บทเรียนจากชีวิตจริง : เบื้องหลังแห่งความแข็งแกร่ง


บทความนี้เป็นการต่อยอดและบูรณาการองค์ความรู้ จากบันทึกและความเห็นของเพื่อนสมาชิกใน gotoknow นี่เองครับ ต้องขอขอบคุณต้นเรื่อง คุณจรัสศรี ภูมี (โมเสส) และความเห็น คุณวัลลภ ตังคณานุรักษ์ (ครูหยุย) ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับผม

            อินทรีย์คือพญาแห่งนกทั้งปวง อีกทั้งยังมีอายุที่ยืนยาวกว่าในบรรดาสัตว์ปีกทั้งหมดตามข้อมูลบอกไว้ว่ามันสามารถมีชีวิตยืนยาวได้นานถึง ๗๐ ปี[๑] (พอๆกับอายุเฉลี่ยคนไทยเราเลยนะ) ด้วยรูปร่างที่สง่างามและน่าเกรงขาม แต่จะมาถึงวันนี้ได้ก็จะต้องผ่านบททดสอบที่หนักหน่วงอย่างเฉียดเป็นเฉียดตายเลยทีเดียว นับตั้งแต่เกิดเมื่อถึงวัยที่จะต้องบิน แม่อินทรีย์จะใช้กรงเล็บพาลูกน้อยออกจากรังบนหน้าผาสูงชัน บินไต่ระดับขึ้นไปพอได้ความสูงระยะหนึ่งก็จะปล่อยลงมา[๒] เจ้าอินทรีย์น้อยจะต้องกระทำทุกวิถีทางที่จะต้องพยุงตนเองให้รอดพ้นจากการตกกระแทกพื้นให้ได้ นี่คือชั่วโมงแรกของการฝึกบิน และเป็นบททดสอบความแข็งแกร่งบทแรกเท่านั้น ถ้าผ่านคือรอด แต่ถ้าไม่ผ่านนั่นหมายถึงชีวิตที่อาจจะไม่มีสิทธิ์ได้ใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้อีกต่อไป

            บททดสอบความแข็งแกร่งต่อมาเกิดขึ้นประมาณอายุ ๔๐ ปี ถ้าไม่สิ้นบุญไปเสียก่อนได้เจอกันทุกตัวแน่นอน ซึ่งในตอนนี้เองกรงเล็บที่แข็งแกร่งแหลมคมและมีความหยุ่นตัวได้ดี ไม่สามารถใช้จับสัตว์มาเป็นอาหารได้อีก จงอยปากที่แหลมคมก็เริ่มโค้งงอ ขนปีกที่หนาและหนักรวมถึงขนที่ยาวไปกระจุกอยู่ที่หน้าอกของมัน เป็นอุปสรรคอย่างมากในการบิน มาถึงจุดนี้ถ้าคิดถึงทางเลือกให้เจ้านกอินทรีย์ก็คงมี ๒ ทางเลือก.....

            ทางเลือกที่๑ ..... จบชีวิตตนเองลงไปซะตอนนี้เลย...... หรือ

            ทางเลือกที่๒ ..... ยอมทนทุกข์ทรมานต่อไป

           แต่ไม่มีอะไรคงทนถาวรหรอก ทุกอย่างเป็นเพียงการไหลผ่านเข้ามาแล้วเดียวมันก็ไหลผ่านออกไปเองตามธรรมชาติ ความทุกข์ไม่ได้อยู่ติดตัวเราตลอด ในขณะเดียวกันความสุขก็ไม่ได้อยู่ติดตัวเราตลอดด้วยเช่นกัน ถ้าเจ้านกอินทรีย์เลือกทางเลือกที่ ๒ มันจะต้องทนทุกข์ต่อไปอีกประมาณ ๕ เดือน (๑๕๐ วัน) มันต้องทนต่อสภาพความเจ็บปวดที่จะได้รับ ดังนั้นที่อยู่ที่ดีที่สุดตอนนี้ก็คือ รังบนหน้าผาสูงของมันนั่นเอง

           มันจะต้องใช้จงอยปากที่โค้งงอของมันเคาะกับก้อนหินครั้งแล้วครั้งเล่า  จนจงอยปากมันหลุดออกมา เพื่อให้จงอยปากใหม่งอกออกมา จากนั้นก็มาถึงกรงเล็บใหม่ที่งอกยาวตามมา หลังจากนั้นมันจึงใช้จงอยปากใหม่ถอนขนที่ดกหนารกรุงรังของมันออกไป และผลัดขนชุดใหม่มาแทน กระบวนการทั้งหมดที่กว่ามาก็ใช้เวลารวมประมาณ ๕ เดือน หรือ ๑๕๐ วัน

           และเมื่อมันผ่านพ้นช่วงบททดสอบในชีวิตครั้งนี้ไปได้ มันก็จะบินออกจากรังของมันอย่างสง่างามอีกครั้งหนึ่ง พร้อมส่งเสียงร้องดังลั่นสะท้านฟ้า คล้ายจะประกาศชัยชนะและบอกให้สรรพสิ่งรอบข้างมันรู้ว่า มันจะมีชีวิตที่ยืนยาวได้ต่อไปอีก ๓๐ ปี (ถ้าไม่สิ้นบุญไปเสียก่อน)

           บทเรียนจากชีวิตจริงนี้แสดงให้ผมได้รับรู้ถึงความเป็นธรรมดาที่เป็นธรรมชาติของโลกใบนี้ ถึงแม้มนุษย์จะถูกจัดให้เป็นสัตว์ที่ประเสริฐสูงส่งกว่าสัตว์ใดๆก็ตาม พฤติกรรมโดยสันดานดิบคงยังไม่สามารถละได้หมดเสียทีเดียว พฤติกรรมการกระทำของสัตว์ที่ไม่ประเสริฐอาจไม่ได้แฝงไว้ด้วยนัยอย่างลึกซึ้งเช่นมนุษย์ที่เป็นสัตว์ประเสริฐอย่างเราด้วยซ้ำ เล่ห์กลมารยาสาไถ ก็คงไม่มีเหมือนมนุษย์อย่างเรา พฤติกรรมที่แสดงก็คือสิ่งที่เขามี สิ่งที่เขาเป็น สิ่งที่เป็นตัวตนที่แท้จริง สิ่งที่เป็นจิตวิญญาณจริงๆของเขา พฤติกรรมบางอย่างที่มนุษย์อย่างเราไปมองพวกเขาแล้วอาจจะคิดว่าเขาไม่ฉลาด ฉลาดน้อย แต่จริงๆแล้วเราก็ต้องเขาใจว่านั่นคือความเป็นเขาในธรรมชาติ เขาไม่ได้ฉลาดน้อย แต่เขามีศักยภาพเพียงเท่านั้น บางทีเขาอาจจะได้ใช้ในสิ่งที่เป็นศักยภาพของเขามากกว่ามนุษย์อย่างพวกเราด้วยซ้ำไป มนุษย์อาจจะเป็นสัตว์ที่ฉลาดจากการที่เราได้คิดเอาเอง ซึ่งเกิดจากการเปรียบเทียบแล้วประเมินคุณค่าออกมากันเอง ในความฉลาดที่สุดขั้วด้านหนึ่งของมนุษย์ก็อาจทำให้เกิดปรากฎการณ์ดีดกลับไปในขั้วที่ตรงกันข้ามและทำให้มนุษย์มีพฤติกรรมที่ไม่ฉลาดได้เช่นกัน.....

        เคยเห็นสุนัขข้างถนนมันฆ่าตัวตายไหม?ถึงแม้ร่างกายจะผอมโซเหลือแต่โครงกระดูก ไม่ต้องพูดถึงโรคภัย มันพยายามอย่างเต็มที่ที่จะต่อสู้กับความทุกข์ทรมานเหล่านั้นจนถึงวินาทีสุดท้าย

              เคยเห็นแมวโดดตึกตายหรือเปล่า?

              เคยเห็นลิงผูกคอตายไหม?

              เคยเห็นควายกระโดดน้ำตายไหม?

         ความตายของพวกเขาไม่ได้เกิดจากปัจจัยจากตัวเขาเลย ส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยภายนอก แต่มนุษย์ที่ฉลาดล้ำลึกอย่างเราสามารถทำได้หมดทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ผมคิดว่ามนุษย์น่าจะเป็นสัตว์ชนิดเดียวที่สามารถคิดฆ่าตัวเองแล้วลงมือทำได้จริงๆ นับประสาอะไรกับคนอื่น!

       สิ่งที่ได้จากการบูรณาการบทเรียนนี้มีหลากหลายมากไม่ว่าจะคิดไปในแง่มุมใด เราสามารถบูรณาต่อยอดแตกกิ่งก้านสาขาไปได้เกือบทั้งหมด ทดลองบูรณาการและต่อยอดองค์ความรู้จากบทเรียนนี้กันดูผมคิดว่าเป็นบทเรียนที่ดีบทเรียนหนึ่งเลยทีเดียวครับ


 


[๑] จรัสศรี  ภูมี (โมเสส) บันทึกใน www.gotoknow.org “ชีวิตนกอินทรีย์”

[๒] วัลลภ  ตังคณานุรักษ์ (ครูหยุย) ความเห็นในบันทึก จรัสศรี  ภูมี (โมเสส) ใน www.gotoknow.org “ชีวิตนกอินทรีย์”

หมายเลขบันทึก: 406224เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2010 13:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เริ่มต้นจากหัวข้อ. บทเรียนจากชีวิตจริง. ซึ่งแย้งในที่นี่ว่าไม่เปนความจริงเลยสักนิดสำหรับนกอินทรี

นกอินทรี เขียนเช่นนี้ นกอินทรี ไม่ใช่สารอินทรีย์

1. แม่นกอินทรีจะปล่อยให้ลูกน้อยออกจากรังเอง เป็นธรรมชาติที่ตัวลูกต้องฝึกเรียนรู้ด้วยตัวเอง. โดยปกติ แม่นกจะไข่ไว้สองหรือสามฟอง. ฟองแรกที่ฟักเปนตัวพี่ใหญ่จะมีโอกาสอยู่รอดสูงสุด. เพราะหากตัวพ่อหรือแม่ไม่นำอาหารกลับมาเลี้ยงดู ตัวที่สามจะเป็นอาหารสังเวยการอยู่รอดของพี่ใหญ่ก่อนเสมอ. หากหิวอีกก็จะกินน้องๆเช่นนี้ เปนหนทางคัดสรรโดยตัวอยู่รอด

2.การพาลูกขึ้นที่สูง และปล่อยให้ตกลงมาเป็นจินตนาการณ์ผู้แต่งเรื่อง. ในความจริงแม่นกอาจนำอาหารมาหลอกล่ออยู่นอกรัง ลูกนกจะได้บริหารปีกให้แข็งแรง. เมื่อพ้นระยะเวลาหนึ่ง อาหารที่แม่นกจัดมาจะอยู่ไกลออกไปจนต้องบินข้ามไปเพื่ออาหารนั้นๆ

3. มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตเพียงอย่างเดียวที่พระเจ้าสร้างให้จบชีวิตตนเองได้. สัตว์อื่นที่จบชีวิตต้นเองได้มีเพียงการ์ตูน นวนิยาย. ยกตัวอย่างการตายหมู่ของไวด์เดอบิสเมื่อข้ามธารน้ำในแม่น้ำเซเลนเงติ, การตายหมู่ของแม่ปลาเซลมอน ล้วนเป็นปัจจัยภายนอกที่ทำให้จบชีวิตเเละวิถีธรรมชาติที่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าทั้งสิ้น. พระไวด์เดอบิสจะเปนอาหารให้จระเข้และสัตว์กินซากอื่นๆ ตัวที่อ่อนแอจะตายไป. ส่วนแม่ปลาเซลมอน ต้องตายเพราะความเหนื่อยล้าและเปนอาหารให้ลูกๆที่จะเจริญเติบโตต่อไป

4. จงอยปากนกไม่งอโค้งดังเรื่องที่เล่า. เพราะนกจะลับปากมันกับสารพัดสิ่งไม่ว่าจะหินหรือต้นไม้. พฤติกรรมนี้ทำทุกวันตลอดการดำรงมีชีวิตอยู และกรงเล็บก็แฉกเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกรงเล็บตีนจะพิถีพิถันเปนพิเศษเพราะเปนอาวุธที่ทรงพลังในการดำรงชีพ. หากไม่ลับกับร่างกายตนเองก็กับหิน,เหยื่อ,ไม้ ทุกอย่างที่มันจับต้องได้. จึงเปนจิตนาการ์ที่คิดกันไปเองแล้วมีการลิงค์ไปในสื่อต่างๆ. เรื่องใช้จงอยปากกระแทกจนผลัดอันใหม่ขึ้นมา หากมันกระทำเช่นนั้นจริงมันอดอาหารตายแล้ว เพราะนกนักล่าทั้งหลายมีอาวุธสำคัญสองชนิด อุ้งตีนที่จับเหยื่อและสามารถสังหารเหยื่อกลางเวหา และจงอยปากที่แหลมคมดุจกรรไกรใบมีด มันไม่ปล่อยให้จงอยยาวยื่นเปนอุปสรรคดุจดั่งที่กล่าวถึง

5.ขนปีกนกไม่หนักเกินความจำเปน ไม่มีการไปกระจุกตัวที่หน้าอก อย่างที่อ้างในเรื่องแต่ง. การผลัดขนนกตามอายุเปนประจำและไม่กระทำให้เสร็จสิ้นในครั้งเดียวเลย. ข้อเท็จจริงในการผลัดขนจะกระทำอย่างมีระบบ ค่อยเปนค่อยไป ไม่จิกจนหมดในคราวเดียว. ดังนั้นตัวเลข150 ก็เปนเพียงจินตนาการณ์ของผู้แต่งเช่นกัน

6. บททดสอบของนกอิรทรีเริ่มต้นตั้งแต่มันฟักเปนตัว. ไม่ต้องถึงสี่สิบปีเจ็ดสิบปีค่อยมาวิเคราะห์การอยู่รอด เพื่อความอยู่รอดมันอาจต้องฆ่าน้อง ตัวที่แข็งแรงย่อมมีโอกสาอยู่รอดสูง มันต้องโผล่บินให้ได้ด้วยตนเอง มิเช่นนั้นก็ตาย มันต้องยังชีพด้วยการหาอาหารเองเมื่อออกจากรังได้แล้ว โดยศึกษารูปแบบที่พ่อหรือแม่เปนแบบอย่างให้ ต้องอพยพเดินทางไกลไปหาแหล่งอาหารที่สมบูรณ์เมื่อฤดูการอพยพมาถึง ซึ่งสำหรับลูกนกปีแรกมักมีอายุเพียง4-6เดือนเท่านั้นก็ต้องเดินทางแล้ว. ซึ่งการอพยพจะกระทำจวบจนชีวิตมันจะสิ้นสุด. อุปสรรคใหญ่ของการเดินทางไปและกลับคือหาอาหารไม่ได้ตายเสียก่อน หรือไม่ก็ถูกมนุษย์กำจัด ที่ร้ายยิ่งกว่าคือไปตายเพราะน้ำมือมนุษย์ที่วางยาเบื่อหนู เบื่อสัตว์ที่คิดว่าเปนผลต่อเกษตรกร.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท