youtube โยคะ


ทุกครั้งที่มุดเข้าไปนั่งขับรถไปทำงานประจำวัน อาการปวดก็แสดงฤทธิเดชให้ผมได้สัมผัส มันทำให้ผมเข้าออกรถอย่างทุลักทุเล เชื่องช้ามาก(ผมเป็นคนใจร้อนโดยพื้นเพเดิม)

มีบันทึกว่า สถาบันทางสังคมที่เกิดร่วมสมัยเดียวกันกับมหาวิทยาลัยในยุโรป ส่วนใหญ่ล่มสลายไปนานแล้ว  

อายุของมหาวิทยาลัยในยุโรปก็คงประมาณหลักร้อยปี ที่มหาวิทยาลัยยุโรปผ่านร้อนผ่านหนาวมาได้นานเพียงนี้ คงจะพิสูจน์ได้อย่างหนึ่งว่า มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งคำตอบให้กับสังคมเสมอมา

อายุของโยคะ ว่ากันว่า ยาวนานหลายพันปี  โยคะจึงอยู่ในสถานะคล้ายกับมหาวิทยาลัยคือ ให้คำตอบที่สังคมถามหา

คำตอบนั้นคือ อะไรหนอ  และจะเข้าถึงโยคะได้อย่างไรหนอ

ผมขอตอบในฐานะคนธรรมดาที่บังเอิญรู้จักและมีโอกาสใช้ youtube  ในฐานะคนที่หลงใหลกับการเรียนรู้ด้วยตนเองให้มากที่สุด  

ผมเริ่มสนใจโยคะมานานจนจำไม่ได้ว่าตั้งแต่เมื่อใด  เคยลองฝึกโดยตามครูที่มาสอนชนิดถึงตัวเมื่อ๔ปีก่อน ลองแล้วก็เลิก เพราะเข้าใจว่าไม่เหมาะกับตนเองซึ่งชอบการเคลื่อนไหวแบบรวดเร็วขณะออกกำลังกาย (แต่ลึกๆ อีกเหตุผลคงจะเป็นเพราะเมื่อลองแล้วทำให้ผิดหวังกับตนเองว่า ร่างกายเราช่างแข็งทื่อเสียนี่กระไร ฝืนแล้วก็เจ็บ เมื่อย)

กีฬาที่ผมชอบจึงเป็นแบดมินตัน ซึ่งเคยเล่นมาสมัยเป็นนักเรียนมัธยมต้น เล่นวันละสามเวลา(เช้า กลางวัน เย็น.....แบบนี้หลายคนคงเห็นว่าเข้าข่าย คลั่งไคล้จริงมั๊ยครับ) 

หันกลับมาเล่นแบดมินตันอีกครั้งเมื่อ ๓ปีก่อน มีคนเตือนว่า เดี๋ยวจะบาดเจ็บนา อายุปูนนี้แล้ว เขาไม่เล่นกันหรอก  แพทย์รุ่นน้องที่เคยเล่นก็บอกว่าผมเลิกแล้ว เพราะเข่าสู้ไม่ไหว  เคยมีเพื่อนอายุเกือบหกสิบ ตายคาสนามมาแล้วครับ

ฟังเขาว่าตอนนั้น ก็บอกกับตนเองว่า ไม่จริงหรอก เพราะแพทย์รุ่นพี่อีกท่านซึ่งเล่นแบดมินตันมาตลอด ๓๐ปี จนวันนี้ก็ยังเล่น ยืนยันว่า ผมไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย

ความที่อยากเล่นก็เลยเลือกเชื่อความเห็นแบบหลังมากกว่าแบบแรก หลังจากเล่นไปเล่นไป เข่าก็ปวดต้องหาผ้ายืดมารัดช่วยพยุง และฝืนต่อไป  

จนวันหนึ่ง ขณะโฉบเข้าไปตบลูกหน้าเนต เมื่อเท้าข้างหนึ่งแตะพื้น เอวก็บิดต่อไปตามท่าโฉบอันรวดเร็ว แขนก็เหวี่ยงแร้กเกทสุดกำลังเพื่อพิชิตลูกให้ได้ ฉับพลันอาการเสียวแปล็บก็แล่นจากบริเวณกระเบนเหน็บร้าวลงไปขาซ้าย

ยังครับ ผมยังไม่เลิก เพราะตอนนั้นไม่รู้สึกเจ็บมากเท่าใด นั่งพักสักครู่ก็ลงไปต่อกรอีก ทีนี้ได้เห็นฤทธิเดชของการบาดเจ็บรากประสาท(nerve root injury, sciatica,neuralgia) ตามที่เคยอ่านในตำรา และเคยตรวจเจอในคนไข้  โอ้โห ซาบซึ้งมากครับกับความหมายของคำนี้

ทีนี้แหละยอมหยุด ผมพักรักษาตัวอยู่ ๓เดือน ระหว่าง ๓เดือนนั้น....

ทุกครั้งที่มุดเข้าไปนั่งขับรถไปทำงานประจำวัน อาการปวดก็แสดงฤทธิเดชให้ผมได้สัมผัส มันทำให้ผมเข้าออกรถอย่างทุลักทุเล เชื่องช้ามาก(ผมเป็นคนใจร้อนโดยพื้นเพเดิม)

ทุกครั้งที่นั่งทำงาน อาการปวดทำให้ผมต้องย้ายน้ำหนักจากสะโพกซ้ายมาขวาเป็นส่วนใหญ่

ทุกครั้งที่เดิน ขาซ้ายจะอ่อนกำลัง ปวดร้าว ออกอาการชัดเสียจน แพทย์(เชี่่ยวชาญทางกระดูก ...ออโธปิดิค)รุ่นลูกศิษย์ท่านหนึี่งเข้ามาทักด้วยความเมตตา และกรุณาแนะนำยาบรรเทาอาการปวดชนิดนี้  ซึ่งผมก็รับคำชี้แนะนั้นด้วยความเคารพและซาบซึ้งน้ำใจ  แต่ไม่หามากินเพราะสืบค้นทางอินเตอร์แล้ว เห็นว่าผลข้างเคียงจากยาอาจไม่คุ้มกับผลได้  

ผมพึ่งการปะคบร้อนด้วยลูกปะคบที่อุ่นร้อนด้วยไมโครเวฟ ปะคบเกือบตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน  กินพาราเซทบ้างครั้งละ ๒เม็ด เป็นครั้งคราว วันละไม่เกิน ๘ เม็ด จำได้คร่าวๆว่า กินได้ไม่เกิน ๑สปด.ก็เลิก

ที่เลิกกินยาไม่ใช่เพราะยาไม่ได้ผล แต่กลัวผลข้างเคียงครับ ถึงแม้จะน้อยมากเมื่อเทียบกับยาขนานแรกที่เอ่ยไว้ก็ตาม  

การใช้ลุกปะคบร้อนก็มีผลข้างเคียงเล็กน้อยคือ เคยเผลอจนผิวหนังพองระดับตื้นๆนิดหน่อย  แต่ไม่เลิกพึ่งลูกปะคบเพราะเห็นผลบรรเทาปวดเร็ว เข้าใจว่าช่วยการคลายตัวของกล้ามเนื้อที่หดเกร็งจากการทำงานบกพร่องของเส้นประสาท

 

มีคนทักว่า น่าจะไปหาแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูหรือนักกายภาพบำบัดช่วยรักษา ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าถึงบริการเช่นนี้ได้คงจะเลือก  แต่ผมก็ไม่ไป  เพราะ

๑ ไม่อยากรบกวน คนไข้รายอื่นที่ตนเองก็ตระหนักดีว่ามาไกล และคงหนักหนากว่าการบาดเจ็บของตน 

๒ ยังอยากทดลองว่า พึ่งตนเองด้วยลูกปะคบจะได้ผลสักแค่ไหน

๓ ทนอาการปวดได้  

อาการปวด จากการเกร็งกล้ามเนื้อเมื่อเส้นประสาทบาดเจ็บ เป็นความรู้ใหม่ที่เจอกับตนเอง นั่นคือ เมื่อเส้นประสาทไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ การควบคุมกล้ามเนื้อจะบกพร่องอย่างน้อยสองลักษณะ คือ ไม่สามารถสั่งการได้ทำให้เกิดอาการอ่อนแรง หรือตรงกันข้าม ทำให้เกิดตะคริว

ผมสังเกตพบว่า กล้ามเนื้อขาซ้ายบริเวณหน้าแข้งจะเป็นตะคริวบ่อย โดยเฉพาะเวลากลางคืน ในช่วงเดือนแรกอาการนี้มาถี่มาก แทบทุกคืนผมถูกปลุกให้ตื่นขึ้นกลางดึกเพราะตะคริว  แรกๆก็กังวลมาก ต่อมา พยายามสะกดจิตตัวเองว่า "มันเป็นเช่นนั้นเอง"

ทำบ่อยๆเข้า ความอดทนต่อการเจ็บปวดเพราะตะคริว ก็เพิ่มขึ้น ความทุกข์จากความเจ็บปวดก็บรรเทา(ไม่ได้แปลว่าหายปวด นะครับ)  มาเข้าใจตอนหลังเมื่อได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับการเจริญสติ(เช่น "ใหม่แกะกล่อง"  "the power of now")ว่า เมื่อสติตั้งมั่น แม้ท้องจะหิว ขาจะปวด แต่ใจจะนิ่ง ความเจ็บปวด ความหิวจะคล้ายถูกแยกออกจากจิตอันสงบนิ่งนั้น  เมื่อจิตหยุดการปรุงแต่ง ความสงบในจิตใจก็กระจ่างชัด หนักแน่นขึ้น

นี่เองคือ อานิสงจากการเจริญสติ .....เคล็ดวิชาโยคะ ไทเก็ก และเดินจงกลม ฯลฯ

หมายเลขบันทึก: 417486เขียนเมื่อ 31 ธันวาคม 2010 10:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 08:47 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีปีใหม่ค่ะอาจารย์

นพ วีรพัฒน์ รพ หาดใหญ่

อาจารย์ไพบูลย์ครับ

อาการประมาณ นี้ ผมเคยเป็นมาแล้วครับ ก็แกล้งเลี้ยงไข้ กำหนดเจริญสติ อาการปวดไม่หาย ใจเราไม่ทุรนทุราย พอได้เวลา รับรู้เวทนา นานพอสมควร ชนิดปวดชา นอนไม่หลับ 2 เดือน เต็ม ขอให้ พี่หมอ ที่ รพ ฝังเข็ม 1 ชุด ครั้งเดียว อาการทุเลาไปเลย เกือบร้อยละ 90

และ เว้นไปหนึ่งสัปดาห์ รักษา ซ้ำอีกชุด ก็ทุเลาไปร้อยละ 99

ก็น่าจะลอง จาก หมอฝังเข็ม ที่ รามา ก่อน

ทางเลือกการรักษามีหลายแบบ ได้ลองหลายๆแบบ ช่วยเจริญสติ และ ปัญญา ดีทีเดียวครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท