ฟ้าสาง รุ่งเช้า รุ่งสาง เช้าตรู่ อรุณ อุษาโยค


ฟ้าสาง รุ่งเช้า รุ่งสาง เช้าตรู่ อรุณ อุษาโยค

                    ฟ้าสาง รุ่งเช้า รุ่งสาง เช้าตรู่ อรุณ อุษาโยค

                                                                          โดย  กาญจนา นาคสกุล

คำที่   หมายถึงเวลาเช้า ช่วงที่ท้องฟ้าเริ่มจางจากความมืด และมีแสงอาทิตย์ขึ้นมาที่ขอบฟ้า มีคำเรียกหลายคำ เช่น ฟ้าสาง รุ่งเช้า รุ่งสาง เช้าตรู่ ย่ำรุ่ง ซึ่งเป็นคำไทย และยังมีคำว่า อรุโณทัย อรุณ อุษา ซึ่งเป็นคำที่รับมาจากภาษาบาลีสันสกฤตด้วย โดยทั่วไปเรามักจะนับช่วงเวลานี้เป็นเวลาเริ่มของวันใหม่

ฟ้าสาง

เป็นคำเรียกเวลาเริ่มแรกของเวลาเช้า ท้องฟ้าที่มืดมิดในเวลากลางคืนจะเริ่มคลายความมืดลงกลายเป็นสีขาว ซึ่งทำให้รู้สึกถึงความสว่างของวันใหม่ที่ค่อยๆ คืบคลานเข้ามา เวลาฟ้าสางจึงนับเป็นจุดแรกของวันใหม่ตามความรู้สึกและตามการสังเกตของคนไทย เช่น วันนี้ค่ำแล้วจะทำอะไรก็ไม่ถนัด พรุ่งนี้เราจะเริ่มกันตั้งแต่ฟ้าสางเลยทีเดียว

รุ่งเช้า

เป็นคำเรียกเวลาที่โลกเริ่มสว่าง เป็นเวลาเริ่มต้นของวันใหม่ รุ่ง แปลว่า สว่าง ในเวลาเช้าพระอาทิตย์จะโคจรพ้นขอบฟ้าขึ้นมาส่องโลกให้สว่าง จึงเรียกเวลานั้นว่า รุ่ง และเพื่อย้ำความหมายให้ชัด จึงใช้เป็นคำซ้อนว่า รุ่งสาง รุ่งสว่าง รุ่งแจ้ง รุ่งเช้า รุ่งอรุณ อรุณรุ่ง หรือรุ่งอรุโณทัย คำว่า รุ่งเช้า เป็นคำบอกเวลากลางๆ ที่มิได้เจาะจงให้ชัดว่าจะเป็นกี่โมงกี่นาที คำว่า รุ่ง อาจใช้เป็นคำกริยา เช่น ตะวันรุ่งแล้ว หมายความว่า ตะวันขึ้นแล้ว สว่างแล้ว คำว่า รุ่ง แปลว่า เจริญ ก็ได้ เช่นที่ใช้ว่า ชีวิตกำลังรุ่ง ชะตารุ่งโรจน์ บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง

รุ่งสาง

คำว่า สาง แปลว่า สว่าง รุ่งสาง จึงหมายถึงเวลาเช้าที่ใกล้สว่างขึ้นแล้ว คำว่า รุ่ง ในที่นี้มีความหมายเพียงบอกให้รู้ว่าเป็นเวลาขึ้นวันใหม่แล้ว ไม่ได้หมายความว่า สว่าง รุ่งโรจน์ แต่คำว่า สาง บอกให้รู้ว่าเป็นเวลาใกล้สว่าง เพราะคำว่า สาง หรือสางๆ มีความหมายว่า จางลง คลายลง หมายถึงความมืดเริ่มจางลง ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆได้ โดยไม่ต้องใช้ไฟแม้จะยังไม่เห็นชัดนัก

 

เช้าตรู่

เป็นคำบอกเวลาตอนเช้าอีกคำหนึ่ง หมายถึงเวลาเช้าที่เห็นแสงเงินแสงทองแล้ว เช้าตรู่จึงเป็นเวลาที่สายกว่า รุ่งสาง คนที่มักตื่นนอนสาย ถ้าให้ไปไหนในเวลาซึ่งแสงอาทิตย์ยังเป็นเพียงแสงสีแดงอ่อนๆ อาจจะบอกว่า ไปทำไมแต่เช้าตรู่ ถ้ามีคนมาหาเวลานั้น ก็อาจจะถามว่า ไปไหนมาแต่เช้าตรู่ ในช่วงเวลาเช้าตรู่เช่นนี้ แต่โบราณในสมัยที่ยังไม่มีนาฬิกาใช้กันแพร่หลาย ทางการจะบอกให้ประชาชนรู้เวลาด้วยการตีกลอง ซึ่งจะตีเวลาหกโมงเช้าและหกโมงเย็น การตีกลองถี่ๆเรียกว่า ย่ำ การตีกลองเวลาหกโมงเช้าจึงเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า ย่ำรุ่ง ตรงข้ามการตีกลองเวลาหกโมงเย็นซึ่งเรียกว่า ย่ำค่ำ ต่อมาไม่ได้มีการบอกเวลาด้วยเสียงกลอง ก็ยังใช้คำว่า ย่ำรุ่ง และย่ำค่ำ เป็นคำบอกเวลาเช้าและเวลาเย็นด้วย เวลาย่ำรุ่ง กับเวลาเช้าตรู่ น่าจะเป็นเวลาเดียวกัน

อรุณ

เป็นคำภาษาบาลีและสันสกฤต แปลว่า สีแดง สีกุหลาบ หมายถึง เวลาใกล้พระอาทิตย์ขึ้น ท้องฟ้าที่เห็นในตอนที่พระอาทิตย์ใกล้ขึ้นนั้นจะเริ่มด้วยแสงสว่างสีขาวก่อน จึงมีคำเรียกแสงสว่างในตอนนี้ว่า แสงเงิน ต่อมาพระอาทิตย์จะส่องแสงเป็นสีแดงอ่อนๆ คำเรียกแสงอาทิตย์ตอนนี้ คือแสงทอง เมื่อแสงเงินและแสงทองส่องฟ้า เราก็รู้ว่าเป็นเวลาที่พระอาทิตย์เริ่มขึ้น นับเป็นวันใหม่แล้ว ในวรรณคดีของอินเดียเรียกเวลาพระอาทิตย์ใกล้ขึ้นว่า อรุณ กวีอินเดียสร้างให้เป็นเทพองค์หนึ่งและให้อรุณเป็นรถของพระอาทิตย์ อรุณเป็นโอรสของกัสยปและกทรุ ในภาษาไทย มักใช้คำว่า อรุณ ควบกับคำว่า รุ่ง เป็น อรุณรุ่ง หรือ รุ่งอรุณ ส่วนคำว่า อรุโณทัย ประกอบด้วยคำว่า อรุณ กับ อุทัย แปลว่า การขึ้นของอรุณ อรุโณทัย ก็มักใช้ หมายถึง เวลาเช้าด้วย

อุษาโยค

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า เวลาใกล้รุ่ง และให้ความหมายของคำอุษา ว่าหมายถึง แสงเงินแสงทอง เช้าตรู่ รุ่งเช้า ทั้งคำว่า อุษา และอุษาโยค เป็นคำที่กวีมักใช้ในการกล่าวถึงเวลาเช้าตรู่ ในวรรณคดีสันสกฤตกล่าวถึง อุษา หรืออุษาส ว่าเป็นเทพธิดาหรือนางฟ้าองค์หนึ่งที่สวยที่สุด อุษาเป็นน้องสาวของอาทิตย์ อุษาจึงมาถึงทีหลังอรุณ อุษามีความเป็นอมตะและจะคงเป็นสาวรุ่นที่อ่อนเยาว์อยู่เสมอ เธอไม่มีวันแก่แต่เธอทำให้มนุษย์แก่ลงทุกวันๆ อุษาเป็นเพื่อนของมนุษย์ เธอมียิ้มที่สดชื่น เธอจะไปเยี่ยมเยียนมนุษย์ทุกบ้านโดยไม่ได้คำนึงถึงฐานะของคนว่าจะยากจนหรือร่ำรวย ต่ำต้อยหรือสูงส่ง อุษาจะนำความสุขและความมั่งคั่งมาให้ทุกคน กวีวาดภาพอุษาให้เป็นเทพที่น่าชื่นชมเพราะยามเช้าเป็นเวลาที่น่ารื่นรมย์ คนที่ตื่นแต่เช้าจะรู้สึกเป็นสุขกับบรรยากาศที่สดชื่น และได้ชมแสงเงินแสงทองที่งดงามของอุษา

ฉบับที่ 2658 ปีที่  51 ประจำวัน  อังคาร ที่  27 กันยายน  2548

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 415504เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2010 22:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 18:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท