บัณฑิตศึกษา กำหนดชะตา "การศึกษาไทย..."


วุฒิการศึกษาของคนก้าวไปไกล แต่วุฒิภาวะของคนในก้าวไม่ทัน

วุฒิการศึกษาของคนก้าวไปไกลขนาดไหน แต่วุฒิภาวะของสังคมนั้นยังอยู่ห่างไกลจากความจริง

คนเรานั้นนำวุฒิการศึกษามาพัฒนาตัวเอง ตัวเองไปแล้ว แต่ไม่นำสังคมไปด้วย เรียกง่าย ๆ ว่า "เอาตัวรอด" เอาตัวไป แต่ไม่เอาส่วนรวมไป

มีสักกี่คนที่จะลาไปศึกษาต่อเพื่ออยากที่จะกลับมาพัฒนาองค์กร พัฒนาประเทศชาติเป็นงานหลัก

เพราะคนหลายคนที่ข้าพเจ้าพบเจอมาลาไปศึกษาต่อเพื่อพัฒนาตำแหน่งหน้าที่การงานของตัวเอง เพราะบางครั้งอยากให้คุณวุฒิก้าวล้ำนำหน้ากว่าวัยวุฒิ อายุน้อย การศึกษามาก

ต้นไม้เวลาโต ยังต้องพัฒนาลำต้นเพื่อรองรับกิ่งก้านที่แผ่ขยายออกมา

ต้นไม้ใดที่ถูกเร่งโต พอเจอลมแรง ๆ อันได้แก่ ลูกน้องที่มีวัยวุฒิมากกว่าก็ดี จำนวนของลูกน้องที่มากมายก็ดี "ปริญญา" จะต้านทานแรงลมไม่ไหว

แต่จะทำอย่างไรได้ ก็เมื่อคนทั้งคมเฮละโลไปเรียนเพิ่มวุฒิกันหมด ซึ่งสมัยนี้เรียนง่าย เพราะสถาบันการศึกษาแข่งขันกันเกิดสาขาวิชาทั้งโท ทั้งเอก

เมื่อก่อนจะเรียนต่อโทกันสักที ต้องสอบแข่งกันหน้าดำคร่ำเครียด แต่เดี๋ยวนี้ "ธุรกิจการศึกษา" ต่างกันแย่งชิงเพื่อให้ได้มาซึ่งนักศึกษาอันจะนำมาซึ่ง "เงิน"

เมื่อสถาบันการศึกษากลายเป็นองค์กรทางธุรกิจ ที่ส่งบุคลากรไปเรียนต่อเพื่อหวังที่ให้กลับมาเปิด ป.โท ป.เอก องค์กรธุรกิจแบบนี้ไม่ต้องคำนึงถึงคุณภาพ

ป.โท ป.เอก เป็นแหล่งรายได้ ยิ่งอาจารย์หรือบุคลากรของตนเรียนจบไวเท่าไหร่ ก็ยิ่งสร้างรายได้ให้เร็วเท่านั้น

ดังนั้นหลักสูตร ป.โท ป.เอก ภาคปกติ เรียนยาก ๆ เรียนนาน ๆ จึงไม่ถูกสนับสนุนจากนักบริหารการศึกษาภาษานักธุรกิจเท่าใดนัก

วิสัยทัศน์ปัจจุบันคือ "จบก่อน ได้ก่อน"

อย่างเช่นทุกวันนี้ สถาบันที่เปิดสอนระดับปริญญาโทเยอะมาก และก็หาคนเรียนได้ยากมากเหมือนกัน เพราะคนที่อยากเรียน เขาก็เรียนจบไปหมดแล้ว

กว่าอาจารย์ของตนเองที่ส่งไปเรียนจะจบ ตามหาผู้ทรงวุฒิได้ ขอรับรองหลักสูตร สถาบันอื่นก็จบไปแล้วหลายรุ่น รุ่น ๆ หนึ่งก็หลายร้อยคน

ดังนั้นใครชักช้ามีสิทธิอด หมดแล้ว หมดเลย...

คราวนี้ก็ต้องมาแข่งกัน มีโปรโมชั่นต่าง ๆ นานา เพราะสถาบันก็ได้ลงทุนไปแล้ว ส่งบุคลากรไปศึกษาต่อแล้ว เสียเงินค่าเปิดหลักสูตร และจ้างผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว ลงทุนไปแล้วก็ต้องหาทางถอนทุนคืน

ระบบการศึกษาในปัจจุบัน (ซึ่งอาจจะผิด) นั้นเป็นอย่างนี้

ดังนั้น อาจารย์ที่ไปเรียนหลักสูตรเร่งรัดเพื่อให้จบปริญญาเอก ในการที่จะรองรับการเปิดหลักสูตรปริญญาโทนั้น จะสอนให้นักศึกษามีคุณภาพเหมือนอาจารย์รุ่นก่อน ๆ นั้นเป็นไปได้ยาก

สิ่งนี้เอง จึงเป็นปรากฏการณ์อย่างที่ท่าน โสภณ เปียสนิท ได้กล่าวได้ว่า "กล่าวกันว่าการศึกษาของเรากำลังส่งเสริมปริญญาโทและเอก แต่ต้องกลับไปทำงานกินเิงินเดือนระดับป.ตรี  น่าจะถึงทางตันสักวันหนึ่งเร็วๆนี้นะครับผม" 

สิ่งนี้มีเหตุ มีปัจจัยที่ส่งให้มาเป็นอย่างนี้ เพราะถึงแม้นคุณวุฒิจากเกียรติบัตร ปริญญาบัตรจะดูสูงขึ้น แต่คุณภาพไม่สูงขึ้นตามเกียรติบัตรนั้น เกียรตินั้นก็กลายเป็นแค่เศษกระดาษ

องค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจ จัดตั้งขึ้นมาเพื่อแสวงหากำไร เขาจ่ายอะไรออกไปก็ต้องหวังว่าได้รับกลับมาสูงกว่า

และในทางกลับกัน หน่วยงานราชการ ก็ดำรงตนเป็นองค์กรธุรกิจมากขึ้น คือ หวังกำไรขาดทุนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ดังนั้นจะรับคนไม่เก่ง ไม่มีคุณภาพ แต่จ่ายเงินตามวุฒิ หรือจ่ายมากกว่าคุณภาพที่ได้รับ เขาก็เริ่มปฏิเสธเหมือนกัน

ยุคนี้จึงเป็นยุคที่เอากระดาษไปแลกกระดาษ เอาใบปริญญาบัตรไปแลกเงิน...

แต่คนในปัจจุบันก็ฉลาด รู้ว่าปริญญาบัตรเป็นสิ่งสมมติ ก็ตีค่าสิ่งสมมตินั้นออก มีคุณภาพแค่ไหน เอาเงินไปแค่นั้น...

เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัย ปัจจุบันก็เริ่มปฏิเสธผลผลิตของตนเอง เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าผลผลิตที่ตนเองผลิตออกมานั้นเป็นอย่างไร แต่จะพูดออกไปให้ใครรู้ก็ไม่ได้ เพราะเหมือนกลืนน้ำลายลงคอ

ทุกอย่างกำลังดำเนินไปอย่างเป็นวัฏจักร หมุนเวียน เปลี่ยนไป สุดท้ายก็กลับมาที่จุดเดิมคือ สถาบันการศึกษา หรือมหาวิทยาลัย สถานที่ที่ผลิตคน ผลิตใครออกไป สุดท้ายตนเองก็ได้รับผลอย่างนั้น

การนำสถาบันออกนอกระบบ การกระจายอำนาจ การปกครองตนเอง เป็นดาบสองคม ถ้าไม่พิจารณาถึงเรื่อง "ผลประโยชน์" ผลได้ ผลเสียให้ดี ปรากฏการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้มีแต่เสียมากกว่าได้...

หมายเลขบันทึก: 409026เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2010 17:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มีนาคม 2012 10:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

จริง ๆ แล้วระดับบัณฑิตศึกษา เป็นการเรียนรู้เพื่อสังเคราะห์เพื่อตอบคำถามการวิจัยที่ท้าทายใหม่ ๆ

แต่ผู้เรียนบัณฑิตศึกษาต้องการแค่วุฒิ และกระดาษ ไปทำประโยชน์ จึงสวนทางกัน

บัณฑิตศึกษา คือ การศึกษาอย่างบัณฑิต

บัณฑิต คือ บุคคลที่กระทำในสิ่งที่ถูกต้อง กระทำในสิ่งที่เหนือกว่าความถูกใจ

เมื่อบัณฑิตไปเรียนหรือทำอะไรตามใจ ก็กลายเป็นมหาบัณฑิตตามใจ กลายเป็นการตามอกตามใจอย่างดุษฎีบัณฑิต

เมื่อคนหนึ่งทำได้ อีกคนหนึ่งก็ทำตาม

บุคคลผู้มีอินทรีย์อ่อน ไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง เมื่อเห็นผู้ที่มีคุณวุฒิสูงกว่า วัยวุฒิสูงกว่าทำก่อน ก็ทำตาม เพราะขาดความเชื่อมั่นในความดีงามของตนเอง

เรื่องนี้จักต้องสำเหนียกระวังตนเองให้จงหนัก

การก้าวเท้าตามบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมปัจจุบันนั้นจักต้องพินิจ พิจารณาว่าบุคคลนั้นดีด้วยแก่น หรือมีเพียงแค่ "กระพี้"

ปริญญาบัตรเป็นเพียงกระพี้ของต้นไม้ที่ไร้ซึ่งแก่น

เมื่อไม้ไม่มีแก่น ก็ต้องหาอะไรต่ออะไรมาแปะไว้เพื่อ "เรียกราคา"

ปริญญาบัตรเป็นสิ่งที่เรียกราคาได้ในสังคมทุนนิยมที่ลุ่มหลง "วัตถุนิยม"

ฉะนั้น บัณฑิตทั้งหลายควรแล้วหรือที่จะเป็น "พาลชน" คือบุคคลผู้มีจิตใจอ่อน ผ่อนปรนไปตามกระแสสังคมนั้น

การเรียนหนังสือ อย่ามัวแต่พัฒนาหัวสมอง ควรพัฒนาจิตวิญญาณให้นำหน้าหัวสมองที่ก้าวหน้านั้น

ถ้าใช้หัวสมองนำอย่างเดียว สังคมก็บิดเบี้ยวดังเช่นทุกวันนี้

สังคมในปัจจุบันทุกนำด้วยคนที่มี "ปัญญาเฉโก" คือเฉไฉ เถลไถลไปตามกิเลส ตัณหา และกามราคะ

เรียนหนังสือ เขียนหนังสือ สอนหนังสือ ก็เพราะตอบสนองกิเลสและตัณหาของตนเอง

ใช้ตรรกกะที่บิดเบี้ยว เพื่อลดเลี้ยวเสาะแสวงหาผลประโยชน์

บัณฑิตเทียมเขาทำตัวเช่นนั้น เพราะการเดินตามกระแสกิเลสย่อมถูกใจพาลชน

บัณฑิตที่แท้เขาตั้งใจสวนกระแส เพื่อนำตนไปทำในสิ่งที่ถูกต้อง

พึงพัฒนาตัวเองให้เป็นบัณฑิตที่แท้ เพราะทองแท้ย่อมไม่แพ้ไฟ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท