การสร้างความรู้


คนเรานั้นมีการสร้างความรู้อยู่สามแบบ...ผ่านกระบวนการที่เป็น

“ฟัง...คิด...และลงมือปฏิบัติ”

ในบางคนเพียงแค่ฟัง...ปัญญาก็เกิด

ในบางคน...ต้องฟังและต้องคิดตามไปด้วย...ปัญญาจึงเกิด

และในบางคนฟังแล้ว...คิดไปด้วย...อีกทั้งต้องลงมือปฏิบัติ...ด้วยแล้วปัญญาก็จะเกิด

ปัญญา...ที่ว่านี่น่ะคือ...”ความรู้” ที่เกิดการสร้างขึ้นอันเป็นการสร้างขึ้นจากกระบวนการภายในแห่งการเรียนรู้ของมนุษย์...

แต่เรานั้นมักหลงไปสร้างความรู้แต่ภายนอกที่เป็นสาระตัวเนื้อหา ตัวโครงสร้างของระบบ ตัวใบรับรอง แต่เราลืมการเน้นการสร้าง “ความรู้” อันเป็นความรู้ที่เกิดภายในตามกระบวนการธรรมชาติของสมองมนุษย์...ซึ่งความรู้นี้สำคัญเพราะเป็นความรู้ที่ช่วยทำให้ผู้คนเกิดการเชื่อมความรู้มาใช้ได้จริงในวิถีชีวิต

ส่วนความรู้ที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้จริงคือ ความรู้ที่เรากอดไว้เป็นทฤษฎี ได้แต่บอกปาวๆ...ให้คนอื่นรู้แต่ตัวเองก็ยังไม่รู้อย่างลึกซึ้งหรือที่เรียกว่า “ตกผลึก”...

ดังนั้น...จึงเห็นได้ว่าสังคมเรานั้นมักสอนกันได้เฉพาะทฤษฎีแต่...เมื่อเรียนไปแล้วเด็กๆ ไม่สามารถนำความรู้ที่เรียนมาสัมพันธ์กับวิถีชีวิตได้

 

๑๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๓

 

หมายเลขบันทึก: 414012เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2010 07:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ตุลาคม 2013 06:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดี อาจารย์ ครับ

ในส่วนตัวของผม ทฤษฎีที่ผมร่ำเรียนมาส่วนใหญ่จะมาจากซีกตะวันตก และผมก็เชื่อเพราะกว่าจะเป็นทฤษฎีได้ต้องผ่านกระบวนการทางวิทยาศาตร์ที่น่าเชื่อถือ จึงทำให้ชีวิตของผมก่อนหน้านี้ต้องการเอาชนะสิ่งที่ธรรมชาติใส่เข้ามาในชีวิต (ให้กลายเป็นผู้สร้าง) จนผลักดันให้ชีวิตของผมต้องวิ่งอยู่ แบบไม่รู้จักจบสิ้น

วิ่งคนละทางสายหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ที่มีมายาวนานนับ ๒,๕๐๐ กว่าปี ซึ่งเป็นศาสนาที่ผมกรอกข้อมูลตั้งแต่จำความได้

ทางโลกแสวงหาความรู้ เพื่อได้มาซึ่ง ลาภ ยศ และสรรเสริญ

ส่วนทางพุทธธรรม (ผู้รู้) แสวงหาความรู้ เพื่อทำลายตัวตน เข้าถึงความสงบ ดับทุกข์ (อริยสัจ ๔) และนิพพาน

การสร้างความรู้ของพระพุทธเจ้าก็มีอยู่สามแบบ (เช่นกัน)...ผ่านกระบวนการที่เป็น

“ ศีล...สมาธิ...ปัญญา ” อันเป็นหัวใจของความรู้ (ตรัสรู้)

ผมว่า ถ้าเราปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า...

ทุก ๆ คน ก็จะสามารถนำความรู้ที่เรียนมาสัมพันธ์กับวิถีชีวิต และธรรมชาติได้

ผมคงจะเข้ามาอ่านบันทึกอาจารย์เรื่อย ๆ ครับ เพราะตั้งแต่เกิดผมเพิ่งมีโอกาสอ่านหนังสือธรรมะจบหนึ่งเล่มเมื่อ ๒ สัปดาห์

คือ "คู่มือมนุษย์-ของท่านอาจารย์พุทธทาส" ยังต้องเรียนรู้อีกมากมายและต่อเนื่อง (Live & Learn) ครับ

' อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับมัน ตามความคิดสติเราให้ทัน อยู่กับสิ่งที่มีไม่ใช่สิ่งที่ฝัน และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด '

ขอบพระคุณบันทึกอาจารย์ครับ ที่ทำให้ผมกลับมาทบทวนชีวิตของผมอีกครั้งครับ

จิตใจ...ของเราเป็นผู้นำพากาย อันหมายถึงการกระทำ...

จิตใจที่ดี...พึงถึงพร้อมด้วยความเสียสละออก (ทาน)

การตั้งมั่นไม่เบียดเบียน...อยู่ในเขตแดนอันเป็นกุศล (ศีล)

และดำรงอยู่กับสภาวะที่เป็น...อย่างเกิดปัญญา (ภาวนา)

...นี่ก็นำพาสันติ...มาสู่จิตใจเราได้ แล้วสังคมเราแม้อาจเป็นสังคมเล็กๆ...ก็จะเป็นสังคมที่เปี่ยมสุข ร่มเย็นไม่เร่าร้อน...

Large_zen_pics_007 

ฟังดี.....คิดดี.....ปฏิบัติดี.....ทุกอย่างย่อมดี ค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์

ได้รับเมล์ให้เข้ามาดู เห็นด้วยกับแนวทางพัฒนาความรู้ของอาจารย์ครับ ผมอยากเสนอแนะเพิ่มในแนวทางของอาจารย์คือ

ฟัง และ อ่าน

คิดตาม และ สงสัยในสิ่งที่รับรู้มา (ตามหลักกาลามสูตร)

ปฏิบัติตามสิ่งที่ได้เรียนรู้ ทดลองหาคำตอบให้กับสิ่งที่สงสัย

ผมพบว่า คนไทยเรียนเก่ง แต่คิดไม่ค่อยเป็น เรียนก็เรียนแบบทำตามที่ได้รับการบอกเล่าให้ทำ ไม่ชอบอ่านหนังสือ ไม่ชอบคิดนอกกรอบ สงสัยในสิ่งที่ได้เรียนรู้ ซึ่งนำไปสู่การขาดการพัฒนา การปฏิบัติตามอย่างเดียว โดยไม่สงสัยไม่รู้ว่าทำเพราะอะไร ก็นำไปสู่การทำอย่างขาดปัญญา ได้แต่ประสบการณ์ แต่ขาดองค์ความรู้ อธิบายถึงเหตุผลที่ทำไม่ได้ และปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงโดยไม่มีการพิจารณาครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท