ปลุกพุทธในใจให้แย้มบาน (๒)


ดูความพอดีที่ผลของการปฏิบัติ  

 

ในวันสุดท้ายของการปฏิบัติหลังจากที่คณะศิษย์ที่มาปฏิบัติได้กล่าวคำขอขมาต่อพระอาจารย์แล้ว ท่านได้ให้โอวาทที่ทำให้ฉันกระจ่างใจในเรื่องการปฏิบัติและการใช้ชีวิตว่า

 

  • ความพอดี อยู่ที่ผลที่เกิดขึ้นว่าเกิดความพอดีไหม ไม่ใช่ที่รูปแบบว่าคืออะไร... ถ้าไม่พอดีจะจมอยู่ในความทุกข์และวุ่นวาย การปฏิบัติธรรมคือการทำให้สมดุลเพื่อที่จะดับทุกข์

 

  • ความก้าวหน้าของการปฏิบัติดูได้จากที่กุศลธรรมมากขึ้น อกุศลธรรมลดลง ต้องพากเพียร ขยัน ต่อสู้  ทุ่มเท  การปฏิบัติอยู่ที่ความพอดี อยู่ที่คุณภาพของจิต

 

  • อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ละเสีย ที่ยังไม่เกิดก็ไม่ทำให้เกิดขึ้น กุศลธรรมใดที่ยังไม่เกิดก็ทำให้เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็ให้ดำรงไว้อย่างยาวนาน มั่นคง ไม่ได้ดูที่รูปแบบ แต่ดูที่สภาพของจิต ภาวะของคุณธรรมในใจ...เจริญกุศลธรรมให้มาก ละอกุศลธรรมเสีย

 

  • เราต้องคอยปรับ คอยสังเกต คอยรับรู้ให้พอดี โดยไม่ตั้งคำถามว่าเมื่อไหร่โลก หรือคนอื่นจะปรับให้ถูกใจเรา

 

  • คนเรามักดูออกไปภายนอก ไม่รับผิดชอบกับภายในของเราเท่าที่ควร

 

  • การศึกษาธรรมะ การปฏิบัติ ให้ดูที่สภาพของจิต สภาพความคิด ความเห็น การกระทำ ให้ดูว่าเราสุขสบาย คลี่คลายไหม ต้องดู ต้องสังเกต ต้องกลับมาหาความพอดี ค่อนข้างยาก เพราะมนุษย์เราชอบสุดโต่ง ไม่มองที่คุณค่าของสิ่งที่อยู่กลางๆ

 

  • เวลาที่เราทำอะไรตรงกับธรรมะจะรู้สึกเยือกเย็น สบาย ปลอดโปร่ง เป็นธรรมชาติ รอบรู้ในอารมณ์ทั้งภายในตัวเอง และภายนอก แล้วเราก็จะอยู่อย่างสบาย ชีวิตก็ง่าย เพราะมีสติกำกับจิตใจไว้ เราจึงมีความสุขอยู่ตลอด

 

  • ที่รู้สึกเบื่อเพราะจิตไม่พอใจกับสิ่งที่กำลังทำ ไม่ว่าจะอยู่กับใคร ทำอะไรก็เบื่อ ความพอดีคือสติ ทำให้มีผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เกิดความชอบใจ ไม่ชอบใจก็ไม่เกลียด ไม่ชอบ ไม่ยินดียินร้าย

 

  • เรายิ่งวิ่งตาม ความสุขก็ยิ่งหนีห่าง ความสบาย ความสงบอยู่ในตัวเรา ขึ้นอยู่กับการฝึกการหัดของเรา

 

  • ชีวิตจะออกในลักษณะไหน เราก็พร้อมที่จะรับ ไม่มีประโยชน์ที่จะฟุ้งซ่าน

 

  • คำว่า “เป็นเช่นนี้เอง” ต้องรู้จักนำมาใช้ในชีวิต รู้สึกและรู้ตัวอยู่กับร่างกาย ต้องรู้จักคลี่คลายความรู้สึกทางกาย อารมณ์ที่เกิดขึ้น  ให้ตามดูความรู้สึก การเคลื่อนไหว ลมหายใจ ท่านั่งของเรา บางทีเราไม่รู้สึกตัวเอง

 

  • สร้างสติกับสิ่งที่กำลังทำ ประคองให้มีสติต่อเนื่อง เวลาเสร็จกิจก็เก็บงานเอาไว้ ไม่ต้องเอางานกลับไปคิดต่อ ไม่ว่าจะทำอะไรต้องรู้ตัวทั่วพร้อม งานของเรามีมากพอสมควรแล้ว ไม่ต้องสร้างภาระให้ตัวเองอีก

 

  • ที่ตั้งแห่งสติอยู่ที่ฐานกาย จากการได้ยิน ได้เห็น ได้สัมผัส เดินไปไหนก็ให้เป็นการจงกรม

 

  • ทำอะไรต้องพอเหมาะ พอดีกับสถานการณ์ ดูผลที่เกิดขึ้น ถ้าเราเองก็ไม่ได้สบาย คนขอบข้างก็เดือดร้อนรำคาญแสดงว่าไม่พอดี

 

  • ต้องปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม ปฏิบัติธรรมก็เพื่อออกจากทุกข์ ต้องทำการปฏิบัติให้สอดคล้องกับเป้าหมาย ไม่ใช่ยิ่งปฏิบัติยิ่งทุกข์

 

  • ทำอะไรต้องให้พอดีกับศีลไม่ใช่พอดีกับกิเลส

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 416838เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2010 19:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ชีวิตที่พอดี....ช่างกล่าวได้ไพเราะยิ่ง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท