ภูมิปัญญาในภาษาไทย


 ๓.๒ ภาษิตคำสอน
       ภาษิตเป็นคำกล่าวที่เป็นคติธรรม เป็นคำสอน คำแนะนำแนวทางในการประพฤติปฏิบัติที่มุ่งให้กระทำความดีหรือสอนให้มีคุณธรรม มักเป็นคำสอนที่กล่าวถึงเรื่องหรือเนื้อหาที่ต้องการสอนโดยตรง หรือเป็นคำสอนที่มีลักษณะเป็นสำนวนเปรียบเทียบ ภาษิตคำสอนอาจได้มาจากศาสนาหรือได้มาจากความจริงในความเป็นไปของสรรพสิ่ง ภาษิตคำสอนจึงเป็นของเก่าที่มีมาช้านาน และเป็นสัจธรรมแห่งชีวิตที่ไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าปริบททางธรรมชาติแวดล้อมหรือปริบททางสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม
      ภาษิตคำสอนของไทยเรามีอยู่มากมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เราแลเห็นถึงภูมิปัญญาหรือความรอบรู้เจนจัดในชีวิตและสังคมของบรรพบุรุษ เช่น ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี ตนย่อมเป็นที่พึ่งแห่งตน มารดาเป็นมิตรในเรือนตน น้ำขึ้นให้รีบตัก ไปลามาไหว้ รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น รู้หลบเป็นปีกรู้หลีกเป็นหาง อดเปรี้ยวไว้กินหวาน เข้าตามตรอกออกตามประตู เป็นต้น
      นอกจากนี้ ตามท้องถิ่นต่าง ๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ก็ยังมีภาษิตคำสอนอยู่อีกมาก เช่น

ภาคเหนือ :
- เสียมบ่คม ใส่ด้ามหนัก ๆ คำอู้บ่นัก หื้อหมั่นเรียนหนังสือ
  (จอบเสียมไม่คมให้ใส่ด้ามหนัก ๆ ความรู้ไม่มากให้หมั่นเรียนหนังสือ)
- ไค่หลวก หื้ออยู่ใก้นักปราชญ์
  (อยากมีความรู้ให้อยู่ใกล้คนมีความรู้หรือนักปราชญ์)
- ดำน้ำหื้อถึงทราย นอนหงายหื้อมันเห็นฟ้า
  (ทำอะไรให้ทำจริงจัง ดำน้ำก็ดำให้ถึงทราย นอนหงายก็ให้เห็นฟ้า)
- เป็นคนหื้อมันต๋ากว้าง ผ่อทางไปไก๋”
  (เป็นคนควรมองการณ์ไกล การมองไกลจะรู้ว่ามีอะไรอยู่ข้างหน้า ถ้ามองใกล้ย่อมทำให้    เกิดความผิดพลาดได้มากกว่า)
- บ่มีเลี้ยงคนต่างด้าว บ่มีเลี้ยงท้าวต่างแดน บ่มีดูแคนคนตุ๊ก
  (ไม่ควรไว้ใจคนที่เรายังไม่รู้จัก และไม่ควรดูถูกคนที่ทุกข์ยาก ต่อไปเขาอาจประสบความสำเร็จเป็นใหญ่เป็นโตได้)
- เสียเงิน เสียคำ ยังฮิหาได้ ของอยู่ใต้ยังลุมวิสัย เสียน้ำใจ๋จะหาไหนได้
  (เงินทองเป็นของนอกกาย ถ้าไม่ตายหาเอาเมื่อไรก็ได้ แต่คนที่มีน้ำใจจะหาที่ไหนไม่ได้   ง่าย ๆ ควรรักษาน้ำใจกันไว้ การใดทำไปแล้วถ้าเป็นการเสียน้ำใจกันไม่ควรทำ)

ภาคอีสาน :
- นักปราชญ์ฮ้ายให้หมอบให้คลาน คนพาลดีให้หนีสิบโยชน์
  (ถ้าพบนักปราชญ์ แม้ว่าจะเป็นคนพูดจาท่าทางดุร้ายน่ากลัว ก็ให้หมอบคลานเข้าหา แต่ถ้าพบคนพาล แม้ว่าพูดจาท่าทางดีก็จงหนีให้ไกล)
- อยู่ป่าอย่าท้าเสือ ขี่เฮืออย่าท้าเงือก
  (ไม่ควรประมาท ต้องรู้กาลเทศะ จะได้ไม่มีอันตราย)
- บ่มีความฮู้อย่าเว้าการเมือง บ่นุ่งผ้าเหลืองอย่าเว้าการวัด
  (ไม่สันทัดกิจการบ้านเมือง อย่าออกความเห็นส่งเดช ไม่สันทัดกิจของสงฆ์ ก็อย่าไปออก  ความเห็นเกี่ยวกับวัด)
- เงินเต็มพา บ่เท่าผญาเต็มปูม
  (ปัญญามีค่ายิ่งกว่าเงินทอง)

ภาคใต้ :
- อย่าทำมัดให้เหลือแบก อย่าทำแสกให้เหลือหาบ
  (ทำกิจการใดให้รู้จักประมาณตน อย่าทำให้เกินกำลัง)
- อย่ารำก่อนกลอง
  (อย่าพูดไปก่อนโดยที่ยังไม่ได้เริ่มทำ อย่าพูดไปก่อนที่จะถึงเวลาอันสมควร)
- เห็นช้างขี้อย่าขี้ตามช้าง
  (เห็นคนอื่นเขาทำได้ก็อย่าคิดไปว่าตนจะทำได้อย่างเขา อย่าทำการให้เกินตัว)
- นายรักเหมือนเสือกอด หนีนายรอดเหมือนเสือหา
  (อยู่ใกล้ผู้มีอำนาจให้ระมัดระวัง เกิดพลาดพลั้งทำผิดจะเป็นอันตราย แม้หนีไปได้ก็จะอยู่อย่างไม่มีความสุข)

๓.๓ ปริศนาคำทาย
      ปริศนาคำทายเป็นถ้อยคำถามที่ร้อยเรียงขึ้นอย่างแยบยลเพื่อเล่นถามตอบประลองปัญญากัน โดยจะไม่ทายหรือถามตรง ๆ แต่ใช้วิธีเปรียบเทียบ ซ่อนเงื่อน เพื่อให้ผู้ตอบฉงน ผู้ที่จะตอบได้ต้องเป็นผู้มีความรู้ ช่างสังเกต ปฏิภาณไหวพริบดี และมีความคิดรอบคอบ ปริศนาคำทายจึงมีบทบาทหน้าที่เสมือนแบบทดสอบความรู้และเชาว์ปัญญา ให้ความสนุกสนาน ทั้งยังแสดงให้เห็นสภาพท้องถิ่นและลักษณะนิสัยของผู้เป็นเจ้าของข้อปริศนาด้วย   

       การเล่นปริศนาคำทายเพื่อประลองปัญญากันนี้นิยมเล่นกันในหมู่เด็ก ซึ่งมีข้อปริศนาอยู่มากมาย มีอยู่ทุกภาค และข้อปริศนาเหล่านี้จะสร้างขึ้นจากปริบททางธรรมชาติแวดล้อมและปริบททางสังคม ข้อปริศนาจึงมีทั้งของเก่าและของใหม่ เช่น ปริศนาของเก่าว่า “อะไรเอ่ย ไอ้ใบ้เดินหน้า ไอ้บ้าเดินหลัง จับหางขี้พุ่ง” คำตอบคือ “คนไถนา” ปริศนาของใหม่ว่า “ซุปอะไรเอ่ยมีสารอาหารมากที่สุด” คำตอบคือ “ซุปเปอร์มาร์เก็ต” เป็นต้น ในที่นี้จะคัดเลือกมาเพียงเล็กน้อยพอให้เห็นเป็นตัวอย่าง ดังต่อไปนี้

ปริศนาคำทายของเก่า :

ภาคกลาง :
- อะไรเอ่ย มีปากไม่มีฟัน กินข้าวทุกวันได้มากกว่าคน – หม้อหุงข้าว
- อะไรเอ่ย ไม่มีคอไม่มีหัว มีแต่หน้า ถึงเวลาตีได้ตีเอา – กลอง
- อะไรเอ่ย สองหูสี่ตา เบื่อนักหนาเอาขาไว้ที่หู – แว่นตา
- อะไรเอ่ย สองหน้ามีงาเต็มตัว – ข้าวเกรียบงา
- อะไรเอ่ย เกิดมาน่าเวทนา มีตาทั่วตัว – สับปะรด
- อะไรเอ่ย มีลูกอยู่ที่ตีน มีตารอบตัว มีหูอยู่บนหัว – แห
- อะไรเอ่ย ตัดหัวตัดหาง เหลือกลางวาเดียว – กวาง
- อะไรเอ่ย ชื่ออยู่บนฟ้า กายาอยู่ในน้ำ – ปลาดาว
ภาคเหนือ :
- อะหญังเอ๊าะ หัวสองหัว ตั๋วมีตั๋วเดียว – ไม้คาน
  (อะไรเอ่ย หัวสองหัว ตัวมีตัวเดียว)
- อะหญังเอ๊าะ เมื่อคืนมาน เมื่อวันเกิด – มุ้ง
  (อะไรเอ่ย กลางคืนท้อง กลางวันเกิด)
- อะหญังเอ๊าะ เมื่อคืนกวาดเข้า เมื่อเจ๊ากวาดออก – กวาดบ้าน
  (อะไรเอ่ย กลางคืนกวาดเข้า ตอนเช้ากวาดออก)
- อะหญังเอ๊าะ ปากมีลุ่มขา – ย่าม
  (อะไรเอ่ย ปากอยู่ใต้ขา)

ภาคอีสาน :
- อีหญัง มีต๋าอยู่เต๋มโต๋ แตว่าย่านกะแต๋ – สับปะรด
  (อะไรเอ่ย มีตาอยู่เต็มตัว แต่ว่ากลัวกระแต)
- อีหญัง สิ๋บตี๋นหยางม่า หลังคามุงกะเบี้ยง – ปู
  (อะไรเอ่ย สิบตีนเดินมา หลังคามุงกระเบื้อง)
- อีหญัง มีแตหู มีแตก้น เฝ่าคนยูหลังบ้าน – กระทะ
  (อะไรเอ่ย มีแต่หู มีแต่ก้น เฝ้าคนอยู่หลังบ้าน)
- อีหญัง มีฟันยูรอบหัว มีโต๋ยูในปา หากิ๋นยูบนญอดไม่ – กระต่ายขูดมะพร้าว
  (อะไรเอ่ย มีฟันอยู่รอบหัว มีตัวอยู่ในป่า หากินอยู่บนยอดไม้)
ภาคใต้ :
- ไอ้ไหรหา อยูในหนาม ไม่ฮามกะหอม – ทุเรียน
  (อะไรเอ่ย อยู่ในหนาม ไม่งามก็หอม)
- ไอ้ไหรหา อีลุ้มอีล้ำ เดินวันยังค่ำไม่เห็นรอย – นาฬิกา
  (อะไรเอ่ย เดินวันยังค่ำไม่เห็นรอย)
- ไอ้ไหรหา สามขาเดินมา หลังคามุงหมลี – คนชราผมหงอกเดินถือไม้เท้า
  (อะไรเอ่ย สามขาเดินมา หลังคามุงสำลี)
- ไอ้ไหรหา สิบหูสองขา ทำฤทธา เอาขาแยงหู – ปิ่นโต
  (อะไรเอ่ย สิบหูสองขา ทำฤทธา เอาขาแยงหู)
- ไอ้ไหรหา จะว่ามีมนต์ก้าไม่ใช่ เหาะเหินเดินได้ หัวมากหวาแสน – นกอีลุ้ม นกตะกรุม
  (อะไรเอ่ย จะว่ามีมนต์ก็ไม่ใช่ เหาะเหินเดินได้ หัวมากกว่าแสน)

ปริศนาคำทายของใหม่ :
- คนนามสกุลอะไรเอ่ยที่ถูกข่มขืนมากที่สุด – นามสมมติ
- ผลไม้อะไรเอ่ยแข็งที่สุด – ผลไม้กระป๋อง- มดอะไรเอ่ยใหญ่กว่ามด X – มด XL
- ตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวไหนเป็นญาติกัน – Q กับ S (Q R S)

      จากที่กล่าวมาทั้งในเรื่องสำนวนคำคม ภาษิตคำสอน และปริศนาคำทาย เราจะเห็นได้ว่า คนไทยเรามีความเฉียบแหลมในการมองธรรมชาติ ชีวิต และความเป็นไปของสรรพสิ่ง จึงได้สร้างสรรค์สะสมสำนวน ภาษิต ปริศนาคำทายไว้มากมาย และสืบสายต่อเนื่องมาหลายชั่วอายุคน ปัจจุบัน แม้ว่าปริบททางธรรมชาติแวดล้อมและปริบททางสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป แต่สำนวนคำคม ภาษิตคำสอน และปริศนาคำทายก็ยังมีความสำคัญ ยังมีความหมายในการศึกษาอบรมและในกระบวนการขัดเกลาทางสังคม (socialization) ทั้งนี้ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ต่างก็เป็นกรอบเป็นแนวทางของการประพฤติปฏิบัติ เป็นบรรทัดฐานทางคุณธรรมจรรยา และเป็นพลังแฝงเร้นที่มีอิทธิพลต่อการหล่อหลอมพฤติกรรมของคนไทยเราในปัจจุบัน

๔. ภูมิปัญญาไทยในเพลงพื้นบ้าน
       กลุ่มคนทุกชาติทุกภาษาไม่ว่าจะเจริญก้าวหน้าหรือยังเป็นคนป่าล้าหลังสักเพียงใด     ต่างก็รู้จักผูกแต่งเพลงขึ้นมาใช้ขับร้องกันทั้งสิ้น โดยใช้เรื่องราวรอบตัวที่ได้จากการสังเกตธรรมชาติ สังคม วัฒนธรรม วิถีการทำมาหากิน รวมถึงความเป็นไปของสรรพสิ่งมาเป็นเนื้อหา แล้วนำถ้อยคำมาจัดวางตามท่วงทำนองใช้ขับร้องเพื่อสื่ออารมณ์  อาจจะเพื่อความเพลิดเพลิน  สนุกสนาน         เกี้ยวพาราสี สดุดี ปลุกใจ ประกอบการละเล่น หรือเพื่อจุดประสงค์อื่นคนไทยก็เป็นเช่นเดียวกันกับที่กล่าวมา ยิ่งคนไทยเราซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน ด้วยแล้ว ก็ยิ่งมีปัญญาในการสร้างสรรค์เพลง และคงมีมาตั้งแต่ครั้งโบราณ เพลงของไทยที่มีมา แต่ดั้งเดิมนี้เป็นเพลงที่สืบทอดกันมาด้วยปากต่อปาก (oral tradition) นับเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน เป็นเพลงที่ไม่มีกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดตายตัว ใช้ถ้อยคำ ทำนอง และการแสดงออกที่เรียบง่าย      แต่เนื้อหาคมคาย ลึกซึ้ง เพลงลักษณะเช่นนี้เราเรียกกันว่า “เพลงพื้นบ้าน”
      จุดประสงค์หลักของการขับร้องเพลงพื้นบ้านก็เพื่อสื่ออารมณ์สนุกสนานเพลิดเพลิน หรือเพื่อระบายความรู้สึกในใจ เช่น ความทุกข์ ความเศร้าโศก ความสุข ความประทับใจ  นอกจากนี้ยังใช้เพลงบางเพลงร้องกล่อมเด็ก ให้เด็กนอนด้วยความเพลิดเพลินและหลับได้ไว บางเพลงใช้ร้องปลอบเด็กให้หยุดร้องไห้งอแง บางเพลงใช้ร้องประกอบการละเล่น เช่น เพลงจ้ำจี้ เพลงรีรีข้าวสาร ของเด็ก ๆ หรือเพลงพวงมาลัย เพลงอีแซว ลำตัด  ในเชิงเกี้ยวพาราสีของพวกผู้ใหญ่  หรือบางเพลงใช้ร้องประกอบพิธีกรรมเพื่อให้พิธีกรรมมีความขรึมขลังยิ่งขึ้น เช่น บทแหล่ทำขวัญนาค บทสู่ขวัญต่าง ๆ เป็นต้น       โดยเหตุที่คนไทยเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน เราจึงมีเพลงพื้นบ้านอยู่มากมาย มีอยู่ทุกหน  ทุกแห่งทั้งในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ซึ่งนอกจากเพลงกล่อมเด็ก เพลงประกอบการละเล่นของเด็ก และเพลงประกอบพิธีกรรมที่มีคล้าย ๆ กันในทุกภาคแล้ว ในแต่ละภาคยังมีเพลงพื้นบ้านที่เป็นลักษณะเฉพาะของตนเองอีก กล่าวคือ ภาคกลางมีเพลงเกี่ยวข้าว เพลงสงฟาง เพลงชักกระดาน เพลงเรือ เพลงพวงมาลัย เพลงพิษฐาน เพลงปรบไก่ เพลงฉ่อย เพลงอีแซว ลำตัด ภาคเหนือมีเพลงจ๊อย ซอ ภาคอีสานมีเพลงโคราช เพลงเซิ้ง กลอนลำ ภาคใต้มีเพลงนา เพลงเรือ เพลงบอก เพลงประกอบการแสดงโนราและหนังตะลุง เป็นต้น
       เพลงพื้นบ้านเหล่านี้บางคนอาจไม่ได้เห็นว่าเป็นอะไรที่ยิ่งไปกว่าการเล่นสนุก ๆ เท่านั้น แท้จริงแล้วเพลงพื้นบ้านนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาทางภาษาในลักษณะการเรียงร้อยถ้อยคำให้เป็นจังหวะ สัมผัสคล้องจอง และฉันทลักษณ์ของเพลงชนิดต่าง ๆ แล้ว  ยังเป็นเพลงที่แสดงให้เห็นถึงธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี วิถีชีวิต ความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อ ค่านิยม ประเพณี การทำมาหากิน นิสัยใจคอของชาวบ้านแต่ละถิ่น รวมทั้งแฝงคติธรรมคำสอนเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตไว้มากมาย ซึ่งบางครั้งก็ไม่อาจศึกษาจากตำราประวัติศาสตร์ หรือจากตำราอื่นใดได้ เพลงพื้นบ้านจึงเป็นแหล่งสะสมภูมิปัญญาด้านต่าง ๆ ไว้เป็นอันมาก ดังจะเห็นได้จากเพลงต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
      เพลงกล่อมเด็กซึ่งมีอยู่ทุกภาคของประเทศ แต่ละภาคก็เรียกต่าง ๆ กันออกไป เช่น ภาคใต้เรียกว่าเพลงร้องเรือ หรือเพลงชาน้อง หรือเพลงน้องนอน ภาคเหนือเรียกว่าเพลงอื่อ หรือเพลงอื่อลูก ภาคอีสานเรียกว่าเพลงก่อม หรือเพลงนอนสาหล่า หรือนอนสาเยอ หรือนอนสาเดอ เพลงกล่อมเด็ก เหล่านี้มีลักษณะคล้ายกัน คือสั้น ๆ ง่าย ๆ อาจเป็นการชมบ้าง ขู่บ้าง ปลอบบ้าง เนื้อหาก็เป็นไปตามภูมิประเทศ สังคม และวัฒนธรรม แล้วจดจำใช้ร้องกล่อมต่อ ๆ กันมา ในทำนองยายกล่อมแม่ แม่กล่อมลูก หรือพี่กล่อมน้องถัด ๆ กันไป เป็นต้น เพลงกล่อมเด็กหาใช่เป็นแค่เพลงที่ร้องเพื่อให้เด็กได้รับความเพลิดเพลินเวลานอนและนอนหลับไวเท่านั้น แต่ยังได้แสดงถึงความรัก ความเอื้ออาทรที่ยิ่งใหญ่ของแม่หรือวงศาคณาญาติที่มีต่อเด็ก แสดงความรักความผูกพันอย่างแน่นแฟ้นในครอบครัวแบบไทย  น้ำเสียงที่เห่กล่อมก็ทำให้เด็กอบอุ่นสบายใจ ทั้งยังเป็นการปลูกฝังอบรมศีลธรรมจรรยาและปทัสฐานของสังคมให้แก่เด็กมาแต่เล็กแต่น้อย เพราะเนื้อหาสาระที่เป็นเรื่องเล่า หรือเป็นความนัย ความเปรียบ อารมณ์ขัน คำตัดพ้อต่อว่า หรือกระทบกระเทียบเปรียบเปรยเย้ยหยัน ล้วนแต่เป็นความรู้ความคิดที่ต้องการจะสื่อกับเด็กทั้งสิ้น นอกจากนั้นยังเป็นการระบายความรู้สึก ความคับข้องใจ ตลอดจนเป็นเครื่องบันเทิงใจของผู้ขับกล่อมอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากเพลงกล่อมเด็กของภาคใต้บทหนึ่งว่า

ฮา … เอ้อ … นางแม่เหอ  เท่เลี้ยงโลกมารักษายาก
 พอโลกตกฟาก   บนวัวควายเขาทอง
 เดือนเสเดือนห้า   โนรามาแก้เหมลยน้อง
 บนควายเขาทอง   ให้ช่วยชีวิต … เอ้อ … เหอ … โลก
(เท่ = ที่  โลก = ลูก  บน = บนบานศาลกล่าว  เดือนเส = เดือนสี่ (มีนาคม)  แก้เหมลย = แก้บน)

      เพลงกล่อมเด็กบทนี้มีคุณค่าและชี้ให้เห็นถึงภูมิปัญญาหลายด้าน เช่น ชี้ให้เห็นถึงความยากลำบากของแม่ที่เลี้ยงลูก มีความรักและหวงในตัวลูกจนถึงกับต้องบนบานศาลกล่าว ชี้ให้เห็นถึงระบบความเชื่อต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ คือการนับถือเทพเจ้าจนถึงกับต้องมีการบวงสรวงด้วยของมีค่า เช่น วัว ควาย ที่มีเขาเป็นทอง ชี้ให้เห็นถึงความนิยมอย่างหนึ่งของชาวภาคใต้ คือนิยมใช้โนรา มาเล่นแก้บน รวมทั้งยังชี้ให้เห็นช่วงเวลาการทำมาหากินว่า ชาวบ้านจะว่างจากการงานในช่วงเดือนสี่เดือนห้า ซึ่งเป็นระยะที่ปลอดฝน จึงมักจัดงานรื่นเริงกันในระยะนี้
      เพลงกล่อมเด็กของแต่ละภาคก็มีเนื้อหาทำนองเดียวกันนี้ คือเพลงเดียวแสดงให้เห็นถึง ภูมิปัญญาที่แฝงอยู่ได้หลายอย่าง ซึ่งสมาชิกอาจวิเคราะห์ด้วยตนเองได้ เช่น

ภาคกลาง :
วัดเอยวัดโบสถ์  ปลูกข้าวโพดสาลี
ลูกเขยตกยาก  แม่ยายก็พรากลูกสาวหนี
ต้นข้าวโพดสาลี  ป่านฉะนี้จะโรยรา
(คำว่า “สาลี” ในเพลงกล่อมเด็กบทนี้อาจไม่ได้หมายถึงข้าวสาลีตามที่รู้จักเข้าใจกัน แต่ “ข้าวโพดสาลี” คงเป็นคำซ้อนที่หมายถึง ข้าวโพด เพราะคำว่า สาลี ในภาษาเหนือหมายถึง ข้าวโพด)

ภาคเหนือ :
อืออื่ออือจา  หลับเสียเต๊อะนา
หลับสองต๋าอย่าไห้ ป้อแม่เลี้ยงลูกไว้ก็นับว่ามีบุญ
หื้อหมั่นไหว้หาคุณ ป้อแม่มาปานน้อง
กับบุญญาติปี้น้อง เปิ้นได้อุ้มจูบเจยจม
ซ้ำปั๋นกิ๋นน้ำนม  หมั่นเกี๋ยป้อนข้าว
กันว่าเฮาไห้ฮ่ำฮ้อง เปิ้นอือ อือ อือจา
(เต๊อะนา = เถอะนะ     ต๋า = ตา     ไห้ = ร้องไห้     ป้อ= พ่อ     หื้อ = ให้     ปาน = พบ             หา = ระลึกถึง     คุณ = บุญคุณ     ปี้ = พี่     เปิ้น = เขา     เจยจม = เชยชม     ซ้ำ = อีกทั้ง        ปั๋น = ให้ ปัน     กิ๋น = กิน     เกี๋ย = เลี้ยง ป้อน     กันว่า = ครั้นว่า  เฮา = เรา  ไห้ฮ่ำฮ้อง = ร้องไห้สะอึกสะอื้น)

ภาคอีสาน :
นอนสาเดอ  หลับตาสาเดอ
นอนสาเดอ  หลับตาส่วย ๆ
เห็นไผมาขายก้วย พ่อสิซื้อให้กิน
แม่เจ้าไปไฮ่  เพิ่นสิหมกไข่มาหา
แม่เจ้าไปนา  เพิ่นสิหมกปามาต้อน
แม่เจ้ามาฮอด  เจ้าจั่งค่อยกินนม
(นอนสาเดอ = หลับเสียนะ  ส่วย ๆ = พริ้ม ๆ  ไฮ่ = ไร่  หมกไข่ = ห่อหมกไข่  หมกปา = ห่อหมกปลา  ต้อน = ให้  มาฮอด = มาถึง)

      เพลงประกอบการละเล่นของเด็กที่มีมาช้านานและมีอยู่ในทุกภาค ก็ไม่ใช่เป็นแค่เพลงที่เด็กร้องเล่น ไม่มีความหมายอะไร แต่คนโบราณได้ใช้เพลงเหล่านี้เป็นสื่อในการสั่งสอนอบรมอย่างแยบยลในขณะที่เด็กเล่น ซึ่งคำสั่งสอนต่าง ๆ จะค่อย ๆ ซึมซาบเข้าไปโดยที่เด็กไม่รู้สึกตัว  และจะปฏิบัติตามที่เคยได้ฟังมา เช่น เพลงรีรีข้าวสารที่มีเนื้อเพลงว่า

      รีรีข้าวสาร   สองทะนานข้าวเปลือก
      เลือกท้องใบลาน  คดข้าวใส่จาน
      เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน คอยระวังคนข้างหลังไว้
      เพลงประกอบการละเล่นของเด็กบทนี้แสดงให้เห็นภูมิปัญญาในการอบรมสั่งสอนหลายด้าน เช่น
      รีรีข้าวสาร เป็นการสอนให้รู้จักแยกแยะความแตกต่างระหว่างข้าวสารกับสิ่งอื่น ๆ ที่ปะปนมา เช่น กรวด ทราย
      สองทะนานข้าวเปลือก เป็นการบอกให้รู้ว่าข้าวเปลือก ๒ ทะนานจะได้ข้าวสาร ๑ ทะนานนอกจากนั้นเป็นรำ เป็นแกลบ
เลือกท้องใบลาน  เป็นการบันทึกถึงสภาพสังคมและวัฒนธรรมว่า แต่ก่อนเราไม่มีกระดาษอย่างปัจจุบัน เราได้ใช้ใบลานเป็นวัสดุในการเขียนหนังสือ  จึงต้องรู้จักเลือกใบลานที่ได้ขนาดพอดี แก่ไปเขียนแล้วจะแตก อ่อนไปก็เขียนไม่ได้      คดข้าวใส่จาน เป็นการสอนให้มีกิริยามารยาท ไม่คดข้าวให้หกเลอะเทอะ
เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน ร้านในที่นี้หมายถึงร้านที่ทำไว้ให้พืชประเภทเถา เช่น แตงร้าน ถั่วฝักยาว เลื้อยขึ้นไป ถ้ารู้จักเก็บเบี้ยใต้ถุนร้านนี้ คือรู้จักเก็บเล็กผสมน้อย ขยันหมั่นเพียร ก็จะร่ำรวยได้

      สมาชิกคงเคยได้ยินได้ฟังถึงเรื่องเพลงเรือ เพลงอีแซว หรือลำตัดกันมาบ้าง เพลงประเภทนี้เรียกกันว่าเพลงปฏิพากย์ เป็นเพลงที่ใช้ร้องเล่นโต้คารมกันระหว่างชายหญิงในเชิงเกี้ยวพาราสี ร้องเล่นกันเป็นกลุ่มหรือเป็นวง อาจมีฝ่ายละ ๓-๔ คน แต่ละฝ่ายมีคนนำเพลงที่มีโวหารดีและเป็นตัวยืนในการร้อง ฝ่ายชายเรียกว่าพ่อเพลง ฝ่ายหญิงเรียกว่าแม่เพลง และมีลูกคู่คอยรับให้จังหวะ เพลงประเภทนี้นิยมเล่นกันในเทศกาลที่หนุ่มสาวมีโอกาสพบปะกัน เช่น เทศกาลตรุษสงกรานต์ งานบุญต่าง ๆ ที่จัดขึ้นตามวัด หรือเมื่อชาวบ้านมีการลงแขกเอาแรงช่วยกันเพาะปลูก เก็บเกี่ยวพืชผล ซึ่งมีอยู่ทุกภาคของประเทศ เช่น ภาคกลางมีลำตัด เพลงเรือ เพลงฉ่อย เพลงปรบไก่ เพลง  อีแซว ภาคเหนือมีเพลงซอ ภาคอีสานมีลำคู่ ลำชิงชู้ และลำผญาย่อย ภาคใต้มีเพลงเรือ เพลงนา เป็นต้น การเล่นเพลงประเภทนี้จะมีการเล่นในทำนองว่า เมื่อชายหญิงรวมกลุ่มกันได้ก็จะมีการพูดจาหยอกเอินกันเพื่อความสนุกสนาน ฝ่ายชายจะกล่าวเย้าหยอก เกี้ยวพาราสี ฝ่ายหญิงก็จะโต้ตอบ  ทั้งสองฝ่ายก็ใช้ถ้อยคำสำนวนที่คมคายไพเราะขับร้องแก้กัน
      เพลงปฏิพากย์หรือเพลงร้องเล่นโต้ตอบกันระหว่างชายหญิงนี้ ก็ไม่ใช่เป็นแค่เพลงที่ร้องเล่นเชิงเกี้ยวพาราสีที่สนุกสนาน หรือแสดงปฏิภาณโต้ตอบกันเท่านั้น แต่เป็นเพลงที่แสดงให้เห็นถึง ภูมิปัญญาในด้านสังคม วัฒนธรรม คติธรรมคำสอน ค่านิยม ความเชื่อ วิถีการทำมาหากิน      และอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ดังตัวอย่างเพลงเรือของภาคกลางซึ่งมี      นายไสว วงษ์งาม เป็นพ่อเพลง และนางบุญมา (ไม่ทราบนามสกุล) เป็นแม่เพลง  ต่อไปนี้

      ไสว : บอกว่าอยากจะได้ แม่มาเอ๊ยชายดี มาซิมารักกับพี่ (ฮาไฮ้) ไม่เป็นไร ฉันลักก็ไม่เก่ง อีกทั้งนักเลงก็ไม่ฝัน การเล่นแล้วพนัน ไม่เข้าใจ ฉันทำกินหมกมุ่น ลงทุนน้ำแรง ฤดูร้อนหน้าแล้ง หยุดกะเขาเมื่อไร ฉันออกกำลังไม่ใช่เล่น  หวังจะเป็นเงินทอง เอามาเป็นก่ายเป็นกอง ทำกินเลี้ยงกาย ถ้าแม้นได้เสีย มาเป็นเมียพี่ ก็มิให้มารศรี อายใคร
      บุญมา : แหมพี่ชาย มันไม่จริงหรอกแก มันไม่แน่หรอกแก ฉันไม่เห็นมันแน่ ตรงไหน กลัวจะโลเล เที่ยวได้แต่กินเหล้า ทั้งเมาเย็นเมาเช้า มองไม่ใช่ ศีลห้าไม่ถือ    ไม่หารือผู้รู้ ฉันกลัวแต่ความลบหลู่ วินัย แต่พ่อไสวฉันคนทำกิน อยู่ในศีล   ในธรรม แม้ไม่มาขอฉัน จะตามไป พ่อก้านพิกุลของน้องมุ่นกิ่ง ถามว่ารัก  ฉันจริง หรือยังไง จะรับรักก็หน่าย แต่จิตใจไม่เด็ด ยอมเป็นเมียเลี้ยงเม็ด กลัวเป็นม่าย
      ไสว: บอกว่าขัดข้องอย่างไร ก็ให้แม่ไขบอกข้า ร้องถามบุญมา เป็นยังไง บอกว่าคนอย่างพี่นี้ดีไม่หยอก ไอ้ที่ชั่วเลยฉันบอก ไปเมื่อไร ฉันกลับตัวได้ ตั้งแต่เป็นม่ายทิ้งเมีย เมื่อแต่ก่อนฉันเหี้ย เดี๋ยวนี้ก็หาย ว่าต้นคดปลายตรง สลักกันได้เกลี้ยงเกลา มาซิมารักกะเรา ร่ำไร …

      เพลงเรือสำนวนพ่อเพลงไสวและแม่เพลงบุญมาที่ยกมาเป็นตัวอย่าง นอกจากจะเห็นถึงปฏิภาณไหวพริบในการโต้ตอบแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงค่านิยมของสังคมได้หลายประการ เช่น      ผู้ชายที่ถือกันว่าดี ที่ผู้หญิงควรเลือกเป็นสามี ต้องเป็นคนขยันขันแข็งในการทำมาหากิน ไม่ติดในอบายมุข เป็นต้น
      จากที่กล่าวมาสมาชิกพอจะเห็นได้ว่า เพลงพื้นบ้านมีอยู่หลากหลายในทุกภาคของประเทศ เป็นบทเพลงที่มีเนื้อหากว้างขวาง กล่าวคือ เพลงเดียวอาจแฝงภูมิปัญญาด้านต่าง ๆ ไว้มากมาย เพื่อให้เข้าใจและแลเห็นภูมิปัญญาไทยในเพลงพื้นบ้านชัดเจนขึ้น จึงจะกล่าวเพิ่มเติมให้เห็นภูมิปัญญาด้านสังคมและวัฒนธรรม และด้านการใช้ภาษา ดังต่อไปนี้

๔.๑ ภูมิปัญญาด้านสังคมและวัฒนธรรม
เราได้กล่าวมาบ้างแล้วว่า เพลงพื้นบ้านได้แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อ ค่านิยม ประเพณี การทำมาหากิน นิสัยใจคอของชาวบ้านแต่ละถิ่น ซึ่งเป็นการกล่าวอย่างรวม ๆ ในที่นี้เราจะแยกให้เห็นชัดเจนขึ้นในบางประเด็น เช่น
      ๔.๑.๑ ความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ
      คนไทยทั่วไปนับถือพุทธศาสนา แต่ก็ถือในเรื่องเทพเจ้าของพราหมณ์ ในขณะเดียวกันก็มีความเชื่อเรื่องผีอยู่ด้วย สังคมไทย “จึงถือพุทธแบบพราหมณ์ตามด้วยผี” (คำของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์) ซึ่งในบทไหว้ครูของเพลงพื้นบ้านได้แสดงให้เห็นสิ่งเหล่านี้ชัดเจน เช่น
      เพลงปรบไก่ :
      ลูกจะยกมือขึ้นนมัสการ   พระผู้ผ่านโมลีโลก
      ขอให้ระงับดับโศก   เอยศัลย์ (ลูกคู่รับ ชะ ฉ่า ฉ่า ไฮ้)
      จะไหว้คุณพระพุทธพระสงฆ์พระธรรม  ที่เลิศล้ำทั่วหมด
      เชิญช่วยตัวข้าให้มาเป็นกลด  เอยกั้น (ลูกคู่รับ ชะ ฉ่า ฉ่า ไฮ้)
      อีกทั้งพระเพลิง พระพาย   ทั้งชลสายพระคงคามาเป็นลมปาก
      เมื่อจะว่าขออย่าให้กระดาก  เอยกัน (ลูกคู่รับ ชะ ฉ่า ฉ่า ไฮ้)
      ๔.๑.๒ การเกี้ยวพาราสี 
      ในสังคมไทยมีสำนวนกล่าวว่า “ผัวเป็นช้างเท้าหน้าเมียเป็นช้างเท้าหลัง” สำนวนนี้บ่งชี้ระบบความสัมพันธ์ของชายหญิงว่า ชายเป็นผู้นำ หญิงเป็นผู้ตาม หรือ ชายเป็นผู้เสนอ หญิงเป็นผู้สนอง และความสัมพันธ์ของชายหญิงในเชิงเกี้ยวพาราสี ฝ่ายชายก็จะเป็นฝ่ายเสนอก่อน   ซึ่งขนบนิยมในการเล่นเพลงพื้นบ้านก็เป็นไปตามนัยนี้ คือฝ่ายชายจะเป็นฝ่ายชักชวน ฝ่ายหญิงจึงออกมาเล่นด้วย ดังตัวอย่างในเพลงปรบไก่ 
      ชาย : ขอเชิญเถิดนะมาเถิดจ๊ะแม่หนู
                ทั้งนายเพลงลูกคู่ นี่แน่ผู้ชายมาชวน
                อย่ามัวนั่งเล่นตาผัดหน้าเป็นนวล เอยใย (ลูกคู่รับ)
                มาเถิดหนาแม่มาอย่ามัวเฉยช้าอยู่ทำไม
                เล่นกันให้สนุกอย่าทุกข์หัวใจ เอยเถิด (ลูกคู่รับ)
      หญิง : ครั้นได้ยินเสียงชายกรายเกริ่น
                น้องก็ไม่นิ่งเนิ่นช้าอยู่
                ดูตะวันก็ควรเห็นจวนเวลา เอยไว (ลูกคู่รับ)
      เมื่อฝ่ายชายฝ่ายหญิงมาพบกันแล้ว ฝ่ายชายจะแสดงลีลาการเกี้ยวพาราสี เสนอความรักต่อหญิงก่อน ฝ่ายหญิงก็จะสงวนท่าที บ่ายเบี่ยง เป็นทำนองไม่แน่ใจ หรือต่อว่าต่อขาน ซึ่งมักเป็นท่าทีในเรื่องการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาวในสังคมไทยทั่วไป ดังตัวอย่างในเพลงอีแซวสำนวนโชติ สุวรรณประทีป กับ ขวัญใจ ศรีประจันต์
      (ชาย) :  พอเหลือบเนตรพบหน้าสายตามันต้อง
                พอเหลือบเนตรพบน้องพี่นี้ต้องหนาวใน
                พี่ไม่นึกไม่ฝันว่าจะพบนางฟ้า 
                น้องหลบตาเทวดามาได้อย่างใด
      (หญิง) : แต่พอสนธยาเข้ามาเจอพ่อหนุ่ม                

                โอ้โฮช่างภาคภูมิแลดูหล่อฉิบหาย
                สวัสดีเจ้าคะพอเจอหน้าแล้วเขิน 
                พี่ช่างหล่อเหลือเกินยังกับลิงแปลงกาย …
      หลังจากนั้นฝ่ายชายก็มักจะโอ้อวดถึงความดีงาม ความร่ำรวยของตัวเอง และให้คำมั่นสัญญาต่าง ๆ นานา ดังตัวอย่างในเพลงฉ่อยและเพลงอีแซวต่อไปนี้

เพลงฉ่อย :
พี่เป็นลูกเจ้าสัวน้องเอยจริงหนอ แม่เอี่ยมละอองามชื่น
แม่ผ้าพับยืนพื้นแม่จะติดอะไร
พี่เป็นลูกตาปานหลานตาแปะ
เงินทองเยอะแยะอยู่ถมไป

เพลงอีแซว :
ถ้าพี่รักน้องไม่แน่วแน่   ยอมให้น้องด่าแม่ วัวควาย
พี่รักน้องแน่วแน่เหมือนยังแม่น้ำ  ไม่เอียงไม่คว่ำไปทางไหน
ถึงจะเป็นไม่หน่าย ถึงจะตายไม่หนี ถึงว่าใครจะตี ไม่ไป
ถ้าน้องไปไหนพี่จะไปด้วย  ขึ้นเขาลงห้วยพี่จะตามไป …
ในการเสนอความรักนี้ ถ้าฝ่ายหญิงไม่มีท่าทีสงบเสงี่ยม เป็นผู้เสนอความรักก่อน จะถูกประณามค่อนแคะ ดังที่พบในสำนวนเพลงกล่อมเด็กภาคใต้ว่า
ฮา… เอ้อ… บ้านนี้เหอ  มีพร้าวทางลาย
อีหญิงขอชาย   ธรรมเนียมมันได้มาแต่ไหน
หญิงอีเอาให้ได้   อ้ายชายมันไม่ปลงใจ
ธรรมเนียมมันได้มาแต่ไหน  กลิ้งครกขึ้นภู … เหอ … เขา
(พร้าว = มะพร้าว  อีเอา = จะเอา)

      ๔.๑.๓ ค่านิยมในการเลือกคู่ครอง      
      เพลงกล่อมเด็กหรือเพลงประกอบการละเล่นของเด็กโดยทั่วไป จะมีเนื้อหาเชิง  อบรมสั่งสอนให้เป็นคนดีตามที่สังคมปรารถนา ซึ่งเป็นการปลูกฝังค่านิยมที่ดีงามมาตั้งแต่เป็นเด็ก ครั้นโตขึ้นเป็นหนุ่มเป็นสาว เมื่อจะเลือกคู่ครองเป็นฝั่งเป็นฝา ก็ใช้ค่านิยมเหล่านั้นเป็นบรรทัดฐานในการเลือก ดังที่เพลงปฏิพากย์ของพวกผู้ใหญ่สะท้อนให้เห็นไว้ดังนี้
ชายที่หญิงจะเลือกเป็นคู่ครอง ต้องมีคุณลักษณะหลายประการ เช่น

      ๑) เป็นคนมีความรู้ มีศีลธรรม ขยันทำมาหากิน ไม่ลุ่มหลงในอบายมุข ดังตัวอย่าง
เพลงอีแซว :
อยากจะได้ลูกเขยที่ยังดี ที่เขารู้บาลีเชียวนะวินัย
เพลงเรือ :
บอกว่าอยากจะได้ แม่มาเอ๊ยชายดี มาซิมารักกับพี่ (ฮาไฮ้) ไม่เป็นไร ฉันลักก็ไม่เก่ง อีกทั้งนักเลงก็ไม่ฝัน การเล่นแล้วพนัน ไม่เข้าใจ ฉันทำกินหมกมุ่น ลงทุนน้ำแรง ฤดูร้อนหน้าแล้ง หยุดกะเขาเมื่อไร ฉันออกกำลังไม่ใช่เล่น หวังจะเป็นเงินทอง      เอามาเป็นก่ายเป็นกอง ทำกินเลี้ยงกาย ถ้าแม้นได้เสีย มาเป็นเมียพี่ ก็มิให้มารศรี อายใคร

      ๒) เป็นคนเทือกเถาเหล่าดี หญิงรู้จักเทือกเถาเหล่ากอ ดังตัวอย่าง
เพลงอีแซว :
เจ้าจะมีลูกผัวครอบครัวปกครอง ควรจะต้องตรองให้มันสมหมาย
ว่าต้องเลือกเทือกเถาเหล่ากอ บริวารร่วมหน่อพ่อแม่เขาเป็นคนชนิดไหน
เพลงฉ่อย :
แม่เอ๊ยจะมีผัวกับเขาสักคน น้องจะต้องสืบดูต้นก็สาวปลาย
มึงต้องพลิกหารันฟันหาหน่อ ถามแนวถามหน่อให้ได้

      ส่วนหญิงที่ชายจะเลือกเป็นภรรยา ต้องเป็นคนเรียบร้อย มีคุณสมบัติเป็นแม่เหย้าแม่เรือน ดังตัวอย่าง
      เพลงฉ่อย :

      ถ้าหากว่าเป็นหญิงดี มันต้องถี่ต้องถ้วน ต้องหมั่นทบหมั่นทวน หมั่นเทหมั่นถ่าย ไม่ว่าข้าวหรือน้ำ ต้องรู้ตักรู้ตำ เช่นไม้ขีดกับไต้ ทั้งในครัวต้องเช็ดถู ต้องหมั่นดูหมั่นแล เที่ยวไม่เที่ยวตอแต ไปบ้านเหนือบ้านใต้ ทั้งในครัวคอยดู ต้องเช็ดถูคอยทำ มันทิ้งดองไว้ให้ดำ ดูกันไม่ได้ เมื่อจะไปทางไหน มีผู้ใหญ่ไปด้วย จะเข้าไร่ตัดกล้วย ไม่ว่าใกล้หรือไกล สำรวมกายให้เป็นหญิง จริงจริงจังจัง ถึงรูปชั่วก็ไม่ชัง ตาชาย

      ถ้าหญิงที่ขาดคุณสมบัติความเป็นแม่เหย้าแม่เรือนจะถูกค่อนแคะ กระทบกระเทียบ เช่น ที่พบในเพลงกล่อมเด็กภาคใต้ และในลำยาว-เกี้ยวสาวของภาคอีสาน
     

รองศาสตราจารย์ไพบูลย์ ดวงจันทร์

หมายเลขบันทึก: 413963เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2010 21:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท