สะตอแบบไหน? ที่อร่อยที่สุด


      หลายคนคงได้เคยลองชิมสะตอ  นึกภาพกลิ่นฉุนๆ คล้ายชะอม ออกนะครับ อร่อยตรงที่กลิ่นคล้ายชะอมนี่แหละ  รับรองถ้าสะตอไม่มีกลิ่นก็คงไม่อร่อย เช่นเดียวกับทุเรียนที่ไม่หอม ฉันไดก็ฉันนั้น

      สะตอเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงได้ ๕๐-๖๐ เมตรเลยทีเดียว ต้นสะตอสูงใหญ่หลายคนโอบก็มี  แต่คุณทราบไหม? สะตอเป็นพืชตระกูลถั่วเท่านั้นเอง

       ที่คุณเคยกินน่ะเป็นสะตอแก่  ลักษณะฝักเป็นแบบสีเขียวข้างล่างนี้ใช่ไหม? ฝักเขียวๆ เมล็ดเต่งตึง ปอกเปลือกกินเมล็ดข้างในจิ้มกับน้ำพริก อร่อยนัก  และสะตอที่คุณเคยพบเห็นล้วนเป็นแบบนี้ ที่คุณเคยซื้อกินก็แบบนี้  แต่รู้หรือไม่?  สะตอที่อร่อยที่สุดคือสะตอปลิว แต่คุณหาซื้อกินไม่ได้ครับ เพราะเป็นของหายาก คนที่จะได้กินสะตอปลิวคือคนที่อยู่ป่าอยู่สวน

 

         ทำไมที่เรียกสะตอปลิว ? ด้วยเหตุที่ต้นสะตอสูงมาก  ขนาดไม้ไผ่ที่ยาวที่สุดลำหนึ่ง ยังไม่สามารถสอยสะตอบางช่อได้ถึงนะครับ  จากสะตอที่แก่ได้ที่ เมื่อเอาลงมากินไม่ได้ก็ต้องปล่อยให้ฝักสุกไปตามกาลเวลา เมื่อฝักสุกจะมีเยื่อสีเหลืองหุ้มเมล็ดอยู่ แต่ฝักแก่ที่คุณเคยซื้อกินน่ะจะไม่เห็นเยื่อสุกสีเหลืองนะครับ  เยื่อสุกดังกล่าวสัตว์ต่างๆ ที่กินเมล็ดพืช เช่น นก กระรอก ค้างคาวชอบมากครับ แต่มันกินเฉพาะเยื่อสีเหลืองที่หวานนุ่มลิ้น แล้วคายเมล็ดข้างในออก ทิ้งลงใต้โคนสะตอนั่นเอง  อาการที่มันลงมาเองโดยคนไม่ต้องสอยหรือเก็บนี่แหละ จึงเรียก "สะตอปลิว"

 ภาพล่างนี่แหละครับที่เขาเรียกสะตอปลิว เพราะมันไม่ได้ถูกสอย หรือคนเก็บ หรือใช้ลิงขึ้นเก็บลงมานี่เอง สังเกตเห็นเมล็ดมีร่องรอยของธรรมชาติ ภาพล่างนี่ไปแหวกหาเอาจากดงหญ้าที่โคนต้นนะครับ สังเกตที่เมล็ดยังไม่ได้ล้างดิน/ทรายออกเลย ที่ล้างสะอาดแล้วภาพล่างถัดไปครับ

         สะตอสุกที่เหลือจากสัตว์ต่างๆ กิน  เมื่อถึงดินย่อมตากแดดตากฝนตามธรรมชาติ เมื่อถูกความชื้นได้ที่  เมล็ดก็จะเต่งตึง พร้อมที่จะแตกตาและงอกเป็นลำต้นอ่อน  ช่วงนี้แหละครับที่เอามาลวกจิ้มน้ำพริกอร่อยที่สุด เพราะมันไม่ฉุนจัดเหมือนสะตอแก่ทั่วไป

         ประสบการณ์ของผมประเมินว่าเมล็ดสะตอที่อร่อยที่สุดเรียงไปหาสะตอที่อร่อยน้อยที่สุดตามลำดับดังนี้

         สะตอปลิวลวก > สะตอปลิวดิบ > สะตอแก่หมกไฟ > สะตอต้ม > สะตอดอง > สะตอสด > สะตอสุก > สะตอค้างคืนหลายๆวัน

         อันสุดท้ายนั่นเป็นสะตอที่เก็บไว้นานจนฝักเหี่ยวนะครับ กินอย่างไรก็ไม่อร่อย

        ภาพบนนี้เป็นสะตอดองครับ  ที่อร่อยเพราะเป็นสะตอที่บีบเอาแต่เมล็ด  แล้วดองในน้ำเกลือแกง ใส่ส้มแขกเพื่อให้เปรี้ยว  เก็บใส่ภาชนะที่มิดชิดไว้กินนอกฤดูได้ถึง ๗-๘ เดือนทีเดียว  จนกว่าจะถึงฤดูสะตอปีหน้า  แล้วก็วนมากินสะตอของฤดูกาลใหม่อีกรอบ   สะตอในต้นที่สอยไม่ถึง ก็ปล่อยให้สุก ให้นก และกระรอกกินก็จะเป็นสะตอปลิวให้เราได้กินอีก เพียงปีละครั้งเท่านั้นเอง

หมายเลขบันทึก: 415198เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2010 00:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

กลิ่นลอยออกมาเลยค่ะ :x :i :)

ได้รู้จักสะตอปลิวครับ

ได้รู้จักสะตอปลิวครับ

สวัสดีครับคุณ ชนันท์

ครบเครื่องเรื่องความหรอยของสะตอ (สะตอปลิวลวก > สะตอปลิวดิบ > สะตอแก่หมกไฟ > สะตอต้ม > สะตอดอง > สะตอสด > สะตอสุก > สะตอค้างคืนหลายๆวัน) ภาพที่สี่ "ตอกแตกบะ" กำลังจะงอก ตอปลิว เหรียงปลิว ไม่เข้าป่าหากินยาก

มาสนับสนุว่าสตอปลิวอร่อยที่สุดด้วยคำพูดที่ว่า"โลกตอ โลกเหรียง โลกเนียงเพาะ น้ำชุบเหยาะส้มกำ ยำใส้วัว"

ด้วยความสวัสดีปีใหม่ครับท่าน

ผมคนอิสานแต่ชอบกินสะตอมาก ตอนกินกับแกงส้มหรือผัดกับกุ้ง แต่ที่กินไม่ได้คือลูกเนียง

ครับครูหยุย ผมก็ไม่ชอบลูกเนียงสดที่จิ้มน้ำพริกครับ แต่ถ้าลูกเนียงต้ม อร่อยนะครับ เขามีสูครการต้ม แช่น้ำขี้เถ้า แล้วต้ม ล้างแล้วต้ม ๆๆๆๆๆ จนจืดนะครับ จากเม็ดที่มีขนาดเท่านาฬิกาข้อมือ ต้มจนเหลือโตกว่าเหรียญสิบนิดเดียว แล้วเอาไปคลุกกับเนื้อมะพร้าวเขียวขูด+น้ำตาลทรายให้พอออกหวานและเกลือพอปะแล่ม อร่อยครับ แต่เป็นอาหารว่างไปแล้ว ไม่ใช่ผักสำหรับจิ้มน้ำพริกครับ ถ้าต้มไม่ดีพอกินแล้วเป็นนิ่วฉี่ไม่ออกครับ สำหรับคุณวอญ่า มาเป็นชุดเลยครับ สำหรับคุณปภินวิช แสดงว่ายังไม่เคยลอง หาโอกาสนะครับ

ฉาด...หรอยพี่น่องเหอ ฉานกะหว่าพันนั่น อิ อิ แต่ดองกะหรอย แม่เอย

ผมไม่ใช่คนใต้ มีเพื่อนสนิทเป็นคนใต้ก็มาก ชอบกินสะตอกันทั้งบ้าน

กินมานานแสนนาน เพิ่งจะมารู้ชัดเรื่องสะตอเดี๋ยวนี้นี่เอง

ขอบคุณครับ ขอบคุณคุณชนันท์ ที่เอื้อเฟื้อแบ่งปันความรู้นี้

ผมชอบกินสดๆกับ น้ำพริกกะปิเผ็ดๆ และปลาทูทอดตัวใหญ่ๆครับ (เป็นกับข้าว) คุณแม่ทำให้ทานเป็นประจำครับ…… เด็กภาคกลาง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท