วิกฤตคนไทยกับการอ่านหนังสือสู่วาระแห่งชาติ


วิกฤตคนไทยกับการอ่านหนังสือ

แม้ในปี 2550 ที่ผ่านมาจะยังไม่มีการรวบรวมหรือจัดทำสถิติจำนวนคนไทยที่ไม่รู้หนังสือแต่ หากย้อนกลับไปดูข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่จัดทำตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2548 จะพบว่า ประเทศไทยมีผู้ที่ไม่อ่านหนังสือถึง 22.4 ล้านคนหรือเกือบ 40% ของประชากรทั้งประเทศ ด้วยเหตุผลว่าชอบดูโทรทัศน์ หรือฟังวิทยุมากกว่า ขณะที่เด็กที่มีอายุ 10-14 ปี กว่า 60% ให้เหตุผลในการไม่อ่านหนังสือว่า เพราะไม่ชอบ และไม่สนใจ

ส่งผลให้สถิติการอ่านหนังสือของคนไทยเฉลี่ยเพียงปีละ 2 เล่ม ซึ่งนับว่าต่ำมากๆ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ที่มีสถิติการอ่านหนังสือปีละ 40-50 เล่ม ส่วนเวียดนาม มีสถิติการอ่านหนังสือปีละ 60 เล่ม จากเหตุดังกล่าวบ่งบอกให้เห็นว่า การอ่านหนังสือของคนไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะวิกฤติอย่างแท้จริง

การเดินหน้าผลักดันให้การอ่านหนังสือ จึงถูกหยิบยกให้เป็น วาระแห่งชาติ โดยมีสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศ (ส.พ.จ.ท.) (The Publishers and Booksellers Association of Thailand) เป็นแม่งานหลัก ซึ่งภาระหน้าที่ดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายขององค์กรต่างๆ อย่างเต็มที่

โดยนางริสรวล อร่ามเจริญ นายก ส.พ.จ.ท. เล่าให้ฟังว่า การผลักดันให้การอ่านหนังสือเป็นวาระแห่งชาติ ต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้เด็กไทยสนใจการอ่านหนังสือ ขณะเดียวกันก็ต้องมียุทธศาสตร์ในการสนับสนุน และแก้ไขปัญหาการไม่อ่านหนังสือของเด็กไทยให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการพัฒนาหนังสือให้เหมาะกับความต้องการของเด็กในวัย ต่างๆ การจัดทำรูปเล่มที่น่าสนใจ หรือแม้กระทั่งการจัดทำเป็น e-book เพื่อสร้างความแตกต่างและน่าสนใจตรงกับพฤติกรรมเด็กที่นิยมเรื่องของ เทคโนโลยีในปัจจุบัน

ซึ่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า หนังสือกลุ่มเด็กและเยาวชน มีการพัฒนาและจัดพิมพ์ ออกมาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีสัดส่วนมากกว่า 20% ของมูลค่าตลาดรวมหนังสือ และคาดว่าในอนาคตหนังสือกลุ่มเด็กและเยาวชนจะเติบโตและมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เป็น 20-25% ขณะที่การกระจายหนังสือให้เข้าถึงมือเด็กและเยาวชน การส่งเสริมให้หนังสือมีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม การปกป้องเด็กจากสื่อที่เป็นภัย และขจัดอุปสรรคต่อการอ่านหนังสือของเด็ก โดยเฉพาะเรื่องของเกม และสื่ออื่นๆ ที่ยากแก่การควบคุม ก็ล้วนมีความสำคัญและต้องดูแลอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้จากข้อมูลของส.พ.จ.ท. ยังระบุว่า ในปี 2550 หากจำแนกตามชื่อเรื่อง จะพบว่ามีหนังสือออกใหม่รวม 11,455 เรื่อง สูงกว่าปี 2549 ในสัดส่วน 31.4% ซึ่งคาดว่าในปี 2551 จำนวนหนังสือออกใหม่จะอยู่ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับปี 2550 เนื่องจากสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ยังระมัดระวังเรื่องของการผลิตเป็นหลัก โดยยอดจำหน่ายหนังสือในปี 2550 ซึ่งประมาณ 18,000 ล้านบาทนั้น 62.8% มาจากสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ รองลงมาคือ 25% มาจากสำนักพิมพ์ขนาดกลาง ส่วนที่เหลือ 12.2% มาจากสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก ขณะที่ภาพรวมของยอดจำหน่ายหนังสือในปี 2551 คาดว่าจะมีไม่น้อยกว่า 19,800 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้เด็ก เยาวชน และผู้ที่รักการอ่านหนังสือได้มีโอกาสสัมผัส และเลือกซื้อหนังสือได้ง่ายขึ้น คือเรื่องของจำนวนร้านหนังสือที่เปิดให้บริการ ซึ่งในปี 2550 พบว่า จำนวนร้านหนังสือที่เปิดใหม่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเติบโตถึง 100.31% การเติบโตดังกล่าวเกิดจากร้าน Book Smile ซึ่งเป็นร้านหนังสือในเครือเซเว่น อีเลฟเว่น ที่ขยายสาขาจำนวนมาก

และหากศึกษาถึงจำนวนร้านหนังสือในประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจะพบว่ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2547 มีร้านหนังสือเพิ่มขึ้นเป็น 759 ร้าน จากปีก่อนที่มีอยู่ 676 ร้าน ส่วนในปี 2548 มีร้านหนังสือเพิ่มขึ้นเป็น 848 ร้าน และ 955 ร้านในปี 2549 ส่วนในปี 2550 พบว่ามีร้านหนังสือเพิ่มขึ้นเป็น 1,913 ร้านเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ดี จำนวนร้านหนังสือที่มีอยู่เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร จะพบว่า ร้านหนังสือ 1 ร้านรองรับประชากรเฉลี่ย 32,952 คน ซึ่งเป็นปริมาณตัวเลขที่สูงมาก

นอกจากร้านหนังสือที่เป็นช่องทางการสร้างโอกาสให้คนไทยได้เลือกหาหนังสือ ที่ตรงกับความสนใจแล้ว การจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ที่มีประจำทุกปีถือเป็นช่องทางหลักที่คนไทยผู้ชื่นชอบหนังสือรอคอยที่จะได้ มีโอกาสเข้าชม สัมผัส และเลือกซื้อหนังสือที่หลากหลาย ทั้งที่เป็นการซื้อเพื่ออ่าน และสะสม ซึ่งในปีนี้ก็เช่นกันงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 36 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 6 ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 26 มีนาคม – 7 เมษายน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์นั้น นอกจากจะมีการแสดง จำหน่ายหนังสือและสื่อการศึกษา อบรมสัมมนาเชิงวิชาการ การเปิดตัวหนังสือจากนักเขียนชั้นแนวหน้าและสมัครเล่นแล้ว ยังมีหนังสือให้เลือกหลากหลายทั้งหนังสือทั่วไป หนังสือเด็ก หนังสือแบบเรียน หนังสือเก่า และหนังสือจากต่างประเทศ รวมกว่า 870 บูธ จากสำนักพิมพ์กว่า 400 แห่ง

การเดินหน้าผลักดันให้คนไทยรักการอ่านหนังสือ คงต้องมีแนวคิดและกลวิธีที่มากกว่าการเชิญชวน และหากได้รับการสนับสนุน และผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกฝ่ายต้องรวมพลังอย่างเต็มที่ เชื่อว่าวิกฤติการอ่านที่กำลังเผชิญกันอยู่ในขณะนี้คงไม่สายเกินแก้…

ที่มา หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจหน้าการตลาด ฉบับที่ 2401 15 ก.พ.?-?18 ก.พ. 2552

หมายเลขบันทึก: 413363เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2010 15:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 14:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ทำไมคนไทยไม่อ่านหนังสื่อกันมากๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท