รายการเวทีชาวบ้าน


       เมื่อเช้านี้ผู้วิจัยได้มีโอกาสดูรายการ "เวทีชาวบ้าน" ทางช่อง 11  โดยเนื้อหาของรายการในวันนี้สามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ  คือ

       ส่วนแรก  เน้นไปที่การประสานความร่วมมือระหว่าง 3 ภาคส่วน  คือ  ภาคชุมชน (ประชาชน) , ภาควิชาการ , ภาคการเมือง (อปท.) ในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาความยากจน 

        ผู้วิจัยรู้สึกประทับใจข้อสรุปของพิธีกรที่บอกว่า "ข้อมูลเปลี่ยนชีวิต" ซึ่งเป็นข้อสรุปของชีวิตประชาชนคนหนึ่งที่หันมาทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายของตนเอง  จนกระทั่งทราบว่าที่ตัวเองเป็นหนี้เพราะอะไร  จะหาทางแก้ไขปัญหาหนี้สินของตัวเองอย่างไร  ผู้วิจัยตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้คนในชุมชนปฏิบัติได้เช่นนี้  รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ยากเหลือเกิน  จากประสบการณ์ที่ตนเองได้เคยลงพื้นที่ในหลายหมู่บ้าน  พบว่า  มีหน่วยงานเข้าไปส่งเสริมให้ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายของตนเองมากมาย  แต่ก็ไม่ได้ผล  มีชาวบ้านเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ทำได้  แม้กระทั่งบ้านสามขาซึ่งโด่งดังในเรื่องการทำบัญชีครัวเรือน  ผู้วิจัยได้มีโอกาสอ่านหนังสือที่เขียนขึ้นโดยนักวิจัยชาวบ้านของบ้านสามขา  ปราชญ์ชาวบ้านเหล่านั้นก็ยังยอมรับว่ามีประชากรเพียงประมาณ 20% เท่านั้นที่ทำบัญชีครัวเรือนสมำเสมอ

        ในส่วนของภาควิชาการก็เช่นกัน  ผู้วิจัยรู้สึกประทับใจท่านอาจารย์จาก ม.เกษตรศาสตร์   วิทยาเขตกำแพงแสน  ที่เสียสละเวลาลงมาทำงานกับชาวบ้าน  และไม่ยัดเยียดสิ่งที่ตนรู้ให้ชาวบ้านทำ  แต่ใช้วิธีการให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ด้วยตนเอง  โดยนักวิชาการทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง

        สุดท้าย  คือ  ส่วนของภาคการเมือง  เห็นแล้วรู้สึกชื่นชมที่พื้นที่นี้ (จำพื้นที่ไม่ได้ค่ะ) มีนายก อบต. ที่เสียสละ  มีวิสัยทัศน์  ยอมรับความจริง  และทำงานเพื่อส่วนรวม  หากในประเทศไทยมีผู้นำอย่างนี้มากๆ  ภาคประชาชนจะมีกำลังใจ  และมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเอง

        สำหรับในส่วนที่สองนั้น  เป็นเรื่องโครงการจังหวัดบูรณาการแก้ไขปัญหาความยากจน  ซึ่งเป็นความร่วมือของ สกว. , พอช. , กระทรวงมหาดไทย  นำร่องใน 12 จังหวัดทั่วประเทศ   มีการกล่าวถึงปัญหาที่ดินทำกินของจังหวัดต่างๆทั่วประเทศไทย   ผู้วิจัยก็ดูบ้าง  ไม่ดูบ้าง  เพราะ  ฟังปัญหาแล้วรู้สึกเศร้าใจ  โดยเฉพาะที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน  ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา  พอทางราชการประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์  พื้นที่ต้นนำ  และพื้นที่อื่นๆ  ปรากฎว่ามีที่ดินซึ่งชาวบ้านสามารถทำกินได้อย่างถูกต้องเหลือเพียงไม่ถึง 5%  ซึ่งปัญหานี้ก็คล้ายๆกับที่หลายหมู่บ้านในจังหวัดลำปางประสบอยู่  ชาวบ้านหากินกันมาตั้งนานแล้ว  พอราชการประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์  ป่าสงวน  อุทยานแห่งชาติ  ออกมา  ปรากฎว่าทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน  ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งตามมามากมาย  ชาวบ้านต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก  ผู้วิจัยได้เคยมีโอกาสนำนักศึกษาเข้าไปศึกษาชุมชนบริเวณพื้นที่อุทยานฯ  ปรากฎว่า  ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบากกว่าที่เราคิดไว้มาก  สินค้าที่หาได้จากในป่าก็ต้องใช้เส้นทางลำเลียงที่ยากลำบากกว่าที่จะไปถึงจุดหมายปลายทาง  ทั้งๆที่เส้นทางดีๆก็เห็นกันอยู่  อยู่ใกล้แค่เอื้อม  แต่ไม่สามารถใช้ได้  น่าเห็นใจจริงๆค่ะ

         

คำสำคัญ (Tags): #ความยากจน
หมายเลขบันทึก: 41725เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2006 19:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 21:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ณัฏฐ์บรรจง เดชวิริยะชาติ

สรุปประเด็นได้ดี มีสาระ น่าสนใจมากครับ และเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านด้วย

มีบางประเด็นอยากแลกเปลี่ยน คือ กรณีการทับซ้อนกับพื้นที่ทำกินของชาวเขา

ในแง่มุมด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า ขอบเขตของพื้นที่ป่า บางแห่งได้กำหนดไว้ก่อน

และบางแห่งกำหนดตามมาภายหลัง ทำให้เกิดปัญหาทับซ้อนดังกล่าว

ในการบุกรุกแผ้วถางป่า ชาวเขาบางคนก็ตกเป็นเครื่องมือนายทุน โดยเขาขาดความรู้ ความเข้าใจ และสภาพแวดล้อมบีบบังคับ รวมถึงในแง่กฎหมายที่เป็นคนชายขอบ

คนพลัดถิ่น

การทำความเข้าใจพื้นที่ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยการวิเคราะห์และหลักคิดอย่างเป็นระบบ และสหวิทยาการ(Interdisplinaly)ทั้งนี้ คุณอาจมีอาศัยในสายวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ นักพัฒนา มาช่วยมองครับ เพื่อให้เข้ามุมมองภาครัฐ เอกชน ประชาชน สื่อมวลชน และปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ มิฉะนั้น อาจทำให้เราในฐานะผู้สอน สื่อความรู้สึกส่วนตัวลงไปมาก ซึ่งในการสอนควรให้นักศึกษาฝึกวิเคราะห์ และตัดสินใจหาข้อสรุปเอง ส่วนอาจารย์เป็นพี่เลี้ยง

จากข้อเขียนของคุณวิไลลักษณ์ แสดงว่าคุณเป็นคนที่มีจิตใจอ่อนโยน และงดงามดีครับ

รักษาไว้นานนะครับ เพราะบางที ก็อาจทำให้มองลบของฝ่ายตรงข้ามได้ จึงต้องทำใจเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ของทุกฝ่ายครับ

ผมอยู่ใน blog คมผญา ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรุ้ร่วมกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท