2. Healthy OrganiZation


2. Healthy OrganiZation

 

 

 

"Healthy OrganiZation"

 

         ในวงการบริหารทรัพยากรบุคคลเรามักจะคุ้นชินกับคำว่า  "High Performance Organization" (องค์กรที่มีผลการปฏิบัติงานเป็นเลิศ)  ซึ่งเป็นแนวคิดในการบริหารที่มุ่งเน้นในเรื่องของผลการปฏิบัติงานที่มีผลสัมฤทธิ์สูง

         องค์กรที่มีผลการปฏิบัติงานเป็นเลิศ  กล่าวคือ  ผู้บริหารหรือคนในองค์กรพุ่งเป้าหมายไปที่งานเป็นหลัก  บางแห่งทำกันแบบเอาเป็นเอาตายเพื่อให้ได้ผลงานที่เป็นเลิศ  โดยบางครั้งก็มีการเปรียบเทียบผลงาน (Benchmarking) กับองค์กรอื่นประกอบด้วย  แน่นอนว่าผลงานที่ดีเลิศนั้น  อาจส่งผลให้หน่วยงานหรือคนในองค์กรนั้นได้รับรางวัล  เช่น  โบนัส เครื่องเชิดชูเกียรติต่าง ๆ เป็นต้น  แต่คำว่า "Healthy Organization" (องค์กรสุขภาวะ)  นั้นเป็นแนวคิดในการบริหารที่มุ่งเน้นในเรื่องความสุขของคนในองค์กรหรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง  คือ  การทำให้คนในองค์กรนั้นมีความสุขหรือมีคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดีควบคู่ไปด้วย

          ในการทำงานปกติเรามักใช้เวลาไม่น้อยกว่าสามในสี่ของแต่ละวันอยู่ที่ทำงาน หากเราต้องการมีคุณภาพชีวิตในการทำงานที่เป็นสุขเราสามารถจะทำให้องค์กรของเราเป็นองค์กรสุขภาวะ (Healthy Organization) ได้หลากหลายวิธี  อาทิ...

          1. การยอมรับความแตกต่าง  เคยมีนักทฤษฎี (Lippman)  ได้กล่าวไว้ว่า  "หารเราคิดอะไรที่คล้าย ๆ กัน ก็เท่ากับไม่มีความคิดเกิดขึ้นเลย" ดังนั้น การทำงานกับคนที่แตกต่างกันไม่ว่าจะทางด้านเชื้อชาติ เพศ อายุ ค่านิยมและรูปแบบของการศึกษาและประสบการณ์ทำงานจะทำให้เรามีโอกาสมากยิ่งขึ้นที่จะเติบโตก้าวหน้าไปพร้อม ๆ กัน ดังที่มีผู้กล่าวว่า แตกต่างแต่ไม่แตกแยก นั่นเอง...

          2. การคงสิ่งดี ๆ ในอดีตไว้  การปรับเปลี่ยนองค์กรจากรูปแบบเก่าไปสู่รูปแบบใหม่หรือการเปลี่ยนแปลงความคิดเก่าไปสู่ความคิดใหม่นั้น  ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในเวลาชั่วข้ามคืน  แต่อาจต้องใช้เวลาหลายปีในแต่ละก้ายของการเปลี่ยนผ่าน  ดังนั้น  จึงควรสำรวจความสำเร็จขององค์กรของเราและค้นหาคุณลักษณะที่ดีเลิศขององค์กรรูปแบบเก่าเพื่อนำเข้ามารวมไว้เป็นส่วนหนึ่งในองค์กรรูปแบบใหม่...

           3. สนุกกับงาน  ภายในองค์กรจะมีกี่คนที่สนุกกับการทำงาน  หากคนในองค์กรไม่รู้สึกสนุกกับงาน  การไม่สนุกกับงานก็เท่ากับไม่เกิดการมองโลกในแง่ดี ก็เท่ากับองค์กรนั้นไม่มีความหวังในการแก้ไขปัญหาที่ค้างคาอยู่แต่อย่างใด  การสนุกกับงานบางครั้งก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ (Greative Thinking) อันจะทำให้เรามองเห็นหนทางแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนภายในองค์กรได้อย่างลงตัว...

          4. การแบ่งความรับผิดชอบที่ชัดเจน  ควรทำให้แน่ใจว่าทุกส่วนในองค์กรและคนในองค์กรทุกคนรู้ว่าตัวเองต้องรับผิดชอบเรื่องอะไรบ้าง และควรทำการปรับโครงสร้างองค์กรและกระบวนการปฏิบัติงานให้มีความสับสนน้อยที่สุด...

            5. การให้อำนาจตัวเราเองและคนอื่น  หากคนในองค์กรสามารถกระทำในสิ่งที่ตนรักก็จะสามารถแสดงไหวพริบหรือความเฉียบแหลมของตนเองออกมาได้  ดังนั้น แทนที่จะมุ่งทำให้คนในองค์กรแต่ละคนเหมาะกับกรอบแบบแผนที่กำหนด เราควรส่งเสริมให้คนในองค์กรใช้กำลังความสามารถของพวกเขาเพื่อที่จะพัฒนาตนเองและองค์กรให้ดียิ่งขึ้น  ลองถามตัวคุณเองว่า  ทุกวันนี้คุณสามารถใช้ความสามารถ  ความสนใจและความเชี่ยวชาญในที่ทำงานได้มากน้อยเพียงใด  หากคุณสามารถใช้ความสามารถ  ความสนใจและความเชี่ยวชาญในการทำงานของคุณได้มากถึง 100 % มิใช่เพียง 25 % คุณก็ย่อมจะมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่องค์กรต้องเผชิญอยู่...

            6. การปฏิบัติตามจรรยาบรรณขององค์กร  ในแต่ละองค์กรถ้าเราให้รางวัลแก่คนที่มีจรรยาและลงโทษคนที่ไม่มีหรือไม่ประพฤติตามจรรยา เราจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นและข้อผูกมัดภายในองค์กรได้ และเมื่อใดก็ตามที่องค์กรสามารถทำให้คนภายในองค์กรปฏิบัติตามจรรยาบรรณขององค์กรของตนเองอย่างต่อเนื่อง องค์กรนั้นก็จะได้รับความเชื่อมั่นหรือศรัทธาจากบุคคลภายนอกสืบต่อไป...

            7. การสร้างความสำนึกของการอยู่ร่วมกัน  ควรทำลายกำแพงที่แยกความเป็น "เขา" และ "เรา"  บทพิสูจน์อยู่ที่การกระทำไม่ใช่เพียงคำพูด  เคยมีตัวอย่างในหลายองค์กรเมื่อถูกถามว่า  ใครทำงานเด่นที่สุดหรือมีผลงานมากที่สุด  ทุกคนในองค์กรนั้นตอบได้ตรงกันหมดว่าเป็นใคร  แต่ถามต่อไปว่าแล้วได้เรียนรู้อะไรจากบุคคลนั้นบ้าง  กลับไม่มีใครตอบหรือคิดอยากจะรู้เรื่องเลย ซึ่งหากจะให้เป็นองค์กรสุขภาวะแล้ว  ทุกคนในองค์กรควรได้เรียนรู้จากผู้ที่มีผลงานโดดเด่นหรือดีเลิศว่าเขาใช้อะไรเป็นเครื่องมือในการทำงาน  ใช้เทคนิคอะไรในการทำงานให้ประสบผลสำเร็จ และขอให้บุคคลนั้นถ่ายทอดให้คนในองค์กรเดียวกันได้รับรู้และเข้าใจ เพื่อเป็นแบบอย่างให้คนในองค์กร หรือนำไปเป็นพื้นฐานความคิดหรือแนวทางปฏิบัติต่อไปได้...

            วิธีการสร้างองค์กรสุขภาวะข้างต้นนั้น  มุ่งเน้นในเรื่องของการสร้างสำนึกที่ดีในการอยู่ร่วมกันภายในองค์กรและการสร้างความสุขในการทำงานเป็นสำคัญ  เมื่อคนในองค์กรมีความสุขในการทำงานแล้ว  ย่อมส่งผลให้การปฏิบัติงานดีตามไปด้วย...

 

ที่มา  :  พิรุฬ  เพียรล้ำเลิศ  หนังสือกระแสคน  กระแสโลก  สำนักงาน ก.พ.

หน้า 23 - 25  เล่ม  5  กันยายน  2553

(เปิดโลกความรู้  พัฒนาทุนมนุษย์)

เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์  ฉบับประจำวันที่  20 - 26 กุมภาพันธ์  2552

 

 

หมายเลขบันทึก: 416096เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2010 20:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

องค์กรสุขภาวะแค่ชื่อก็กินขาดแล้วค่ะ

คนในองค์กรหากทำงานด้วยใจและใจนั้นมีแต่ความสุข  งานที่ได้ก็ราบรื่นและประสบผลสำเร็จทุกครั้งไป

อยากให้ทุกองค์กรนำแนวคิดนี้ไปใช้เพื่อความสุขของคนในที่ทำงานนะคะ..

สวัสดีค่ะ...พี่ krugui...Ico32...

  • ค่ะ ถ้าทุกคนสนุกกับงานและทำงานอย่างมีความสุข...สามารถทำได้อย่างที่บทความข้างต้นบอก...เชื่อได้เลยค่ะว่า...เป็น "องค์กรสุขภาวะ" แน่ ๆ ค่ะ...
  • ทฤษฎีก็คือทฤษฎี หากไม่นำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง ก็ยากเหมือนกันนะค่ะ...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท