สองเท้า หัวใจ และ Human Skill : การเตรียมพื้นที่และชุมชนเพื่อขับเคลื่อนการวิจัยแบบ PAR


  การประสานงานและการเตรียมชุมชน 

การวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม เป็นวิธีดำเนินการวิจัยที่สามารถออกแบบให้เหมาะสมไปตามวัตถุประสงค์การวิจัยของกลุ่มคน ตลอดจนหน่วยงานและองค์กรต่างๆได้อย่างไม่จำกัด การประสานงานและการเตรียมชุมชน จะเป็นขั้นตอนแรกๆที่จะต้องทำ ซึ่งโดยทั่วไปก็จะประกอบด้วยกิจกรรมและการดำเนินการต่างๆดังนี้

  • ทำหนังสือแจ้งหน่วยงานและผู้นำชุมชนให้ทราบอย่างเป็นทางการ
  • ทำหนังสือบอกวัตถุประสงค์และชี้แจงโครงการให้หน่วยงาน องค์กร ผู้นำชุมชน และกลุ่มผู้เกี่ยวข้องได้ทราบในเบื้องต้น
  • ระบุกลุ่มผู้เกี่ยวข้องและกลุ่มผู้สนใจ ที่ทีมวิจัยต้องการประสานงาน
  • เตรียมการพบปะและจัดประชุมเพื่อชี้แจงโครงการ พัฒนาความร่วมมือ และเตรียมดำเนินการต่างๆให้สอดคล้องกับความต้องการของทุกฝ่าย
  • สรุปและทำบันทึกช่วยสื่อสารและช่วยการจำ

การประสานงานและเตรียมชุมชนดังกล่าว เป็นการดำเนินการโดยทั่วๆไป ซึ่งแนวคิดและหลักดำเนินการที่สำคัญก็คือ การได้รับความร่วมมือและการมีส่วนร่วมระดับต่างๆในกระบวนการวิจัยที่จะดำเนินการขึ้นในชุมชน

  การประสานงานและการเตรียมชุมชนเพื่อขับเคลื่อนการวิจัยแบบ PAR  

ในการวิจัยแบบ PAR ที่มุ่งดำเนินการโดยบูรณาการมิติความเป็นชุมชนและถือเอาการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ชุมชนเป็นตัวตั้งนั้นก็เช่นกัน ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าสู่ชุมชนและเตรียมการเพื่อทำกิจกรรมต่างๆให้เข้าสู่กระบวนการวิจัยและปฏิบัติการเชิงสังคมทีละเล็กละน้อย โดยจุดหมายและวัตถุประสงค์ที่สำคัญก็คือ เพื่อเข้าถึงคนและได้ข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับระดมการมีส่วนร่วมให้การพัฒนาประเด็นการวิจัย การออกแบบกระบวนการ และการพัฒนากลุ่มปฏิบัติการวิจัยต่างๆในลำดับต่อไป ให้สะท้อนปรัชญาและระเบียบวิธีการวิจัยแบบ PAR อย่างเหมาะสมที่สุด

  เครื่องมือและสิ่งที่จะต้องเตรียม 

  • เอกสารแนะนำโครงการ เพื่อแสดงตนในการเข้าไปทำงานในพื้นที่ให้ผู้นำชุมชนและหน่วยงานต่างๆได้รับทราบ เกิดความสบายใจ อีกทั้งสามารถเป็นแหล่งอ้างอิงทางข้อมูลและข่าวสารของโครงการได้
  • สื่อแนะนำแนวคิดสำคัญของกระบวนการทำงานในแนวทางที่ทีมวิจัยมุ่งให้ความสำคัญ เช่น แนวคิดและวิธีทำงานเป็นกลุ่ม วิธีเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติกิจกรรมเพื่อส่วนรวมของชุมชน ความสำคัญของการทำวิจัยโดยประชาชนและกลุ่มประชาคมอันเกิดจากการรวมตัวของภาคประชาชน เหล่านี้เป็นต้น
  • สื่อและเอกสารที่ให้การเรียนรู้ทางสังคม ซึ่งจะทำให้การพบปะและโอกาสได้สนทนากัน เป็นโอกาสสร้างการเรียนรู้โลกรอบข้างให้แก่ประชาชนไปด้วย ตลอดกระบวนการล้วนเกิดการปฏิสัมพันธ์ที่นำไปสู่การเพิ่มพูนประสบการณ์ของชุมชนอยู่เสมอ ไม่ต้องรอให้ผลการวิจัยออกมาเพียงขั้นตอนเดียว หรือต้องอบรมเฉพาะความรู้ของคนภายนอกอย่างเดียว
  • เครื่องมือสำหรับเก็บและบันทึกข้อมูล กล้องถ่ายภาพ สมุดจดบันทึก กระดาษฟลิปชาร์ต ปากกา เครื่องเขียน

แนวคิดที่สำคัญในการคัดสรรและจัดเตรียมเครื่องมือ สื่อ และวิธีประสานงานในเบื้องต้นก็คือ เป็นสื่อที่เสริมพลังของการได้พบปะกัน ในอันที่จะนำไปสู่การทำงานและต่างก็ได้การเรียนรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆด้วยกันให้ดีที่สุด ทั้งนี้ ต้องเน้นให้การสื่อสารแบบ ๒ ทางและการปฏิสัมพันธ์กันอย่างมีคุณภาพเป็นตัวนำ และให้สื่อกับเครื่องมืออื่นๆเป็นตัวเสริม

อย่างไรก็ตาม การวิจัยแบบ PAR สำหรับดำเนินการกับภาคประชาชน กลุ่มประชาสังคมท้องถิ่น รวมทั้งปัจเจกและการรวมกลุ่มของผู้มีจิตสาธารณะต่อประเด็นความสนใจต่างๆนั้น ต้องให้ความสำคัญต่อการติดต่อประสานงานด้วยตนเองของตัวบุคคล มากกว่าการประสานงานด้วยเอกสาร ซึ่งหลักคิดและความเข้าใจก็มีความเป็นเหตุเป็นผลอยู่ในตนเอง เนื่องจากกลุ่มคนดังที่กล่าวถึงเหล่านี้ โดยมากแล้วก็จะเป็นกลุ่มคนที่มีภาวะผู้นำดี เป็นนายตนเอง เรียนรู้และมีส่วนร่วมทางการปฏิบัติต่อเรื่องต่างๆด้วยการใช้ความรู้ความเข้าใจและการตัดสินใจบนความเป็นเหตุผลของตนเอง ไม่ใช่วิธีชักจูง โน้มน้าว หรือใช้โครงสร้างเชิงอำนาจมากดดันให้ปฏิบัติ

ดังนั้น จึงต้องการการพูดคุยและการสร้างความเข้าใจร่วมกัน มากกว่าการได้เห็นหนังสือสั่งการและการประสานงานที่สื่อถึงความเป็นเจ้าเป็นนาย ยิ่งไปกว่านั้น การประสานงานโดยหนังสือและไม่ให้ความสำคัญกับการเดินพบปะถ้อยทีถ้อยคุยเยี่ยงคนทำงานและมีความสำนึกต่อสังคมเช่นกันกับกลุ่มคนทำงานซึ่งมีคุณลักษณะดังที่กล่าวถึงนี้ ก็อาจจะถูกปฏิเสธและไม่ให้ความสนใจที่จะเดินมาปรึกษาหรือและทำสิ่งต่างๆด้วยกันนับแต่เบื้องแรกเลยทีเดียว

  กิจกรรมและการดำเนินการที่สำคัญ 

  • ทำหนังสือประสานงานและแจ้งแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นเบื้องต้นอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
  • เข้าไปค้นหาเพื่อวิเคราะห์และระบุกลุ่มคนที่เป็นกลุ่มที่มีพลังต่อการนำการเปลี่ยนแปลงหลากหลายประเด็นในชุมชน เช่น กลุ่มประชาคม กลุ่มปัจเจก กลุ่มผู้มีจิตสาธารณะ กลุ่มผู้เป็นที่เคารพนับถือ กลุ่มสนทนาตามศาลาวัดและที่สาธารณะ กลุ่มทำกิจกรรมในองค์กรประชาสังคมแบบต่างๆ เช่น สมาคม กลุ่มหอการค้า กลุ่มสภาวัฒนธรรมท้องถิ่น กลุ่มและชมรมวิชาชีพ กลุ่มการวมตัวเพื่อเคลื่อนไหวกิจกรรมเพื่อส่วนรวม กลุ่มผู้สื่อข่าวท้องถิ่น กลุ่มศิลปะ กลุ่มเยาวชน กลุ่ม อสม. เหล่านี้เป็นต้น
  • การวิเคราะห์และร่วมกันระบุกลุ่มดังกล่าว ควรทำกับกลุ่มคนในพื้นที่ซึ่งเป็นกลุ่มประชาสังคมในท้องถิ่น เช่น กลุ่มครู กลุ่มผู้นำทางจิตใจ กลุ่มปัจเจกผู้มีจิตสาธารณะในท้องถิ่น ทั้งนี้ โดยเน้การมองผ่านประสบการณ์และความรอบรู้ของคนในพื้นที่ จากนั้น จึงนำมาเป็นกรอบสำรวจหาข้อมูลร่วมกับแหล่งอื่นๆ เพื่อเตรียมคน เตรียมพื้นที่ และเตรียมจัดประชุมการวิจัยร่วมกับชุมชนในลักษณะต่างๆต่อไป การให้ข้อมูลจากประสบการณ์ของคนในพื้นที่เป็นเครื่องชี้นำการปฏิบัตินั้น ในบางครั้งข้อมูลอาจจะไม่ลึกอย่างที่นักวิจัยและคนภายนอกรู้ แต่ก็เป็นความรู้ความเข้าใจที่อยู่ในตัวคน อีกทั้งเป็นความรู้ที่ชาวบ้นใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะทำให้ชุมชนยืนขึ้นบนฐานชีวิตตนเองและมีความยั่งยืนทางการปฏิบัติได้ดีกว่าเริ่มต้นจากความรู้ของคนภายนอก
  • นอกจากใช้วิธีติดต่อประสานงานโดยหนังสือที่เป็นทางการแล้ว หลังจากได้ข้อมูลและรู้จักภูมิศาสตร์ทุนศักยภาพและทุนทางสังคมในชุมชนได้มากขึ้นแล้ว ก็ควรใช้วิธีสื่อสารบอกกล่าวผ่านการสนทนากับกลุ่มต่างๆเป็นรายกลุ่ม
  • สาระสำคัญที่ผู้ประสานงานและผู้เตรียมชุมชนควรนำเสนอและแจกแจงผ่านการพูดคุยกันก็คือ จุดหมายและวัตถุประสงค์ของการมายังชุมชนของตนเอง การแนะนำโครงการ การเรียนรู้ความสนใจและประเด็นของพื้นที่ รวมทั้งสิ่งที่กลุ่มต่างๆดำเนินการอยู่เพื่อหาแนวทางเชื่อมต่องานกัน หรือพัฒนาความร่วมมือกันต่อไป
  • บันทึกความรู้เกี่ยวกับชุมชนและสรุปบทเรียนเบื้องต้นของกลุ่มคนในพื้นที่ เพื่อเป็นข้อมูลออกแบบการลงสู่ชุมชนของทีมวิจัยและเพื่อประสานงานอื่นๆในลำดับต่อไป

  การเตรียมตนเอง 

  • ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับชุมชน รวมทั้งศึกษาเรียนรู้ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ที่จะสามารถสื่อสะท้อนตนเองได้มากพอสมควรว่าเป็นผู้มีความตั้งใจ จริงจัง และไม่ได้มุ่งวิธีการที่ตนเองจะสะดวกสบายเพียงเพื่อให้ได้งานที่ต้องการ
  • เตรียมเอกสาร สื่อ เกี่ยวกับโครงการ ทั้งเนื้อหา ความคิด กิจกรรมและวิธีดำเนินการต่างๆ
  • การติดต่อประสานงานด้วยโทรศัพท์กับคนในพื้นที่ล่วงหน้า เท่าที่จำเป็น

  ทักษะและวิธีการที่จะช่วยการทำงาน 

  • การวิเคราะห์และการถอดบทเรียนศักยภาพและทุนทางสังคมมิติต่างๆให้มากที่สุด โดยเฉพาะองค์ประกอบด้านการกระตุ้นและขับเคลื่อนกิจกรรมชีวิตเศรษฐกิจชุมชน วิถีวัฒนธรรมและกิจกรรมเพื่อบรรลุคุณค่าทางจิตใจและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในสถานะต่างๆของคนในชุมชน
  • การวิเคราะห์สังคมมิติ Sociogram เพื่อเห็นศักยภาพและทุนมนุษย์ของกลุ่มคนในชุมชนกลุ่มต่างๆ รวมทั้งเห็นเครือข่ายความเชื่อมโยงกันอันซับซ้อนมิติต่างๆของชุมชน ทั้งทางด้านความรู้ท้องถิ่น เศรษฐกิจชุมชน วัฒนธรรม สุขภาพ ความเป็นผู้นำทางความคิดเห็น การเป็นแหล่งข้อมูลและข่าวสาร เป็นต้น วิธีวิเคราะห์สังคมมิติจะช่วยให็เห็นภาพสิ่งที่ชุมชนมีอยู่เป็นทุนทางสังคมของชุมชน และเป็นข้อมูลชี้นำการวางแผนสำหรับประสานงานและจัดเวทีการพบปะกับให้เหมาะสมกับกาละเทศะต่างๆ
  • การทำแผนที่ชุมชนในมิติต่างๆ เพื่อวิเคราะห์เชิงซ้อน ให้เห็นศักยภาพและทุนทางสังคมและทุนศักยภาพทางด้านต่างๆ ทั้งทางด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญาท้องถิ่น แหล่งการเรียนรู้ กิจกรรมสาธารณะ ซึ่งจะทำให้เห็นการกระจุกและการกระจายตัวของปัจจัยพื้นฐานชีวิตชุมชน รวมทั้งเป็นพลังที่เป็นนามธรรม ที่ขับเคลื่อนชีวิตและความเคลื่อนไหวทางด้านต่างๆของชุมชน

  ภารกิจเบื้องตนที่ควรจัดเตรียม 

  • สามารถระบุได้เบื้องต้นว่ากลุ่มผู้เกี่ยวข้องต่างๆที่จะมีความสำคัญต่อการทำงานวิจัยแบบ PAR มีอยู่อย่่างไร เป็นใครบ้าง อยู่ที่ไหน และกำลังทำสิ่งใดอยู่ ที่สำคัญคือ กลุ่มผู้มีศักยภาพในการเป็นนักวิจัยท้องถิ่นโดยการวิจัยแบบ PAR  กลุ่มที่ปรึกษา กลุ่มที่จะเป็นผู้นำเข้าสู่ชุมชนและให้การแนะนำเมื่อจำเป็น กลุ่มผู้ที่ชุมชนเคารพนับถือและถือเป็นสถาบันในชุมชน
  • สามารถระบุวันเวลาและกำหนดการเบื้องต้นในการนัดหมายจัดเวทีชุมชนเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นเข้าสู่พื้นที่ของกลุ่มนักวิจัยที่จะลงไปทำงานกับชุมชนและเพื่อการปรึกษาหารือกันของทุกฝ่าย
  • สามารถมีข้อมูลและเห็นความเป็นเหตุผล ตลอดจนเห็นบริบททุกด้านของชุมชน ในการที่จะออกแบบกิจกรรมและดำเนินการต่างๆโดยถือความเป็นชุมชนเป็นตัวตั้ง
  • สามารถรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนเกี่ยวกับสถานที่และแหล่งสำหรับการทำงานที่เหมาะสมด้วยกัน
  • จัดประชุมและนำเสนอบทสรุปการลงพื้นที่และการเตรียมชุมชนให้กับกลุ่มผู้เกี่ยวข้องที่จะพัฒนาเป็นทีมและเครือข่ายการวิจัยแบบ PAR ร่วมกันต่อไป

  ข้อห้ามและสิ่งที่ไม่ควรทำ 

  • ไม่ทำอวดรู้และสอดรู้สอดเห็นในสิ่งที่เกินบทบาทความเป็นนักวิจัยและคนทำงานความรู้ ซึ่งจะทำให้ทั้งทีมสูญเสียความไว้วางใจจากชุมชน แม้จะช่วยให้งานสำเร็จก็ไม่ควรทำ เพราะในระยะยาวจะเป็นบทเรียนให้สังคมขาดความมั่นใจกับงานทางวิชาการ
  • หากพบกับปัญหาที่น่าสนใจหรือได้รับการขอร้องจากชุมชนให้ช่วยประสานหรือช่วยดำเนินการเพื่อนำไปสู่การแก้ไขด้วยวิธีอื่นที่มิใช่วิธีการทางความรู้และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างปฏิบัติการสังคมด้วยโครงสร้างทางปัญญา ก็ไม่ควรทำ แม้จะมีศักยภาพเข้าถึงอำนาจและเข้าถึงกลไกอื่นที่แก้ปัญหาได้ ก็ไม่ควรทำ เพราะในระยะยาวแล้วจะไม่เป็นผลดี ผู้คนจะไม่ศรัทธาวิธีการทางความรู้และมุ่งสนใจความสำเร็จง่ายๆเฉพาะหน้า ไม่เป็นพลังปฏิรูปสังคมที่ดี
  • วางตนเป็นฝักฝ่ายกับผู้อื่น ไม่ซื่อตรงต่อกลุ่มคนในพื้นที่ซึ่งอาจเป็นกลุ่มทางความคิดและกลุ่มผู้มีอำนาจที่ต่างกลุ่มกัน
  • ไม่สามารถเปิดเผยตนเองและสื่อแสดงตนเอง ตลอดจนกลุ่มผู้เกี่ยวข้องให้แก่ชุมชนและกลุ่มที่ตนเองได้พบปะ
  • ติดต่อขอความร่วมมือผ่านหน่วยงานที่มีอำนาจในท้องถิ่น หรือใช้วิธีการที่อิงกับระบบ ทำให้ชุมชนและคนในท้องถิ่นซึ่งจะต้องอยู่ร่วมกันต่อไปในระยะยาว จำเป็นต้องให้ความร่วมมือและเล่นการเมืองกับคนภายนอกเพียงให้สถานการณ์ผ่านไปอย่างไม่มีความจริงใจต่อกัน

  ธรรมหรือสิ่งที่ควรทำ ควรปฏิบัติ 

  • แสดงตนความเป็นนักวิจัยชุมชน เป็นคนทำงานความรู้กับชาวบ้าน เป็นลูกหลานชาวบ้าน
  • อดทน รับฟัง และร่มผุดประเด็นที่มีเหตุผลแลกเปลี่ยนทรรศนะกันได้ มิใช่เพียงฟังพอเป็นพิธี ฟังแบบผ่านๆ หรือฟังเพื่อรวบรวมข้อมูลหาจุดอ่อนและช่องว่างของผู้อื่นเพื่ออาศัยเป็นจังหวะผลักดันงานที่ตนเองต้องการฝ่ายเดียว
  • สื่อสารกับทุกฝ่ายอย่างเปิดเผย จริงใจ จริงจัง อดทนต่อการแสดงตน และให้ความสำคัญต่อการบอกกล่าวแก่ทุกฝ่าย แม้จะมีคนบางกลุ่มไม่ให้ความสนใจหรือไม่ให้ความร่วมมือ เพราะชุมชนต้องอยู่ด้วยกัน จะให้ความสำคัญแต่จำเพาะกลุ่มคนที่ทีมวิจัยจะทำงานด้วยอย่างเดียวไม่ได้
  • ติดต่อประสานงานให้ชาวบ้านและกลุ่มคนในพื้นที่เกิดความสามารถในการนำกิจกรรมของตนเองก่อน เตรียมศักยภาพคนที่เสียเปรียบและชาวบ้านให้มีความสามารถในการคิดและแสดงออกในนามของตนเองได้บ้างก่อน ก่อนที่จะออกแบบให้ไปร่วมเวทีกับผู้อื่นที่มีความสามารถทำงานในรูปแบบสมัยใหม่ได้ดีกว่า เพื่อทำให้ความหลากหลายในพื้นที่มีความเป็นตัวของตัวเองและสามารถร่วมมือกันเป็นพลังสาธารณะของชุมชนได้ดีมากยิ่งๆขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของผู้เขียนนั้น พบว่า ความจริงใจ ความซื่อตรง ไม่มีฟอร์ม ความมีจุดยืน กล้าคิด กล้าแสดงออก ใส่ใจต่อการเดินเข้าหาคน แต่นอบน้อมมีสัมมาคารวะต่อชาวบ้านและผู้คนที่เกี่ยวข้อง พร้อมทำงานที่ยืดหยุ่นให้แก่ผู้อื่นก่อน และความเป็นธรรมชาติของตัวเราเองนั่นเอง ที่จะเป็นเครื่องมือและวิธีทำงานกับคนในพื้นที่ต่างๆได้ดีที่สุด โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้ง และในสถานการณ์ที่ชุมชนในพื้นที่มีกลุ่มทำงานหลากหลาย

อีกทั้งในกรณีที่เกิดอุปสรรคปัญหาที่คนในพื้นที่ไม่สามารถจะเดินเข้าหากันได้นั้น ผู้ประสานงานและเตรียมชุมชนเพื่อการวิจัยแบบ PAR ก็อาจจะเป็นกลไกสร้างความสมานฉันท์ เป็นสื่อกลาง และเป็นกลไกภาคีที่สาม ที่ทำให้ชุมชนในพื้นที่มีหลักอ้างอิงตรงกัน ในอันที่จะลดความแตกต่างลงไปและเกิดจุดเริ่มต้นในการพูดคุยกันได้อีกด้วย งานวิจัยจึงมีบทบาทต่อสังคมมากกว่าการเสร็จสิ้นที่การเขียนรายงานวิจัยหนึ่งเล่มหรือการตีพิมพ์บทความ และการทำงานสนามของการวิจัยแบบ PAR ก็มีบทบาทสำคัญมากกว่าการติดต่อหน่วยงานและเก็บข้อมูลเพื่อส่งต่อแก่การวิเคราะห์ข้อมูลบนโต๊ะนักวิจัย.

หมายเลขบันทึก: 413538เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2010 17:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดีค่ะ

ขอขอบพระคุณค่ะ  เป็นความต้องการอยากเรียนรู้มานานแล้วค่ะ  ทำให้ย้อนนึกถึงบางบันทึกของอาจารย์ที่เคยอ่านผ่านตา  จะย้อนกลับไปอ่านอีกครั้งค่ะ

เรียนท่าน อาจารย์ ดร.วิรัตน์ มาชื่นชม ฅ ฅน ทำงานด้วย หัวใจ นักพัฒนา ครับ


งานวิจัยแนวนี้ผมว่าจะเหมาะกับพี่คิม หนานเกียรติ และเครือข่าย มากเลยนะครับ มีอยู่ในตัวเองอยู่แล้วเยอะเลยครับ

อีกทั้งกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างคุณธรรมและความเป็นพลเมืองของคนกลุ่มต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมีจิตอาสา ความมีจิตสาธารณะ ความสำนึกต่อท้องถิ่น ความผูกพันต่อระบบนิวเศวิทยาของชีวิตชุมชน เหล่านี้ ที่พี่คิมและเครือข่ายทำอยู่นั้น ผมคิดว่าจะเป็นประเด็นการพัฒนาชุมชนและสังคมประชากรในอนาคตที่สำคัญมากเลยนะครับ จึงสามารถเป็นโจทย์การวิจัยและปฏิบัติการเชิงสังคมไปด้วยได้เป็นอย่างดีครับ โดยเฉพาะในกลุ่มพลเมืองที่เป็นกลุ่มชาวเขาและในชนบท ซึ่งหาคนทำได้ยากน่ะครับ

ขอบพระคุณอาจารย์หมอ JJ ที่มาเยือนและเสริมพลังใจด้วยรูปทะเลที่ผมชอบมากๆครับ
คีบอร์ดที่มี คอ คน นี่ มีทั่วไปหรือเปล่าครับเนี่ย ว๊าววว  เจอแล้วครับ อาจารย์ทำให้ผมเห็น ฅ กับ ฃ ผมไม่เคยสังเกตเลยครับ กราบขอบพระคุณอย่างยิ่งครับ

มาเรียนรู้แนวคิดการลงพื้นที่ชุนชน ขอบพระคุณค่ะอาจารย์

ความจริงใจ ความซื่อตรง ไม่มีฟอร์ม ความมีจุดยืน กล้าคิด กล้าแสดงออก ใส่ใจต่อการเดินเข้าหาคน แต่นอบน้อมมีสัมมาคารวะต่อชาวบ้านและผู้คนที่เกี่ยวข้อง พร้อมทำงานที่ยืดหยุ่นให้แก่ผู้อื่นก่อน และความเป็นธรรมชาติของตัวเราเองนั่นเอง ที่จะเป็นเครื่องมือและวิธีทำงานกับคนในพื้นที่ต่างๆได้ดีที่สุด โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้ง และในสถานการณ์ที่ชุมชนในพื้นที่มีกลุ่มทำงานหลากหลาย

 

ทางมอเชิงดอยก็ทำงานชุมชนและลงพื้นที่เก่งมากนะครับ
เมื่อก่อนนี้ในหมู่นักศึกษาก็เป็นนักกิจกรรมที่เก่งด้วย

สวัสดีค่ะ

วันที่ ๑๗ พี่คิมจะไปเริ่มที่ห้วยกอกค่ะ

เป็นการเริ่มสร้างปฏิสัมพันธ์  ตอนนี้ทุกคนในหมู่บ้านรู้จักพี่คิมแล้วค่ะ  แต่เรายังไม่ได้เปิดใจให้เขารู้ด้วยตัวเองว่าเราเป็นใคร

วันที่ ๑๗ จะไปนอนค้างคืน "ผิงไฟพาแลง" หาอะไรมาทำกินแบบพื้นบ้าน  ผิงไฟ คุยกันก่อน

ชาวบ้านตื่นเต้นมากค่ะ  บอกว่าจะทำข้าวหลาม และอาหารพื้นบ้านให้ทานค่ะ 

วิธีเรียนรู้และเดินเข้าหากันผ่านกิจกรรมที่เป็นวิถีชีวิตและเป็นกิจกรรมชุมชนในลักษณะนี้
จะเป็นทั้งวิธีเข้าสู่พื้นที่เพื่อเตรียมชุมชนและวิธีเรียนรู้เพื่อการเข้าไปยืนในจุดยืนของชุมชนเป็นอย่างดีด้วยครับ ในอดีตนั้น ในงานวิจัยเชิงคุณภาพ ก็มักจะแนะนำให้การไปนอน ทำกิจกรรมชีวิต และกินข้าวกับชุมชน เหล่านี้ เหมือนกับเป็นระเบียบวิธีในการสร้างความเชื่อถือได้ และการสร้างคุณภาพข้อมูลที่จะได้เลยทีเดียวละครับ เดี๋ยวนี้ แม้วิธีอื่นๆช่วยเพิ่มมากขึ้น แต่วิธีอย่างนี้ก็ยังใช้ได้เป็นอย่างที่สุดครับ

บทความนี้คือ สิ่งที่กำลังมองหาอยู่ อยากเรียนรู้ และทำความเข้าใจ

ท่านอ.สรุปบทเรียนได้ชัดเจน ให้แง่คิดมุมคิดที่ทำให้เกิดมุมคิด

สะท้อนออกมาเหมือนพลอยต้องแสง

ขอบคุณค่ะแล้วจะกลับมาอ่านอีกครั้งค่ะ

สวัสดีครับครูต้อยติ่งครับ
สุขภาพและสุขภาวะกลับมาแล้วนะครับ
บันทึกชุดนี้จะพยายามบันทึกเก็บไว้ให้มากที่สุดครับ
เอาไว้หนุนคนทำงานชุมชนในสาขาต่างๆครับ โดยเฉพาะทางด้านการศึกษา
พัฒนาชุมชน เกษตร ศิลปวัฒนธรรมชุมชน สิ่งแวดล้อมชุมชน และพัฒนาสุขภาพชุมชน

ขอบพระคุณท่านเป็นอย่างยิ่ง ที่ให้เป็นคลังความรู้ เสริมปัญญาแก่คนทำงานค่ะ

ด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่งครับ
จะเขียนให้เป็นความรู้ แนวคิด เครื่องมือการทำงานด้วยความรู้
เพื่อเสริมบทเรียน เสริมกำลังและติดดาบงานความคิดให้คนทำงานในชุมชนเชิงพื้นที่ ในสาขาต่างๆน่ะครับ
อาจจะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยให้คนเท่าเดิม งานซับซ้อนมากขึ้น
แต่คนทำได้ความลึกซึ้ง สร้างความรู้ มีวิธีช่วยตกผลึกและจัดการความรู้ให้แพร่หลาย
พร้อมกับมีโอกาสและแง่มุมสร้างความเชื่อมโยงกับเครือข่ายต่างๆได้มากยิ่งๆขึ้นนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท