จิตติ์ ดวงบุปผาวงค์
พระครูปลัด จิตติชัย จิตติชโย มาตย์วงค์

หลักการตอบปัญหาของพุทธเจ้า


หลักการตอบปัญหา

หลักการตอบปัญหาของพระพุทธเจ้า

           แต่ละวันจะมีผู้คนเป็นจำนวนมากมาขอเข้าเฝ้าทูลถามปัญหาที่หลากหลายกับพระองค์ พระพุทธเจ้าทรงมีหลักการตอบปัญหาอยู่ ๔ อย่าง คือ
          ๑. เอกังสพยากรณ์ ทรงตอบไปโดยส่วนเดียว เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

          ๒. วิภัชพยากรณ์ ทรงแยกตอบไปตามลักษณะของเรื่องนั้น ๆ เช่น ถ้ามีคนถามปัญหาว่า "ตายแล้วเกิดอีกหรือไม่" จะทรงตอบจำแนกไปตามเหตุและผล คือ เมื่อเหตุให้เกิดมีอยู่ การเกิดก็ต้องมี เมื่อเหตุของการเกิดไม่มี การเกิดก็ไม่มี

          ๓. ปฏิปุจฉาพยากรณ์ ทรงถามย้อนกลับโดยเอาคำถามที่ถามมา ย้อนถามไปอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็จะได้คำตอบเองเหมือนหลักของตรรกวิทยา เช่น ทีฆนขะ อัคคิ    เวสนโคตร แสดงความคิดเห็นของตนว่า "สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ชอบใจหมด" พระองค์ตรัสตอบว่า "ถ้าอย่างนั้น ความเห็นอย่างนั้น ก็ต้องไม่ควรแก่ท่าน ท่านก็ต้องไม่ชอบความเห็นอย่างนั้นด้วย"

          ๔. ฐปนียะ ปัญหาบางอย่างเป็นเรื่องไร้สาระ ตรัสออกไปแล้วก็ไม่เกิดประโยชน์อันใดแก่ผู้ฟัง ถ้ามีคนถามปัญหาอย่างนี้ พระองค์ก็จะไม่ได้รับคำตอบ ไม่ใช่เป็นเพราะว่าพระองค์ไม่รู้ พระองค์ทรงรู้ทรงเป็นสัพพัญญู แต่เป็นปัญหาไร้สาระ ไม่เป็นไปเพื่อคลายความทุกข์ เช่น มีพระเถระรูปหนึ่งชื่อว่ามาลุงกยบุตรถามปัญหาทางอภิปรัชญากับพระองค์ว่า โลกนี้เที่ยงหรือไม่เที่ยง โลกมีที่สุดหรือไม่มีที่สุด เป็นต้น พระองค์จะไม่ทรงตอบปัญหาเช่นนั้น

          พระดำรัสของพระพุทธเจ้าก่อนที่พระองค์จะตรัสทุกครั้ง จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลัก ๔ ประการคือ

          ๑. เป็นเรื่องจริง

          ๒. เป็นธรรม

          ๓. มีประโยชน์

          ๔. เหมาะสมแก่กาล

 

พระพุทธศาสนากับหลักการสังคมสงเคราะห์

          พระพุทธศาสนาได้ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สอนให้ทุกคนไม่เป็นคนที่เห็นแก่ตัว ให้ทำลายอหังการ และมมังการ ไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก   ถ้ามนุษย์ทุกคนถือว่านี่เรา นี่พวกของเรา นั่นพวกของผู้อื่น มีมากขึ้นในตัวมนุษย์ ความเข้าใจความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ด้วยกันก็จะหมดไปในทันที จะไม่ต่างอะไรกับสัตว์ดิรัจฉาน สังคมก็จะมีแต่ความแห้งแล้งน้ำใจ ความเอื้ออาทรในเพื่อนร่วมโลกด้วยกันก็จะหมดไป กลายเป็นการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมแบบตัวใครตัวมันเป็นการแบ่งทวีป แบ่งประเทศ แบ่งภาค แบ่งพวกไปในที่สุด

          พระพุทธศาสนาได้วางหลักสังคมสงเคราะห์ให้มนุษย์ในสังคมได้ปฏิบัติตามหลักสังคหวัตถุ ๔ คือ ธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจ เป็นเครื่องผูกมิตรไมตรี เป็นเครื่องสร้างมนุษยสัมพันธ์ และเป็นธรรมที่ชนะใจคนซึ่งก็ได้แก่
          ๑. ทาน คือการให้ช่วยเหลือคนยากจน คนที่ด้อยโอกาสในสังคม คนประสบภัย และให้การบริจาคแก่มูลนิธิเพื่อการกุศลต่าง ๆ

          ๒. ปิยวาจา พูดจาอ่อนหวานไพเราะนุ่มนวล ทำให้ผู้ได้ยินแล้วประทับใจอยากสนทนาด้วย

          ๓. อัตถจริยา ประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ทำตนให้เป็นกาฝากทางสังคมหรือขัดขวางความเจริญในสังคม

          ๔. สมานัตตตา วางตนเสมอต้นเสมอปลาย เหมาะสม ไม่ถือตัว ไม่หยิ่งยโส

 

พระพุทธศาสนากับหลักความเชื่อ

          โดยหลักกว้าง ๆ แล้ว พระพุทธเจ้าได้ตรัสหลักของความเชื่อไว้ ๑๐ อย่าง และตัวอย่างที่พระองค์ทรงแสดงแก่ชาวกาลามะในสมัยโน้นยังเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมจนมาถึงปัจจุบัน คือพระองค์ให้ชาวกาลามะพิจารณาให้ดีรอบคอบเสียก่อนจึงค่อยเชื่อ โดยครั้งนั้นชาวกาลามะสับสนไม่รู้ว่าจะเชื่อคำสั่งสอนของสมณพราหมณ์เหล่าใดดี เพราะต่างฝ่ายก็กล่าวว่าหลักธรรมของตนถูกต้อง โจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง

          เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมา พวกชาวกาลามะจึงเข้าไปเฝ้าและทูลถามว่า ควรจะเชื่อหลักธรรมคำสอนของใครดี พระองค์จึงได้วางหลักการจะเชื่อให้แก่ชาวกาลามะ และเป็นแบบอย่างของชาวพุทธมาจนถึงยุคปัจจุบันนี้ หลักของการเชื่อ[1] มีดังนี้
        - อย่ายึดถือ โดยการฟัง (เรียน) ตามกันมา (อนุสสวะ)

          - อย่ายึดถือ โดยการถือสืบ ๆ กันมา (ปรัมปรา)

- อย่ายึดถือ โดยเล่าลือ (อิติกิรา)

          - อย่ายึดถือ โดยการอ้างตำรา (ปิฎกสัมปทาน)

          - อย่ายึดถือ โดยตรรก (ตักกะ)

         - อย่ายึดถือ โดยการอนุมาน (นยะ)

- อย่ายึดถือ โดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล (อาการปริวิตักกะ)

         - อย่ายึดถือ เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน (ทิฏฐินิชฌานักขันติ)

          - อย่ายึดถือ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อ (ภัพพรูปตา)

          - อย่ายึดถือ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา (สมโณ โน ครูติ)

ตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว พระองค์ทรงสอนว่า การจะเชื่ออะไรลงไป ไม่ควรเชื่ออย่างงมงาย ควรเชื่ออย่างมีเหตุผล คือเชื่อด้วยการพิจารณาด้วยปัญญา พระพุทธศาสนาสอนเรื่องศรัทธาไว้ในที่ใด ก็สอนเรื่องปัญญากำกับไว้ในที่นั้นด้วย พระพุทธศาสนาไม่นิยมการล่อลวงให้เชื่อ หรือบีบบังคับให้เชื่อ ให้พิจารณาด้วยปัญญาอันถ่องแท้เสียก่อนแล้วจึงค่อยเชื่อ จะทำให้ไม่ผิดพลาดในภายหลัง

หลักความเชื่อขั้นสูง ๔ อย่างในพระพุทธศาสนา

          ๑. กมฺมสทฺธา เชื่อกรรม คือทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ไม่เชื่อข่าวโคมลอย พวกทำเสน่ห์ยาแฝด พวกเข้าเจ้าเข้าทรง ไม่เชื่อเรื่องหมอดู ลายเส้นบนฝ่ามือหรือดวงดาวบนท้องฟ้า

          ๒. วิปากสทฺธา เชื่อผลของการกระทำทุกอย่างทั้งการทำดีและทำชั่ว บุคคลย่อมจะได้รับอานิสงส์ของการกระทำนั้น ๆ ไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือบ่ายเบี่ยงได้
          ๓. กมฺมสฺสกตาสทฺธา เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตนเอง ไม่มีพระเจ้าหรือใครเป็นผู้บันดาลสร้างให้เป็นไป แต่เป็นไปตามกำลังกรรมที่ตนเองได้กระทำไว้
          ๔. ตถาคตโพธิสทฺธา เชื่อในความตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้าว่า พระองค์ตรัสรู้เองโดยชอบด้วยพระองค์เอง

 

 


                [1] พุทธธรรม, พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต), พ. ศ. ๒๕๓๘ น. ๖๕๑

หมายเลขบันทึก: 413964เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2010 21:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณสำหรับธรรมะดีๆ นะคะ ดิฉันจะพยายามนำไปใช้ในชีวิตให้มากที่สุดค่ะ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท