“หนูทำได้ หนูทำเป็น หนูอยากทำ” (๑)


 

“หนูทำได้ หนูทำเป็น หนูอยากทำ” เป็นคำพูดของเด็กอนุบาล ๒ คน ที่พยายามสร้างความมั่นใจและยืนยันกับคุณครู เพื่อขอโอกาสให้ตัวได้ลองถักนิตติ้งอย่างพี่ชั้นประถมบ้าง

 

ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจนี้เกิดขึ้นเมื่อเย็นวันพุธที่ผ่านมา  ในวันนั้นคุณครูแคท - คัทลียา รัตนวงศ์ มีหน้าที่จะต้องไปดูแลความเรียบร้อยบริเวณอาคารเรียนชั้นล่าง ในวันนั้นมีนักเรียนชั้น ๓ ที่เรียนวิชาการงานมานั่งเย็บผ้ากันอยู่ ๕ คน และมีนักเรียนชั้น ๒ ที่อยู่ชมรมนิตติ้งอีก ๓ คน มานั่งล้อมวงทำงานกันเงียบๆ ท่ามกลางเด็กอื่นๆ ที่วิ่งเล่นเสียงดังอยู่รอบๆ

 

เด็กหญิงใส่เอี๊ยมตัวน้อย ๒ คน  เดินวนเวียนรอบพี่ ๆ ด้วยความสนใจ  ครูแคทจึงเงยหน้าแล้วยิ้มให้  เด็กหญิงตัวน้อยก็พูดขึ้นว่า “หนูทำได้ หนูทำเป็น หนูอยากทำ” ครูก็ยิ้มให้แล้วพูดขึ้นว่า “เก่งจังเลย หนูเคยทำที่ไหนคะ” เด็กน้อยตอบว่า “ที่บ้านค่ะ” จากนั้นครูก็ก้มหน้าทำงานต่อไป

 

สักพักเด็กหญิง ๒ คนก็เดินมาอีก แล้วก็พูดเหมือนเดิมพร้อมยืนยัน  ครูก็ยิ้มและชม แต่ตอนนั้นก็ไม่คิดว่าจะให้ลองทำ  เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าพี่ๆ ป. ๒ ก็ยังทำกันได้ไม่ทุกคน  และที่สำคัญกล้ามเนื้อมือของเด็กอนุบาลก็ยังพัฒนาไม่เต็มที่ ถ้าครูให้ลองทำ หากทำไม่สำเร็จ  เด็กๆ อาจจะขาดความมั่นใจแล้วเกลียดงานฝีมือกันไปเลย 

 

แต่แล้วครูก็ใจอ่อนเมื่อเธอ ๒ คนยังเดินมาอีกรอบแล้วก็ยังพูดเหมือนเดิม ครูจึงตัดสินใจ  ใหม่ว่างั้นคงต้องให้ลองทำดูสักตั้ง...ถ้าได้ก็ดี  แต่ถ้าทำไม่ได้เขาก็จะได้เรียนรู้  ครูก็ระวังดีๆ ..อย่าให้เด็กเสียกำลังใจเป็นพอ

 

ครูจึงให้เด็กหญิงฟิลผู้กล้าหาญได้เริ่มก่อนเป็นคนแรก  แล้วก็เป็นไปอย่างที่คาดไว้คือมือของฟิลยังไม่แข็งแรงพอ จึงทำได้บ้างไม่ได้บ้าง  ส่วนใหญ่ครูต้องช่วย   แต่สิ่งที่ไม่ลดลงเลยแม้แต่น้อย  คือความมุ่งมั่นพยายาม  และที่สำคัญฟิลสามารถคือจดจำขั้นตอนได้เป็นอย่างดี 

 

เนื่องจากนักเรียนที่ต้องดูแลมีอยู่เกือบ ๑๐ คน  ครูจึงต้องปล่อยให้ฟิลทำเอง  แต่ก็ยังทำไม่ค่อยได้ ครูจึงตัดสินใจให้พี่ ป. ๒ ที่ทำค่อนข้างเก่งกว่าคนอื่น ๆ  ช่วยสอนน้อง  แล้วสิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจก็เกิดขึ้น  พี่หนุงหนิง ป. ๒ ตั้งใจสอนน้องอย่างใจเย็นและอดทน  สอนน้องอยู่ราวครึ่งชั่วโมง โดยที่ไม่ดุหรือบ่นน้องเลยแม้แต่คำเดียว  ครูได้ยินแต่คำว่า “ทำเองได้รึยัง” เมื่อเห็นน้องทำไม่ได้พี่หนุงหนิงก็สอนใหม่แล้วก็ได้ยินประโยคเดิมอีกหลายครั้ง จนกระทั่งผู้ปกครองมารับพี่หนุงหนิงกลับบ้าน 

 

 

เด็กหญิงฟิลคนเก่งยังคงพยายามต่อไป  เธอยังคงทำได้บ้างไม่ได้บ้างเช่นเคย  ครูแคทจึงคอยให้กำลังใจและคำแนะนำอยู่ไม่ห่าง  จนเวลาล่วงเลยมาเกือบหกโมงเย็น ฟิลเพิ่งจะรู้ตัวว่าคุณแม่รออยู่ห่างๆ อย่างเอาใจช่วยเลยบอกครูว่าจะต้องกลับบ้านแล้ว  พี่ป. ๓ คนหนึ่งถามว่าจะให้น้องเอาไม้นิตกลับบ้านมั๊ย  ครูแคทบอกว่าไม่ได้หรอกค่ะ  เพราะไม้นิตอันนี้ไม่ใช่ของครูแต่ว่าเป็นของพี่ป. ๒  เด็กหญิงฟิลได้ยินแบบนั้นก็ทำหน้าเสีย  ไม่พูดอะไร 

 

แล้วครูแคทก็ต้องใจอ่อนเป็นหนที่ ๒ ของวัน ช่วยถักปิดงานของฟิลที่เป็นผ้าชิ้นเล็กๆ เบี้ยวๆ ขนาดไม่เกินสามนิ้วให้ฟิลไป  แล้วก็พาไปขอยืมกรรไกรเพื่อตัดไหมพรมที่ห้องพักครูโดยให้ฟิลพูดขอยืมเอง ฟิลไม่มีอาการเขินอายหรือประหม่าเลยแม้แต่น้อย

 

ในที่สุดฟิลก็ได้ผลงานถักนิตติ้งชิ้นแรกของตัวเอง  เธอเดินถือไปให้คุณแม่ช่วยผูกข้อมือให้  ฟิลมองข้อมือตัวเองด้วยความภาคภูมิใจ และครูแคทก็มองฟิลด้วยความภาคภูมิใจเช่นกัน

 

ปรากฏการณ์ที่ได้พบนี้เป็นแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นนอกห้องเรียน  นอกความรับผิดชอบโดยตรง  แต่ได้กลายมาเป็นเป็นที่มาของความคิดดีๆ ที่จะนำไปเชื่อมโยงสู่การสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ให้กับนักเรียนชั้น ป.๓

 

เมื่อดิฉันเล่าเรื่องของฟิลให้คุณครูใหม่ฟัง คุณครูใหม่ได้แนะนำให้เอาบทเรียนนี้กลับเข้าไปทำให้เกิดขึ้นในชั้นเรียน และก็ช่างพอเหมาะที่ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ จะต้องทำงาน “ชื่นใจ...ได้เรียนรู้” กันอยู่พอดี 

 

เพราะ ฉันทะ ความมุ่งมั่นพยายาม และความใฝ่รู้ สู้สิ่งยาก เหล่านี้นี่เอง ที่ครูอยากจะปลูกให้เติบใหญ่อยู่ในหัวใจทุกดวง

  

 

 

หมายเลขบันทึก: 407575เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2010 14:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านด้วยความชื่นใจจริงๆค่ะ..

*พลังความตั้งใจ +การให้กำลังใจ=การเรียนรู้+ความสำเร็จ..

 

ขอบคุณพี่ใหญ่ที่แวะมาชื่นใจด้วยกันค่ะ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท