พระราชพิธีเดือน ๓ ในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์


พิธีธานยเทาะห์

๑. ความหมาย  ความสำคัญของประเพณี

พิธีธานยเทาะห์  เป็นภาษาสันสฤตว่า     ธานฺย แปลว่า ข้าว   เทาะห์ แปลว่า เผา

        พิธีธานยเทาะห์  หรือธัญเทาะห์  เป็นพิธีเผาข้าวเพื่อเสี่ยงทายฟ้าฝน  หรือความอุดมสมบูรณ์ของธัญญาหารในแต่ละปี  ทั้งนี้ถือเป็นพิธีทางศาสนพราหมณ์ ความสำคัญของพิธีนี้จะอยู่ที่การเผาซังข้าว เผาฟางข้าว ในท้ายพิธี เพราะ หลังจากนวดข้าวเสร็จสิ้น สิ่งที่เหลือก็คือฟางข้าว ซังข้าวและเศษข้าวเปลือกที่ไม่มีเมล็ดภายใน เมล็ดลีบ เมล็ดที่ไม่สมบูรณ์คนไทยเชื่อว่า สิ่งที่ทำให้ข้าวเป็นอย่างนี้ คือ ภูตผี ปีศาจ เสนียด จัญไร เป็นผู้ทำ เป็นสิงอยู่ภายในเมล็ดข้าว ด้วยเหตุนี้จึงมีการเผาซังข้าว ฟางข้าว เพื่อไล่สิ่งไม่ดีออกไปในการเพาะปลูกครั้งต่อไปจะเหลือไว้แต่สิ่งดีๆ นอกจากปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป

๒.  รูปแบบประเพณีเหมือน – ต่างจากสุโขทัยและอยุธยาอย่างไร

พิธีธานยเทาะห์เป็นพระราชพิธีที่ทำมากันตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา  ไม่ปรากฏหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ายังมีการประกอบพิธีดังกล่าวในสมัยรัตนโกสินทร์  จนถึงปัจจุบันจึงไม่สามารถเปรียบเทียบถึงความเหมือนและความต่างของพระราชพิธีได้                                                                                           พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้คัดข้อความตามตำราพระราชพิธีเพียงเท่านั้น  ไม่ได้มีการกระทำพระราชพิธีนี้ในสมัยของพระองค์

๓.  เอกลักษณ์หรือลักษณะเด่นของพระราชพิธี

                เอกลักษณ์หรือลักษณะเด่นของพระราชพิธี  คือขั้นตอนการประกอบพระราชพิธี  ในตำราเล่าว่า พระจันทกุมารเป็นผู้ฉลองพระองค์ออกไปทำการพิธี  ตั้งโรงพิธีที่ทุ่งนา  เห็นจะเป็นทุ่งหันตราคือทุ่งหลวง  มีกระบวนแห่ออกไปเช่นแรกนา  แล้วเอารวงข้าวมาทำเป็นฉัตรปักไว้หน้าโรงพิธี  พระจันทกุมารนั่งที่โรงพิธี  แล้วจึงเอาไฟจุดรวงข้าวที่เป็นฉัตรนั้นขึ้น  มีคนทั้งแต่ตัวเสื้อเขียวพวกหนึ่ง  เสื้อแดงพวกหนึ่ง  สวมเทริดท่วงทีจะคล้ายๆอินทร์พรหมหรือโอละพ่อ  สมมติว่าเป็นอินทร์พวกหนึ่ง  เป็นพรหมพวกหนึ่ง  เข้ามาแย่งรวงเข้ากัน  ข้างไหนแย่งได้มีคำทำนาย 

                จะเห็นได้ว่าขั้นตอนการประกอบพิธีจากตำราพระราชพิธีจะเด่นชัดและเป็นเอกลักษณ์ของพระราชพิธี  ซึ่งมีความแตกต่างจากพระราชพิธีอื่นๆ  

๔.  ความสัมพันธ์กับขนบประเพณีกับศาสตร์  และองค์กรอื่น

                  ความสัมพันธ์กับขนบประเพณีอื่น

                -พิธีจรดพระนังคัล                                                                                                                                                            ในพระราชพิธีธานยเทาะห์  เป็นพิธีที่คู่กับพิธีจรดพระนังคัล  เพื่อเป็นการเสริมสิริมงคลให้แก่พืชพันธุ์ธัญญาหาร  ดังปรากฏในตัวบทที่ว่า

                การพิธีเผาข้าวนี้เป็นการคู่กันกับพิธีจรดพระนังคัล  เพื่อให้เป็นการสวัสดิมงคลแก่ธัญญาหาร  ซึ่งเป็นเสบียงสำหรับพระนคร

                -พิธีกะติเกยา                                                                                                                                                                        หลังการประกอบพระราชธานยเทาะห์นั้นจะมีการทำนาย  ซึ่งคำทำนายก็จะมีเค้าที่คล้ายกับพิธีกะติเกยา  ดังปรากฏในตัวบทที่ว่า

                แต่คำทำนายนั้นก็คงจะอยู่ในเค้าพิธีกะติเกยาดีทั้งนั้นความสัมพันธ์กับศาสตร์แขนงต่างๆ

๑.      ด้านโหราศาสตร์ 

ความสัมพันธ์เกี่ยวกับโหราศาสตร์  คือ  ในการประกอบพระราชพิธีธานยเทาะห์ต้องมีการทำนายทายทัก  หลังการประกอบพิธีจึงจำเป็นต้องมีผู้รอบรู้ทางด้านโหราศาสตร์เพื่อทำนายผลของการประกอบพระราชพิธี

๒.     ด้านดาราศาสตร์                                                                                                              

ความสัมพันธ์เกี่ยวกับดาราศาสตร์  คือ  ในการทำนายนั้นต้องมีการดูทิศทางและ การเรียงตัวของดวงดาว  จึงต้องอาศัยความรู้ทางด้านดาราศาสตร์มาร่วมกับด้านโหราศาสตร์   

๓.     ด้านไสยศาสตร์ส

ความสัมพันธ์เกี่ยวกับไสยศาสตร์  คือ  ในการประกอบพระราชพิธีธานยเทาะห์ต้องมีการกระทำพิธีหลากหลายพิธีด้วยกัน  ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องเวทมนตร์คาถา  ดังปรากฏในตัวบทที่ว่า

ด้วยเป็นฤดูเวทมนตร์คาถาอยู่คงกระพันชาตรี  หมดดูกระทำขลังนัก

 

๕. คุณค่าของการศึกษา

                ๕.๑  ทางด้านวรรณศิลป์                                                                                                                                                   จะเห็นได้ว่ามีลักษณะในการใช้แต่งนั้นจะมีการใช้สำนวนภาษาที่ไม่เคร่งครัด  ทำให้อ่านแล้วสามารถจับใจความได้ไม่ยาก  การใช้คำก็ใช้คำที่สั้น  กะทัดรัด  และง่ายต่อการเข้าใจ                                                          มีการยกประเพณีที่เกี่ยวข้องขึ้นมาให้ผู้อ่านได้เห็น  และทำให้เกิดการเชื่อมโยงทางด่านความคิดขึ้น  ทำให้ผู้อ่านเข้าใจการประกอบพิธีดียิ่งขึ้น  ดังที่ปรากฏในตัวบทที่ว่า

                การพิธีเผาข้าวนี้เป็นการคู่กันกับพิธีจรดพระนังคัล  เพื่อให้เป็นการสวัสดิมงคลแก่ธัญญาหาร  ซึ่งเป็นเสบียงสำหรับพระนคร

แต่คำทำนายนั้นก็คงจะอยู่ในเค้าพิธีกะติเกยาดีทั้งนั้น

                นอกจากนี้แล้วยังมีการกล่าวถึงสาระความรู้เพิ่มเติมที่เกี่ยวกับพระราชพิธีธานยเทาะห์ให้กับผู้อ่านได้รับรู้  ถือเป็นเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยให้แก่ผู้อ่าน  ดังที่ปรากฏในตัวบทที่ว่า

                ข้ออธิบายนอกเรื่องหน่อยหนึ่งว่า  ฯลฯ                                                                                                                        ๕.๒  ทางด้านสังคม                                                                                                                                                                 สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมมาตั้งแต่โบราณ โดยเฉพาะการทำนา จะมีมากในสังคม การประกอบพระราชพิธีธานยเทาะห์ มีคุณค่าในการให้ความสำคัญกับอาชีพของชาติคนไทยใกล้ชิดกับข้าวมาก ก็มีความเชื่อต่อสิ่งนี้มาก การประกอบพระราชพิธีนี้ จึงทำให้ราษฎรมีความรัก ความเอาใจใส่ต่อข้าวและยังมีการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ราษฎรอย่างยิ่ง 

                                                                                                                                   ๕.๓ ทางด้านศิลปวัฒนธรรม                                                                                                                                                     วัฒนธรรมที่ปรากฏจะเป็นเกี่ยวกับความเชื่อที่เป็นเรื่องโชคลาง  และเรื่องภูตผี  เพราะในการประกอบพระราชพิธีเป็นการปัดเป่าความไม่ดี  ความอัปมงคลที่อยู่ในข้าว  คนสมัยก่อนมีความเชื่อว่าถ้ามีภูตผี  จะทำให้การเพาะปลูกไม่สมบูรณ์  ได้ผลผลิตน้อย  หรือทำให้เกิดความเสียหายเกี่ยวกับผลผลิต  และหลังจากการประกอบพิธีก็ต้องมีการทำนาย  ซึ่งถือเป็นความเชื่อที่ด้านโชคลาง  ถ้าคำทำนายเป็นไปในทางที่ดี  ก็จะถือว่าการเพาะปลูกก็จะดี  แต่ถ้าไม่พืชผลจะเสียหาย  เพาะปลูกได้ผลผลิตน้อย  หรือไม่ก็เสียหาย  

             

๕.๔  ทางด้านจิตใจ                                                                                                                                                              พระราชพิธีธานยเทาะห์ เป็นพระราชพิธีที่ปลุกจิตสำนึกให้ราษฎรมีความห่วงแหนอาชีพที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ  และเห็นความสำคัญของการประกอบอาชีพเกษตรกรรม  ไม่ประกอบอาชีพอยู่ในความประมาท  กระทำอย่างตั้งใจ

 

พิธีศิวาราตรี

.  ความหมายและความสำคัญของประเพณี

ความหมายของพิธีศิวาราตรี มี 2 นัย ดังนี้

.  รูปศัพท์ของศิวาราตรี

ศิวาราตรี มาจาก   ศิวะ + ราตรี

ศิวะ หมายถึง องค์พระศิวะผู้เป็นเจ้าที่ยิ่งใหญ่

ราตรี หมายถึง กลางคืน

       ดังนั้นเมื่อนำคำทั้งสองคำนี้มาร่วมกันเป็น ศิวาราตรี  จึงแปลเป็นไทยได้ความหมายว่า  คืนแห่งพระศิวะ หรือ ราตรีแห่งพระผู้เป็นเจ้า อันนี้เป็นความหมายตามรูปศัพท์

                    ๒.  ศิวาราตรี หมายถึง พิธีแห่งการลอยบาป ทาง ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจะจัดให้มีขึ้นเป็นประจำในวันเพ็ญเดือน ๓ ของทุก ๆ ปี

ความสำคัญของประเพณี

       พิธีศิวาราตรี  เป็นพิธีลอยบาปของพราหมณ์  ซึ่งเป็นพิธีที่มีมาแต่โบราณ  ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้เคยทำกันมาครั้งหนึ่งแล้ว  ก็ปรากฏว่าไม่ได้ทำอีกเลย  จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้  สาเหตุที่เกิดทำพิธีนี้ขึ้นนั้น  ด้วยทรงกริ้วพระสงฆ์ว่าไม่ทำปวารนา  และไม่ทำอุโบสถ  เป็นการล่วงเลยข้อวัตรที่สำคัญตามพระธรรมวินัย

       พิธีศิวาราตรีนี้มีตำนานเล่าขานกันมาว่า  ครั้งหนึ่งยังมีนายพรานผู้หนึ่งมีนามว่า สุสวาร ได้พักอาศัยอยู่ใกล้แค้วนพาราณสี มีอาชีพล่าสัตว์และจับสัตว์ไปขายในเมืองใหญ่ จนกระทั่งในวันหนึ่งได้ออกไปล่าสัตว์ในป่าใหญ่แห่งหนึ่ง แต่ว่าโชคไม่เข้าข้างกลับไม่พบกับสัตว์ให้ล่าแม้เพียงตัวเดียว นายพรานสุสวารจึงได้เดินท่องเที่ยวหาสัตว์เข้าไปในป่าลึกและลืมเวลาจนพลบค่ำ

       วันที่นายพรานสุสวารออกล่าสัตว์นั้นเป็นข้างแรม ท้องฟ้าปราศจากหมู่ดวงดาวและแสงสว่างอื่นใด นายพรานสุสวารได้หลงทางจนไม่ทราบว่าจะสามารถกลับออกมาจากป่าลึกนี้ได้อย่างไร และป่าลึกนี้ย่อมมีสัตว์ร้ายเป็นแน่ ด้วยความเกรงกลัวต่อสัตว์ร้ายในตอนกลางคืน นายพรานสุสวารจึงได้คิดปีนต้นไม้ใหญ่เพื่อความปลอดภัย และขึ้นไปนอนหลับรอแสงสว่าง

      บังเอิญต้นไม้ใหญ่ที่ว่านี้ คือ ต้นไทรใหญ่และใต้ต้นไทรใหญ่นี้ มีศิวะลึงค์ประดิษฐานอยู่ ป่าลึกใหญ่ที่น่ากลัวแห่งนี้ตกดึกสงัดยิ่งดูน่ากลัวเข้าทุกที ทำให้พรานผู้นี้ได้ท่องบ่งมนตราบูชาต่อพระศิวะเทพ และเมื่อดึกเข้า นายพรานสุสวารเกิดความหิวและกระหายน้ำมากแต่ก็ไม่รู้จะหาน้ำและอาหารจากไหนจึงได้อดทนต่อไป และอีกประการหนึ่งนายพรานนี้มีความวิตกห่วงใยต่อครอบครัว ภรรยา และลูก ๆ ว่าคงรอคอยผู้เป็นบิดา ด้วยความหิวเป็นแน่แท้ และภรรยาต้องรอคอยการกลับของผู้เป็นหัวหน้าครอบครัว ด้วยอาการกระสับกระส่ายของพรานผู้นี้ เขาได้เริ่มร้องให้และดึงใบไม้ออกจากกิ่งปล่อยให้ใบไม้นั้นร่วงลงพื้น ให้บังเอิญตกลงบนศิวะลึงค์ที่อยู่ใต้ต้นไทรใหญ่โดยมิได้ตั้งใจ วันนี้แท้จริงแล้วคือ "วันศิวะราตรี" นายพรานได้กราบไหว้บูชาท่องบ่นมนตราบูชาต่อพระศิวะเจ้า โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ

     เรื่องนี้พระศิวะเจ้า ทรงเล็งเห็นด้วยพระญาณ พระองค์ทรงโปรดนายพรานเป็นอันมาก ต่อมาภายหลังที่นายพรานสุสวารได้สิ้นลมหายใจไปแล้ว จึงได้ขึ้นไปอยู่บนศิวะโลก เป็นบริวาลแห่งพระศิวะเจ้า อย่างมีความสุข หลุดพ้นจากบาปทั้งหมดที่ได้เคยกระทำไว้ในชาตินี้ 

      เมื่อถึงระยะเวลาหมดสิ้นในการเสวยผลบุญบนศิวะโลก นายพรานสุสวารท่านนี้ ได้กลับมาเกิดใหม่ในโลกมนุษย์ จากผลบุญที่ได้บูชาและท่องบ่นมนตราต่อพระศิวะเจ้า จึงถือเพศเป็นพระราชามีพระนามว่า "พระไชตรภานุ" พระองค์ทรงใช้เวลาทั้งหมดทุ่มเทต่อการกราบไหว้บูชาต่อพระศิวะเจ้าและบูชามากที่สุดในวันศิวะราตรีนี้ และถือได้ว่าเป็นยอดแห่งผู้บูชาในวันนี้

      พิธีศิวาราตรีนี้ถือได้ว่าเป็นวันสำคัญ เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ในทางศาสนา เมื่อวันเช่นนี้เวียนมาถึงเข้าประชาชนโดยทั่วไป ตลอดทั้งนักพรต นักบวชในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ทั่วทุกสารทิศก็จะหลั่งไหลไปทำพิธีลอยบาปกันที่แม่น้ำคงคา ตรงจุฬาตรีคูณ เมืองอันลาฮาบาดทุก ๆ ปีจึงนับได้ว่าพิธีลอยบาปนี้เป็นพิธีที่สำคัญและยิ่งใหญ่อีกพิธีหนึ่งที่ประชาชนให้ความสนใจและไปร่วมประกอบพิธีนี้ เพราะในแต่ละปีนั้นจะมีประชาชนไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก

.  รูปแบบประเพณี  เหมือน – ต่างจากที่เคยจัดในสมัยสุโขทัย  อยุธยา  หรือไม่  อย่างไร

พิธีศิวาราตรีนี้  เป็นพิธีของพราหมณ์ซึ่งมีมาตั้งแต่โบราณ  เริ่มทำขึ้นเมื่อสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  ซึ่งเคยทำกันมาครั้งหนึ่งแล้ว  ก็ปรากฏว่าไม่ได้ทำอีกเลย  ดังนั้นแล้วความเหมือน  และความแตกต่างของพิธีในสมัยสุโขทัย  อยุธยาที่เคยจัดขึ้นจึงไม่ปรากฏให้เห็น  ด้วยเหตุผลที่พิธีนี้เพิ่งเริ่มมีขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั่นเอง   ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับในปัจจุบันพบว่า  พิธีศิวาราตรีนี้ในปัจจุบันเป็นการย่อพิธีที่มีมาแต่โบราณลง  แต่ยังคงถือปฏิบัติจวบจนปัจจุบัน

.  เอกลักษณ์หรือลักษณะเด่นของพระราชพิธีนั้น

                พิธีศิวาราตรีนี้  เป็นพิธีล้างบาปของพราหมณ์  พิธีนี้ทำในเดือน  ๓  ขึ้น  ๑๕  ค่ำ  เวลาค่ำ  พระมหาราชครู ฯทำพิธีกรวิสูทธิ์  อาตมวิสูทธิ์เหมือนอย่างพิธีทั้งปวง  แล้วเอาเสาปักสี่เสา  เอาเชือกผูกคอหม้อ  โยงเสาทั้งสี่  ภายใต้หม้อตั้งพระศิวลึงค์  เจาะหม้อให้น้ำหยดลงมาทีละน้อย  เอาขลังสอดไว้ในช่องหม้อที่เจาะนั้นเฉพาะตรงพระศิวลึงค์  ให้นำหยดลงถูกพระศิวลึงค์ทีละน้อย  แล้วไหลลงมาตามรางซึ่งรองรับพระศิวลึงค์  ซึ่งพราหมณ์ในประเทศอินเดีย  เรียกว่า  โยนิ  แล้วมีหม้อรองที่ปากรางนั้นต้องเติมน้ำไปจนตลอดรุ่ง  อย่าให้น้ำในหม้อนั้นหมดได้  ครั้นเวลาใกล้รุ่งก็ทำพิธีหุงข้าวหม้อหนึ่งในเทวสถาน  ผสมด้วยน้ำผึ้ง  น้ำอ้อย  น้ำตาล  นมเนย  และเครื่องเทศต่าง ๆ  เมื่อหุงสุกแล้วก็แจกแบ่งกันกินคนละเล็กละน้อย  พอได้รุ่งอรุณก็พากันไปอาบน้ำในคลอง  อาบน้ำชำระกายสระเกล้าด้วยน้ำสรงพระศิวลึงค์  ผมที่ล่วงนั้นก็เก็บไว้แล้วต่อแพหยวกลอยผมไป  เอาผ้านุ่งอาบน้ำนั้นลอยไปตามกระแสน้ำด้วย  เรียกว่า  ลอยบาป  เป็นเสร็จพิธีศิวาราตรีในคืนเดียว 

พิธีนี้เป็นพิธีพราหมณ์ทำเอง  เหตุเพราะเป็นพิธีพราหมณ์โดยเฉพาะ จึงไม่มีของหลวงพระราชทานในพิธีนี้  แล้วเป็นการย่อพิธีนี้มาจากของเดิมที่มีมาแต่โบราณ

                ในปัจจุบันนั้น  หากมีผู้ที่จะทำการบวงสรวงศิวลึงค์นั้นจะต้องประพฤติตามธรรมเนียม  คือต้องงดการรับประทานและเครื่องดื่มนานาชนิด  นอกจากจะอดข้าวอดน้ำแล้ว  ผู้ที่บวงสรวงศิวลึงค์ในพิธีศิวาราตรีนี้ยังต้องสวดบูชาพระศิวะตลอด  ๒๔  ชั่วโมง  จึงค่อยพักมาสวดมนต์สรรเสริญด้วยบทธรรมคาถา  จากนั้นก็จะไดรับอนุญาตให้รับประทานอาหารและเครื่องดื่มได้บ้าง  ผู้ที่ทำการบวงสรวงนี้ยังมีการนำขี้เถ้ามาลูบไล้บนร่างกาย  บางแห่งมีการเผามูลวัวกับกำยาน  เครื่องหอมต่าง ๆ  แล้วก็นำเอามูลวัวหรือเศษเถ้าที่ได้จากการเผากำยานนั้นมาทาร่างกาย  เพื่อให้เกิดสิริมงคล  ให้ชีวิตมีความสุขและประสบความสำเร็จในเร็ววัน

. ความสัมพันธ์ของขนบประเพณีกับศาสตร์อื่น

                พิธีศิวาราตรีนี้  แสดงให้เห็นความสัมพันธ์กับศาสตร์อื่น  เช่น เป็นพิธีของพราหมณ์ที่มีลักษณะคล้ายกับพิธีของศาสนาพุทธ  นั่นคือ  เป็นพิธีที่มีมูลเหตุในการจัดพิธีนี้ซึ่งคล้ายกับ  มหาปวารนา  ซึ่ง    มหาปวารนา เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนา  ตรงกับวันขึ้น ๑๕  ค่ำ เดือน ๑๑  พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุทำปวารนา คือ ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน หมายถึงยอมมอบตนให้สงฆ์กล่าวตักเตือน ในข้อบกพร่องที่ภิกษุทั้งหลายได้เห็นได้ยิน หรือมีข้อสงสัย ด้วยจิตเมตตา เพื่อจักได้สำรวมระวังปรับปรุงแก้ไขตนเอง เพื่อความเจริญของพระธรรมวินัยและความผาสุกในการอยู่ร่วมกัน 

                ซึ่งเมื่อพิจารณาจากมูลเหตุแล้ว  จะเห็นว่ามีลักษณะคล้ายกัน  พิธีศิวาราตรีนี้จึงถูกให้ทำตามธรรมเนียมเดิม

               

.  คุณค่าทางการศึกษา

                ๕.๑  คุณค่าทางด้านวรรณศิลป์

             ในพิธีศิวาราตรีนั้น  จะเห็นได้ว่ามีลักษณะในการใช้สำนวนภาษาที่ไม่เคร่งครัด  ทำให้อ่านแล้วสามารถจับใจความได้ไม่ยากนัก  การใช้คำก็ใช้คำที่สั้น  กะทัดรัด  และง่ายต่อการเข้าใจ  ในพิธีนี้คุณค่าทางด้านวรรณศิลป์  จะโดดเด่นไปในเรื่องของการใช้โวหารภาพพจน์  เพราะจะเป็นการให้รายละเอียดของพิธี  ซึ่งโวหารที่เด่นมาก  คือ บรรยายโวหาร เป็นโวหารที่ใช้เล่าเรื่อง หรืออธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ตามลำดับเหตุการณ์  เช่น 

                “ส่วนพิธีศิวาราตรีนี้  เป็นพิธีลอยบาปของพราหมณ์คล้าย ๆ มหาปวารนา  จึงโปรดให้ทำตามธรรมเนียมเดิม  พิธีนี้ทำในวันเดือน  ๓  ขึ้น  ๑๕  ค่ำ  คือเวลาค่ำพระมหาราชครูทำพิธีเริ่มแต่กระสูทธิ์อัตมสูทธิ์ตามแบบเหมือนพิธีทั้งปวง  แล้วเอาเสาปักสี่เสา  เชือกผูกคอหม้อโยงเสาทั้งสี่  ภายใต้หม้อตั้งพระศิวลึงค์  เจาะหม้อให้น้ำหยดลงมาได้ทีละน้อย  เอาขลังสอดไว้ในช่องหม้อที่เจาะนั้นเฉพาะตรงพระศิวลึงค์  ให้น้ำหยดลงถูกศิวลึงค์ทีละน้อยแล้วไหลลงมาตามรางซึ่งรองรับพระศิวลึงค์  ซึ่งพราหมณ์ในอินเดีย  ซึ่งข้าพเจ้าเคยได้เห็นเรียกว่าโยนิ  แล้วมีหม้อรองที่ปากรางนั้น  เติมน้ำและเปลี่ยนหม้อไปจนตลอดรุ่ง  เวลาใกล้รุ่งทำพิธีหุงข้าวหม้อหนึ่งในเทวสถาน  เจือน้ำผึ้งน้ำตาลนมเนยและเครื่องเทศต่าง ๆ  สุกแล้วแจกกันกินคนละเล็กละน้อยทุกคนทั่วกัน  พอได้อรุณก็พากันลงอาบน้ำในคลอง  สระผมด้วยน้ำที่สรงพระศิวลึงค์  ผมที่ร่วงในเวลาสระนั้นเก็บลอยไปตามน้ำ  เรียกว่าลอยบาป  เป็นเสร็จจากพิธีศิวาราตรีในวันเดียวกัน”

       ซึ่งจากตัวอย่างข้างต้นทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจ  และมองภาพของพิธีนี้ออกจากการบรรยายให้รายละเอียดอย่างชัดเจนนี้  นอกจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงเล่าถึงพระราชพิธีตามตำรับโบราณแล้ว ยังทรงมีพระราชวินิจฉัยในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างแยบยล  ดังเช่น

             “แต่การพิธีนี้ไม่มีของหลวงพระราชทาน  เป็นของพราหมณ์ทำเอง  เมื่อพิเคราะห์ดูการที่ทำนี้เห็นว่าเป็นการย่อมาเสียแต่เดิมแล้ว”

 

และ

                “พิธีศิวาราตรีนี้คงจะมาจากเรื่องนี้นี่เอง  ถึงเรื่องหุงข้าวก็เป็นอาหารอร่อยของชาวอินเดีย  ซึ่งข้าพเจ้าได้เคยไปกินเลี้ยงแล้วนั้นเอง  ได้ถามดูรสชาติที่พระมหาราชครู  ก็บอกว่ากลืนไม่ใคร่จะลง  เพราะพราหมณ์พวกนี้เป็นไทยเสียแล้วจึงต้องย่อพิธีด้วยความประพฤติแปลกกัน  จึงกลายเป็นพิธีตามที่คนชั้น ใหม่ ๆ เช่นเราเข้าใจว่าเป็นการต่างว่าหรือย่อ ๆ ดังนี้”

                .๒  คุณค่าทางด้านสังคม

                                พิธีศิวาราตรี  เป็นพิธีลอยบาปของพราหมณ์ ถือได้ว่าเป็นวันสำคัญ เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ในทางศาสนา  เมื่อวันเช่นนี้เวียนมาถึงเข้าประชาชนโดยทั่วไป ตลอดทั้งนักพรต นักบวชในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ทั่วทุกสารทิศก็จะหลั่งไหลไปทำพิธีลอยบาปกันที่แม่น้ำคงคา ตรงจุฬาตรีคูณ เมืองอันลาฮาบาดทุก ๆ ปี  สะท้อนให้เห็นสังคมของพราหมณ์ที่ให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับพิธีนี้เป็นอย่างมาก  จึงนับได้ว่าพิธีลอยบาปนี้เป็นพิธีที่สำคัญและยิ่งใหญ่อีกพิธีหนึ่งที่ประชาชนให้ความสนใจและไปร่วมประกอบพิธีนี้ เพราะในแต่ละปีนั้นจะมีประชาชนไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก

                                สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวพราหมณ์  เช่น  การสร้างวัดหรือเทวสถานมักจะสร้างอยู่ริมๆ น้ำ  กว้างบ้างแคบบ้าง  สูงบ้างต่ำบ้าง  การหุงหาอาหาร  จะหุงข้าวด้วยหม้อทองเหลือง  คนหนึ่งก็หุงหม้อหนึ่งกินคนเดียวไม่ปะปนกับผู้ใด   ยังสะท้อนให้เห็นอีกประการว่าคนอินเดียในสมัยนั้นเริ่มติดต่อกับชาติตะวันตกแล้ว  มีการรับเอาอาหารของชาวตะวันตกเข้ามา  เช่น  น้ำตาล  น้ำผึ้ง  นม  เนย  เหล่านี้ยังแสดงให้เห็นอีกว่า  อาหารที่คนอินเดียนิยมมักจะมีรสหวานนำ  เรื่องการอาบน้ำ  ไม่ว่าจะเป็นใครก็ต้องลงอาบน้ำเหมือนกัน  แม้แต่ตัวมหารายาเบนนารีสหรือนางสนมกำนัล  แต่ที่อาบจะเป็นที่วัง  เป็นต้น

                ๕.๓  คุณค่าทางด้านศิลปวัฒนธรรม

                                ในพิธีศิวาราตรีนี้  ผู้แต่งได้ให้รายละเอียดของศิวลึงค์ว่ามีขนาดเท่าใด  ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศิลปวัฒนธรรมของพราหมณ์ในการสร้างศิวลึงค์  อันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือ  นอกจากนั้นยังให้รายละเอียดของเทวสถานที่ประชาชนใช้ในการประกอบพิธีเมื่อครั้งอดีต  ดังจะเห็นได้จาก

                                “ในลานตั้งแต่เทวสถานถึงระเบียงรอบนั้นประมาณสัก  ๑๐  วา  โดยรอบเต็มไปด้วย        ศิวลึงค์ตั้งอยู่บนฐานซึ่งเรียกว่า  โยนิ  สูงตั้งแต่  ๕  นิ้ว  ๖  นิ้ว  ขึ้นไปจน  ๒  ศอก  เศษ  ๒  ศอก  หลายร้อยจนนับไม่ถ้วน  ที่อย่างเล็ก ๆ เพียงนิ้วหนึ่งสองนิ้วตั้งไว้บนฐานบัทม์ของเทวสถานก็มีโดยรอบ  หล่อด้วยทองเหลือก็มี  ทำด้วยศิลาก็มี”

  


บรรณานุกรม

ธนากิต เรียบเรียง. (2539). ประเพณีพิธีมงคลและวรรณสำคัญของไทย. กรุงเทพฯ :

           ปิรามิด.

บุญเกิด รัตนแสง. (2550). นานาความรู้. กรุงเทพฯ : พัฒนาศึกษา.

ประยุทธ สิทธิพันธ์. ( 2522). ปิยมหาราชินีกับพระราชพิธีประจำชาติ. กรุงเทพฯ :

           เทพพิทักษ์การพิมพ์.

แปลก สนธิรักษ์. (2515). พิธีกรรมและประเพณี. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนา

           พานิช.

ศรีพนม สิงห์ทอง. (2505). พระราชพิธีของกษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ : เกษมสัมพันธ์.

                         

หมายเลขบันทึก: 409025เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2010 17:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณที่แบ่งปัน การศึกษาเรื่องเกี่ยวกับประเพณีของเราเป็นสิ่งที่น่าสนใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท