ข้อมูลของงานวิจัย


ข้อมูล ตัวแปร และ สมมติฐาน

ข้อมูล    (Data)

                ข้อมูล หมายถึงข้อเท็จจริง (Fact) หรือข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ที่ผู้วิจัยสนใจศึกษา ซึ่งอาจจะเป็นตัวเลขหรือข้อความก็ได้  ข้อมูลประกอบด้วย

                                ๑.ข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitative Data) เป็นข้อมูลที่ไม่เป็นตัวเลข หรือเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถวัดออกมาเป็นตัวเลขได้โดยตรง เช่น เพศชาย เพศหญิง ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ สถานภาพสมรส  สถานภาพโสด  ความเห็นที่เห็นด้วย ความเห็นที่ไม่เห็นด้วย เป็นต้น

                                ๒.ข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative Data) เป็นข้อมูลมี่เป็นตัวเลข ใช้แทนขนาดหรือปริมาณ ซึ่งวัดออกมาเป็นค่าตัวเลขโดยตรง เช่น ความสูง  น้ำหนัก ราคา เป็นต้น

                                ๓.ข้อมูลอนุกรมเวลา (Time Series) เป็นข้อมูลที่แสดงการเปลี่ยนแปลงตาม เวลาที่เกิดขึ้น เช่น สถิติปริมาณน้ำฝนในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา เป็นต้น

แหล่งที่มาของข้อมูล

                แหล่งที่มาของข้อมูล (Sourse  of Data) จำแนกได้เป็น ๒ ประเภท ดังต่อไปนี้

                                ๑.แหล่งปฐมภูมิ (Primary Sourse) เป็นแหล่งที่ให้ข้อมูลโดยตรง เช่น ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ การสังเกต การออกแบบสอบภาม เป็นต้น ซึ่งผู้วิจัยรวบรวมมาโดยตรง หรือโดยอ้อมก็ตาม หรือเป็นข้อมูลใหม่ที่ไม่มีการจัดเก็บหรือมีการรวบรวมมาก่อน

                                ๒.แหล่งทุติยภูมิ (Secondary Source) เป็นแหล่งข้อมูลที่มีผู้เก็บข้อมูลมาไว้แล้ว เช่น ข้อมูลจากนายทะเบียน หนังสือ หนังสือพิมพ์ วารสาร จุลสาร ห้องสมุด เว๊บไซด์ เป็นต้น ซึ่งผู้วิจัยสามารถนำข้อมูลที่มีอยู่แล้วไปใช้งานต่อไปได้เลย

มาตรการวัดข้อมูล

                มาตรการวัดข้อมูล เป็นการจำแนกลักษณะของข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ว่าข้อมูลมีลำดับการวัดอยู่ในระดับใด สามารถจัดระดับของข้อมูลตามความละเอียดจากระดับการวัดที่หยาบถึงละเอียด ดังนี้

                                ๑.ข้อมูลระดับนามบัญญัติ (Nominal Scale) เป็นข้อมูลที่มีระดับการวัดหยาบที่สุดสามารถหาความแตกต่างได้อย่างชัดเจน ไม่สามารถบอกลำดับหรือขนาดความแตกต่างได้ แต่สามารถบอกความแตกต่างของประเภทได้ตั้งแต่ ๒ ประเภทขึ้นไป  เช่น  เพศ ได้แก่ เพศชาย และเพศหญิง  สี ได้แก่ สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน สีขาว เป็นต้น

                                ๒.ข้อมูลระดับเรียงลำดับ (Ordinal Scale) เป็นข้อมูลที่ให้ความละเอียดมากขึ้นกว่าข้อมูลระดับนามบัญญัติ   สามารถเรียงลำดับและบอกความแตกต่างภายในข้อมูลได้ว่ามากกว่าหรือน้อยกว่ากัน ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับข้อมูลด้านความพึงพอใจ ความรู้สึก การเรียงลำดับ เช่น ความพึงพอใจ ได้แก่ พึงพอใจมาก พึงพอใจปานกลาง พึงพอใจน้อย  การมีส่วนร่วม มีส่วนร่วมมาที่สุด มีส่วนร่วมมาก  มีส่วนร่วมปานกลาง  มีส่วนร่วมน้อย มีส่วนร่วมน้อยที่สุด เป็นต้น

                                ๓.ข้อมูลระดับอันตรภาค (Interval Scale) เป็นข้อมูลที่สามารถบอกความแตกต่าง โดยเปรียบเทียบและบอกทิศทางของความแตกต่างได้ แต่ยังมีความไม่แน่นอนในเกณฑ์ที่ใช้หรือไม่สามารถกำหนดเป็นฐานที่ยอมรับได้ในมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด มีศูนย์สมมติแต่ไม่มีศูนย์แท้ ทำให้คุณสมบัติของการบวกและการลบ ของข้อมูลในระดับนี้ไม่สามารถสื่อความหมายได้ดัพอและไม่มีคุณสมบัติของการคูณ และการหาร เช่น ข้อมูลของไอคิว ไม่สามารถสรุปได้ว่าคนที่มีไอคิว ๑๐๐ จะมีความฉลาดเป็น ๒ เท่าของคนที่มีไอคิว ๕๐ หรือข้อมูลอุณหภูมิ ที่ไม่สามารถบอกว่าอุณหภูมิ ๑๐๐ องศา มีความร้อนเป็น ๒ เท่าของอุณหภูมิ ๕๐ องศา เป็นต้น

                                ๔.ข้อมูลระดับอัตราส่วน (Ratio Scale) เป็นระดับของข้อมูลที่มีความละเอียดที่สุด ข้อมูลในระดับนี้มีศูนย์แท้ สามารถกำหนดเป็นฐานที่ยอมรับได้ในมาตรฐานเดียวกัน และยังสามารถบอกขนาด และทิศทางของความแตกต่างได้อย่างละเอียดเป็นอัตราส่วน ทำให้คุณสมบัติการบวก ลบ คูณ หาร กระทำได้อย่างมีความหมาย ถูกต้อง และสามารถใช้กับสถิติได้ทุกประเภท เช่น ข้อมูลน้ำหนัก ได้แก่ น้ำหนักของคนที่ ๑ หนัก ๓๕ กิโลกรัม คนที่ ๒ หนัก ๕๐ กิโลกรัม เพราะฉะนั้น คนที่ ๒ หนักกว่าคนที่ ๑ อยู่ ๑๕ กิโลกรัม   ข้อมูลเวลา รถคันที่ ๑ มาถึงเวลา ๑๒.๐๐ นาฬิกา รถคันที่ ๒ มาถึงเวลา ๑๒.๓๐ น. แสดงว่ารถคันที่ ๑ มาถึงก่อน ๓๐ นาที

 

หมายเลขบันทึก: 413950เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2010 20:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 23:03 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท