ความอดทนทำให้คนได้ดี


ขันติย่อมตัดรากเง่าแห่งบาปทั้งสิ้น ผู้มีขันติชื่อว่าย่อมขุดราก

 

                             อตฺตโน  จ  ปเรสฺจ                อตฺถาวโห  ว  ขนฺติโก

                             สคฺคโมกฺขคม  มคฺค             อารุฬฺโห  โหติ  ขนฺติโก

               ผู้มีขันติ  ย่อมนำประโยชน์มาทั้งแก่ตนทั้งแก่ผู้อื่น  ผู้มีขันติชื่อว่าเป็นผู้ขึ้นสู่ทางเป็นที่ไปสวรรค์และนิพพาน.

              บัดนี้จะได้อธิบายขยายเนื้อความแห่งกระทู้ธรรมภาษิตที่ลิขิตไว้ณ เบื้องต้นพอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและปฏิบัติ  สำหรับผู้สนใจในทางธรรมเป็นลำดับไป   

              ในธรรมภาษิตนี้มีข้อความแบ่งออกได้ ๓  ประเด็น  คือ ๑. กล่าวถึงบุคคลผู้มีขันติ  ๒. สรรเสริญผู้มีขันติว่าเป็นผู้นำประโยชน์คือความสุขความเจริญมาให้ทั้งแก่ตนและผู้อื่น  ๓. ผู้มีขันติมีโอกาสได้ไปสู่สวรรค์ตลอดถึงพระนิพพาน.  ประเด็นแรกเป็นเหตุของ ๒ ประเด็นหลัง,๒ ประเด็นหลังเป็นผลของประเด็นแรก,  ดังจะแยกขยายอธิบายเนื้อ

ความเป็นข้อ ๆ  ต่อไปนี้ :-

           บรรดาประเด็นทั้ง ๓ นั้น   เฉพาะประเด็นที่ ๑  ท่านกล่าวถึงบุคคลผู้มีขันติ คือผู้ตั้งอยู่ในขันติธรรมนั่นเอง  ก็คำว่าขันติธรรมธรรมคือขันตินั้นแปลว่าความอดทน  หมายถึงอดกลั้นต่อหนาวร้อนหิวกระหายเป็นต้น  เรียกว่า  ทนตรากตรำ  เพราะคนเราเกิดมาจำต้องประกอบกรณียะกิจตรากแดดตรำฝนทนหิวกระหวายเป็นต้นเพื่อการครองชีพ ๑  ต่อคลองถ้อยคำที่ผู้อื่นกล่าวมาไม่ดี  เรียกว่า  ทนกระทบกระทั่ง  หรือ  ทนเจ็บใจ  เพราะธรรมดามนุษย์ผู้อยู่รวมกันเป็นหมู่ ย่อมจะมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง  อันเป็นเหตุนำมาซึ่งความเจ็บช้ำน้ำใจ,  จำต้องอดทน ให้อภัยแก่กัน  เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ๑   และต่อทุกขเวทนาที่หยาบช้ากล้าแข็งอันเกิดในสรีระ  ซึ่งให้เกิดความไม่สำราญบานใจจนถึงขนาดปลิดชีวิตเสียได้  เรียกว่า  ทนลำบาก  เพราะธรรมดาร่างกายต้องวิโรธิปัจจัยมีแดดฝนเป็นต้น  ย่อมจะเกิดการเจ็บไข้ได้ทุกข์ขึ้นบ้าง จึงจำต้องอดทน ไม่ทุรนทุรายต่อทุกขเวทนาจนเกินไปเพื่อสะดวกแก่การพยาบาล ๑  ขันติทั้ง ๓ นี้มีอธิวาสนะความยังให้อยู่ทับเป็นลักษณะ  คือ  ไม่แสดงกายวิการเป็นต้นให้ปรากฏในเมื่อกระทบหนาวร้อนเป็นต้น  จึงเรียกว่าอธิวาสนขันติ  ความอดทนด้วยการยับยั้งและยังมีขันติที่สูงขึ้นไปกว่านี้อีก  เรียกว่า ตีติกขาขันติ  ขันติคือความทนทานต่ออารมณ์ที่มายั่วต่าง ๆ  อันนี้จัดเป็นขันติชั้นสูง  เพราะหมายถึงขันติทางจิตใจที่แข็งแกร่ง  ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ที่มายั่วให้ชอบก็ตามให้ชังก็ตามให้หลงก็ตาม  สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงมีพระขันติอย่างนี้  ดังที่ทรงปรารภถึงพระองค์เองเปรียบเทียบให้พระอานนท์ฟัง  แปลความว่า  เราทนทานคำล่วงเกินได้  เหมือนอย่างช้างศึกที่ทนทานลูกศรซึ่งตกจากแล่งมาต้องกายในสนามรบ  เพราะว่าคนส่วนมากเป็นผู้ทุศีลดังนี้.  ก็แล  ขันติซึ่งประการดังกล่าวมานี้แหละ  จัดเป็นประธาน  เป็นตัวเหตุให้คุณธรรมอื่น ๆ  บังเกิดและเจริญขึ้นตาม ๆกัน  สมด้วยวจนประพันธ์อันมีมาในสวดมนต์ฉบับหลวงว่า  

              สีลสมาธิคุณาน                ขนฺติ  ปธานการณ

              สพฺเพปิ  กุสลา  ธมฺมา        ขนฺตฺยา  เยา  วฑฺฒนฺติ  เต

           ขันติเป็นประธานเป็นเหตุแห่งคุณคือศีลและสมาธิ  กุศลธรรมทั้งปวงย่อมเจริญเพราะขันติธรรมเท่านั้น  ดังนี้.

           มีอธิบายว่า  คุณธรรมมีศีลและสมาธิเป็นต้นจะเกิดขึ้นดำรงอยู่หรือเจริญสืบต่อไปได้  ก็เพราะอาศัยขันติเป็นตัวสำคัญ  หากขาดขันติเสียแล้ว  คุณธรรมดังกล่าวจะเกิดขึ้นมิได้  แม้ที่เกิดขึ้นแล้วก็ไม่อาจที่จะดำรงอยู่ได้  ย่อมเสื่อมสลายไปในที่สุด  ต่อเมื่อบุคคลมาประกอบคือตั้งอยู่ในขันติธรรมดังกล่าวมา  ท่านจึงเรียกว่า ขนฺติโก  ผู้มีขันติกล่าวคือ  ผู้มีความอดกลั้นต่อความตรากตรำอันเกิดแต่การประกอบอาชีพ,  ต่อความเจ็บใจอันเกิดแต่คำเสียดแทง,  ต่อทุกขเวทนาอันเกิดแต่ความเจ็บไข้ได้ป่วย  และมีความทนทานต่ออารมณ์ที่มายั่วยุต่าง ๆได้  นี้เป็นอธิบายในประเด็นที่ ๑  เมื่อมาทราบเนื้อความในประเด็นที่ ๑  เช่นนี้แล้ว พึงทราบความในประเด็นที่ ๑ ต่อไป.

           ในประเด็นที่ ๒  ซึ่งว่าขันติย่อมนำประโยชน์มาทั้งแก่ตนทั้งแก่ผู้อื่นนั้น  มีอธิบายว่า  บุคคลผู้มีขันติธรรมประจำใจดังกล่าวนั้น จะประกอบกิจการใด ๆ   ก็อดทนกระทำไปด้วยความเข้มแข็งไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคและภยันตรายใด ๆ  ทั้งสิ้น   ถึงจะมีใครมาคิดร้ายหมายเวรทำให้เกิดทุกข์จากด้วยประการต่าง ๆ  ก็ไม่คิดหาทางทำร้ายตอบแทน  แต่ยับยั้ง ไว้ด้วยขันติและเมตตา  พิจารณาโดยรอบคอบ  แสวงหาความดีความชอบของเขา  ไม่คิดในทางชั่วร้ายหมายอาฆาต  อันจะก่อให้เกิดความวิวาทบาดหมาง  ซึ่งเป็นทางก่อเวรภัยแก่กันและกันไม่มีวันสิ้นสุด  เมื่อหยุดใจไว้ได้  เวรภัยทั้งหลายอันเป็นฝ่ายอนัตถะก็จะสงบระงับดับสูญไปสมด้วยเทศนานัยวิธีซึ่งมีมาในสวดมนต์ฉบับหลวง  อีกบทหนึ่งว่า

                             เกวลานปิ  ปาปาน     ขนฺติ  มูล  นิกนฺตติ

                             ครหกลหาทีน              มูล  ขนติ  ขนฺติโก

           ขันติย่อมตัดรากเง่าแห่งบาปทั้งสิ้น  ผู้มีขันติชื่อว่าย่อมขุดรากแห่งความติเตียนและความวิวาทเป็นต้นได้  ดังนี้

           ธรรมภาษิตบทนี้ชี้ให้เห็นว่า  บาปคือความชั่วร้ายที่เป็นไปทางกาย  เรียกว่ากายทุจริตเป็นต้น  ย่อมจะเกิดขึ้นจากอกุศลมูลมีโลภะเป็นต้น  เมื่ออกุศลมูลเกิดขึ้นแล้วจำต้องใช้ขันติเป็นเครื่องตัดบั่นทอนให้สงบ  เมื่ออกุศลมูลสงบลงราบคาบ  บาปทั้งหลายกล่าวคือความชั่วร้ายอันไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลทั้งแก่ตนและคนอื่นก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ดังนั้นผู้ที่มีขันติเป็นวิหารธรรมประจำใจ  จึงชื่อว่าย่อมขุดรากแห่งความตำหนิติเตียนเสียได้  เพราะตนเองก็ติเตียนตนเองว่าเป็นคนชั่วโดยศีลเป็นต้นไม่ได้ บัณฑิตผู้รู้ใคร่ครวญทั้งหลายก็ติเตียนไม่ได้  และได้ชื่อว่าขุดรากแห่งความทะเลาะวิวาทเสียได้  เพราะได้ใช้ขันติอดกลั้นทนทานต่อความชอบ  ความชัง  และความเข้าใจผิดกันแก่กันและกันเสียได้เมื่อขุดรากแห่งความชั่วอันเป็นฝ่ายอนัตถะ  คือสิ่งไม่เป็นประโยชน์เสียได้แล้ว  รากแห่งความดีงามซึ่งเป็นอัตถะคือสิ่งเป็นประโยชน์กล่าวคืออโลภะเป็นต้น  ย่อมเกิดขึ้นในจิต  เมื่อเกิดขึ้นแล้วเขาก็ย่อมทำพูดคิดแต่ในทางดีที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและคนอื่น  ซึ่งเรียกว่ากายสุจริตเป็นต้น  ก็ย่อมนำมาซึ่งผลคือความสุขความเจริญ  ทั้งแก่ตนและคนอื่นทั้งสองฝ่าย  นี้เป็นอธิบายในประเด็นที่ ๒  เมื่อทราบอธิบายในประเด็นที่ ๒ เช่นนี้แล้ว  พึงทราบอรรถาธิบายในประเด็นที่ ๒ ต่อไป. 

           ในประเด็นที่ ๓  ที่ว่า  ผู้มีขันติชื่อว่าเป็นผู้ขึ้นสู่ทางไปสวรรค์และนิพพานนั้น  อธิบายว่า  ผู้มีขันติไม่ใช่จะนำประโยชน์อย่างธรรมดาสามัญในมนุษยโลกนี้  ที่เรียกว่า  มนุษย์สมบัติ  มาอย่างเดียวเท่านั้นแต่ยังสามารถนำประโยชน์อย่างกลางซึ่งเรียกว่าสวรรค์สมบัติ  และประโยชน์อย่างสูงซึ่งเรียกว่านิพพานสมบัติมาได้ด้วย  เพราะเขาได้ดำเนินขึ้นสู่ทางไปสวรรค์และนิพพาน  กล่าวคือศีล สมาธิ  และปัญญา  โดยที่มาใช้ขันติระงับยับยั้งทนทานในอารมณ์ต่าง ๆ   ไม่เป็นไปในอำนาจแห่งอกุศลมูล  ทำกุศลมูลให้เกิดมีขึ้นในจิต  แล้วประพฤติสุจริตทางกายวาจาอันจัดเป็นศีล  ผู้มีขันติตั้งมั่นอยู่ในศีล  ย่อมได้รับอานิสงส์คือเกียรติคุณอันงามในโลกนี้ชั้นหนึ่งแล้ว  ตายไปยังได้ความบันเทิงใจในสวรรค์อีกชั้นหนึ่งเป็นแน่แท้  สมด้วยกระแสสาวกภาษิต  อันมีมาในขุททกนิกาย  เถรคาถาว่า

                                 อิเธว  กิตฺตึ  ลภติ         เปจฺจ  สคฺเค  จ  สุมโน

                                 สพฺพตฺถ  สุมโน  ธีโร    สีเลสุ  สุสมาหิโต

           ผู้มีปรีชาตั้งมั่นในศีล  ย่อมได้ชื่อเสียงในโลกนี้  ละไปแล้วก็ย่อมดีใจในสวรรค์  ชื่อว่าย่อมดีใจในที่ทั้งปวง  ดังนี้. 

           ก็ผู้มีปรีชาในภาษิตนี้  ได้แก่ผู้ฉลาดรู้จักใช้ขันติธรรม  ดำรงอยู่ในศีลอันเป็นมรรคไปสู่สวรรค์  ก็ย่อมจะได้ความสุขจิตบันเทิงใจในที่ทั้งปวง  คือทั้งมนุษยโลกและสวรรคโลก  ไม่ใช่แต่เท่านั้น  ผู้มีขันติทำให้บริบูรณ์ในศีลแล้ว  จิตใจย่อมสงบเป็นสมาธิไม่ฟุ้งซ่านด้วยปริยุฏฐานกิเลสอันเป็นเหตุมัวหมอง  แต่นั้นปัญญาชั้นสูงก็จะผุดขึ้นหยั่งเห็นสภาวธรรมตามที่เป็นจริง  เขาก็จักเกิดความเบื่อหน่ายคลายความพอใจในกองทุกข์ทั้งมวล  เมื่อคลายความพอใจเสียได้นั่นแหละเป็นทางแห่งโมกขะคือความหลุดพ้นจากทุกข์  ซึ่งท่านกล่าวว่านิพพานเพราะดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์ได้โดยประการทั้งปวง  ผู้มีขันติชื่อว่าขึ้นสู่ทางสวรรค์และนิพพานด้วยประการฉะนี้.

           รวมความตามที่แสดงมานี้ก็จะเห็นได้ว่า  บุคคลผู้มีขันติ  คือผู้อดกลั้นต่อความตรากตรำ  ในเพราะกระทำการงานเพื่อเลี้ยงชีพก็ดีต่อความเจ็บใจอันเกิดแต่คำเสียดแทงก็ดี  ต่อทุกขเวทนาอันเกิดแต่ความเจ็บไข้ได้ป่วยเพราะความแปรปรวนแห่งสังขารก็ดี  และทนทานต่ออิฏฐารมณ์  หรืออนิฏฐารมณ์ที่มายั่วหรือยุให้ชอบหรือให้ชังหรือให้หลงไหลเข้าใจผิดก็ดี ย่อมจะประกอบกรณียกิจอันเป็นเหตุนำประโยชน์สุขสมบัติในทิฏฐธรรมกล่าวคือมนุษย์สมบัติมาให้แก่ตน  โดยยังตนให้ตั้งอยู่ในกองแห่งโภคสมบัติและให้ตั้งมั่นอยู่ในศีล  ทั้งได้นำประโยชน์มาให้ผู้อื่นโดยที่ตนรู้จักยับยั้งชั่งใจ  ไม่มุ่งร้ายหมายเวรก่อทุกข์สร้างโทษให้บังเกิดขึ้นแก่ผู้อื่นด้วยการประหัตประหารบ้าง  หักล้างผลประโยชน์ของผู้อื่นด้วยการขโมยบ้างเป็นต้น,  ผลอันยิ่งกว่านั้นคือความรื่นเริงบันเทิงใจในสวรรค์อันล้วนแต่เป็นทิพย์  ที่เรียกกันว่าสวรรค์สมบัติตนก็จะต้องได้รับในเมื่อมีศีลสมาธิบริบูรณ์  และผลประโยชน์อย่างสูงสุดคือพระนิพพานสมบัติ  ตนก็จะต้องเข้าถึงในเมื่อมีปัญญาเต็มรอบครบถ้วน  เป็นอันว่าผู้มีขันติย่อมได้ประสบสุขสมบัติ ๓ อย่าง   อย่างใดอย่างหนึ่ง  คือ  มนุษย์สมบัติ  สวรรค์สมบัติ  และนิพพานสมบัติโดยสมควรแก่กำลังแห่งการปฏิบัติของตน.

           เพราะฉะนั้น   ท่านสาธุชนผู้หวังความสุขความเจริญ  ควรอบรมขันติธรรมให้เกิดมีขึ้นในตน แต่นั้นก็จักได้รับผลกล่าวคือประโยชน์ ๓ ตามที่แสดงมา   แม้จะไม่ได้ครบทั้ง ๓  ได้เพียงแต่อย่างเดียวหรือสองอย่างก็ยังนับว่าเป็นการดี  เมื่อได้เช่นนี้ก็จะสมกันกับกระทู้ธรรมภาษิตที่ได้ลิขิตไว้เป็นนิกเขปบท ณ  เบื้องต้นนั้นว่า

                             อตฺตโน  จ  ปเรสฺจ     อตฺถาวโห  ว  ขนฺติโก

                             สคฺคโมกฺขคม  มคฺค  อารุฬฺโห  โหติ  ขนฺติโก

           แปลว่า  ผู้มีขันติย่อมนำประโยชน์มาทั้งแก่ตนทั้งแก่ผู้อื่น  ผู้มีขันติชื่อว่าเป็นผู้ขึ้นสู่ทางเป็นที่ไปสวรรค์และนิพพานดังนี้  ซึ่งมีอรรถาธิบายดังบรรยายมา  ด้วยประการฉะนี้.

                                  *****************

ที่มา : ตัวอย่างเรียงกระทู้ธรรมที่น่าอ่าน ไม่ปรากฏชื่อผ้เขียนกระทู้

หมายเลขบันทึก: 406230เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2010 13:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 11:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท