสุดสายตา
          งานลอยกระทงในบางสถานที่ที่ผมพานักเรียนไปแสดงมา มีการแสดงเพลงเรือแบบในอดีตด้วย เจ้าของสถานที่จัดเอาไว้สำรับเป็นที่แสดงเพลงเรือ มีไฟฟ้าส่องจากริมฝั่งไปยังลำน้ำ มีเรือ 4 ลำ บรรทุกนักแสดงร้องเพลงเรือลอยลำไปตามสายน้ำวนรอบลอยกลับมาเข้าฝั่งท่าน้ำที่จัดเอาไว้อย่างน่าชื่นชม

                

                 

              

                 (เพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ แสดงในงานเทศกาลลอยกระทง ที่เทศบาลบ้านหมี่ อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ปี พ.ศ. 2551)
                 
 
                 
                  (เพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ แสดงในงานเทศกาลลอยกระทง ที่เทศบาลพยุหะ อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551)
          บางสถานที่ โดยเฉพาะเทศบาลบางแห่งจัดกิจกรรมลอยกระทงได้อย่างตื่นตาตื่นใจมาก มีการจัดประกวดนางนพมาศ จัดประกวดกระทง เวลาประมาณ 18.30 น. มหรสพพื้นบ้านเริ่มแสดงช่วงที่ 1 พอถึงเวลา 19.30 น. จะมีพิธีเปิดงานโดยผู้ใหญ่ที่เทศบาลเชิญมาเป็นประธานในพิธี มีพิธีมอบรางวัลให้แก่ ผู้ที่ชนะการประกวด ประธานกล่าวเปิดงานอย่างเป็นทางการ มหรสพพื้นบ้านแสดงช่วงที่ 2  จนถึงเวลาประมาณ 21.30 น. เป็นการอธิษฐานและร่วมลอยกระทงกับคณะกรรมการเทศบาล ดูเป็นขั้นเป็นตอน ทำงานรอบคอบ มีพิธีการดูเป็นระเบียบเรียบร้อย หลังจากนั้นเป็นเวลาของมหรสพพื้นบ้าน วงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ ทำการแสดงช่วงที่ 3 ไปจนถึงเทื่ยงคืนจบการแสดง

              

              

              

บทเพลงอีแซว เรื่อง “ลอยกระทง”
              คืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง    ที่เราต้องลอยกระทง  
           นั้นมีจุดประสงค์                 น้องจะแถลงไข
           ตั้งแต่แรกแต่เริ่ม                ตั้งแต่เดิมมา   
           ตั้งแต่ปู่ตั้งแต่ย่า                 ตั้งแต่ตาตั้งแต่ยาย
           ตั้งแต่ยุคเก่า ๆ                   ที่เขาเล่าขาน
           จะนับย้อนโบราณ               ก็ตั้งแต่สุโขทัย
           อยากจะทราบรายละเอียด   ให้เอียงหูเข้ามา  
           จะย้อยกาลเวลา                 เอามาอธิบาย  
              คืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง    พี่น้องเสริมส่ง 
           ประเพณีลอยกระทง           ของชาวไทย
           เป็นพระราชพิธี                  ที่เคยมีในตำนาน
           ตั้งแต่ครั้งโบราณ               เผาเทียนเล่นไฟ
           เรียกว่าพิธีจองเปรียง         เพ็ญเดือนสิบสอง
           ประชาชนแซ่ซ้อง              ชักโคมลอยถวาย
           บ้างก็แขวนโคมลอย           ทำกันทุกหมู่บ้าน
           ไปจนรอบพระราชฐาน        ทั้งประเทียบบริวาร  มีลวดลาย
           ฝ่ายสนมกำนัล                  ก็จัดสรรบุปผชาติ
           นางนพมาศ  ทำโคมลอย    ไม่เหมือนใคร
           สมเด็จพระร่วงเจ้า  ทรงทอดพระเนตร  ด้วยความโปรดที่สุด
           กระทงรูปดอกกระมุท          นั้นเป็นของใคร
           ท้าวศรีราชศักดิ์                  เอ่ยปากกราบทูลว่า  
           เป็นกระทงของธิดา             พระศรีมโหสถไง  
             เอ้ย…ความหมาย ของลอยกระทง  มีจุดประสงค์หลายอย่าง
           บูชาเทพเจ้าต่าง ๆ              ด้วยความเชื่อเลื่อมใส
           บูชารอยพระพุทธบาท        ที่ชายหาดฝั่งแม่น้ำ
           นัมมทาเคยข้าม                 เคยอาบกินเคยใช้
           ขอบคุณและขอขมา            แม่คงคาทั่วทิศ
           น้ำได้ชุบชีวิต                     ตั้งแต่เล็กจนใหญ่
           ลอยเคราะห์ลอยโศก           ขอให้ลอยส่ง
           นำความทุกข์ไปกับกระทง   แม่น้ำไหล
           อธิฐานภาวนา                    ด้วยศรัทธามั่นคง          
           แล้ก็ปล่อยกระทง               ให้ลอยน้ำไป   
             เอ้ย…ทั้งสองฝั่งแม่น้ำ       แสงอร่ามผิดรูป  
           แสงประทีปเทียนธูป            ช่างงามสว่างไสว
           งามจริงพริ้งพราว               เหมือนดวงดาวลอยเด่น       
           ดวงจันทร์วันเพ็ญ               ช่างงามผ่องอำไพ
           งามจริงพริ้งพราว               เหมือนดวงดาวบนท้องฟ้า
           ต่างก็ปรารถนา                  คิดกันหลายนัย
           มาคิดคุณพระแม่คงคา        ที่เราได้ดื่มกิน 
           ได้ล้างตัวล้างตีน                มันเป็นของต่ำใต้
           ล้างเหงื่อล้างไคล               บางครั้งก็ถ่ายลงโปรด(เอ่อ เอ้อ เอ้ย)ว่าลงโปรด   
           งลอยกระทงขอโทษ           ทำพิธีเสี่ยงทาย (เอ่อ เอ้อ เอ๊ย) แล้วเสี่ยงทาย   
                  
          ในช่วงหลังเที่ยงคืนเป็นเวลาที่เด็ก ๆ ในวงได้ไปร่วมกันลอยกระทงที่ท่าน้ำ แต่ว่ากระทงที่ได้นำมาลอยในช่วงก่อนหน้านี้ได้ลอยไปไกลแล้ว พวกเขาได้อธิษฐานกันที่ท่าน้ำและลอยกระทงไปตามสายน้ำ ผมเห็นเด็ก ๆ มีความสุขกับกิจกรรมที่ได้ร่วมงานในแต่ละครั้ง ผมคิดอยู่ในหัวใจและบอกกับนักแสดงในวงอยู่เสมอว่า “สิ่งที่ดีงามที่เราได้เห็นได้ทำ เป็นความคิดสร้างสรรค์ของคนเก่าที่เขาช่างประดิษฐ์คิดค้นสิ่งที่ดีเอาไว้สอนใจคนรุ่นใหม่มาได้ยาวนานจริง ๆ“
 
ติดตามเพลงอีแซว ตอนที่ 8 เกาะติดเวทีการแสดงเพลงอีแซว (การแสดงบนศาลา)
หมายเลขบันทึก: 419187เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2011 11:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท