ชีวิตที่พอเพียง : ๑๑๔๘. เยี่ยมชื่นชม SHA โรงพยาบาลอุบลรัตน์



          สรพ. ดำเนินการโครงการขยาย HA เป็น SHA (กระบวนการคุณภาพเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน) เติมมิติด้านจิตใจ สังคม ปรับเปลี่ยนระบบคุณภาพให้อยู่บนพื้นฐานของความรัก ความเอื้ออาทร การสร้างเสริมสุขภาพ จัดการสิ่งแวดล้อม สอดแทรกหลักการ empowerment ผู้ป่วย ทำงานกับชุมชน  โดยมีโรงพยาบาลเข้าร่วมการขับเคลื่อน ๑๒๐ โรงพยาบาล

          เมื่อเอ่ยเรื่อง “โรงพยาบาลทำงานกับชุมชน” ใครๆ ก็นึกถึง รพ. อุบลรัตน์  นึกถึง นพ. อภิสิทธิ์ – พญ. ทานทิพย์ ธำรงวรางกูร   และผมก็เคยบันทึกไว้ที่นี่ เมื่อสองปีเศษมาแล้ว

          ขอย้ำว่า ที่นี่ขับเคลื่อนสุขภาวะที่ดีด้วยวิถีชีวิตพอเพียง 

          ไปเยี่ยมกิจการของ รพ. อุบลรัตน์ทีไร ก็ได้เห็นการริเริ่มใหม่ๆ เพิ่มขึ้นไม่หยุดยั้ง   รวมทั้งได้เห็นความต่อเนื่องของกิจกรรมหลัก ของศูนย์ค้ำคูณ และมูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตดี 

          ผมมองว่า ทีม ๒ สามีภรรยานี้ใช้ยุทธการจดหมายข่าว   ออกจดหมายข่าวเผยแพร่อุดมการณ์และความมุ่งมั่นร่วมของตนกับภาคีเครือข่ายหรือพันธมิตรที่กว้างขวาง   ได้แก่จดหมายข่าวก้าวทัน ปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสาน ที่ออกมาเป็นปีที่ ๑๒ แล้ว   จดหมายข่าว..ก้าวทัน ประชาคมสุขภาพ อำเภออุบลรัตน์ ออกเป็นปีที่ ๑๗   และวารสารค้ำคูณ วารสารเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิตและผู้บริโภค ออกเป็นปีที่ ๑๙

          เราได้สัมผัส “ความรู้” เพื่อสัมมาชีพ ในวิถีชีวิตพอเพียง   คือความรู้ในการทำการเกษตรผสมผสาน เอาชนะดินเสื่อมโทรมและสภาพขาดน้ำ ด้วยการปลูกกล้วยเป็นพืชนำ   มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องกล้วยมากมาย ดังในจดหมายข่าว..ก้าวทัน ประชาคมสุขภาพ อำเภออุบลรัตน์ ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๓ ประจำวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๓  มีเรื่องนำประจำฉบับคือ รวมพลังแก้ไขปัญหายากยากด้วยเรื่องกล้วยกล้วยกันดีกว่า   เรื่องกล้วยนี้ ผมจินตนาการจากการไปชี่นชมกิจกรรมสวนครัวใน รพ. อุบลรัตน์ และตามบ้านปราชญ์ชาวบ้าน ว่าน่าจะมีนักวิชาการไปเก็บรวบรวมความรู้เรื่องกล้วยในหลากหลายมิติของบริบทภาคอีสาน   เขียนออกมาเป็นตำราวิชาการ

          การประกอบสัมมาชีพ ต้องมี life safety net หรือพูดในภาษาราชการว่า คนเราต้องมีบำนาญกินยามแก่เฒ่าหรือไม่สามารถทำมาหากินได้  ซึ่งปราชญ์ชาวบ้านบอกว่า ต้องปูกไม้ยืนต้นเอาไว้ใช้เนื้อไม้  สำหรับขายเป็นบำนาญ   หลังปลูกไป ๒๕ ปี ไม้ยืนต้นจะมีราคาต้นละ ๑๕,๐๐๐ บาทโดยประมาณ หากปลูกไร่ละ ๑๐๐ ต้น ในที่ ๑๐ ไร่ จะได้บำนาญเท่าไรลองคูณกันเอาเอง   จะตกใจมาก  และต้นไม้ที่กำลังส่งเสริมกันมากคือยางนา

ต้นไม้ที่ศูนย์ค้ำคูณโตให้ร่มเงาเย็นสบาย และกล้าไม้ก็มีมากขึ้นกว่าที่ผมมาเห็นเมื่อ ๒ ปีก่อน

 

วิธีปลูกผักหรือพืชสวนครัวรอบต้นกล้วย ความรู้ใหม่เพื่อการดำรงชีวิตเกษตรพอเพียง

 

การสร้างมูลค่าเพิ่มจากกิ่งไม้ ที่ได้จากไม้ยืนต้นที่ปลูกกินเป็นบำนาญชีวิต

 

น้ำต้มแก่นฝางผสมใบเตย น้ำดื่มสมุนไพร และข้าวโพดเพิ่งหักจากต้นต้ม อร่ยจนผมลืมตัวกินไป ๒ ฝัก

เป็นที่สังเกตว่าประธานเป็นคนตะกละ

 

 แม่นิด หนูพวก ยอด storyteller และคุณเขียว ชยานิตย์ บุญดี หัวหน้าหน่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินผู้คลั่งใคล้งานชุมชน

 

พ่อทองใบ ต้นโลห์ กับครอบครัว คนขวาสุดคือคุณนิภา หัวหน้าพยาบาล

 

บรรยากาศสัมมาชีพเกษตรกรรมพอเพียง ที่บ้านพ่อทองใบ ต้นโลห์

 

สถานพยาบาลชุมชนใกล้บ้านใกล้ใจ

 

รายละเอียดของเวลาบริการ

 

ใน รพ. อุบลรัตน์ ที่ว่างกลายเป็นสวนครัว

 

ต้นกล้วยงามและสูงอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

 

หมายเลขบันทึก: 416037เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2010 15:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • JJ ประทับใจ ที่ ภรรยา ลาออก เพื่อให้ตำแหน่งว่าง เพื่อจะได้รับแพทย์ใหม่มาทดแทน
  • หมอที่เป็นภรรยา เสียสละ ทำงานให้โดยไม่ได้รับเงินเดือน

เรียนท่านอาจารย์หมอที่เคารพ

กระผมขอชื่นชมความตั้งใจที่แน่วแน่ของคุณหมอและเจ้าหน้าที่ ที่โรงพยาบาลจริงๆครับผม

ด้วยความเคารพครับผม

นิสิต

สวัสดีค่ะ อาจารย์

ชื่นชม ชาวอุบลรัตน์มานานค่ะ

ไม่เฉพาะ โรงพยาบาลเท่านั้น แต่ประชาชนทั้งอำเภอเลยอ่ะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท