จากใจผู้เขียน "บทความทำขวัญนาค" ตอนที่ 3 บันทึกในตำราทำขวัญ


บททำขวัญนาค กฏเกณฑ์แบบแผนต่าง ๆ เป็นของเก่าได้ถูกกำหนดเอาไว้แต่โบราณกาลหากละเลยหรือปล่อยวางพิธีกรรมก็จะสิ้นสุดลง

จากใจผู้เขียน

“บทความทำขวัญนาค”

ตอนที่ 3  บันทึกในตำราทำขวัญนาค 

โดย ชำเลือง มณีวงษ์

ผู้มีผลงานดีเด่น ด้านเพลงพื้นบ้าน รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ปี 2547
           ในบทความ “ทำขวัญนาค” ที่ผ่านมามีผู้เขียนแสดงความเห็นขึ้นมา หลากหลายมีทั้งผู้ที่สร้างความเข้าใจที่ดีและมีมุมมองตรงกันข้ามซึ่งก็เป็นธรรมดาในเรื่องของความคิด ความเข้าใจในระบอบพิธีซึ่งคงต้องให้เวลา ต้องรอจนกว่าจะได้พบด้วยตนเอง ผู้เขียนได้เขียนบทความทำขวัญนาคจากประสบการณ์ มาตั้งแต่ ปี 2550-2553 (เป็นเวลา 4 ปีแล้ว) ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้เขียนไปบ้างตามสมควร อาจะได้น้อยไปจนถึงได้มากก็จะอยู่ที่ความเชื่อถือมีความศรัทธาในภูมิปัญญาท้องถิ่นและมีความเข้าใจที่ตรงกัน แต่ถ้าไม่ได้มีความเชื่อถือและศรัทธาในที่มาหรือต้นตำรับเสียแล้ว บทความที่ท่านได้อ่านก็จะเกิดประโยชน์น้อยจนถึงไม่เกิดประโยชน์ต่อท่านเลย ในทุกมุมมองในทุกความเห็นทุกข้อความผมได้จัดเก็บเอาไว้ทั้งหมดตั้งแต่ผมเริ่มลงบทความและรู้ว่าทุกความเห็นมาจากแหล่งข้อมูลใด (แม้บางครั้งจะไม่ได้เข้าระบบ) เรื่องราวใดอยู่ใกล้ตัวเป็นเรื่องที่ท่านมีความสนใจ ท่านผู้อ่านก็สามารถที่จะติดตามอ่านเพื่อเสริมความรู้และเสนอแนะกลับไปอย่างสร้างสรรค์
            พื้นที่บนเว็บไซต์ GotoKnow.org นี้ ทำให้ผมได้ทำหน้าที่ของคนทำงานผู้หนึ่งที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาด้วยการสืบเสาะค้นหา กว่าที่จะมายืนเป็นหลักให้ลูกศิษย์ได้เข้ามาเรียนรู้ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2513-2554 (41 ปีเศษ) วันนี้นับว่าผมโชคดีที่มีโอกาสได้สัมผัสกับระบบเครือข่ายความรู้ และได้เรียนรู้อะไรมากมายทั้งที่บางอย่างไม่เคยคาดคิดมาก่อน ผมเขียนบทความด้วยประสบการณ์ตรงที่ได้สัมผัสมาด้วยตนเอง จากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามเวลาที่อยู่กับเพลงพื้นบ้านมายาวนาน  ในบล็อกทำขวัญนาคของผมจึงเป็นช่องทางหนึ่งให้ผมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้ช่วยเสนอแนะข้อบกพร่องให้ได้ปรับปรุง จนสามารถใช้เป็นข้อมูล ในการสืบค้น นักเรียนในสถานศึกษาที่ผมสอนได้เรียนรู้คุณธรรม บุญคุณของบิดามารดา เรื่องราวของการสืบต่อพระศาสนาผ่านสื่ออีเล็กทรอนิกส์ได้
           ความจริงผมยังมีเรื่องดี ๆ ที่มีคุณค่าเกี่ยวกับ “ทำขวัญนาค” อีกมากที่อยากจะเขียนฝากเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา อย่างเช่น เรื่องการไหว้ครู เรื่องนี้อยู่ในงานวิจัยเชิงคุณภาพของมหาวิทยาลัยชื่อดังของประเทศไทย เมื่อปี 2549 ซึ่งผู้วิจัยได้เลือกผมเป็นผู้ให้ข้อมูลของจังหวัดสุพรรณบุรี ติดตามอ่านได้ตามศูนย์หนังสือ หากจะนำเอาความเห็นที่แสดงไว้เมื่อ 4 ปีมาเขียนเกรงว่าจะไปมีผลกระทบอะไรเข้ามาอีก

                     

           เรื่องของภาพและข้อความในพิธีทำขวัญนาคของผมและลูกศิษย์ยังมีปรากฏอยู่ในสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่ม 34 เมื่อปี 2552 (ผมได้รับเมื่อวันที่ 14 กันยนยน 2552)  เปิดอ่านได้ตามห้องสมุดของสถานศึกษา ทุกเหตุการณ์ต่าง ๆ มีเข้ามาเองโดยการติดต่อของแต่ละหน่วยงาน
           บางท่านติดตามอ่าน เพราะได้ประโยชน์จากความจริงที่ผมได้ถ่ายทอดออกมาเป็นความรู้สู่สมองเกิดปัญญา  บางท่านชอบเพราะข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อตัวท่านติดตามอ่านบทความ ดูรูป ดูคลิบวิดีโอที่ผมแทรกเอาไว้แล้วนำเอาไปใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม  บางท่านโทรศัพท์ขอบคุณมายังผู้เขียนบทความ เพราะท่านได้เรียนรู้ในหลาย ๆ อย่างที่ไม่เคยได้รับรู้มาก่อน บางท่านโทรศัพท์มาเรียน มีท่านหนึ่งอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชร ท่านเกรงว่าสิ่งที่ร้องไปจะผิดทำนอง ผมต้องร้องใส่โทรศัพท์ให้ฟังแล้วบอกเพิ่มเติมไปว่า เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ให้รับฟังต้นแบบท่านอื่น ๆ ด้วย การเรียนรู้หลาย ๆ ช่องทางเป็นกำไรชีวิตที่จะเกิดประโยชน์ต่อตนเอง
           วิวัฒนาการของพิธีทำขวัญนาคมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เริ่มตั้งแต่ พราหมณ์  มาสู่ผู้ที่อยู่ในปัจฉิมวัย คนสูงอายุ ผู้สูงอายุและมีผู้ช่วยทำขวัญนาค ผู้สูงอายุและหมอขวัญชาย-หญิง  หมอขวัญชาย-หญิงทำหน้าที่ร้องเล่าเรื่องราวสู่ขวัญและเป็นผู้ประกอบพิธี ศิลปินนักแสดงทำหน้าที่ร้องเพลงสากลในพิธีทำขวัญนาค  คนหนุ่มสาว ชาย-หญิงฝึกหัดร้องและรับงานทำขวัญนาคอย่างมหรสพ  ผู้ที่ครองเพศนักบวช มาปฏิบัติหน้าที่ทำขวัญนาคอย่างสามัญชน  จากมนต์เสน่ห์ที่มีความขลัง กลายเป็นมนต์สนุกที่ขาดคติสอนใจไปโดยปริยาย ทำขวัญนาคสุดมันเต้นกันแบบจัดคอนเสิร์ต          
           ที่กล่าวมาจากในอดีตจนถึงวันนี้ จะเห็นได้ว่าเป็นวิวัฒนาการของขนบประเพณี หรือเป็นพิธีกรรมหนึ่งที่เริ่มต้นด้วยความศรัทธาเลื่อมใส สงบร่มเย็น จนกลายมาเป็นค่านิยมความสนุกสนานและบันเทิงเป็นไปตามอิทธิพลของกระแสสังคมที่เข้ามาครอบงำ เช่นเดียวกับวัฒนธรรมด้านอื่น ๆ โดยมิอาจที่จะปฏิเสธได้
           เราคงไม่สามารถแก้ไขปัจจุบันให้กลับไปเป็นได้อย่างในอดีต แต่การเลือกกระทำอย่างสมเหตุผลเหมาะกับการเป้าหมายหรือการสื่อความหมาย เพื่อให้สมกับความตั้งใจในการทำบุญครั้งสำคัญและยิ่งใหญ่ นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันจนงานสำเร็จ ผมหวังเพียงว่า คงจะได้เห็นความตั้งใจในการสืบต่อพระพุทธศาสนา ในทางสร้างสรรค์ให้คงอยู่ต่อไปอีกนานเท่านาน ครับ
          บทความแต่ละชุดมีโครงสร้าง ที่ผมจัดระบบเอาไว้ล่วงหน้านานมาแล้ว ผมต้องการแนะนำผู้ที่จะเดินทางเข้ามาเรียนรู้ภูมิปัญญา “ทำขวัญนาค” ได้คิดและปฏิบัติอย่างผู้ที่มีความรู้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีความรอบคอบ มีสติในการตัดสินใจทำอะไรลงไปและในตอนท้ายของบทความ ผมก็ได้เปิดประเด็นเอาไว้ให้คิดได้หลากหลายตามแต่ใจใครจะเลือกเดินทางใดโดยอิสระแต่ไม่ควรลบหลู่ผู้ที่รู้จริง ขอให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ในระยะยาว ส่วนท่านที่อ่านแล้วมืดมนมองหาแนวทางไม่เห็น ลองอ่านซ้ำอีกหลาย ๆ เที่ยวจะดีขึ้นหรือรับรู้เห็นแสงสว่างได้ การเรียนรู้จากผู้ที่ผ่านประสบการณ์และประสบความสำเร็จมาก่อนแล้วมีค่าสูงยิ่งกว่าแค่เพิ่งจะคิดมากมาย
          บางบทความผมต้องงดการแสดงความเห็น เพราะข้อความเห็นที่ส่งขึ้นมาไม่ตรงประเด็นกับเนื้อหาที่ควรจะเป็น เป็นการป่วนเสียมากกว่า ขออภัยด้วย แต่ในบางความเห็นก็ช่างมีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีต่อสาธารณะชนเสียจริง ๆ  เช่น บางความเห็นเขียนว่า “การแต่งกายของหมอขวัญมีกำหนดเอาไว้เป็นหลักฐานไหม” อีกความเห็นเขียนมาว่า “บุคคลเช่นไรเหมาะสมที่จะเป็นผู้ประกอบพิธีทำขวัญนาค”
          ผมคงต้องใช้เอกสาร เพื่อที่จะเป็นเครื่องยืนยันในข้อมูลที่ผมได้เขียนเอาไว้ว่า คนรุ่นก่อนท่านบันทึกเอาไว้เป็นหลักฐานในตำราทำขวัญนาคเก่า ๆ (เดี๋ยวจะถูกตำหนิว่า พูดขึ้นมาเอง)
         ขอยกข้อความต่อไปนี้ที่ผมคัดมาจาก หนังสือทำขวัญนาคแบบครู โดย อาจารย์เฒ่า พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2520 ราคาเล่มละ 8 บาท
          มีข้อความถามว่า “ผู้ทำพิธีมักจะมีคุณสมบัติที่ไม่เหมาะสม เป็นผู้ที่ศึกษาวิธีการมาจากผู้รู้ แล้วซื้อตำราทำขวัญนาคมาท่องจำจนขึ้นใจ เป็นอันว่าทำพิธีได้โดยไม่รู้หลักการเท่าใด คาถาอาคมก็ว่าไปตามเรื่อง จะมีความขลังหรือศักดิ์สิทธิหรือไม่อยู่ที่เหตุการณ์”
           ท่านตอบว่า  “ผู้ที่ทำพิธีทำขวัญนาคจะต้องถือศีล มีสัจจะธรรมยึดมั่นในพระรัตนตรัยอย่างจริงจัง กล่าวบททำขวัญนาคด้วยความสงบและวางเฉย ไม่เล่นสนุกหรือเศร้าโศกจนเจ้านาคเสียขวัญ”  (อาจารย์เฒ่า 2520 หน้า 44-45)
           มีข้อความถามว่า  “บุคคลเช่นไรจึงเหมาะสมแก่ผู้ประกบพิธีทำขวัญนาค” 
           ท่านตอบว่า “บุคคลนั้นควรมีอายุล่วงเข้าปัจฉิมวัย (ผู้สูงอายุ) มีความประพฤติดี อยู่ในศีลธรรม ปวงชนให้การเคารพนับถือ เป็นผู้สำรวมทั้งกายวาจาใจและเป็นผู้รอบรู้ในวิชาพุทธมนต์ เพราะพิธีทำขวัญนาคเป็นการเพิ่มบารมีให้กับเจ้านาค” (อาจารย์เฒ่า 2520 หน้า 47)
           ข้อกำหนดที่พบในตำราพิธีมงคลต่าง ๆ และการทำขวัญนาค โดย อาจารย์ทองหมอหลวงเมฆพัด พิมพ์ ปี พ.ศ.2521 หน้า 104 กล่าวว่า ผู้ทำขวัญนาค จะต้องแต่งตัวให้เรียบร้อย เป็นที่เคารพนับถือเป็นผู้จัดทำเครื่องพิธี
           ข้อกำหนดกฎเกณฑ์ในตำราเก่า รวมพิธีทำขวัญ  ทองใบ ปฏิภาโฌ 2520 หน้า 4-5 ผู้ทำขวัญจะต้องเป็นผู้ที่ชำระจิตใจให้ผ่องใส สะอาดถ้ายิ่งมีสมาทานศีลด้วยยิ่งดี
           การแต่งกายของผู้ที่ทำหน้าเป็นหมอขวัญ “ให้นุ่งขาวห่มขาว หรือนุ่งผ้านุ่งที่ดูสุภาพก็ได้ (ทองใบ ปฏิภาโฌ 2520 หน้า 5)
           หมอทำขวัญนาคหรือหมอสอนนาค ต้องมีความประพฤติเรียบร้อย น่าเคารพนับถือ ประกอบสัมมาอาชีวะหาเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ ถือศีล 5 มีสติรอบคอบ สำรวม (พิธีทำขวัญ อาจารย์ธรรมศรี 2512 หน้า 4)
           การแต่งกายของหมอทำขวัญแบบโบราณ นุ่งโจงกระเบน นุ่งขาว เสื้อขาวมีลวดลายที่ข้อมือ ผ้าห่มขาว แบบพราหมณ์ ส่วนการแต่งกายแบบสากล นุ่งกางเกงขายาวสีสุภาพ (ยกเว้นสีดำ) สวมเสื้อเชิ้ตแขนสั้นหรือยาวผูกเน็คไท ถ้าเป็นงานระดับคนใหญ่คนโตให้สวมเสื้อนอกด้วย ถ้าเป็นงานชาวบ้านธรรมดาก็ไม่ต้องสวมเสื้อนอก (พิธีทำขวัญ อาจารย์ธรรมศรี 2512 หน้า 6)
           บททำขวัญนาค กฏเกณฑ์แบบแผนต่าง ๆ เป็นของเก่าได้ถูกกำหนดเอาไว้แต่โบราณกาลหากละเลยหรือปล่อยวางพิธีกรรมก็จะสิ้นสุดลง (อาจารย์เฒ่า 2520 หน้า 48)

                    

           ผมมีเอกสาร หนังสือ ตำรา เทปเสียง แผ่นเสียง ซีดี วีซีดีเกี่ยวกับพิธีทำขวัญนาคเป็นจำนวนมาก หนังสือ ปี 2512 แผ่นเสียง ปี 2515 ผมศึกษาจากสื่อหลายชนิดเพื่อเก็บเอาไว้เป็นความรู้ประดับตัว  ต่อเมื่อมีผู้สงสัย ถ้าไม่ชัดเจนผมยังต้องเปิดตำราขึ้นมาหาคำตอบให้ ส่วนที่ว่าท่านได้อ่านแล้วจะเชื่อถือบุคคลที่เป็นต้นตำนานหรือไม่ก็สุดแล้วแต่ ผมคงทำหน้าที่ได้เพียงแค่นี้ ต่อไปคงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสังคมได้คิดและตัดสินใจว่า จะละทิ้งของเก่าที่เคยสอนคนรุ่นพ่อรุ่นแม่มาจนได้สติหรือจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพื่อสนองความพึงพอใจของตนเองก็ตามสิทธิที่พึงจะมี
            ตำนานเก่า ๆ เป็นเรื่องเล่าที่มีการกล่าวขานต่อเนื่องกันมาจากปากต่อปาก คำต่อคำ จนมีผู้นำเอาความรู้มาเขียนเอาไว้เป็นตำราให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ผมได้อ่านหนังสือทำขวัญนาคของพ่อคุณวัน มีชนะ ที่มีราคาเล่มละ 15 สตางค์ จัดพิมพ์ ปี พ.ศ.2490 เก่าจนพ่อคุณต้องนำเอาไม้รวกตัดเป็นท่อนมาผ่าหนีบขอบกระดาษเอาไว้ไม่ให้กระดาษแยกจากกัน เวลาจะเปิดอ่านต้องค่อย ๆ เปิดเดี๋ยวกระดาษจะขาด เนื้อกระดาษกรอบแดงเปื่อยหลุด ยกขึ้นมาได้กลิ่นความเก่า ผมยกมือขึ้นกราบไหว้แล้วค่อย ๆ เปิดดูด้วยความศรัทธา นับว่าเป็นบุญวาสนาที่ผมทันได้เห็นของเก่าที่ทรงคุณค่ายิ่งในชีวิต จะหาที่ไหนอีกกี่ปีก็ไม่เจออีกแล้ว พ่อคุณหวงมาก อยู่ติดตัวท่านจนถึงวันที่ท่านจากไป เมื่อ ปี พ.ศ. 2521 แล้วลูกหลานของท่านก็จัดส่งหนังสือเล่มนี้ไปให้กับพ่อคุณในกองไฟ (เสียดายมากแต่ก็ทำอะไรไม่ได้)

           

            ขอขอบคุณคนทำงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทุกท่าน ที่ร่วมสร้างสรรค์ความคิดดี ๆ มีคุณค่าต่อสังคมลงในบทความทำขวัญนาค ผมเขียนบทความทำขวัญนาคมายาวนาน ทุกบทความเขียนขึ้นมาเพื่อที่จะถ่ายทอดความรู้ไปยังผู้ที่ต้องการศึกษา เรื่องของพิธีทำขวัญนาค พิธีกรรมโบราณมีที่มาจากความเชื่อถือและศรัทธาเท่านั้น ผู้ที่ไม่ลบหลู่ผู้ที่ให้ความรู้ จะได้พบแต่ความเจริญใส่ตน ผู้ที่สนใจภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านนี้ ติดตามอ่านได้ใน e-book
            ขอประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับหนังสือ blogtobook  ในย่อหน้าสุดท้ายนี้เมื่อท่านคลิกเข้าไปจะพบข้อมูลรายชื่อหนังสือทั้งหมดของโครงการ (โปรโมททั้งโครงการมีหลายเล่มมิใช่มีแต่ของผมเล่มเดียว) แนะนำเอาไว้สำหรับผู้ที่สนใจ จะได้ติดตามบทความที่ผ่านการเลือกสรรแล้ว  ส่วนการดาวน์โหลดบทความเฉพาะ “ทำขวัญนาค” ยังต้องรออีกสักระยะหนึ่งครับ คลิกได้ที่ http://www.portal.in.th/blogtobook/  เว็บไซต์ดาวน์โหลดหนังสือ http://gotoknow.org/blog/chamluang/362782  และที่เว็บ Portal in Thailand : http://portal.in.th/kwannak/pages/13087/  (18 ธ.ค. 2553)

 

หมายเลขบันทึก: 414624เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2010 16:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท