เด็กหอใน..หนังสืออ่านเล่นของ "คนหอใน"


ถามว่าหนังสือที่ได้รับรางวัลซีไรต์สดๆ ร้อนๆ คือเรื่องอะไร---ผู้รับผิดชอบยังตอบไม่ได้ อันนี้จะห้ามให้ผมไม่คิดอะไรบ้างเลย

ถึงแม้เรื่องนี้จะผ่านพ้นมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว  แต่ผมก็ยังอยากเขียนถึงเรื่องนี้อยู่ดี  โครงการที่ว่านั้นก็คือ “โครงการรักการอ่าน” ที่จัดขึ้นโดยงานบริการหอพักนิสิต

เรียกได้ว่านี่คือครั้งแรกที่มีกิจกรรมรณรงค์การอ่านเกิดขึ้นในหอพักเลยก็ไม่ผิด เดิมเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการ นำเสนอภาพรวมกิจกรรมที่มุ่งไปแต่เฉพาะเรื่องจัดห้องอ่านหนังสือ  ซื้อชั้นหนังสือ โต๊ะหนังสือ รวมถึงการซื้อและจัดหาหนังสือมาให้นิสิตได้อ่านเท่านั้น

ซึ่งทั้งปวงนั้น ผมเองก็ไม่ปฏิเสธในวิธีคิดเหล่านั้นเสียทั้งหมด เพียงแต่ฝากประเด็นเพิ่มอยู่สองเรื่องใหญ่ๆ นั่นคือ ควรจัดตกแต่งห้องอ่านหนังสือให้น่ารัก น่าอ่าน หรือแม้แต่น่าเข้าไป “นั่งพักผ่อนทางสมอง” และประเด็นถัดมา ก็คือการจัดเปิดตัวหนังสือ “เด็กหอ” ด้วย 

หนังสือเด็กหอ เป็นหนังสือที่จัดทำขึ้นสดๆ ร้อนๆ เพียงไม่กี่วัน  เป็นการนำงานเขียนของนิสิตที่ส่งเข้าประกวดเรื่องเล่าพลังมาจัดทำเป็นหนังสืออ่านเล่นของชาวหอพัก

ซึ่งนับว่าได้รับความนิยมจากนิสิตไม่น้อยเลยทีเดียว...

        เรื่องแต่ละเรื่องมีมุมน่ารักของมันเอง  เรื่องผีๆ ในหอพัก  เรื่องของหายในหอพัก  เรื่องความประทับใจเพื่อน แม่บ้านและรุ่นพี่ เรื่องการออกติดตามเสื้อผ้าที่หายในหอพัก  เรื่องส้วมเต็ม เรื่องนั่งตบยุงรอลุงยามมาเปิดหอ เรื่องน้ำไม่ไหล หรือแม้แต่เรื่องยอดฮิตอย่างความรักก็มีให้อ่าน เรียกได้ว่าอ่านไป ..ยิ้มไปเลยทีเดียว

 

 

       และนี่คือส่วนหนึ่งของคำนำในหนังสือเรื่อง “เด็กหอ”  ที่ผมเขียนไว้....

 

ไม่มีที่ใดบนโลกใบนี้ที่ปราศจาก “เรื่องเล่า”

      นั่นคือสิ่งที่ผมเชื่อมั่นเสมอมาอย่างไม่เปลี่ยนแปลง  และโดยส่วนตัวผมเองก็รู้สึกเสมอมาว่าผมเติบโตมาจากเรื่องเล่าอย่างไม่ผิดเพี้ยน สมัยเด็กๆ  ผมเคยหลงรักเรื่องเล่าอันเป็นนิทานหลากเรื่องจากพ่อแม่ หรือแม้แต่คนแก่คนเฒ่า  พอโตขึ้น เมื่อมีโอกาสได้ทะล่องเล่นไปในที่ต่างๆ  ก็ยิ่งพยายามเปิดใจซึมซับกับเรื่องราวของสถานที่และผู้คนที่พบพานมากขึ้นเรื่อยๆ  จนกล้าที่จะยืนยันว่า  ชีวิตเกือบทั้งชีวิตรื่นรมย์และโลดแล่นอยู่ได้ก็ด้วยอิทธิพลของเรื่องเล่าดีๆ นั่นเอง

      ย้อนกลับไปสักสองปีให้หลัง  ผมเคยตั้งคำถามต่อเจ้าหน้าที่หอพักว่าพวกเขามีเรื่องเล่าใดบ้างที่เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับหอพักที่พวกเขาจดจำอย่างไม่รู้เบื่อ   และเรื่องเล่าใดบ้างที่พวกเขาพึงใจที่จะเล่าให้ผม หรือแม้แต่คนอื่นๆ ได้ร่วมรับรู้ได้บ้าง  เพราะบางทีเรื่องเล่าที่ว่านั้น  อาจเป็นพลังที่หนุนนำให้ทั้งผมและคนอื่นๆ ได้เห็นภาพของความเป็นหอพักได้แจ่มชัดขึ้นบ้าง  หรือบางทีเรื่องเล่าที่ว่านั้น  อาจส่งผลให้ผมและคนอื่นๆ  หลงรักในภาพแห่งชีวิตของชาวหอพักได้มากกว่าที่ผ่านมา

      ครั้งนั้น,  แทบไม่น่าเชื่อว่าเจ้าหน้าที่เกือบทุกคนเงียบงันไปกับคำถามนั้นพอสมควร  ก่อนจะเปิดเปลือยใจบอกกับผมอย่างตรงไปตรงมาว่า “นึกไม่ออก...” (รวมถึงนึกออกแต่เล่าออกมาไม่ได้)

      จนในที่สุดผมก็ตัดสินเด็ดเดี่ยวว่าสักวันหนึ่งผมจะชวนให้เจ้าหน้าที่และนิสิตหอพักได้ลุกขึ้นมาเล่าเรื่องของตัวเองให้จงได้  เพื่อยืนยันให้รู้ว่า  ไม่มีที่ใดบนโลกใบนี้ปราศจากเรื่องเล่า  และเรื่องเล่าก็ล้วนเป็นกระบวนการหนึ่งในการเติบโตของชีวิตด้วยเหมือนกัน

      กระทั่งบัดนี้  เรื่องเล่าของชาวหอพักก็ปรากฏตัวในรูปของหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มนี้  ผมนั่งอ่านหลายต่อหลายเรื่องอย่างมีความสุข  มันเป็นความสุขจากมุมเล็กๆ ของผู้คนอย่างมหัศจรรย์  เรื่องราวหลากเรื่องหลากบรรยากาศล้วนชวนคิดชวนฝัน  เรื่องทุกเรื่องมีพลังพอที่จะบอกว่าหอพักเป็นเสมือนบ้านอีกหลังของนิสิต หรือแม้แต่เรื่องบางเรื่องก็ฉายชัดถึงภาพชีวิตของชาวหอพัก  (เด็กหอใน)  ได้อย่างน่าทึ่ง 

      ผมขอชื่นชมเจ้าของเรื่องเล่าทุกคน  เพราะเรื่องทุกเรื่องล้วนมีคุณค่าชวนจดชวนจำและชวนต่อการบอกเล่าเก้าสิบกันเป็นทอดๆ  เป็นที่สุด  มันอาจไม่ใช่สารัตถะที่เปลี่ยนชีวิตคนอ่านในทันทีทันใด  แต่เรื่องเล่าทุกเรื่องก็มีพลังมากพอที่จะเขย่าให้หัวใจของคนอ่านได้ยิ้มอย่างละมุนละไม...

      ท้ายที่สุดขอขอบคุณเจ้าของเรื่องเล่าทุกคนที่ก้าวออกมาเล่าเรื่องอย่างเปิดเปลือย  และส่งมอบเรื่องเล่านั้นมายังผมและทีมงาน เพื่อทำให้เรื่องเล่าเหล่านั้นกลายเป็นสาธารณะมากยิ่งขึ้น  เชื่อเหลือเกินว่าเรื่องเล่าต่างๆ จะช่วยให้นิสิตหอพัก (เด็กหอใน) หรือแม้แต่ที่ไม่ใช่นิสิตหอพัก หลงรักหอพักได้อย่างไม่รู้ตัว

      เช่นเดียวกันนี้ก็ขอขอบคุณคณะทำงานจากงานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศที่ขันอาสาเป็นเจ้าภาพให้เรื่องเล่าได้มีเวทีเล่าเรื่องของตนเองอย่างสง่าผ่าเผย พร้อมๆ กับการขอบคุณคณะกรรมการที่มาช่วยพิจารณาตัดสินการประกวดเรื่องเล่าของหอพักในครั้งนี้ ทั้งที่เป็น ผศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์  อ.มงคล  คาร์น  และคุณบรรจง  บุรินประโคน ...

      ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า  หนังสือ “เด็กหอใน” เล่มนี้  จะช่วยยืนยันได้ว่า  ไม่มีที่ใดบนโลกใบนี้ที่ปราศจาก “เรื่องเล่า”  และเรื่องเล่าก็ล้วนเป็นกระบวนการอันสำคัญที่ช่วยให้ชีวิตคนเราดูรื่นรมย์และมีความสุขไม่แพ้กระบวนการอื่นๆ...บางทีคุณอาจหลงรักชีวิตของความเป็นหอพัก หรือเด็กหอในเหมือนที่ผมกำลังเป็นอยู่ด้วยก็เป็นได้



....มีความสุขกับการอ่าน (นะครับ)
พนัส  ปรีวาสนา

 

อย่างไรก็ดี  สิ่งที่ผมอยากสะท้อนไว้ในบันทึกนี้มากที่สุด เพื่อชี้ให้เห็นวิธีคิดเกี่ยวกับการทำงาน  เผื่อบางทีครั้งถัดไป  จะได้จัดกระบวนการต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นั่นก็คือ  การจัดกิจกรรมเปิดตัวหนังสือนั้น เมื่อมีการเชิญวิทยากรทั้งที่เป็นเจ้าของเรื่อง (นิสิต) หรือผู้ร่วมเสวนา (บุคลากร นักเขียน) สิ่งสำคัญที่สุดก็คือผู้นำการเสวนาเปิดตัวหนังสือ ต้องทำการบ้านอย่างน้อยสองประเด็นหลัก นั่นคือประวัติวิทยากร และเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของผู้คนที่พักอาศัยในหอพัก โดยอาจนำมาเป็นประเด็นชวนคุยและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเป็นสำคัญ ---ซึ่งประเด็นนี้ เกือบร้อยทั้งร้อยมองในมุมเดียวกันว่า  ต้องมีการปรับแต่งให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป

ประเด็นถัดมา ทักษะของผู้ดำเนินรายการเป็นหัวใจหลัก  ซึ่งผู้ดำเนินรายการต้องรอบรู้เรื่อง “หนังสือ” พอสมควร ...รู้ปรากฎการณ์ของการอ่าน การเขียนของสังคม รู้อำนาจของวรรณกรรมที่มีต่อการพัฒนาคนและสังคม รู้ว่าตลาดหนังสือ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้สำคัญไม่น้อยเลยทีเดียว  เพราะมันหมายถึง “ทุนในตัวเอง” ที่สามารถเชื่อมโยง และปรับประยุกต์ให้เกิดประเด็นและบรรยากาศของการเสวนาได้เป็นอย่างดี อย่างล่าสุดถามว่าหนังสือที่ได้รับรางวัลซีไรต์สดๆ ร้อนๆ คือเรื่องอะไร---ผู้รับผิดชอบยังตอบไม่ได้ อันนี้จะห้ามให้ผมไม่คิดอะไรบ้างเลย ก็ไม่ได้เหมือนกัน (ฮา)  เพราะมันสะท้อนกระบวนคิดของคนทำงานที่ละเลยไม่ได้  ทำเรื่องอะไรก็ควรต้องมีทุนในตัวเองบ้าง  ถ้าไม่มีก็ควรต้องเสาะแสวงหาด้วยวิธีการต่างๆ ทำอะไรต้องมององค์รวมให้ได้มากที่สุด ...นั่นคือเรื่องเล็กๆ แต่ถ้าทำได้  ผมถือว่ามันเป็นเรื่องที่ใหญ่เอามากๆ เลยทีเดียว

ครับนี่คือบทสะท้อนเล็กๆ ที่ว่าด้วยกระบวนการที่เกิดขึ้น  จริงๆ มีหลายประเด็นที่ควรต้องยกมาพูดถึง  แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องความยาวเช่นนี้  ก็ขอทิ้งประเด็นกว้างๆ ไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน  ถ้ามีโอกาส ก็คงได้บอกเล่าลงรายละเอียดให้มากกว่านี้...กระมัง

 

 

หมายเลขบันทึก: 413620เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2010 00:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

บางครั้งเรื่องก็เป็นการบอกกล่าวประวัติศาสตร์...เรื่องเล่าทุกเรื่องล้วนมีคุณค่าที่ทุกคนตั้งใจเขียน ตั้งใจเล่า

เหมือนเช่นที่ รพ.ตอนนี้ก็พยายามชักชวนให้ทุกคนได้เล่าเรื่องราวที่เป็นความจริง ความดี และความงามที่เกิดจากการกระทำด้วยหัวใจกันคะ

เรื่องเล่าของเด็กหอ คงมีมีน่ารัก น่าทึ่ง มากมายเลยนะคะ

ชอบโครงการนี้จังเลยครับ ผมก็มีอดีตเป็นเด็กหอในมาก่อนเหมือนกัน

ดังนั้น อารมณ์ตัวหนังสือเหล่านี้ เข้าใจความรู้สึกกันสุด ๆ ไปเลย

หากเหลือ .. สักเล่มนะครับ คุณแผ่นดิน ;)...

อดีตเด็กหอในมารายงานตัวค่ะ ถูกใจมากมายกับกิจกรรมนี้นะคะ

ช่วยเพิ่มพื้นที่แห่งจินตนาการเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆที่หอในและขยายไปยังชุมชน

ส่งกำลังใจกับการงาน ชีวิต คิดถึงสองหนุ่มน้อย สุขสันต์กับคนของความรักค่ะ :)

 

สวัสดีค่ะ

      มาชมกิจกรรมดีๆค่ะ เรื่องเล่าแต่ละเรื่องล้วนแล้วแต่มีคุณค่า กระบวนการนี้ต้องลองนำไปใช้บ้างแล้วล่ะค่ะ...ขอบคุณที่แบ่งปันนะคะ

ได้อ่านมาบ้าง ...

เป็นหนังสือที่นำเสนอได้สนุกเเละหลากหลายดีครับ

ให้กำลังใจคุณพนัสครับ..

"หัวใจนำพา ศรัทธานำทาง" นะครับ

เยี่ยมเลยค่ะกับโครงการแบบนี้ สมัยก่อนเป็นเด็กหอทำไม่มีใครทำแบบนี้บ้างน้อ....

เรื่องทุกเรื่องมันน่าจดจำทั้งนั้นนะคะ  ไม่ว่าจะดีหรือร้าย  การปลูกฝังให้รักการอ่านและเขียนควรจะทำตั้งแต่เด็กอนุบาลด้วยซ้ำ  ถ้าผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องใส่ใจตรงจุดนี้ให้มากขึ้น  ถึงแม้ว่าจะมีบ้างกับโครงการรักการอ่านแต่...ก็มีเพียงประปราย  ยังไม่ขยายวงกว้างจนถึงจุดที่พอใจ  เด็กไทยหรือคนไทยจึงมีเปอร์เซ็นต์การอ่านหนังสือออกมาต่ำจนน่าใจหาย..

ขอบคุณกับบันทึกดีๆที่ช่วยสะกิดใจใครได้หลายๆคนนะคะ..

  • แวะมาทักทาย
  • ชื่นชมแนวคิดกิจกรรมดี ๆ
  • "ไม่มีที่ใดบนโลกใบนี้ที่ปราศจากเรื่องเล่า"  เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งค่ะ

สวัสดีครับ...namsha

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งเลยครับกับการชวนให้บุคลากรได้ช่วยกันเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในองคืกร เป็นการยืนยันว่าความดีมีตัวตน...แตะต้องสัมผัสได้...และสร้างเป็นสื่อเรียนรู้ง่ายๆ ได้ร่วมกัน ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นการช่วยเขียนจดหมายเหตุชีวิต และจดหมายเหตุองคืกรไปในตัวได้ ..

พอถึงโอกาสสำคัญๆ...ก็จัดพิมพ์ง่ายๆ ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก เป็นหนังสือแจกจ่ายบุคลากรในองค์กรได้สบายเลย...เป็นการสร้างองค์กรในอีกระบบหนึ่งนะครับ

ชื่นชมและเป็นกำลังใจให้นะครับ...

สวัสดีครับ Wasawat Deemarn

ให้ที่อยู่มาเลยครับผมจะส่งไปให้อ่าน...เหลือไม่กี่เล่ม แต่ยินดีส่งไปให้ครับ...
เสียดาย ไม่ได้อบรมการเขียนก่อน...เรียกได้ว่า อยากเขียนอะไร ก็เขียนมาเลยประมาณนั้น ให้มันมีความสด ไม่ให้มีกรอบมาก เพราะนิสิตจะเกร็งและไม่สนุก...

ครั้งหน้า คุยกันแล้ว ต้องมีอบรมการเขียนให้ก่อน จากนั้น ก็ปล่อยลงพื้นที่เขียนมาประกวดกันอีกรอบ แจกทุนการศึกษา สร้างวัฒนธรรม การอ่าน การเขียน และการเล่าเรื่องผ่านนิสิต  เป็นการเริมบรรยากาศของการอยู่ร่วมกัน..บันทึกเหตุการณ์ของชีวิตและองค์กรไปในอีกมิติหนึ่ง...

เป็นมิติที่ใครหลายคนมองข้ามมาหลายปีแล้ว ก็ว่าได้...

สวัสดีครับ คุณปู..poo

ไม่ได้คุยกันนาน จริงๆ นะครับ
ผมเองเตร็ดเตร่ไปไกล ไม่ได้เขียนบันทึกเลย..

...

เคยคิดว่าจะทำหนังสือทำนองนี้เยอะๆ..ของบมหาวิทยาลัย ผลิตเป็นสื่อเรียนรู้แจกจ่ายเด็กๆ รอบมหาวิทยาลัยด้วย และส่งไปยังโรงเรียนต่างๆ เป็นการประชาสัมพันธ์ แนะแนวการศึกษาไปในตัว...สอนประสบการณ์ชีวิตกันไปในตัวด้วยเหมือนกัน

เหมือนย่อโลกมหาวิทยาลัยไปให้เด็กๆ ได้อ่านกันตามหมู่บ้านและโรงเรียน นั่นแหละครับ..

สวัสดีครับ...มาตายี

ยินดีครับที่แนวคิดนี้ สร้างแรงคิดให้ใครๆ ได้บ้าง..
เด็กนักเรียนก็เขียนเรื่องในโรงเรียนได้...นะครับ สนุกๆ ..มีภาพประกอบในเล่มด้วย

วันรับปริญญาต้องเจอกันให้ได้นะครับ...
เดี๋ยวผมให้เบอร์ทางอีเมล  แต่ตอนนี้จำไม่ได้จริงๆ ว่าผมใช้เบอร์อะไร...55

เป็นเรื่องจริงครับ ผมจำเบอร์ตัวเองไม่ได้ และตอนนี้แบตฯ ก็หมด...

สวัสดี เจ้า

น้องพอ เพิ่งยื่นเกียรติบัตร โครงการรักการอ่าน ชื่อ ยอดนักอ่าน ให้พอ สาวน้อยบอกว่้า ทั้งห้องได้ 2 คน แม่ดีใจไหม พอขอรางวัล เป็นหนังสือ 2 เล่ม ค่ะ

ปล. เด็กหอใน ก็อยากอ่าน เน้อเจ้า

ครับคุณเอกจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

จริงๆ มีหลายเรื่องมากที่ยังไม่ได้พิมพ์...(งบไม่มี)...
ถ้าได้สอนการเขียน และการเล่าเรื่องให้สักนิด

เชื่อว่า งานที่ออกมาจะดีกว่านั้นแน่...
ครั้งนี้เอาใจนำพาไปก่อน เพื่อให้พวกเขารู้สึกอิสระที่จะได้เล่าตามวิธีคิดและทักษะ ตัวเอง..

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ krugui Chutima

ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจนะครับ
ผมเป็นคนที่โตมาจากการอ่าน และเชื่อในอำนาจของวรรณกรรมในการขัดเกลาชีวิต...
เราพูดกันบ่อยเหลือเกินว่า หนังสือแพง..แต่เราไม่เคยหาวิธีช่วยให้เด็กๆ ได้อ่านหนังสือกันสักเท่าไหร่ ...

สมัยที่ผมเขียนบทความแล้วได้ตังค์เรื่องละ 1,000 บาท สิ่งแรกที่ทำก็คือ ซื้อหนังสือที่เราอยากได้ ซื้อมาบางทียังไม่ได้อ่าน หรืออ่านไม่จบ แต่ก็ยังซื้อมาเก็บไว้เรื่อยๆ...

กิจกรรมการอ่านการเขียน  น่าจะเป็นกิจกรรมหลักของการเรียนรู้ที่ต้องปลูกสร้างให้ได้ในตัวเด็ก จำได้สมัยเด็กๆ ชอบเขียนตามคำบอกมาก สนุก ตื่นเต้น...และชอบเวลาอ่านหนังสืออกเสียงกับเพื่อนทั้งห้อง เพราะและสนุกดี...

มันนานมาแล้วที่วิธีการเหล่านี้ในบางโรงเรียน เลือนหายไปอย่างน่าใจหาย

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ..ธรรมทิพย์

ไม่มีที่ใดปราศจากเรื่องเล่า...แต่ความเจ็บปวดเล็กๆ ก็คือ...
คนในที่แห่งนั้น จดจำเรื่องราวตัวเอง จดจำเรื่องราวชุมชนตัวเองไม่ได้เลย...

นั่นคือความสะท้อนใจที่ผมพบเจอมาบ่อยๆ ...เวลาให้นิสิตไปออกค่าย จึงไม่ลืมให้เขาสะกิดถามถึงเรื่องราวของชุมชนในมิติต่างๆ เสมอ เพราะนั่นคือกระบวนการหนึ่งของการชวนให้ชุมชน หรือชาวบ้านได้ทำการ "สำรวจตัวเอง"

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ ครูใหม่

ยินดีด้วยครับ หลานๆ เก่งอยู่แล้ว...เห็นทีต้องเป็น "ดอง" โดยด่วน...
ผมรบกวนที่อยู่อีกรอบด้วยนะครับ ผมจะส่งหนังสือไปให้..

สวัสดีค่ะคุณแผ่นดินกิจกรรมอ่านหนังสือในหอเป็นสิ่งที่น่าติดตามสนใจ เพราะเด็กติดอย่างอื่นมากมายนะคะ อ่านหนังสือดีจริงๆนะคะ

สวัสดีครับ Rinda

ถึงแม้ว่าใครหลายคนจะไม่ชอบวาทกรรมที่ว่า "หนังสือคืออาหารบำรุงสมอง" แต่ผมก็ยังมองว่า ใช่เหมือนกัน และเป็นจริงตามนั้น หนังสือเป็นพลังของการเติบใหญ่ได้เป็นอย่างดี

ไม่ใช่คนไทยไม่อ่านหนังสือ หากแต่คนไทยอ่านหนังสือกันน้อยเท่านั้นเอง...

ขอบคุณครับ

โครงการเรื่องเล่าชาวหอ ตอนต่อไปกำลังอยู่ระหว่างการวิเคราะห์หาประเด็นให้เห็นอีกมุมของหอพักค่ะ ที่ใครๆอาจลืมนึกถึงก็ได้ ทั้งๆใกล้แค่ปลายจมูก ติดตามหนังสือเรื่องเล่าชาวหอภาค 2 ได้ในเร็วๆนี้ค่ะ

ถึงตอนนี้ ยังมีเหลืออีกมั๊ยคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท