จิตติ์ ดวงบุปผาวงค์
พระครูปลัด จิตติชัย จิตติชโย มาตย์วงค์

การครองเรือนแบบพุทธ


การครองเรือนแบบพุทธ

พระพุทธศาสนากับหลักการครองเรือน

                พระพุทธศาสนานั้นไม่ได้หมายความว่าต้องให้ทุกคนเข้ามาบวชแล้วปฏิบัติเพื่อแสวงหาความหลุดพ้นเพียงอย่างเดียว แต่ว่าผู้ใดยังไม่มีความพร้อมในการเข้ามาบวชปฏิบัติได้ คือปรารถนาจะอยู่การครองเรือนสมัครใช้ชีวิตแบบฆราวาสวิสัยก็มีธรรมะเครื่องปฏิบัติ พอเหมาะสมแก่ความเป็นอยู่ของผู้นั้นได้ เช่น หลักธรรมในฆราวาสธรรม เป็นธรรมที่สำคัญมากสำหรับผู้ครองเรือน ขาดข้อใด ข้อหนึ่งก็ไม่ได้ เพราะถ้าขาดแล้วก็จะทำให้ชีวิตการครองเรือนล้มสลายไปในทันที พระพุทธเจ้าตรัสไว้มี ๔ ข้อ คือ
                ๑. สัจจะ คือความจริงใจ ผู้ครองเรือนต้องมีความจริงใจต่อกัน มีความซื่อสัตย์ต่อกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

                ๒. ทมะ คือความข่มใจ คือรู้จักห้ามใจตนเอง

                ๓. ขันติ คือความอดทนทั้งทางกาย และทางใจ

               ๔. จาคะ คือความเสียสละ เผื่อแผ่ ไม่ใจแคบ รวมไปถึงการสละอารมณ์ที่ไม่ดีไม่งามออกไปด้วย

               พระพุทธเจ้ายังตรัสเพิ่มเติมถึงธรรมะที่ทำให้ผู้ครองเรือนมีความสุขอยู่ ๔ ประการ คือ

               ๑. ความสุขที่เกิดจากการมีทรัพย์

               ๒. ความสุขที่เกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์นั้นตามสมควร

               ๓. ความสุขที่เกิดจากการไม่ต้องเป็นหนี้

               ๔. ความสุขที่เกิดจากการประกอบกิจการงานที่ปราศจากโทษ

                เราจะเห็นได้ว่าคำสอนในพระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่คำสอนที่มุ่งจะขนสัตว์ทุกคนไปนิพพานเสียทั้งหมด แต่ก็มีคำสอนขั้นพื้นฐาน ขั้นกลาง และขั้นสูง เหมาะแก่คนทุกระดับชั้นไว้สำหรับประพฤติปฏิบัติ

 พระพุทธศาสนากับเรื่องกรรม

                พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้เชื่อเรื่องของกรรม ไม่ให้เชื่อโชคลาง เชื่อดวงดาว เชื่อลายเส้นบนฝ่ามือ เชื่อไสยศาสตร์ เชื่อข่าวลือ ให้เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม ว่าสัตว์ทำกรรมดีย่อมได้ดี สัตว์ทำกรรมชั่วย่อมได้ชั่ว ดังพุทธภาษิตว่า
                ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ

                กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ.[1]

                "บุคคลหว่านพืชเช่นไร ย่อมได้ผลเช่นนั้น ทำกรรมดี ย่อมได้ดี ทำกรรมชั่วย่อมได้ชั่ว" ปลูกมะเขือ ก็ย่อมได้ผลเป็นมะเขือ ปลูกมะละกอ ก็ย่อมได้ผลเป็นมะละกอ ปลูกมะม่วงจะได้ผลเป็นทุเรียน เป็นพริก ย่อมเป็นไปไม่ได้ กรรมเท่านั้นเป็นตัวจำแนก เป็นตัวปันผลให้กับมนุษย์และสัตว์ ไม่ใช่พระเจ้าหรือพระพรหมหรือพลังอำนาจภายนอกแต่อย่างใด กมฺมํ สตฺเต วิภชติ ยทิทํ หีนปฺปณีตตาย กรรมเป็นตัวจัดสรรคนที่ทำชั่วให้ชั่วโฉด และจัดสรรคนที่ทำดีให้เฉิดฉาย พลังของกรรมเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ ไม่มีพลังอะไรที่จะมาอยู่เหนือพลังของกรรม

                ในจูฬกัมมวิภังคสูตร[2]  พระพุทธเจ้าได้ตรัสผลของกรรมหรือการกระทำไว้ ๗ คู่ไว้ด้วยกันคือ

๑. ผู้ที่เกิดมามีอายุน้อย                --> เพราะมักเป็นคนฆ่าสัตว์

   ผู้ที่เกิดมามีอายุยืน                    --> เพราะไม่ฆ่าสัตว์  

๒. ผู้มีโรคมาก                                --> เพราะเป็นผู้เบียดเบียนสัตว์

   ผู้มีโรคน้อย                                 --> เพราะไม่ค่อยได้เบียดเบียนสัตว์

๓. ผู้มีรูปร่างขี้เหร่ ผิวพรรณทราม  --> เพราะมักเป็นคนขี้โกรธเคียดแค้น พยาบาท

   ผู้มีความงาม ผิวพรรณดี           --> เพราะมักเป็นคนมักไม่โกรธเคียดแค้น พยาบาท

๔. ผู้มียศศักดิ์ต่ำ                                     --> เพราะมักอิจฉาริษยาคนอื่น

   ผู้มียศศักดิ์สูง                            --> เพราะไม่มีจิตอิจฉาริษยาใคร

๕. ผู้เกิดมายากจน                       --> เพราะไม่เอื้อเฟื้อเจือจาน

   ผู้เกิดมามั่งมี                              --> เพราะจักเอื้อเฟื้อเจือจาน

๖. ผู้เกิดในตระกูลต่ำ                         --> เพราะเป็นคนกระด้างถือตัว ไม่รู้จักอ่อนน้อม

   ผู้เกิดในตระกูลสูง                          --> เพราะไม่เป็นคนกระด้างถือตัว รู้จักอ่อนน้อม

๗. ผู้ที่เกิดมามีปัญญาทราม              --> เพราะไม่ไต่ถาม ไม่แสวงหาความรู้

   ผู้ที่เกิดมามีปัญญามาก                   --> เพราะรู้จักไต่ถาม แสวงหาความรู้

 

พระพุทธศาสนากับสตรี

                ต้องยอมรับว่า สถานภาพของสตรีเพศในสมัยพุทธกาลหรือแม้กระทั่งในปัจจุบันนี้ ผู้หญิงถูกกดขี่ทางเพศ อยู่ในฐานะเหมือนกับเป็นทาสของบุรุษ สังคมไม่ยอมรับความสามารถของสตรีหาเสรีภาพความเสมอภาพไม่เจอ พระพุทธเจ้านับเป็นศาสดาองค์แรกที่ทรงประทานเสรีภาพความเสมอภาพให้แก่สตรี ตลอดจนประทานให้อุปสมบทเป็นภิกษุณีได้ เพราะทรงเห็นว่าสตรีนั้นมีความสามารถไม่น้อยไปกว่าบุรุษเลย พระพุทธเจ้าทรงยอมรับให้สตรีได้บวชในพระพุทธศาสนาได้ ซึ่งในสมัยนั้นผู้หญิงเป็นที่ดูถูกดูแคลนของสังคมยุคนั้น ในกรณีที่ว่าผู้หญิงไม่ควรได้รับการอุปสมบทและไม่อาจจะบรรลุธรรมได้

                พระพุทธศาสนายกย่องสถานภาพของสตรี (ภริยา ปรมา สขา) ภรรยาเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของสามี สามีไม่ควรปฏิบัติต่อเธอเยี่ยงทาสในครัวเรือน จะเห็นได้ว่าในหลักของคิหิปฏิบัติพระพุทธเจ้าทรงยกย่องฐานะของสตรีไว้ ๕ ประเภท ซึ่งสามีจะต้องปฏิบัติต่อเธอก็คือ

                ๑. ด้วยการยกย่องนับถือว่าภรรยาอย่างแท้จริง
                ๒. ไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามหรือทำให้ภรรยาเสียใจสะเทือนใจ
                ๓. ทะนุถนอมน้ำใจภรรยารักใคร่ไม่จืดจาง

                ๔. มอบความเป็นใหญ่ให้ภรรยารับผิดชอบการเรือนอย่างเต็มที่

                ๕. มอบของขวัญเครื่องประดับอาภรณ์บ้างในโอกาสอันสำคัญ

                พระพุทธศาสนายกย่องสตรีทุกคนไว้ในฐานะดุจเพศแม่ บุรุษจะต้องให้ความเคารพรักสตรีเช่นกับแม่ของตน ในสมัยพุทธกาล บุรุษเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาบำเพ็ญตนจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้เลิศในลักษณะที่แตกต่างกันออกไปฉันใด สตรีก็เหมือนกัน เมื่อเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาสามารถบำเพ็ญตนจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ก็ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้เลิศในลักษณะที่แตกต่างกันออกไปฉันนั้น

ภิกษุณีบริษัท

               ปฐมเหตุของการเกิดภิกษุณีนั้น เกิดจากพระนางมหาปชาบดีโคตมีพร้อมด้วยสากิยานีประมาณ ๕๐๐ นาง ตัดสินใจโกนผมนุ่งห่มผ้ากาสายะเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เมืองเวสาลี ด้วยความอุตสาหะสูงมาก คือไม่สวมรองเท้าและไปด้วยยาน พระเถระอานนท์เป็นผู้อาสาขอประทานอนุญาตให้สตรีบวช พระอานนท์ได้กราบทูลด้วยเหตุผลด้วยประการต่าง ๆ พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงประทานให้สตรีได้บวชได้โดยง่าย เป็นเพราะทรงมีพระพุทธประสงค์ที่จะให้สตรีทั้งหลายทราบว่า เพศบรรพชาของพวกตน ได้มาโดยยากยิ่ง จะได้สำนึกถึงคุณค่าที่ตนจะต้องรักษาไว้ให้ยืนยาวสืบต่อไปนั้นเอง
                เมื่อทรงประทานอนุญาต ได้ทรงกำหนดให้ภิกษุณีต้องประพฤติครุธรรม ๘ ประการไม่ให้ขาดตกบกพร่อง กล่าวคือ

๑. ภิกษุณีแม้อุปสมบทตั้ง ๑๐๐ ปี ก็ต้องแสดงคารวะต่อภิกษุแม้อุปสมบทในวันนั้น

๒. ภิกษุณีจะต้องอยู่จำพรรษาในอาวาสที่มีภิกษุอยู่

๓. ภิกษุณีจะต้องถามอุโบสถและฟังโอวาทของภิกษุสงฆ์ทุกครึ่งเดือน

๔. ภิกษุณีจำพรรษาแล้วต้องปวารณาในสงฆ์ทั้งสองฝ่าย

๕. ภิกษุณีต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วต้องประพฤติมานัตปักข์หนึ่งในสงฆ์สองฝ่าย

๖. ภิกษุณีต้องอุปสมบทในสงฆ์สองฝ่าย

๗. ภิกษุณีไม่พึงด่าภิกษุไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม

๘. ภิกษุณีไม่พึงสอนภิกษุ ให้เปิดโอกาสให้ภิกษุสอนตน

 

 


[1]พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี, เล่มที่ ๑๕, สุตฺต. สํ. สคาถวคฺโค, น. ๓๓๓

[2] พระไตรปิฎกสำหรับประชาชน, สุชีพ ปุญญานุภาพ, โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, พระนคร, พ.ศ. ๒๕๒๕ น. ๔๗๕

หมายเลขบันทึก: 413965เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2010 21:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 20:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ผอ.วิทยาลัยศาสนศาสตร์ล้านนา

กลับมาแล้ว หลังจากต้องเดินทาง ทั้งภายในและภายนอกประเทศ คงต้องนำธรรมะ มาฝากท่านผู้อ่าน เพื่ออนุโมทนา

ขออำนวยพรกับท่านผู้อ่านทุกท่าน นำเอาธรรมะเป็นธงชัยในชีวิต เพื่อการดำเนินชีวิตที่สงบสุข และมีคุณค่าที่สุด รสพระธรรมเป็นรสแห่งแสวงว่างในชีวิต

ธรรมรักษา +

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท