NGV…CNG…LNG…LPG..ต่างกันอย่างไร?


NGV…CNG…LNG…LPG..ต่างกันอย่างไร?

 NGV (Natural Gas for Vehicle) คือ ก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ มีก๊าซมีเทนเป็นองค์ประกอบหลักและมีคุณสมบัติเบากว่าอากาศ หากเกิดรั่วไหลจะฟุ้งกระจายไปในอากาศอย่างรวดเร็ว เมื่อจะนำมาใช้งานก๊าซฯ จะถูกอัดด้วยความดันสูงประมาณ 3,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว และบรรจุในถังที่มีความแข็งแรง และทนทานสูงเป็นพิเศษ บางครั้งจึงเรียกว่า ก๊าซธรรมชาติอัด หรือ CNG ที่ย่อมาจากคำว่า Compressed Natural Gas สรุปว่า NGV หรือ CNG ก็คือก๊าซธรรมชาติอัดที่ใช้กับรถยนต์ตัวเดียวกันนั่นเอง

            LNG (Liquefied Natural Gas) คือ ก๊าซธรรมชาติที่มีก๊าซมีเทนเป็นส่วนประกอบหลัก ที่ถูกทำให้อยู่ในรูปของ “ของเหลว” เพื่อประโยชน์ในการขนส่งไปใช้ในที่ไกลๆ จากแหล่งผลิตฯ ที่การขนส่งทางท่อฯ ไม่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ โดยมีกระบวนการเปลี่ยนสถานะก๊าซธรรมชาติให้เป็นของเหลวที่อุณหภูมิ -160 องศาเซลเซียส ซึ่งปริมาตรจะลดลง 600 เท่า ทำให้สามารถขนส่งได้ในปริมาณมาก และยังประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บ

            ส่วน LPG (Liquefied Petroleum Gas) คือ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือก๊าซหุงต้ม เป็นก๊าซธรรมชาติที่มีก๊าซโพรเพน และก๊าซบิวเทน เป็นองค์ประกอบหลัก นิยมนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือนและโรงงานอุตสาหกรรม เพราะให้ค่าความร้อนสูง ก่อนนำไปใช้งาน จะถูกอัดด้วยความดันให้เป็นของเหลว บรรจุในถังทนแรงดัน สะดวกแก่การขนส่ง ปัจจุบันมีการนำก๊าซ LPG ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์แทนน้ำมันเบนซิน แต่เนื่องจากก๊าซ LPG มีคุณสมบัติหนักกว่าอากาศ เมื่อเกิดรั่วไหล จะกระจายอยู่ตามพื้นราบ และเกิดติดไฟได้ง่ายหากมีประกายไฟ จึงมีความปลอดภัยน้อยกว่าการใช้ก๊าซ NGV ในรถยนต์
                     
            จึงอาจกล่าวได้ว่า NGV CNG และ LNG ที่ต่างก็เป็นก๊าซธรรมชาติที่มีก๊าซมีเทนเป็นองค์ประกอบหลักเหมือนกัน แต่แตกต่างกันตรงรูปแบบ และลักษณะการนำไปใช้งาน

ไทยผลิตก๊าซ LPG ได้ไม่พอใช้ ปตท. มีแผนรับมืออย่างไร??

            ปัจจุบัน ความต้องการใช้ก๊าซ LPG ในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในภาคขนส่งและอุตสาหกรรม ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นและมีความผันผวน ทำให้คนไทยหันมาใช้ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์แทนน้ำมันกันมากขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทย จากที่เคยเป็นประเทศส่งออก๊าซ LPG มาโดยตลอดต้องเริ่มนำก๊าซ LPG จากต่างประเทศเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 2551 เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ โดยต้องนำเข้าอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ในปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมปริมาณการนำเข้าจนถึงเดือนมกราคม 2553 ทั้งสิ้น 1.3 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท

            ในปี 2553 คาดว่าการนำเข้า LPG จะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 1 แสนตันต่อเดือน ซึ่งเป็นปริมาณที่มากเกินกว่าที่คลังก๊าซเขาบ่อยา ซึ่งเป็นคลังรองรับการนำเข้า LPG ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจะรับได้ ปตท. จึงได้ดำเนินการใช้เรือนำเข้าเป็นคลังลอยน้ำ (Floating Storage Unit) พร้อมทั้งดำเนินการผสมก๊าซโพรเพนกับก๊าซบิวเทน และจ่าย LPG ลงเรือลำเลียงในรูปแบบการขนถ่ายระหว่างเรือ (Ship to Shipป ซึ่งเริ่มดำเนินการครั้งแรกไปแล้วเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพลังงาน กรมธุรกิจพลังงาน กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต และกรมเจ้าท่า นอกจากนั้น ปตท. ยังได้ปรับเลื่อนการหยุดซ่อมบำรุงโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 1,2,3 และ 5 ออกไป เพื่อบรรเทาสถานการณ์และลดภาระการนำเข้า LPG ของประเทศอีกทางหนึ่ง
                     

ที่มา www.vcharkarn.com

หมายเลขบันทึก: 406112เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2010 16:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 13:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท