การกระจ่างค่านิยมกับการจัดการหลักสูตรและการสอนภาษาไทย


หลักสูตรและการสอน
เฉลิมลาภ ทองอาจ
                                                                                            

           การจัดการหลักสูตร คือการดำเนินการใดๆ เพื่อให้หลักสูตรฉบับเขียนสามารถแปลงไปสู่การปฏิบัติในชั้นเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ประเด็นเรื่องการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน หรือการประเมินการใช้หลักสูตรนั้น  นักวิชาการได้ให้ความเห็นไว้ว่า  "เพื่อให้กระบวนการเรียนรู้และเป้าหมายการเรียนรู้ เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับค่านิยม ความสนใจและความต้องการและมีความสำคัญในระดับลุ่มลึกสำหรับผู้เรียน  ต้องใช้วิธีการสังเกตจากกิจกรรมที่ผู้เรียนทำ ใช้การสัมภาษณ์และใช้แบบสอบถามค่านิยมที่คาดหวัง เพื่อตรวจสอบค่านิยมส่วนตัวของผู้เรียน” (สำลี  ทองธิว, 2553: 5) จากแนวคิดดังกล่าว  ประเด็นเรื่องการจัดกระบวนการเรียนรู้และการประเมินที่สอดคล้องกับค่านิยมนับว่าน่าสนใจยิ่ง และอาจจะถือเป็นประเด็นใหม่สำหรับวงการหลักสูตรและการสอนของไทย

          แนวคิดเกี่ยวกับการประเมินการเรียนรู้ที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนรูปแบบมาเน้นที่         การประเมินตามสภาพจริง (authentic assessment) แล้วก็ตาม แต่กรอบแนวคิดที่แท้จริงเกี่ยวกับ    การประเมินก็คือ  การตรวจสอบความรู้หรือทักษะที่ผู้เรียนมี  โดยมุ่งให้ผู้เรียนได้แสดงความรู้  ความสามารถหรือคุณลักษณะตามที่หลักสูตรได้กำหนดไว้  ซึ่งอาจจะมิใช่ความรู้ ความสามารถหรือคุณลักษณะที่ผู้เรียนมี เป็นหรือพึงประสงค์ก็เป็นได้   ทั้งนี้เนื่องจากผู้เรียนมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับค่านิยม (value)  กระผมมีข้อสังเกตว่า ครูผู้สอนในปัจจุบันดูเหมือนว่าจะประเมินโดยคำนึงถึงผลลัพธ์การเรียนรู้ (learning outcomes)  โดยเฉพาะในด้านความรู้ ความเข้าใจ   อันเป็นปลายทางของการสอน มากกว่าจะมุ่งพิจารณาค่านิยมอันเป็นต้นทางของการเรียนรู้  ที่กล่าวเช่นนี้เพราะค่านิยม คือ ความเชื่อ (believe) และเจตคติ (attitudes) ที่ผู้เรียนมีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าควรจะเป็นอย่างไร  ซึ่งความเชื่อและเจตคตินี้มีอิทธิพลต่อความคิด  อารมณ์และการปฏิบัติที่แสดงออกมาของพวกเขา  (Santrock, 2010: 506)

           จะเห็นได้ว่าผู้เรียนทุกคนมีความเชื่อและความรู้สึกเกี่ยวกับตนเอง  การเมือง ศาสนา  การใช้จ่าย  เพศ  การศึกษา  ครอบครัว เพื่อน อาชีพ ฯลฯ ที่แตกต่างกันไป  ซึ่งความเชื่อและความรู้สึกเหล่านี้ในความเป็นจริงแล้ว มิได้เกิดขึ้นจากอิทธิพลของการศึกษาในระบบโรงเรียน  แต่เกิดจากกระบวนการขัดเกลาทางสังคมและการที่ผู้เรียนสังเกตสิ่งแวดล้อม หรือในทางหลักสูตรอาจจะเรียกว่าหลักสูตร     ซ่อนเร้น ตัวอย่างเช่น  แม้จะมีการกำหนดคุณลักษณะด้านการมีจิตสาธารณะไว้ในหลักสูตรปัจจุบัน     แต่จากสภาพสังคมที่ผู้เรียนอาศัยอยู่  ได้แสดงภาพของการขัดแย้ง การเห็นแก่ผลประโยชน์ของ     พวกพ้อง ระบบอุปถัมภ์  ฯลฯ  ผู้เรียนของเราจะค่อยๆ ซึมซับตัวอย่างของพฤติกรรมของบุคคลอื่นๆ  ในสังคม  แล้วสร้างเป็นชุดของความคิด ก่อนที่จะพัฒนาเป็นค่านิยมของตนเอง เช่น  ผู้เรียนอาจมีค่านิยมว่า  การช่วยเหลือผู้อื่นทำให้ตนเองได้รับความเดือดร้อน เป็นต้น  สภาพการณ์เช่นนี้จึงยากที่จะพัฒนาคุณลักษณะข้อนี้ไปได้ และยิ่งต้องเผชิญกับภาพลวงของการศึกษาที่เน้นเนื้อหาวิชา (subject-matter) ที่มิได้มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนค่านิยมด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้การจัด   การเรียนรู้และการประเมินผลการเรียนรู้ของครู  ดูจะผิดทิศผิดทางไปอย่างยิ่ง เมื่อการสอนผิดทิศก็ย่อมแสดงว่ามิได้มีการนำหลักสูตรไปปฏิบัติ  การจัดการหลักสูตรจะต้องเข้ามามีบทบาท ในการที่จะทำให้  ครูทราบว่า การพัฒนาค่านิยมนั้นสำคัญมากกว่าการมุ่งเน้นไปที่ความรู้ เพราะเมื่อบุคคลมีค่านิยมที่ถูกต้อง บุคคลผู้นั้นก็น่าที่จะประพฤติตนในวิถีทางที่ถูกต้องด้วย

          ปรากฎการณ์เกี่ยวกับค่านิยมของเยาวชนที่น่าสนใจประการหนึ่ง มาจากผลการวิจัยของ  Pryor และคณะ  (2008) ที่พบว่า ในช่วงระยะ 30 ปีที่ผ่านมา  เยาวชนสหรัฐมีค่านิยมเกี่ยวกับการมีชีวิตที่มั่งคั่งมากยิ่งขึ้นถึงกว่าร้อยละ  76.8   ซึ่งเมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 1971 มีเยาวชนที่มีค่านิยมนี้เพียงร้อยละ  42 ในขณะที่ค่านิยมเรื่องการพัฒนาปรัชญาชีวิตที่มีความหมายของตนเองกลับลดลง  นอกจากนี้ Damon (2008)   ยังได้แสดงความคิดเห็นไว้น่าสนใจว่า  เยาวชนสหรัฐในปัจจุบันขาดการรับรู้ว่า  ชีวิตของตนเองต้องการหรือทำอะไร  และเยาวชนอายุระหว่าง 12-22 ปี ประมาณร้อยละ 20 แม้ว่าจะมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับชีวิตว่า อะไรเป็นเป้าหมายของชีวิต หรืออะไรคือสิ่งที่พวกเขาต้องการประสบความสำเร็จ       แต่นั่นก็เป็นเพียงเป้าหมายระยะสั้น หรือความสำเร็จอันตื้นเขินเท่านั้น  ตัวอย่างเช่น การได้คะแนนจากการสอบประจำสัปดาห์  หรือการวางแผนเกี่ยวกับการไปงานรื่นเริง มากกว่าที่จะเป็นการกำหนดแผนการสำหรับอนาคต  สำหรับค่านิยมเรื่อง “อยากรวยแต่ไม่รู้จะทำอะไร” นี้ กระผมเห็นว่ากำลังปรากฏขึ้นในบริบทของสังคมไทยเช่นกัน   ดังจะเห็นได้จากสังคมและครอบครัวไทยพยายามผลักดันให้บุตรหลานได้เรียนปริญญาอะไรก็ได้   ที่คิดว่าจะนำมาซึ่งความร่ำรวยหรือการปรับเปลี่ยนฐานะ         ในที่สุดแล้ว  เยาวชนของเราก็จะกลายเป็นคนที่เรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาอย่างไร้ความหมาย  เพราะผู้เรียนก็มีค่านิยมว่า  เรียนเพื่อร่ำรวย เรียนเพื่อการมีความเป็นอยู่ที่ดี       หรือเรียนไปก่อน  แม้ว่าจะไม่ทราบเลยว่าสิ่งที่เรียนมีประโยชน์ต่อชีวิต ณ ขณะนั้นหรือไม่       เมื่อผู้เรียนของเรามีค่านิยมเช่นนี้ ประสบการณ์ใดๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการเรียนการสอนของครูและนักเรียน ซึ่งโดยนัยก็คือหลักสูตรดังที่ได้เคยอภิปรายกันไว้ ย่อมกลายเป็นสิ่งที่ปราศจากซึ่งคุณค่า       โดยหากจะกล่าวให้ชัดเจนขึ้นก็คือ  การบริหารและจัดการหลักสูตรย่อมไม่เกิดขึ้น เพราะไม่มีแม้กระทั่งหลักสูตรด้วยซ้ำ    

          การจัดกระบวนการเรียนรู้และการประเมินที่สอดคล้องกับค่านิยมในลำดับแรก  ครูผู้สอนจะต้องศึกษาให้รู้แท้เสียก่อนว่า ขณะนั้น ผู้เรียนมีค่านิยมต่อเรื่องต่างๆ อย่างไร วิธีการหนึ่งที่ Santrock เสนอไว้คือการสอบถามหรือสนทนากับผู้เรียนว่า  อะไรคือเป้าหมายสำคัญในชีวิตของเขา  อะไรเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับชีวิต  เหตุใดเขาจึงให้ความสำคัญกับเรื่องหรือประเด็นนี้  การเป็นบุคคลที่ดีหรือมีประโยชน์ในความคิดของเขาคืออะไร คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่สำคัญมาก ซึ่งนักการศึกษาในประเทศเราหรือในชั้นเรียนคือครูผู้สอน อาจจะมิให้ได้ความสนใจไต่ถามผู้เรียนนัก ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ข้อมูลจาก   การตอบคำถามจะทำให้เราทราบค่านิยม เกี่ยวกับการให้ความหมายของชีวิต และมุมมองที่มีต่อโลก  ของผู้เรียน  และที่สำคัญคือทำให้ครูผู้สอนทราบว่า เขามีมุมมองต่อการศึกษาหรือการเรียนรู้สำหรับชีวิตตนเองอย่างไร อะไรคือความรู้และทักษะที่เขาต้องการ อะไรคือสมรรถนะที่เขาต้องการให้เกิดขึ้นกับตนเอง    ซึ่งก็ไม่แน่ว่า  อาจจะทำให้ครูต้องกลับมาทบทวนว่า สิ่งที่จัดให้  (ความรู้ ทักษะ สมรรถนะ ค่านิยม ฯลฯ)  แก่ผู้เรียนหรือที่รวมเรียกว่าหลักสูตรสถานศึกษานั้น  คือสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคนจริงหรือไม่  วิธีการในลักษณะนี้เรียกว่า  การกระจ่างค่านิยม (value clarification)       อันเป็นวิธีการที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความกระจ่างชัดว่า  ชีวิตของเขาอยู่ไปเพื่ออะไร  และอะไรเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับชีวิต  ผู้เรียนจะต้องได้รับโอกาสในกิจกรรมการเรียนการสอนที่จะได้ระบุหรือพิจารณาค่านิยมของตนเอง  และเข้าใจเกี่ยวกับค่านิยมของผู้อื่น 

          ในที่นี้จะได้ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ในการสอนวรรณคดีไทยของตนเอง  โดยส่วนตัวแล้ว กระผมมีค่านิยมหรือความเชื่อเกี่ยวกับวรรณคดีว่า  วรรณคดีมีคุณค่าเพราะช่วยพัฒนาการคิดของผู้อ่าน ในขณะที่เคยสอบถามผู้เรียนว่า นักเรียนเห็นว่าวรรณคดีเป็นสิ่งที่มีคุณค่าหรือไม่  จากที่ได้สนทนากับผู้เรียนส่วนใหญ่พบว่า นักเรียนไม่เห็นประโยชน์ของการเรียนวรรณคดี และมักจะตอบว่า เรียนไปเพื่อสอบให้ผ่าน  คำตอบของผู้เรียนทำให้กระผมต้องกลับมาคิดพิจารณาใน 2 ประเด็น  ประเด็นแรกคือ  การนำหลักสูตรมาสู่การสอนของตนเองมีจุดบกพร่องอย่างไรหรือไม่ ถึงทำให้ผู้เรียนมีค่านิยมหรือมีมุมมองต่อวรรณคดีว่าไม่มีความหมายต่อชีวิต  ส่วนประเด็นต่อมาก็คือ  หลักการคัดเลือกเนื้อหาของผู้สร้างหลักสูตรถูกต้องหรือไม่  เพราะเห็นได้ชัดว่า  ไม่สามารถทำให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าหรือความเชื่อมโยงของวรรณคดีกับชีวิตได้  ประเด็นนี้นำไปสู่การปรับเปลี่ยนเนื้อหาและวิธีการจัดการเรีนยรู้ของกระผมต่อไป  จากตัวอย่างที่ยกมานี้จะเห็นได้ว่า  การกระจ่างค่านิยมของผู้เรียนเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการจัดการหลักสูตร เพราะทำให้ผู้สอนย้อนกลับมาพิจารณาเป้าหมาย เนื้อหาสาระและวิธีการสอน อันเป็นการประเมินตนเองสิ่งที่ตนเองปฏิบัติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินหลักสูตรนั่นเอง 

          อีกคำถามที่น่าจะเป็นประเด็นสำหรับอภิปรายต่อไปคือ หากหลักสูตรสถานศึกษามิใช่หลักสูตรที่สอดคล้องกับค่านิยม และ/หรือสามารถปรับเปลี่ยนค่านิยมที่ไม่ถูกต้องของผู้เรียนแล้ว จะไม่มีวิธีดำเนินการใดๆ ทางหลักสูตรและการสอนเลยหรือ ที่จะนำมาใช้เพื่อลดจุดบกพร่องในข้อนี้ได้          ในประเด็นนี้กระผมเห็นว่า  อันที่จริงแล้ว  สิ่งที่ครูผู้สอนมักจะละเลยเกี่ยวกับหลักสูตรคือ นอกจากหลักสูตรฉบับเขียนและหลักสูตรที่นำไปสอนแล้ว ยังมีหลักสูตรที่ครูไม่ได้สอนหรือหลักสูตรที่ซ่อนเร้น  (hidden curriculum)  แฝงอยู่ในบริบทของโรงเรียนและสังคมด้วย  การจัดสภาพแวดล้อม บรรยากาศ ระบบ และพฤติกรรมของบุคคลหรือหน่วยต่างๆ ในสถานศึกษาจะเป็นสิ่งที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และสร้างเป็นกรอบของค่านิยมส่วนบุคคลได้ ซึ่งในประเด็นนี้ทำให้ผมสนใจต่อไปว่า โดยทั่วไปเรามักจะกล่าวถึงการจัดการและบริหารหลักสูตร  ในส่วนการควบคุมการนำหลักสูตรฉบับเขียนไปสู่หลักสูตรที่นำไปจัดการเรียนการสอน  แต่ที่สำคัญคือ  เรายังขาดองค์ความรู้และการศึกษาเกี่ยวกับการจัดการและการควบคุมหลักสูตรซ่อนเร้น  ซึ่งโดยส่วนตัวของกระผมเห็นว่า อาจจะมีอิทธิพลต่อค่านิยมของผู้เรียนมากกว่าหลักสูตรฉบับเขียนเสียด้วยซ้ำ  แต่นักหลักสูตรและครูผู้สอนมักมิให้ความสำคัญ        จากตัวอย่างที่เสนอไว้ข้างต้น หากโรงเรียนสามารถจัดหลักสูตรซ่อนเร้น  ที่แสดงว่าวรรณคดีไทยมีคุณค่า เช่น นำวรรคทองของวรรณคดีมาเขียนไว้ในสถานที่ต่างๆ  ครูกล่าวอ้างข้อคิดหรือคำคมจากวรรณคดีในการเรียนการสอน หรือมีการจัดนิทรรศการยกย่องหนังสือวรรณคดี  หรือในขณะที่สอน      ครูสามารถที่จะแสดงการเข้าถึงอารมณ์และความรู้สึกของวรรณคดีให้ผู้เรียนเห็นเป็นแบบอย่าง เช่นนี้ผู้เรียนก็จะค่อยๆ เริ่มสร้างหรือพัฒนาค่านิยมที่ดีงามต่อวรรณคดีของชาติขึ้นมาก็เป็นได้ 

 ________________________________________

รายการอ้างอิง 

ลำลี ทองธิว.  2553.  การประเมินผลหลักสูตรและการสอน: ปัญหาและแนวทางแก้ไขการวัดและ     ประเมินผลการเรียนรู้.  เอกสารประกอบคำบรรยายรายวิชาจัดการหลักสูตรและการสอน.            คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (อัดสำเนา)

Damon, W.  2008.  The path to purpose: Helping our children find the calling in life. New York:     The Free Press.

Pryor, J.H., Hurtado, S., DeAngelo, L., Sharkness, J., Romero, L.C., Korn, W.S., & Tran, S.        2008. The American freshman: National norms for fall 2008. Los Angeles: Higher       Education Research Institute, UCLA.

Santrock, J. W. 2010.  Children. 11th ed. New York: McGraw-Hill.

หมายเลขบันทึก: 419136เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2011 02:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 12:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

   เป็นความจริงค่ะอาจารย์  เด็กที่โรงเรียนชอบทำงานประดิษฐ์โดยใช้กระดาษปั่นละเอียดผสมกาวและสี เขาจะนั่งทำงานเพลินไปไม่เบื่อ วิชาอื่นๆเรียนไม่สนุกเด็กจะไม่สนใจเลย  ทำให้คิดได้ว่าถ้าเอาภาพตัวละครในวรรณคดี เช่นภาพหนุมาน มาให้เด็กทำโดยใช้เทคนิคและวิธีการเดียวกับที่ทำงานส่งครูในวิชางานประดิษฐ์ คงจะดีมากผลงานเด็กจะได้บูรณาการในหลายวิชา 

                           

     ภาพนี้นักเรียนเรียนภาษาพาทีเรื่องกำแพงสร้างสรรค์จบแล้ว ครูให้เขียนอะไรก็ได้ตามความคิดของนักเรียน แล้วนำมาติดหน้าห้องเรียน 

            

                                 

             ผลงานของนักเรียนค่ะ ชั่งโมงภาษาไทยกลายเป็นศิลปไปหมด

                   วัดความกระจ่าง  หรือค่านิยมของเด็ก ได้ไหมคะ

ผมรู้สึกชื่นชมกับผลงานของนักเรียนของอาจารย์มากครับ ตามความหมายของผม การกระจ่างค่านิยม ก็คือการทำความเข้าใจค่านิยามหรือมุมมองที่นักเรียนมีต่อสิ่งต่างๆ คำถามง่ายสำหรับครูที่วัดค่านิยมก็คือ สมมติว่า เธอเรียนเรื่องนี้แล้ว เธออยากจะทำอะไร เช่น นักเรียนอาจจะอ่านวรรณคดีสักเรื่อง จากวรรณคดีที่อ่าน อาจารย์ลองให้นักเรียนเขียนบอกก็ได้ครับว่า นักเรียนต้องการทำอะไรจากการที่ได้อ่านเรื่องนี้ เราจะเห็นค่านิยมอย่างหลากหลาย ถ้าเป็นนักเรียนสาธิต ก็อาจจะบอกว่า "อยากอยู่เฉยๆ" (อยู่กับนักเรียนสาธิตจนผมเองตอบได้แล้วนะครับ :-D) ถ้าเป็นครูที่ตกใจง่ายก็อาจจะจนมุมกับคำถาม แต่เราก็ต้องไม่ยอมแพ้ เพราะแสดงว่า เด็กมีค่านิยมคือ ไม่เห็นคุณค่าของวรรณคดี อันนี้ต้องคุยกันต่อ แต่ถ้าอาจารย์ได้ถามนักเรียน แล้วนักเรียนต้องการวาดภาพสะท้อนจินตนาการจากที่ได้เรียน แสดงว่าตอนที่วาด ตอนที่คุย ตอนที่คิด เขาเรียนรู้อย่างมีความสุข ก็แสดงว่าอาจารย์เข้าใจหลักการของการกระจ่างค่านิยมแล้วครับ .... เหตุที่ผมเรื่องนี้ เพราะต้องการให้ครูภาษาไทยเข้าใจค่านิยมของเด็ก เพราะผมเชื่อว่าเรากำลังสอนมนุษย์ไม่ได้สอนหนังสือครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท