กิจกรรมชุมนุมภาษาไทยในเสียงเพลง


        การจัดกิจกรรมชุมนุมที่เกี่ยวข้องกับทักษะภาษาไทยในปัจจุบันนั้น  นักเรียนไม่ค่อยจะเลือก  มีหลายชุมนุมที่ไม่มีนักเรียนสมัครเลย   และมีหลายชุมนุมที่นักเรียนจำเป็นเลือกเพราะชุมนุมที่เขาต้องการเต็ม   ครูจึงต้องพยายามคิดหากิจกรรมที่จะดึงความสนใจของนักเรียนให้มาเลือกกิจกรรมให้ได้

 

        หลังจากที่พยายามตั้งชุมนุมที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะต่างๆ ก็ไร้ผล  ปีการศึกษานี้  ครูภาทิพ  จึงเปลี่ยนแนวทางที่คิดว่าฉันจะต้องทำกิจกรรมที่สอดรับกับธรรมชาติของวิชาภาษาไทยเท่านั้น โดยมามองความสนใจของครูและนักเรียนที่พอจะนำมาพบกันได้   ครูกำลังเป็นแฟนคลับเดอะสตาร์ (จะปีไหนก็ช่างเถอะ..) นักเรียนก็สนใจเพลงของนักร้องวัยรุ่นที่หมุนเปลี่ยนเข้ามาตลอดเวลา  ประจวบกับการเปิดบล็อก "ภาษาพาสารผ่านดารากับภาทิพ" จึงนำแนวคิดนี้มาเปิดกิจกรรมชุมนุมชื่อ "ภาษาไทยในเสียงเพลง"   ปรากฏว่ามีนักเรียนมาสมัครมากเกินความต้องการแต่ก็รับไว้ทุกคน

 

การดำเนินการ
        ภาคเรียนที่ ๑
  •      สัปดาห์ที่ ๑  ครูและเด็กเปิดใจ  บอกเหตุผลของการจัดตั้งชุมนุม การเลือกชุมนุม  ทิศทางการจัดกิจกรรมที่จะสอดคล้องกับชื่อกิจกรรมชุมนุม  เลือกตั้งกรรมการดำเนินงาน
  • ออกแบบวางแผนกิจกรรมในแต่ละสัปดาห์   นักเรียนก็จะช่วยกันวางแผน  เช่นสัปดาห์ที่ ๒ นำเสนอเนื้อหาเพลงในละคร  ตีความ ว่าเนื้อหาในเพลงสอดคล้องกับละครหรือไม่   สัปดาห์ที่ ๓   ภาษาในเพลงลูกทุ่ง    สัปดาห์ที่ ๔  ภาษาในเพลงเก่า     ฯลฯ 
  • การดำเนินกิจกรรมนักเรียนจะแบ่งความรับผิดชอบไปว่าแต่ละคู่คือสัปดาห์ไหน  เมื่อถึงเวลาก็จะนำโทรศัพท์มือถือมาเปิดเพลงผ่านลำโพงให้ฟัง  และอธิบายความหมาย การตีความ  ความงามในภาษา ของเพลงที่เขารับผิดชอบ
  • ทำเช่นนี้ไปทุกสัปดาห์จนหมดภาคเรียนที่ ๑
       
 
   ภาคเรียนที่ ๒
         นักเรียนจะเริ่มเบื่อกิจกรรมเดิมๆ   เขาจึงขอให้ใช้เพลงสากล  เพลงจากประเทศต่าง ๆ ได้  ครูก็อนุญาต  แม้ว่ากิจกรรมชุมนุมจะชื่อว่า "ภาษาไทยในเสียงเพลงก็ตาม" กิจกรรมที่พวกเขาออกแบบก็คือ

 

  • ให้แต่ละคู่มาเลือกว่าจะนำเสนอเพลงแนวไหน สะท้อนเนื้อหา ภาษาด้านใด จะรับผิดชอบสัปดาห์ไหน   ซึ่งก็สามารถดำเนินการได้เสร็จสิ้นภายในสัปดาห์ที่ ๑
  • สัปดาห์ที่ ๒  เป็นของนักเรียนชั้นม.๒ เรียนโครงการภาคภาษาอังกฤษ  เธอทั้งคู่สนใจเรียนวิชาภาษาจีน  เกาหลี และญี่ปุ่นเพิ่มเติมที่บ้าน  โดยมีดาราและซีรีย์ดังๆ เป็นแรงขับ  เมื่อถึงเวลา นักเรียนเตรียมเพลงมามากมาย  เธอเขียนภาษาเกาหลี ภาษาจีนอย่างคล่องแคล่ว  เปิดเพลงให้ฟัง   พร้อมอธิบายความหมายได้อย่างดียิ่ง

 

ผลจากการนำเสนอเพลงของนักเรียนในสัปดาห์ที่ ๒  
 
       ๑. สมาชิกทุกคนนั่งฟังกันอย่างมีความสุข  เสียงปรบมือดังทุกครั้งที่อธิบายแต่ละเพลงจบ  นักเรียนชุมนุมอื่นที่เดินผ่านมาก็หยุดมองด้วยความทึ่ง
      ๒. นักเรียนชั้น ม.๓ ที่เป็นรุ่นพี่ ถึงกับออกปากว่า  สัปดาห์ต่อไปที่เป็นความรับผิดชอบของเขาจะต้องออกแบบให้ดีไม่อย่างนั้นจะต้องอายน้องๆ
        ที่นำเสนอมา มิได้หมายความว่ากำลังชื่นชมและส่งเสริมการฟังเพลงต่างประเทศ  เพียงแต่เห็นว่าหากเราเปิดใจ ยอมรับการเปลี่ยนแปลงบ้าง  เราก็สามารถนำภาษาไทยสอดแทรกกับสิ่งที่นักเรียนสนใจได้   พวกเธอ เขาและเรา คือตัวครู ก็ได้ร่วมทำในสิ่งที่ตัวเองมีความสุข       
หมายเลขบันทึก: 410381เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2010 23:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท