ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน เกาะติดชุมชน สิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง

วิกฤติพลังงานไทย ไฟฟ้านิวเคลียร์ ทางออกหรือทางอัปยศ เมื่อตัดสินใจบนฐานคิดเพื่อนายทุน


เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2553 คณะกรรมาธิการพลังงาน วุฒิสภา ร่วมกับกระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ได้จัดสัมมนา " ทางออกของประเทศไทยในการแก้วิกฤติพลังงาน" ผู้เขียนในฐานะคนทำงานที่เกี่ยวข้องกับชุมชนและการวางแผน ได้รับโทรสารเรื่องนี้แจ้งข่าวมาจากพี่น้อง มาอ่านดูวัตถุประสงค์ของการจัดสัมมนาครั้งนี้ ผู้จัดระบุไว้ว่าเพื่อสร้างความตระหนักถึงวิกฤติพลังงาน สื่อให้สาธารณะเห็นความสำคัญของการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายเตรียมความพร้อมการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และจะรวบรวมความคิดเห็นเสนอต่อประธานวุฒิสภา

วิกฤติพลังงานไทย ไฟฟ้านิวเคลียร์

ทางออกหรือทางอัปยศ เมื่อตัดสินใจบนฐานคิดเพื่อนายทุน

 โดย  “นักข่าวจำเป็น”
ที่มา ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน ฉบับที่ ๙

     เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2553 คณะกรรมาธิการพลังงาน วุฒิสภา  ร่วมกับกระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิต  ได้จัดสัมมนา   " ทางออกของประเทศไทยในการแก้วิกฤติพลังงาน"   ผู้เขียนในฐานะคนทำงานที่เกี่ยวข้องกับชุมชนและการวางแผน ได้รับโทรสารเรื่องนี้แจ้งข่าวมาจากพี่น้อง    มาอ่านดูวัตถุประสงค์ของการจัดสัมมนาครั้งนี้   ผู้จัดระบุไว้ว่าเพื่อสร้างความตระหนักถึงวิกฤติพลังงาน สื่อให้สาธารณะเห็นความสำคัญของการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์   รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายเตรียมความพร้อมการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์  และจะรวบรวมความคิดเห็นเสนอต่อประธานวุฒิสภา

        พอไปดูกลุ่มเป้าหมายที่เชิญร่วมก็พบว่า รวมทั้งส่วนราชการ หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน  องค์กรพัฒนาเอกชนและประชาชนผู้สนใจ   ก็เลยคิดว่าจะติดต่อเพื่อขอร่วมสัมมนาแบบไม่ได้รับเชิญ  โทรศัพท์ไปถาม ทางเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าเชิญผู้สนใจด้วย

ในวันสัมมนา เมื่อผู้เขียนไปถึงพบว่าพี่น้องประชาชนที่ทราบข่าวและสนใจมากันเนืองแน่น  ได้ถามหลายคนก็บอกว่ามาแต่เช้า และมาไกล  ทั้งจากชุมพร ประจวบ  นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ ตราด จันทบุรี  ฯลฯ    ส่วนผู้เขียนก็ไปในฐานะประชาชนกรุงเทพ  ไปคนเดียว   เห็นแล้วยังนึกว่า พี่น้องเราตื่นตัวดีจริงๆ  ผู้จัดน่าจะได้ความเห็นที่รอบด้านทุกมุมจากหน่วยงานและประชาชน

ปรากฎว่า พอเดินเข้าไป  พบว่าประธานฯกำลังชี้แจงหน้าห้อง  ขอให้ประชาชนส่วนใหญ่ออกนอกห้อง  ให้เหลืออยู่แค่ 20 คน  และจะให้ผู้ทรงวุฒิจากหน่วยงานต่างๆมานั่งแทน  มิฉะนั้นจะไม่เริ่มรายการ

โอ้โฮ  เรานึกว่า มันอะไรกันนี่พี่น้อง  ก็ไหนบอกว่าเชิญประชาชนผู้สนใจ

พี่น้องเราบอกว่าขอนั่งฟัง และขอมีส่วนให้ความเห็น  ท่านผู้จัดก็ถามกลับว่า คุณเป็นแกนนำหรือ ชื่ออะไร!!!

พี่น้องเราหลายคนลุกมาชี้แจง ให้จัดที่นั่งเสริม  เขาบอกว่า  ถึงจัดที่นั่ง แต่อาหารกลางวันก็ไม่ได้จัด  อาหารว่างก็ไม่ได้จัดให้

พี่น้องเราบอกว่า ไม่มีปัญหา เราจะไม่แตะต้องของท่าน

ประธานบอกอีกว่า  ถ้าเราไม่ออกและอยู่กันมาก ความเห็นมันจะหลากหลาย  เขาอยากฟังผู้ทรงคุณวุฒิ   เราเลยทนไม่ได้ บอกว่า งบที่จัดมาจากภาษีอากรประชาชน เขาควรรับฟังความเห็นที่หลากหลาย ไม่ใช่ปิดห้องฟังกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

กว่าจะเริ่มสัมมนาก็ 10 โมง  การนำเสนอในช่วงเช้าเริ่มด้วยรองปลัดกระทรวงพลังงาน ซึ่งที่พูดโดยสรุปคือ การผลิตพลังงานของไทยควรมีการกระจายแหล่งเชื้อเพลิง  ไม่ควรพึ่งพาเชื้อเพลิงประเภทใดประเภทหนึ่งมากเกินไป  และการเกิดวิกฤติไฟฟ้าดับในประเทศหลายครั้งที่ผ่านมา เพราะเราการพึ่งพาก๊าชธรรมชาติมากเกินไป ใช้ก๊าชธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าสูงถึง 71%  ซึ่งเป็นก๊าซของพม่า 1 ใน 3 ของปริมาณทั้งหมด และถ้าระบบในพม่าขัดข้องก็จะเกิดปัญหาในการผลิตไฟฟ้าในไทย   แนวโน้มปริมาณการใช้ไฟฟ้าของไทยมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีการขุดเจาะจะพบแหล่งพลังงานใหม่ ขึ้นมาทดแทน คาดว่าอีก 20 ปีข้างหน้า ปริมาณก๊าชฯ อ่าวไทยไม่เพียงพอผลิตกระแสไฟฟ้าจะเกิดเป็นวิกฤต  และสรุปรวบรัดคือเขาเห็นว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สามารถแก้ปัญหาวิกฤติไฟฟ้าได้ !!

จากนั้นก็เป็นการพูดถึง การแก้ไขวิกฤติพลังงานกับภาวะโลกร้อน โดยผู้อำนวยการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก   เล่าถึงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยจากภาคพลังงาน ภาคอุตสาหกรรม  แล้วก็พูดถึงแผนพัฒนาพลังงานทดแทนที่จะเพิ่มจาก 6.4%  ในปี พ.ศ.2551  เป็น 20.3% ในปี พ.ศ.2565 และการใช้ความจำเป็นที่ต้องมีกลไกการพัฒนาที่สะอาด

        วิทยากรจากภาคเอกชน ก็มาพูดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ  ผลกระทบเศรษฐกิจ การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงที่มีแนวโน้มความต้องพลังงานมากขึ้นในอนาคต โดยเป็นมุมมองจากด้านอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้พลังงานไฟฟ้า  และสรุปว่าการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นนี้เป็นความจำเป็น แถมยังสรุปเองอีกว่าถ้าไทยไม่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ  เศรษฐกิจของประเทศจะตกต่ำลง  เป็นการสรุปด้านเดียวที่ไม่ได้มองถึงการพัฒนาด้านอื่นและด้านสิ่งแวดล้อมเลย

        การนำเสนอช่วงเช้า จึงเป็นการมาบอกกล่าวด้านเดียว อ้างเหตุผลแต่ความจำเป็นด้านเดียวมาชี้นำการที่จะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เท่านั้น  ไม่ได้พูดถึงทางออกด้านอื่นเลย

คำถามที่พี่น้องประชาชนถามในเรื่องพลังงานสำรองที่สูงเกิน ก็ไม่ตอบ  ไม่ได้พูดถึงการจัดการแก้ปัญหาในด้านผู้ใช้ไฟฟ้าเลย  ไม่ตอบคำถามเรื่องประสิทธิภาพ  เรื่องการเอาประเทศไทยเราเป็นที่รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษและจะมาเรียกร้องพลังงานที่ต้องจัดหาเพิ่มขึ้น  และเปิดโอกาสให้พี่น้องเราได้มีโอกาสซักถามแสดงความเห็นน้อยมาก

ที่แย่มาก คือ  เขาไม่อยากรับฟังเสียงพี่น้องประชาชน  แต่ไปเชิญให้ทูตเกาหลีมาแสดงความเห็นว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่มีปัญหาเลย  ตกลงจะรับฟังความเห็นคนไทยหรือคนเกาหลีกันนี่!!

พักเที่ยง  พี่น้องเราไม่แตะต้องข้าวน้ำของเขา เราช่วยตัวเอง ปรากฎว่า  พวกหน่วยงานมากันน้อย  เขากลัวของเหลือมาขอให้พวกเราไปทาน  เราพร้อมใจกันปฏิเสธ  เราบอกกันว่า “ประชาชนมีสัจจะและมีศักดิ์ศรี

ภาคบ่าย  วิทยากรบนเวทีเป็นความเห็นด้านเดียวตลอด ไม่ว่าจะเป็นสภาพัฒน์  สภาอุตสาหกรรม การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และผู้แทนสื่อ โดยสรุปเป็นการนำเสนอถึงเหตุผลความจำเป็นของแผนพัฒนากำลังผลิตพลังงานไฟฟ้าของไทย พ.ศ.2553-2573 ( PDP 2010)  เส้นทางการพัฒนาโรงฟ้านิวเคลียร์ที่เคยมีและหยุดไป  การเปรียบเทียบต้นทุน ข้อดีข้อเสีย  สรุปเป็นว่า ในความเห็นของวิทยากรที่นำเสนอส่วนใหญ่มองว่าโรงฟ้านิวเคลียร์มีความจำเป็น มีข้อดีทางการแข่งขัน มีความปลอดภัย และเป็นความมั่นคงทางพลังงาน  โดยไม่พูดถึงต้นทุนในการจัดการสิ่งแวดล้อม ผลกระทบ อันตราย   ในเอกสารของผู้นำเสนอเองก็ขัดแย้งกันเอง  ส่วนหนึ่งบอกว่า นิวเคลียร์มีจุดแข็งคือต้นทุนต่ำ  แต่อีกส่วนหนึ่งจากวิทยากรคนเดียวกันบอกว่า โรงฟ้านิวเคลียร์มีจุดอ่อนคือต้นทุนอาจบานปลาย

อ้าว  นี่ขนาดเรื่องต้นทุน ข้อมูลจากหน่วยงานเดียวกัน วิทยากรคนเดียวกันก็ยังขัดแย้งกันเอง

        นั่งฟังมาตั้งแต่เช้าจนบ่าย  วิทยากรนำเสนอแบบชี้นำด้านเดียว  และมองว่าอุปสรรค คือ ประชาชนไม่เข้าใจ เลยมาคัดค้าน  ต้องให้ความรู้ประชาชน  แต่พอประชาชนจะมารับฟังข้อมูล  กลับไล่ประชาชนออกจากห้องซะอีก

สิ่งที่วิทยากรทั้งช่วงเช้าและบ่ายไม่บอกรายละเอียด  ซึ่งควรมีการรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชน  คือเรื่อง ผลการศึกษาความพร้อมและแผนการดำเนินการว่าจะทำอะไรกันต่อไป

ผู้เขียนมาเปิดดูเอกสารที่แจกส่วนหนึ่งในตอนบ่ายในเรื่องการเตรียมความพร้อมสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์  มีประเด็นที่เห็นว่า เป็นกระบวนการที่ไม่มีความเป็นธรรมาภิบาลในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัย และผลกระทบต่อชีวิตพี่น้องประชาชน และสิ่งแวดล้อม  เลยสรุปเป็นข้อสังเกตถึงกระบวนการวางแผนการผลิตกำลังไฟฟ้าและเส้นทางสู่โรงฟ้านิวเคลียร์ ที่น่าจะไม่ชอบธรรม  คือ

ข้อแรก  การอ้างถึงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยหรือที่เรียกกันว่าแผน PDP 2010 ว่า ตามแผนนี้กำหนดให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ ซึ่งในจำนวนนี้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 1,000 เมกกะวัตต์จำนวน 5 โรงในระหว่างปี พ.ศ.2563 และ พ.ศ.2573    การอ้างการทำตามแผนนี้ว่าคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติมีมติเห็นชอบ และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ  โดยที่แผนที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ  เป็นความชอบธรรมแล้วหรือที่อ้างความเห็นชอบแผนนี้ในเรื่องที่ประชาชนไม่ยอมรับ

ในแผน PDP 2010 ก็คิดค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้ามาจากค่าพยากรณ์เศรษฐกิจไทยเป็นตัวตั้ง    และกำหนดให้มีการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์  วิธีการคิดแบบเอาความเห็นคณะรัฐมนตรีมาเดินหน้าทำแผนและการพัฒนาโครงการรวบรัดประชาชนแบบนี้  มันไม่ชอบธรรม เป็นการวางแผนแบบคลุมถุงชน!

แผนพัฒนาพลังงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาประเทศ รัฐบาลควรจะมีการกำหนดทิศทางว่าประเทศจะพัฒนาไปทางใดก่อน  และด้วยการมีส่วนร่วมจริงๆ  ไม่ใช่มาทำแผนพลังงานรองรับการพัฒนาในทิศทางที่คนกลุ่มหนึ่งเป็นผู้กำหนดความต้องการใช้พลังงาน  ประเทศชาติยังมีการพัฒนาด้านการเกษตร การประมง การพัฒนาคุณภาพชีวิตคน การพัฒนาสิ่งแวดล้อม และอีกหลายด้านที่ต้องนึกถึง   การคิดถึงความต้องการพลังงานในอนาคต  ควรดูถึงความต้องการใช้ในทุกภาคส่วน และการคิดร่วมกันอย่างแท้จริง  และมีทางเลือก  มิใช่การรวบรัดยัดเยียดให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในทุกทางเลือกอย่างที่เป็นอยู่   มิใช่ทำแผนและคิดแบบแยกส่วน  เอาเรื่องหนึ่งไปสร้างปัญหาให้กับอีกเรื่องหนึ่งแบบที่ทำอยู่นี้ 

 ข้อสอง  การอ้างว่าทั่วโลกมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์หลายร้อยโรง  มันไม่เป็นเหตุผลว่าประเทศไทยเราจะต้องเดินตามนั้น   นี่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ   ทำไมไม่พูดถึงการต่อสู้คัดค้านของประชาชนในประเทศอื่น  ไม่พูดถึงผลกระทบ  ไม่พูดถึงการเกิดอันตราย การเจ็บป่วยล้มตายจากอุบัติเหตุและการรั่วไหลที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ

ข้อสาม  มีประเด็นสำคัญ คือ  เขาอ้างว่า การพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น ต้องใช้ระยะเวลานานมาก ต้องวางแผนล่วงหน้า ซึ่งหลังจากที่ ครม. มีมติเห็นชอบแผนงานจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ( NPIEP) เมื่อ 18 ธันวาคม 2550 ก็มีการกำหนดขั้นตอนการดำเนินงาน 5 ระยะ  ปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 1 คือช่วง พ.ศ.2551-2553 ( 3 ปี) เป็นระยะการเตรียมการก่อนตัดสินใจดำเนินโครงการและการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ( Pre –Project Activity Base)

ที่สำคัญและต้องจับตาต่อไป คือ เขาระบุว่าเมื่อสิ้นสุดขั้นตอนนี้แล้ว คณะกรรมการประสานงานฯ  จะเสนอรายงานให้รัฐบาลเพื่อพิจารณาตัดสินใจที่จะดำเนินโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างไรต่อไป  ในเดือนมกราคม 2554  และเมื่อรัฐบาลเห็นชอบ  ก็จะเริ่มการพัฒนาตามระยะต่อไป คือ

ระยะที่  2    การเตรียมการข้อกำหนดการประกวดราคาก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งจะใช้เวลา 3 ปี คือ พ.ศ.2554-2556

ระยะทื่ 3  เป็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์   ใช้เวลา 6 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2557-2562

และสุดท้าย  ระยะที่ 4 พ.ศ.2563  จะเริ่มต้นเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

การดำเนินการในระยะที่ 1 ในด้านการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำเสนอรัฐบาลในเดือนมกราคม 2554 นี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯได้ว่าจ้างบริษัท Burns and Roe Asia. (BRA)  ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ประเภทน้ำหนักมวลเบา ขนาด 1,000-1,400 เมกะวัตต์  และคัดเลือกพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จาก 17 แห่งให้เหลือ 2 แห่ง  ส่วนพื้นที่ของโรงไฟฟ้านั้น จากผลการศึกษาที่ผ่านมา ได้สรุปแล้วจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ ชุมพร นครศรีธรรมราช และอยู่ในจังหวัดสุราษฎรธานี 2 แห่ง แต่ระหว่างนี้จะทำการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อสรุปพื้นที่ก่อสร้างให้เหลือ 2 แห่ง

คำถามคือ   การจะนำเสนอการศึกษาความเป็นไปได้ต่อ คณะรัฐมนตรีต้นปีหน้า และอ้างทำการศึกษามาตั้งแต่ปี 2551 แล้วนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯได้เปิดเผยรายละเอียดการศึกษาให้ประชาชนทราบหรือไม่   และการตัดสินใจเลือกพื้นที่ได้ถามประชาชนหรือไม่

พี่น้องในห้องประชุม ไม่เคยมีใครได้เห็นหรือรับทราบรายละเอียดการศึกษาดังกล่าวเลย

การศึกษาและเตรียมความพร้อมระดับชาติ 19 เรื่อง ที่ไม่เคยมีการเปิดเผยหรือรับฟังความเห็นประชาชน   เขาก็จะเสนอในรัฐบาลต้นปีหน้า !!!

การเตรียมความพร้อม 19 เรื่องนี้ เป็นการที่ทำตามแนวทางของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ( IAEA)  ซึ่งมีความพร้อมในด้านต่างๆ คือ  การเป็นวาระแห่งชาติ ที่จะต้องมีนโยบายและแผนงานระยะยาว  ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์  การบริหารจัดการ  การเงินและการลงทุน  กฎหมาย  การควบคุมเชื้อเพลิงนิวเคลียร์  การกำกับดูแลความปลอดภัย  การป้องกันรังสี ระบบส่ง โครงข่ายไฟฟ้า  บุคลากร  การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  การจัดหาที่ตั้ง  การปกป้องสิ่งแวดล้อม  แผนฉุกเฉิน  ความมั่นคงทางนิวเคลียร์  การจัดการวัฏจักรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์การจัดการกากกัมมันตรังสี  การมีส่วนร่วมของภาคอุตสาหกรรม  การจัดซื้อจัดจ้าง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550  มาตรา 57 ระบุไว้ชัดเจนว่าบุคคลมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจงและเหตุผลจากหน่วยงานราชการ รัฐ รัฐวิสาหกิจ ก่อนการอนุญาตหรือเตรียมการโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต  และมีสิทธิแสดงความคิดเห็น  และตามมาตรา 87 ยังระบุถึงการที่รัฐต้องดำเนินการตามนโยบายการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแผน กำหนดนโยบายและการตัดสินใจการวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และบริการสาธารณะ

การให้ข้อมูลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ผ่านมาเป็นให้ข่าวสารมากกว่าการให้ข้อมูลที่ครบถ้วนทุกด้านแก่ประชาชน  รายงานการศึกษาความพร้อมใน 19 ประเด็นนี้ ก็ไม่เคยมีการให้ข้อมูลต่อประชาชน

เอกสารที่แจกในการสัมมนานี้ระบุว่ายังมีปัญหาความพร้อมหลายเรื่อง  โดยเฉพาะด้านบุคลากร การจัดการกากกัมมันตรังสี  และกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวกับการดูแลความปลอดภัย   แต่เขาก็จะดันให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นวาระแห่งชาติ !!!

และโดยไม่สนใจว่าประชาชนจะคัดค้านหรือมีความเห็นอย่างไร เขาก็จะเตรียมประกวดราคาก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในปี 2554-2556 และเริ่มก่อสร้างจนเสร็จในช่วง 2557-2562   มิหนำซ้ำ  การประมูลการจัดหาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จะเป็นไปตามข้อกำหนดของผู้ผลิตไฟฟ้า

เขาว่า อุปสรรคของการกำหนดวาระแห่งชาติก็เพราะพรรคการเมืองสนับสนุนไม่ชัดเจน  และหน่วยงานรัฐไม่ประสานกัน  ไม่ได้พูดถึง การเปิดเผยข้อมูล ความโปร่งใส การมีส่วนร่วม และไม่พูดถึงประชาชน สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยเลย

การจะทำแผนนิวเคลียร์และการกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ โดยนึกถึงแต่พรรคการเมืองและหน่วยงานรัฐ ไม่เห็นหัวประชาชน

การที่จะเสนอให้รัฐบาลอนุมัติและดำเนินการประมูลตามข้อกำหนดของผู้ผลิต  โดยไม่มีการรับฟังความเห็น โดยไม่เปิดเผยข้อมูลความเหมาะสม ความพร้อม ความจำเป็น   เป็นทางออก หรือทางอัปยศกันนี่

อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย

วาระแห่งชาติเรื่องพลังงาน เรื่องนิวเคลียร์ มีผลกระทบต่อคนทั้งชาติ  เป็นนโยบายสาธารณะ ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติว่า นโยบายพื้นฐานของรัฐ ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม

สัมมนาอันน่าอัปยศ!!

หมายเลขบันทึก: 407739เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2010 12:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับคนคอน

มันเป็นเช่นนี้แหละพี่น้อง เวลาเชิญบอกว่าอยากฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน ของเครือข่าย พอเราบอกความจริงเขาไม่รับ รับไม่ได้

โครงการแก้ปัญหาน้ำท่วม พัทลุง กรมชลเสนองบแก้ปัญหาหลายสิบล้าน แต่พอคณะทำงานไปสำรวจปรากฎว่าไม่ใช่ความต้องการของชาวบ้าน เรื่งนี้ก็ต้องติดตาม.....

คอคลอดกระ ผมเคยเดินสำรวจจากชุมพรไปออกระนอง กับทีมงานของคุณ พงศา ชูแนม หน.ป่าต้นน้ำพะโต๊ะ ปรากฎว่าหากป่าตรงนี้ถูกทำลายการขุดคอคอดนี้ สูญเสียทรัพยากรอย่างมหาศาล หากไม่เดินไปแลเองคงไม่รู้

ถึงอย่างไรก็ต้องมีคนอย่างท่านอย่างเราอยู่ในสางคมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท