การสรรหาและเลือกสรรบุคคลเข้ารับราชการในสไตล์ญี่ปุ่น


การสรรหาและเลือกสรรบุคคลเข้ารับราชการในสไตล์ญี่ปุ่น

"การสรรหาและเลือกสรรบุคคลเข้ารับราชการในสไตล์ญี่ปุ่น"

การสอบเข้ารับราชการของญี่ปุ่น โดยพื้นฐานแล้วชาติแดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้มีความเป็นชาตินิยมที่ค่อนข้างเข้มแข็งและชัดเจน ระบบความเป็นอาวุโสและแบ่งแยกระดับมีค่อนข้างสูง ถึงแม้ว่าดีกรีความรุนแรงในปัจจุบันอาจไม่เท่ากับในอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากระบบราชการของญี่ปุ่นได้นำแนวคิดใหม่ ๆ เข้ามาจับทิศทางและปรับปรุงรูปแบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลแต่กระนั้นสิ่งที่เราสังเกตได้ คือ การแบ่งแยกระดับตั้งแต่แรกบรรจุนั้นค่อนข้างมีความสำคัญยิ่ง

การสอบเข้ารับราชการของญี่ปุ่น นั้นแบ่งแยกได้เป็น 3 รูปแบบ โดยที่ทุกรูปแบบรับผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาใด ๆ ก็ได้คือ...

1. การสอบซึ่งรับสมัครจากผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญา (Fast Track) ซึ่งผู้ที่ผ่านการสอบในกลุ่มนี้นั้น อนาคตคือ ผู้บริหารหน่วยงาน ปลัดกระทรวง เป็นต้น

2. การสอบซึ่งรับสมัครจากผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญา ซึ่งผู้ที่ผ่านการสอบในกลุ่มนี้ ตำแหน่งที่สูงที่สุดนั้น ประมาณการเทียบเท่า ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการกอง เป็นต้น

3. การสอบซึ่งรับสมัครจากผู้สำเร็จการศึกษาในระดับต่ำกว่าปริญญา ซึ่งผู้ที่ผ่านการสอบในประเภทนี้จะทำหน้าที่โดยส่วนใหญ่ในสายสนับสนุนหรือบริหารงานทั่วไป ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานวิชาการหรืองานบริหาร

จากรูปแบบหรือหลักสูตรการสอบของญี่ปุ่นที่กำหนดลักษณะตำแหน่งหรือสถานะในอนาคตที่ค่อนข้างชัดเจนตั้งแต่แรกบรรจุ ทำให้พอสังเกตได้ว่าญี่ปุ่นให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องการสอบเข้ารับราชการโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสอบในรูปแบบที่ 1 ซึ่งต้องการคนเก่งเพื่อปูเส้นทางและฟูมฟักไปสู่ตำแหน่งบริหารหรือตำแหน่งในระดับสูงต่อไป

นอกเหนือสิ่งอื่นใด เครื่องมือหรือแบบทดสอบเพื่อการแข่งขันที่เข้มข้นเช่นนี้ ถือว่าเป็นหัวใจหลักในการสรรหาเลยก็ว่าได้ สืบเนื่องจากต้องการบุคคลที่มีความรู้ความสามารถสูง โดยเฉพาะคนที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญา ประชากรชาวญี่ปุ่นเมื่อประสงค์เข้ารับราชการแล้ว ก็หวังที่จะเข้าสู่ระบบราชการในเส้นทาง Fast Track หรือการสอบประเภทที่ 1 เพราะความก้าวหน้าในอาชีพมีสูง เหมือนเป็นการขีดเส้นให้เลยว่าถ้าคุณสามารถสอบเข้ารับราชการได้ในประเภทที่ 1 คุณคือบุคคลในชนชั้นระดับสูงของระบบราชการ ทำให้การแข่งขันมีอัตราที่สูงนับว่า ญี่ปุ่นมีมุมมองที่ชัดเจนในการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบราชการมาเนิ่นนาน โดยการแบ่งประเภทบุคคลตั้งแต่แรกบรรจุ

อย่างไรก็ตามการปฏิบัติเช่นนี้ ก็พอที่จะมองเห็นจุดอ่อนได้บ้างว่า การตัดสินบุคคลตั้งแต่แรกบรรจุเช่นนี้ เสมือนหนึ่งเป็นการปิดกั้นโอกาสของคน โดยที่ในตอนแรกอาจมีความสามารถในระดับหนึ่งแม้จะไม่สูงสุดก็ตาม แต่เมื่อระยะเวลาในการปฏิบัติงานได้ช่วยหล่อหลอมให้บุคคลนั้นมีพัฒนาการและศักยภาพในการทำงานที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสามารถเป็นผู้บริหารที่ดีในอนาคตได้ และอาจจะทำได้ดีกว่าบุคคลที่เข้าสู่งานบริหารตั้งแต่แรก สิ่งเหล่านี้ทางเจ้าหน้าที่ผู้นำเสนอก็ให้ข้อเสนอว่า พวกเขามีความเชื่อมั่นในเครื่องมือของการสรรหาและเลือกสรรบุคคลตั้งแต่แรกบรรจุ ทำให้สามารถคัดแยกคนเก่งที่สุด ออกจากคนเก่งหรือไม่เก่งได้ แล้วพัฒนาคนเก่งที่สุดเหล่านั้นให้เป็นหัวกะทิขององค์กรต่อไป ส่วนกลุ่มคนที่เหลือก็ให้พัฒนาตนเองและทักษะการทำงานไปตามสายงานของตน ถึงแม้จะไม่สามารถขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารได้ก็ตาม จะอย่างไรก็ดี ขณะนี้ญี่ปุ่นก็ได้นำระบบจำแนกตำแหน่ง ระบบการประเมินบุคคล ระบบสมรรถนะ เข้ามาเป็นตัวช่วยในการปรับปรุงระบบความเป็นศักดินานี้ให้ลดลงบ้างเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้

ตัวอย่างการสรรหาและเลือกสรรในสไตล์ของญี่ปุ่นนั้น มีความน่าสนใจทีเดียว ถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างกับระบบการสรรหาและเลือกสรรบุคคลเข้ารับราชการของไทยอยู่บ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่ได้รับจากบทสนทนากับข้าราชการญี่ปุ่นนั้น สิ่งที่เห็นตรงกัน ก็คือ แนวโน้มในโลกปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็ว รัฐบาลญี่ปุ่นก็มีความต้องการที่จะได้บุคลากรที่ทั้งเก่งและดี เพื่อมาช่วยพัฒนาและสร้างสรรค์งานให้แก่ภาคราชการเช่นเดียวกับไทย ที่ยังต้องการคนเก่งและคนดีเพื่อมาช่วยพัฒนาประเทศ คนเก่งในสายตาญี่ปุ่น คือ เก่งทั้งความรู้และความสามารถ หากแต่คนดีนั้น ญี่ปุ่นต้องการอย่างมากในเรื่องของคุณธรรม การบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสาธารณะ เนื่องจากสังคมญี่ปุ่นมีการแข่งขันค่อนข้างสูงและก่อเกิดความเครียดอย่างรุนแรงคุณภาพชีวิตของคนในวัยทำงานมีต่ำเนื่องจากชีวิตการทำงานและการดำเนินชีวิตไม่สมดุลกัน ก่อให้เกิดปัญหามากมายในสังคมญี่ปุ่น

จะเห็นได้ว่าประเทศมหาอำนาจในเอเชียอย่างญี่ปุ่นนั้น ภาคราชการมีความสำคัญมาก ซึ่งเทียบเท่ากับภาคเอกชน เพราะเป็นเสมือนตัวจักรกลที่ขับเคลื่อนประเทศให้เข้มแข็ง ดังนั้น จึงเล็งเห็นความสำคัญของการสรรหาและเลือกสรรบุคคลเพื่อเข้ามาสู่ระบบราชการ การที่ประเทศไทยจะก้าวสู่ความเข้มแข็งและมั่นคงของภาคราชการก็เช่นเดียวกัน ต้องกำจัดจุดอ่อนในบางกระบวนงาน และเสริมสร้างจุดแข็งในบางขั้นตอนเช่นกัน ตัวอย่างการสรรหาและเลือกสรรบุคคลเข้ารับราชการของรัฐบาลญี่ปุ่นอาจเป็น Best practice บทหนึ่งที่เสมือนอยู่ในหนังสือบทเรียนหลาย ๆ เล่ม ที่ สำนักงาน ก.พ.ของไทยเราต้องอ่านและทำความเข้าใจ เพื่อนำกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่ซ่อนไว้ในบทเรียนแต่ละบทมาปรับใช้ให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปและให้ทันกับสถานการณ์ของโลกในด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลอีกด้วย...

ที่มา : ภมรพรรณ วงศ์เงิน หนังสือกระแสคน กระแสโลก สำนักงาน ก.พ.

หน้า 71 - 74 กันยายน 2553

เปิดโลกความรู้ พัฒนาทุนมนุษย์

เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 17 - 23 ตุลาคม 2551

หมายเลขบันทึก: 415497เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2010 22:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2016 15:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ

ชอบแบบนี้จังค่ะ

คนเก่งในสายตาญี่ปุ่น คือ เก่งทั้งความรู้และความสามารถ  หากแต่คนดีนั้น  ญี่ปุ่นต้องการอย่างมากในเรื่องของคุณธรรม  การบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสาธารณะ 

สวัสดีค่ะ...คุณยาย...Ico32...

  • ขอบคุณค่ะ...

สวัสดีค่ะ...พี่คิม...Ico32...

  • ญี่ปุ่นต้องการคนดีและมีคุณธรรมเพื่อช่วยกันพัฒนาประเทศให้เจริญไงค่ะ...
  • เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความจริงจัง...เรียกว่า "มีอุดมการณ์ในจิตสำนึก" และฝึกให้บุคลากรของประเทศมีจิตสำนึกในเรื่องคุณธรรมและจิตสาธารณะต่อประเทศชาติด้วยค่ะ...
  • ขอบคุณค่ะ...

-สวัสดีครับอาจารย์..

-แวะมารับข้อมูลจากญี่ปุ่นครับ...

-ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ...คุณเพชรน้ำหนึ่ง...

  • ขอบคุณค่ะ...
  • เป็นการสรรหาที่ประเทศไทยนำของต่างประเทศมาให้ศึกษาไงค่ะ...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท