ผลวิจัยว่า "ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับรัฐบาลทุจริตหากประชาชนกินดีอยู่ดี" - ตั้งคำถามถูกหรือเปล่า?


“วิธีการที่เลวไม่นำไปสู่ผลที่ดี”

หนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ ๗ พ.ย.๕๓ ลงข่าวผลสำรวจความคิดเห็นของเอแบ็คโพลล์ ว่าประชาชนไทยปัจจุบันร้อยละ ๗๖ ยอมรับได้กับรัฐบาลที่ทุจริตขอให้ประเทศชาติรุ่งเรือง ประชาชนกินดีอยู่ดี ตนเองได้ประโยชน์ด้วย โดยมีตัวเลขร้อยละของการยอมรับเรียงตามลำดับดังนี้

  • กลุ่มคนที่ทำธุรกิจ-ค้าขาย ร้อยละ ๗๙
  • กลุ่มพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ ๗๐
  • กลุ่มนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ ๖๗
  • กลุ่มข้าราชการ ร้อยละ ๖๕

อ่านข่าวนี้แล้วเกิดความรู้สึกและความคิดขึ้นมาหลายอย่าง

อย่างแรก รู้สึกเข้าใจเพื่อนบางคนที่เกิดความรู้สึกสิ้นหวังกับประเทศไทย เมื่อไม่กี่วันนี้มีคนหนึ่งพูดขึ้นมาด้วยน้ำเสียงและสายตาที่เจ็บปวดรวดร้าวว่าเขาไม่มีความหวังกับองค์กรใดๆ ในประเทศนี้แล้ว

อย่างที่สอง ผมนึกถึงผู้นำประเทศที่ผ่านมาบางคนที่สร้างวาทกรรมในทำนอง “โกงแต่พัฒนาบ้านเมืองไม่เป็นไร” หรือ "ตายแค่ ๒,๐๐๐ คน แต่ยาเสพติดหมดไป" หรือผู้นำประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกที่สร้างวาทกรรม “จะแมวดำหรือแมวขาวไม่เป็นไร ขอให้จับหนูได้” (หมายถึงไม่ต้องสนใจว่าจะใช้วิธีอะไร ขอเพียงบรรลุจุดมุ่งหมาย) หรือพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ในพระพุทธศาสนาเมื่อ ๓๐ กว่าปีที่แล้วที่สร้างวาทกรรม “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป

สำหรับผมแล้วเชื่ออย่างสนิทใจว่าวิธีการที่เลวไม่นำไปสู่ผลที่ดี

ผมเชื่อในวาทกรรมของปัสกาล นักปรัชญาฝรั่งเศส ที่ว่า “ขอบฟ้าอยู่ในทุกย่างก้าวที่เราเดิน” (จำมาจากหนังสือหลายเล่มของ เสรี พงศ์พิศ ที่อ้างปัสกาล)

ผมเชื่อว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

ผมเชื่อว่า “ปลูกพืชใดย่อมได้ผลแห่งพืชนั้น” ปลูกมะระย่อมไม่ได้ผลเป็นฟักทอง

ผมเชื่อในคำสอนของพระพุทธองค์ที่ว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม (กัมมุนา วัตตี โลโก) ใครทำกรรมใดย่อมรับผลแห่งกรรมนั้น เราทุกคนเป็นผลแห่งกรรมของเราเอง และกรรมทั้งหลาย ทั้งมโนกรรม วจีกรรม และกายกรรมในปัจจุบันของเราล้วนส่งผลแก่เราอย่างแน่นอน ผลกรรมเกิดขึ้นทั้งในขณะที่ทำนั้น และเป็นเหตุให้เกิดผลในอนาคต 

เมื่อเชื่อเช่นนี้แล้วก็จะเชื่อว่า การทุจริตของรัฐบาลไม่นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองและการกินดีอยู่ดีของประชาชนอย่างแน่นอน อาจมีประชาชนบางกลุ่มได้ส่วนแบ่งเฉพาะหน้าบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ไม่ส่งผลให้กินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน

การทุจริตก็ดี การฆ่าก็ดี ล้วนผิดศีลในทุกศาสนาใหญ่ๆ ของโลก

การฆ่า ผิดศีลข้อแรกในพุทธศาสนา ปาณาติบาต (ฆ่าคนที่เชื่อในลัทธิการเมืองต่างจากฉันไม่บาปอย่างนั้นหรือ?)

การทุจริต ลักขโมย ฉ้อโกง ยักยอกเอาทรัพย์สินของคนอื่นหรือของสาธารณะเข้าตนเองและพวกพ้อง ฯลฯ ผิดศีลข้อที่สอง อทินนาทานา

คำว่า ศีล หรือ ศีละ ศิลา หมายถึง ปกติ คือควรรักษาไว้ให้เป็นปกติ ควรเว้นจากการกระทำที่ไม่ปกติ เช่น การฆ่า การลัก

อย่างที่สาม ผมเองโดยส่วนตัวไม่เชื่อว่าการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจทัศนคติของมนุษย์จะใช้สถิติตีความจากข้อมูลตัวเลขได้ ผมเชื่อว่าหากจะเข้าใจทัศนคติของมนุษย์แต่ละคนที่เขามีต่อรัฐบาล (ไม่ว่าจะทุจริตหรือสุจริต) ต่อสังคม (ประชาชนกินดีอยู่ดี) และต่อตนเอง (ได้ประโยชน์ด้วย) ไม่อาจทำด้วยคำถามที่มีลักษณะปรนัย (มีคำตอบไว้แล้วให้เลือก) ผมไม่ทราบว่าในแบบสำรวจดังกล่าวมีวิธีเขียนคำถามอย่างไร ไม่ทราบว่าเขียนคำถามตรงๆ อย่างที่นำเสนอในผลการสำรวจ ในลักษณะคำถามที่มีเงื่อนไขในทำนอง ท่านยอมรับรัฐบาลทุจริตแต่ประชาชนกินดีอยู่ดีและตัวท่านได้ประโยชน์ด้วยหรือไม่

สำหรับผมแล้วหากถามโดยใช้เงื่อนไขที่เป็นไปไม่ได้ดังกล่าว ถือเป็นคำถามลวง เพราะรัฐบาลที่ทุจริต (จริตเลว) ย่อมไม่สามารถสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้บ้านเมืองได้ ไม่สามารถทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดีได้

คำว่า จริต มีรากศัพท์มาจากคำ จร แปลว่า ท่องไป (เช่นในคำ จราจร) ทุ แปลว่า ไม่ดี ตรงข้ามกับคำ สุ ที่แปลว่า ดี คำ ทุจริต จึงหมายถึง การท่องไปในทางไม่ดี ทางต่ำ ทางเลว (เช่นในคำ ทุศีล) สุจริตหมายถึงท่องไปในทางดี

ผมเคารพในประสบการณ์ของมนุษย์แต่ละคน และเชื่ออย่างสนิทใจว่าในส่วนลึกของจิตใจมนุษย์ทุกคนรู้ว่าการทุจริตไม่ดี และผมเชื่อว่าหากเราจะเข้าใจทัศนคติของแต่ละคนจริงๆ ต้องใช้เวลาอยู่กับเขาจริงๆ อย่างที่นักมานุษยวิทยาทำ นั่นคือ เข้าใจความหมายที่เขาสะท้อนผ่านเรื่องราวและการกระทำ (ไม่ตีความผ่านตัวเลข) นั่นคือทั้งสังเกตพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ปฏิสัมพันธ์ที่เขามีกับคนอื่น กับสิ่งแวดล้อม ใช้เวลาพูดคุยสัมภาษณ์ ฟังเขาเล่าเรื่องราว วาทกรรม และอุปมาอุปมัยที่เขาใช้สะท้อนความรู้สึก ความคิดความเห็นต่างๆ (อุปมาอุปมัยที่เขายกขึ้นมามีความสำคัญเนื่องจากในภาษาของมนุษย์เราไม่มีคำเพียงพอที่จะแทนประสบการณ์ทั้งหมดของเราได้)

แต่ผมก็ไม่ถึงขนาดเสนอว่าให้ทำอย่างนั้นกับคนจำนวนมากหรอก เพราะไม่ค่อยเห็นประโยชน์ แต่น่าจะเป็นประโยชน์กว่าหากใช้ทำความเข้าใจทัศนคติของผู้ที่อำนาจหน้าที่ของเขาส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก เช่น คนระดับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี นักการเมือง ผู้บริหารองค์กรรัฐและธุรกิจใหญ่ๆ ทั้งหลาย.

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
๑๕ พ.ย.๕๓

หมายเลขบันทึก: 408508เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2010 18:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 16:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

แวะมาทักทายค่ะ ขึ้นชื่อว่าทุจริต ก็คือสิ่งที่ไม่ดี ไม่ว่าผลตอบแทนจะออกมาเป็นแบบไหน ลึกๆในใจย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าเรากระทำสิ่งใดลงไป แต่นิสัยคนไทย ลืมง่าย อีกอย่าง ไม่มีทางแก้ปัญหาทุจริตในวงการเมืองได้อย่างถาวร จะมีเพียงลดน้อยลง หรือทุจริตอย่างไรไม่น่าเกลียดจนเกินไป ทุกวันนี้บ้านเมืองเต็มไปด้วยคนที่คิดเห็นแก่ตัวมากมาย แสวงหาอำนาจไม่รู้จักพอ การทุจริตเป็นเสมือนสิ่งที่อยู่คู่กับคำว่าการเมือง คนดีอยู่ไม่ได้นานถ้าไม่ตามน้ำ คงต้องพูดได้แค่คำว่า ทำใจค่ะ

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ สุรเชษฐครับ ส่วนตัวผมแล้ว ม.ชีวิต เท่านั้นครับ ที่จะทำให้ ประเทศดีขึ้นได้.

ทรงกฏ ดีนาง

15 พ.ย 53

ตั้งคำถามได้มีเลศนัยจริง ๆ ...

ไม่ชอบคำถามนี้จริง ๆ ครับ อาจารย์

ไม่อยากให้คนดีท้อถอย ;)

ดูจากกลุ่มตัวอย่างวิจัยแล้ว ผมไม่ค่อยจะแปลกใจกับคำตอบสักเท่าำไรเลยครับอาจารย์

สรุป

คนดีย่อมไม่ทำความชั่ว

คนชัวย่อมไม่ทำความดี

จิตสำนึกที่ดี จึงจะมีประโยชน์ต่อสังคม

ถ้าสังคมไทยทุกคนมีจิตสำนึกที่ดีประเทศชาติย่อมเจริญรุ่งเรือง

กัมมุนา วัตตี โลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

ผมเชื่อว่าความคิดมีตัวตน คิดอย่างไรได้อย่างนั้น ธรรมชาติจะแยกแยะกลุ่มคนที่คิดเหมือนกันไปอยู่ร่วมกัน

ขอสนับสนุนมุมมองของ อ.สุรเชษฐ์ ที่ว่า "หากเราจะเข้าใจทัศนคติของแต่ละคนจริง ๆ ต้องใช้เวลาอยู่กับเขาจริง ๆ อย่างที่นักมานุษยวิทยาทำ นั่นคือ เข้าใจความหมายที่เขาสะท้อนผ่านเรื่องราวและการกระทำ (ไม่ตีความผ่านตัวเลข)"

อ่านบทความชิ้นนี้แล้วคิดเชื่อมโยงไปถึงบทความของ อ.วินัย วงศ์สุรวัฒน์ เรื่อง "แบบสอบถามกับความสันหลังยาวของนักวิจัยทางสังคมศาสตร์" ตีพิมพ์ใน มติชนรายวัน ฉบับวันพุธที่ 10 พ.ย.2553

ผมได้สำเนาจากฐานข้อมูลข่าวมานุษยวิทยา โยนมาไว้ที่นี่แล้ว เชิญ "สอย" ไปอ่านได้ตามสะดวกครับ. 

...ตั้งแต่ยาย..ออกมาอยู่นอกกระลา...มองเห็นข่าวคราวของประเทศที่ติดระดับความเจริญในด้านคอรัประทาน..ก็ได้เห็นแต่ความวุ่นวาย.รบราฆ่าฟันกันไม่สิ้นสุด...ก็คงจะเป็นกรรมตรงที่เกิด..และเห็นเป็นตัวอย่าง..หากเป็นไปอย่างที่เป็นอยู่นี้ก็คงจะสักวัน..ที่เราคงจะตกอยู่ในหลุมกรรมเหล่านั้นบ้าง...ก็ได้แต่ภาวนาหรือไง...(ยายธีเจ้าค่ะ..อนิจา.อนิจัง)

ทำดี "ดี" ส่วนการได้ "ดี" คือกากเดนของความดี ครับ

"Put the right at the first time" :ควรทำสิ่งที่ถูกต้อง ตั้งแต่ครั้งแรก ครับ

นอกจากภาคการเมืองแล้ว แล้ว ธุรกิจบุญ สองข้างทาง ก็เป็นเรืองที่ต้องตั้งคำถามเช่นเดียวกัน กับประเด็น ทุจริต ความโปร่งใส

เป็นการใช้ทรัพยากรของสังคม หมดไปกับสิ่งที่มองไม่เห็น ....ไปกับความเชื่อ ... ตรวจสอบไม่ได้เช่นเดียวกันครับ

สวัสดีครับอาจารย์ สุรเชษฐ 

"จะทำดีเพื่อตัวเอง หรือจะยอมทำเลวเพื่อสังคม"

ความชอบธรรมเกิดจากการยอมรับของสังคม ณ ขณะนั้น

การแสดงความเห็นของเขาเกิดจากการสั่งสมของความเชื่อครับ...

เศร้าใจครับ

แต่ไม่แปลกใจ

ประเทศเราจึงด้อยพัฒนา

คิดผิด เชื่อผิดก็ทำผิด ทำให้ประเทศด้อยพัฒนา

สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ศูนย์ปราชญ์ ปราชญ์ ครู อาจารย์และประชาชนที่คิดถูกช่วยกันครับ ก่อนที่สังคมไทย ประเทศไทย และชาติไทยจะแย่ไปกว่านี้ 

คอรัปชั่นในสังคมไทยแก้อย่างไร? 

๑. เริ่มต้นจากตัวเราแต่ละคนเอง เพิ่มคนซื่อสัตย์สุจริตขึ้นในบ้าน(ครอบครัว)และเมืองได้ ๑ คน ก็ยิ่งใหญ่และมีพลังมากแล้วครับ 

๒. ช่วยกันแสดงความชื่นชมยินดีผู้ดำเนินชีวิตและปฏิบัติหน้าที่การงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เป็นกำลังใจให้เขา

๓. อบรมบ่มเพาะคุณธรรมว่าด้วยความซื่อสัตย์สุจริตแก่ลูกหลานและหรือลูกศิษย์ ผ่านตัวอย่างต่างๆ ของคนซื่อตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้

๔. จากนั้นก็ไม่ส่งเสริมและสนับสนุนการคอรัปชั่นใดๆ ในบ้าน ที่ทำงาน ในชุมชน และสังคม ตามเงื่อนไขที่พอจะทำได้ของแต่ละคน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท