สถิติการอ่าน


คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย94นาที/วัน

น.ส. วรรณี แกมเกตุ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัยพร้อม กล่าวในการนำเสนอผลการวิจัยเรื่อง "การศึกษาสถานการณ์การอ่านและดัชนีการอ่านของคนไทยปี 2552" จัดโดยคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (ทีเคปาร์ค) ว่า โครงการการศึกษาสถานการณ์การอ่านและดัชนีการอ่านของคนไทยปี 2552 ทำขึ้นเพื่อสร้างเครื่องมือในการสะท้อนความเป็นจริงที่ชัดเจนเรื่องการอ่าน หนังสือของคนไทยที่ตรงตามสภาพที่เป็นอยู่ ด้วยการพัฒนาดัชนี หรือตัวบ่งชี้การอ่าน โดยสอบถามกลุ่มตัวอย่าง 5,865 คน และการจัดประชุมกลุ่มย่อย 156 คน และศึกษากรณีผู้ที่มีนิสัยการอ่านสุดโต่ง ทั้งกลุ่มที่ชอบอ่าน และไม่ชอบอ่านอีก 191 คน ครอบคลุม 13 จังหวัดทุกภูมิภาคของไทย พบสถิติสะท้อนพฤติกรรมการอ่านของคนไทย ระบุว่า คนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือเฉลี่ยวันละ 94 นาทีต่อวัน โดยเด็กและเยาวชนใช้เวลาว่างในการอ่านมากที่สุด ขณะที่คนอายุ 49 ปีขึ้นไป ใช้เวลาว่างอ่านน้อยที่สุด อาชีพข้าราชการใช้เวลาว่างอ่านหนังสือมากที่สุด ส่วนอาชีพอื่นๆ เช่น ภิกษุ แม่บ้าน ทหารเกณฑ์ ใช้เวลาว่างอ่านน้อยที่สุด ด้านที่ตั้งของถิ่นที่อยู่ที่แตกต่างกัน พบว่า ผู้ที่อยู่ในเขตเมือง มีดัชนีการอ่านมากกว่าผู้ที่อยู่ในเขตนอกเมือง ส่วนเด็กและเยาวชนที่ไม่อ่านหนังสือ มีสาเหตุจากความขี้เกียจ แม้จะมีหนังสือ และสถานที่ให้อ่าน ก็ไม่อยากอ่าน

น.ส.วรรณีกล่าว ว่า กลุ่มตัวอย่างบางส่วนที่ไม่อ่านหนังสือเลยจนถึงอ่านทุกวัน เฉลี่ยอ่าน 4 วันต่อสัปดาห์ ที่อายุน้อยกว่า 20 ปี อ่านน้อยที่สุด เฉลี่ย 3-4 วันต่อสัปดาห์ การศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีอ่านมากที่สุด เฉลี่ย 5-6 วันต่อสัปดาห์ ระดับประถม อ่านน้อยที่สุด เฉลี่ย 3-4 วันต่อสัปดาห์ อาชีพรับราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และเอกชน มีจำนวนเรื่องที่อ่านใน 1 สัปดาห์มากที่สุด เฉลี่ย 5 วันต่อสัปดาห์ ส่วนอาชีพรับจ้าง และเกษตรกรน้อยที่สุด เฉลี่ย 3 วันต่อสัปดาห์

 

นอกจากนี้ พบว่ากลุ่มตัวอย่างใช้เวลาในการอ่านเฉลี่ยต่อวันอยู่ ระหว่าง 0-18 ชั่วโมงต่อวัน เฉลี่ย 1.568 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 94 นาทีต่อวัน ผู้ ที่อายุน้อยกว่า 20 ปี มีเวลาอ่านเฉลี่ยต่อวันมากที่สุด เฉลี่ย 115 นาทีต่อวัน ส่วนอายุมากกว่า 49 ปีขึ้นไป อ่านน้อยที่สุด เฉลี่ย 75 นาทีต่อวัน สำหรับการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี มีเวลาอ่านเฉลี่ยต่อวันมากที่สุด เฉลี่ย 116 นาทีต่อวัน ส่วนระดับประถมน้อยที่สุด เฉลี่ย 76 นาทีต่อวัน อาชีพนักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้ว่างงาน มีเวลาในการอ่านเฉลี่ยต่อวันมากที่สุด เฉลี่ย 113 นาทีต่อวัน ส่วนอาชีพ รับจ้าง และเกษตรกร อ่านน้อยที่สุด เฉลี่ย 66 นาทีต่อวัน

น.ส.วรรณีกล่าวว่า ค่าใช้จ่ายการอ่าน มีตั้งแต่ไม่มีค่าใช้จ่ายเลยจนถึง 9,010 บาท เฉลี่ย 523 บาท แยกเป็น อายุ 20-29 ปี มีค่าใช้จ่ายในการอ่านต่อเดือนมากที่สุด เฉลี่ย 589 บาท ส่วนอายุมากกว่า 49 ปีขึ้นไป มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด เฉลี่ย 426 บาท การศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี มีค่าใช้จ่ายในการอ่านต่อเดือนมากที่สุด เฉลี่ย 1,015 บาท ส่วนระดับประถม น้อยที่สุด เฉลี่ย 287 บาท อาชีพรับราชการ มีค่าใช้จ่ายในการอ่านต่อเดือนมากที่สุด เฉลี่ย 670 บาท ส่วนอาชีพรับจ้าง และเกษตรกรน้อยที่สุด เฉลี่ย 301 บาท เมื่อพิจารณาถึงการอ่านคล่องหรือไม่ พบว่า อายุมากกว่า 49 ปีขึ้นไป การศึกษาระดับประถม อาชีพรับจ้าง เกษตรกร ภิกษุ แม่บ้าน และทหารเกณฑ์ มีความคล่องแคล่วในการอ่านน้อยที่สุด ส่วนระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีความคล่องแคล่วมากที่สุด

"ข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาการอ่านของคนไทยนั้น โรงเรียน ควรทบทวนการจัดการเรียนการสอนและการประเมินผลให้เกี่ยวข้องกับการอ่านของนัก เรียนให้มากขึ้น ปรับปรุงพัฒนาวิธีการสอนภาษาไทยเพื่อให้นักเรียนอ่านเขียนได้ถูกต้อง คล่องแคล่ว ผลการวิจัยนี้บ่งชี้การสอนอ่านเขียนในโรงเรียน ยังเป็นปัญหา เนื่องจากนักเรียนอ่านเขียนไม่คล่อง สอดคล้องกับรายงานการประเมินนักเรียนชั้น ป.3 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่อ่านเขียนไม่ได้ นอกจากนี้ รัฐบาลควรทบทวนโครงการให้นักเรียนยืมหนังสือเรียนว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ เพราะนักเรียนไม่กล้าขีดเขียนลงในหนังสือ เนื่องจากต้องส่งคืนในสภาพเดิม ทำให้เด็กไม่กล้านำหนังสือใหม่ไปเรียน อย่างไรก็ตาม ควรจัดทำดัชนีการอ่านสำหรับใช้ติดตามสถานการณ์การอ่านของคนไทยในปีต่อๆ ไป เพื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลเส้นฐานที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้" น.ส.วรรณีกล่าว

 

หมายเลขบันทึก: 413362เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2010 14:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:22 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท