รอยทางสร้างสุขในโรงเรียนเพลินพัฒนา (๒)


บทสรุป

           

จิตตปัญญาศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างให้ครูและบุคลากรมีจิตวิญญาณของความเป็นครู ซึ่งคือหัวใจของการทำงานโรงเรียน เสียงสะท้อนของผู้เข้ารับการอบรมข้างต้นแสดงให้เห็นว่าการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญนี้ เป็นการเปิดประตูใจเข้าไปสู่การสำรวจตัวตน เกิดเป็นความเข้าใจในตัวเองและผู้อื่น ส่งผลให้ผู้เข้าอบรมเกิดการปรับเปลี่ยนจิตสำนึก และการเคลื่อนไปของทัศนคติ ทำให้การปฏิบัติต่อตนเองและผู้อื่นเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นด้วย

 

จิตตปัญญาศึกษาตอบโจทย์ของการสร้างหน่วยการเรียนเพลินภาวนาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกและสร้างพลังภายในจิตใจให้ครูและบุคคลากรของโรงเรียนมีความสามารถในการดูแลจิตใจตัวเอง เกิดความรักความเมตตา และทำงานอย่างมีความสุข ซึ่งเป็นโจทย์ที่มีความสัมพันธ์กับคุณค่าหลักขององค์กร

 

ก่อนที่จะรู้จักกับจิตตปัญญาศึกษา ความหมายของพัฒนาตนด้วยการเรียนรู้นี้ เน้นไปที่การเรียนและการสร้างความรู้ในความหมายที่เข้าใจกันโดยทั่วไป แต่จิตตปัญญาศึกษาได้เข้ามาเติมเต็มมิติของการเรียนรู้ให้หยั่งลงไปถึงการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายในตนด้วย อันเป็นการโน้มนำให้ครูและบุคลากรหันมาสนใจวาระเรื่องการพัฒนาโลกภายในซึ่งแท้ที่จริงแล้วเป็นฐานชีวิต และเป็นการเติบโตไปด้วยกันจากการขัดเกลาของกัลยาณมิตรที่รับเอา ความเคารพ ความกล้า การให้ และการพัฒนาตน มาเป็นคุณค่าหลักขององค์กร

 

ปัจจัยความสำเร็จของโครงการเพลินภาวนา : จิตตปัญญาศึกษา (สำหรับการพัฒนาครู)

 

  • มีผู้นำองค์กรที่เห็นความสำคัญ และจัดประเด็นวาระให้การพัฒนาชีวิตด้านในเป็นความสำคัญอันดับต้นๆ
  • มีการจัดสรรเวลา และโอกาสให้บุคลากรได้ปลีกตัวออกจากงานประจำเพื่อเรียนรู้โลกภายใน
  • กระบวนกรมีทักษะในการพาให้ผู้เข้าร่วมได้สืบค้นเข้าไปในตนเอง และเรียนรู้จากกันและกันในบรรยากาศของความไว้วางใจ
  • ในช่วงเวลาของการทำงานมีการจัดสรรเวลาให้กับการสืบค้นเข้าไปในมิติของอารมณ์ ความรู้สึก รับรู้  รับฟังกันอย่างลึกซึ้ง แบ่งปัน ทำให้การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน
  • คนส่วนใหญ่มีความเป็นกัลยาณมิตรให้แก่กัน เห็นคุณค่าในเห็นและกัน ให้อภัย ไม่ด่วนตัดสิน

 

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความยั่งยืนของโครงการเพลินภาวนา : จิตตปัญญาศึกษา (สำหรับการพัฒนาครู)

 

  • ทัศนคติของผู้นำองค์กรที่มีต่อการพัฒนาชีวิตด้านใน
  • การจัดลำดับความสำคัญ และการจัดสรรงบประมาณให้กับโครงการที่เอื้อต่อการพัฒนาชีวิตด้านใน
  • การทำให้ทุกคนตระหนักว่าตนเป็นเหตุและปัจจัยของกันและกัน ที่มีส่วนทั้งในการเกื้อกูล เยียวยา และเติบโตไปด้วยกัน
  • การมีชุมชนย่อยๆ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของชีวิตด้านใน และมีวาระของการนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอยู่เสมอ
  • การปฏิบัติต่อกันอย่างกัลยาณมิตร

 

ตราบเท่าที่ปัจจัยความสำเร็จ และปัจจัยที่ส่งผลต่อความยั่งยืนของโครงการ ฯ ยังคงอยู่ ความเป็นชุมชนที่เอื้อให้ผู้คนได้พัฒนาความรู้ในตนก็จะยังคงดำเนินอยู่สืบไป

 

 

หมายเลขบันทึก: 413901เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2010 15:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มาตามอ่านต่อ ;)...

ขอบคุณมากครับ

                         

เข้ามาอ่านเพลินเลยละครับครูใหม่
เห็นทีมวิชาการจัดประชุม เวทีวิชาการศึกษาศาสตร์กับการพัฒนาสังคม
ในงานประชุมประจำปี ๔๑ ปีของคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่าได้เชิญครูใหม่ไปเสวนาปิดท้ายรายการให้เครือข่ายศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันศึกษาศาสตร์มหิดลด้วย ขอต้อนรับสู่เวทีชาวมหิดล และดีใจร่วมไปกับทุกท่านที่จะได้ฟังประสบการณ์จากครูใหม่อีกครั้งหนึ่งครับ

เรียน อาจารย์วิรัตน์ ที่นับถือ

ต้องขออภัยอาจารย์เป็นอย่างสูงค่ะ ที่ไม่สามารถไปร่วมงานประชุมในครั้งนี้ได้ เนื่องจากเป็นวันแต่งงานของน้องสาวพอดี หวังว่าโอกาสหน้าคงจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชาวมหิดลอีกค่ะ

ครูใหม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท