Alien Species คืออะไร?


Alien Species คืออะไร?

                            
             Alien Species คือชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานไม่ใช่เอเลี่ยนที่อยู่ในภาพยนตร์แต่มันมาเพื่อรุกรานเหมือนกัน กำลังถูกพูดถึงบ่อยมากในระยะหลัง ตั้งแต่พบการแพร่ระบาดของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในจำนวนมากจนน่าตกใจ ซึ่งผลทำให้สิ่งมีชีวิตในท้องถื่นลดจำนวนลงเกือบสูญพันธุ์ ปัญหาดังกล่าวสร้างความวิตกให้คนทั่วโลก แม้แต่ประเทศไทยที่ขึ้นชื่อเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ แต่หากปล่อยให้ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานต่อไป เกรงว่าจะเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งมีชีวิตในประเทศได้ในเวลาไม่นาน

             หลายคนยังคงมีความสงสัยเกี่ยวกับว่าชนิดพันธุ์ต่างถิ่นคืออะไร ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานคืออะไร เมื่อทำการศึกษาค้นคว้าก็พบว่า ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (Introduced species or Exotic species) คือ ชนิดพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยปรากฎในเขตชีวภูมิศาสตร์หนึ่งมาก่อน แต่ถูกนำมาแพร่กระจายมาจากที่อื่นด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง และสามารถดำรงชีวิต สืบพันธุ์ได้ในพื้นทีนั้น ส่วน”เอเลี่ยนสปีชีย์ “(Invasive species or Alien species) คือ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นฐานและสามารถยึดครองจนเป็นชนิดเด่นในพื้นที่ และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสุขอนามัยของประชาชนด้วยหากไม่มีการควบคุมและจัดการอย่างเหมาะสม

ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นแต่ละชนิดมีถิ่นอาศัยที่มีความเฉพาะตัวในด้านการกระจายทางภูมิศาสตร์ ซึ่งการแพร่กระจายของมันขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร สภาพภูมิประเทศและสิ่งที่อยู่แวดล้อมต่างๆ ที่ได้ปรับตัวให้เหมาะสมแล้ว ซึ่งเวลาในการปรับตัวอาจจะใช้เวลานานนับพันปีขึ้นไป แต่เมื่อไรที่มีการนำเอาสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆออกมาจากถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมของมัน และนำไปปล่อยยังพื้นที่อื่นที่ไม่เคยมีสัตว์ชนิดนั้นมาก่อน สิ่งมีชีวิตนั้นก็จะกลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นซึ่งอาจจะมีผลกับการเป็นอยู่ของตัวมันเองเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ผิดไปจากเดิม หรืออาจมีผลกับแหล่งน้ำหรือสิ่งมีชีวิตเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น

             ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นแบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกันคือ ประเภทที่ไม่รุกราน ชนิดพันธุ์ที่ไม่มีผลกระทบต่อสิง่มีชีวิตอื่นๆ หรือระบบนิเวศโดยตรงหรือชัดเจนนัก ดำรงชีวิตแบบไม่แข่งขันหรือขัดต่อต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นหรือสมดุลของนิเวศ ตัวอย่างเช่น ปลานิล ปลาไน และปลาจีน รวมถึงปลาเศรษฐกิจต่างๆที่มีการปล่อยลงแหล่งน้ำ ส่วนอีกประเภทคือ ประเภทที่รุกราน เป็นชนิดที่แพร่พันธุ์ได้รวดเร็วและมีความสามารถในการปรับตัวแข่งขันแทนที่ชนิดพันธุ์พื้นเมืองได้ดี และยังมีการดำรงชีวิตที่ขัดขวางหรือกระทบต่อสมดุลนิเวศทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบชนิดพื้นเมือง หรืออาจเป็นศัตรูต่อผลผลิตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทางเกษตรได้ ตัวอย่างเช่น ปลากดเกราะ ปลาดุกแอฟริกัน(ปลาดุกรัสเซีย) และหอยเชอร์รี่
          
             สิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่มีการแพร่กระจายมากที่สุดคือสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์น้ำ การที่สัตว์ต่างถิ่นจะเข้าไปอาศัยในธรรมชาติได้นั้นเกิดจากการกระทำของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมได้ 2 วิธีใหญ่ๆคือ โดยไม่ตั้งใจ เช่นการหลุดหนีจากที่เลี้ยง อุบัติเหตุขณะขนส่ง และภัยธรรมชาติจนทำให้ที่เลี้ยงพังทลาย ส่วนโดยตั้งใจ เป็นการปล่อยเพื่อวัตถุประสงค์ของมนุษย์โดยตรง เช่น เพื่อการทำบุญตามความเชื่อ ปล่อยทิ้งเนื่องจากเบื่อที่จะเลี้ยง หรือประสบปัญหาขาดทุนในการเพาะเพื่อการค้า การปล่อยทิ้งเพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุมจากเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะสัตว์น้ำที่นำเข้าและครอบครองอย่างผิดกฏหมาย การปล่อยโดยหน่วยงานราชการเองเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการเพิ่มผลผลิตแหล่งน้ำในธรรมชาติและที่ถูกสร้างขึ้น หรือการปล่อยตามพิธีการและโครงการต่างๆ

             ในปัจจุบันได้มีการนำเข้าสัตว์และพืชต่างถิ่นเข้ามาเพาะเลี้ยงในประเทศไทยมากมายหลากหลายชนิด บางชนิดนำเข้ามาเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านอาหาร บางชนิดนำเข้ามาเพื่อใช้ในด้านการสันทนาการ และเมื่อเลิกเลี้ยงหรือโดยอุบัติเหตุก็มักหลุดกระจายไปไปยังแหล่งน้ำ ป่าบริเวณใกล้เคียงทำให้ปะปนกับสิ่งมีชีวิตพื้นเมืองในธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรและระบบนิเวศของประเทศ จากการสำรวจของนักวิชาการพบว่าสัตว์ต่างถิ่นที่พบในเมืองไทยมีสัตว์ต่างถิ่น มากกว่า 3500 ชนิด ส่วนมากจะเป็นสัตว์น้ำ และพืชต่างถิ่นมี 14 ชนิด โดยมี 7 ชนิดอยู่ในบัญชีของพืชต่างถิ่นที่ร้ายแรงของโลกประกอบด้วย ผักตบชวา ไมยราบยักษ์ หญ้าคา อ้อ ขี้ไก่ย่าน ผกากรอง และกระถิ่นยักษ์

             เมื่อสัตว์ต่างถิ่นหลุดเข้าไปอยู่ในถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติจะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ผลกระทบทางตรงเป็นผลกระทบเห็นได้ชัดเจนและรุนแรงในระยะเวลาอันสั้น จากการแพร่พันธุ์สร้างประชากรอย่างรวดเร็วและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมสร้างผลกระทบต่อสมดุลนิเวศ ได้แก่

-เป็นผู้ล่าต่อสัตว์พื้นเมืองเดิม (Predator) มักเป็นสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่หรือมีการรวมฝูง ทำให้จำนวนชนิดเปลี่ยนแปลงและก่อผลเสียต่อสมดุลนิเวศในภายหลัง เช่น ปลาดุกรัสเซีย
-เป็นตัวแก่งแย่ง (Competitor) โดยเป็นผู้แก่งแย่งถิ่นที่อยู่อาศัย อาหารและพื้นที่สืบพันธุ์ ทำให้ชนิดที่อ่อนไหวสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่ เช่น ปลานิล
-นำโรคหรือปรสิต (Disease and parasite carrier) สัตว์บางชนิดมีโรคหรือปรสิตเดิมที่มันสามารถทนทานได้ดีอยู่แล้ว แต่สัตว์พื้นเมีองไม่มีความต้านทานดังกล่าว เมื่อเข้าไปอยู่อาศัยอาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคระบาดและปรสิตได้ เช่น ปลาจีนเป็นพาหะนำโรคหนอนสมอและราปุยฝ้าย หอยเชอร์รี่เป็นพาหะกลาง (Intermediate Host) ของพยาธิ Angiostoma มาสู่มนุษย์
-รบกวนหรือทำลายสภาพนิเวศ (Habitat Disturbance) สัตว์บางชนิดเป็นผู้ล่าหรือผู้ถูกล่า เมื่อองค์ประกอบระหว่างผู้ล่าและผู้ถูกล่าเกิดการเปลี่ยนแปลงจากการเพิ่มเข้ามาของสัตว์ต่างถิ่น สมดุลทางนิเวศวิทยาก็เกิดการเปลี่ยนแปลงส่งผลระยะยาว ตัวอย่างเช่นหอยเชอร์รี่ที่กัดกินต้น ใบอ่อนจนหมดและเกิดการเปลี่ยนสังคมพืชในแหล่งน้ำทำให้ความหลากหลายของสัตว์น้ำลดลงในเวลาต่อมา
-ก่อการเสื่อมทางพันธุกรรม (Genetic pollution, Erosion) สัตว์ต่างถิ่นบางชนิดมีลักษระพันธุกรรมใกล้เคียงกับสัตว์พื้นเมืองจนอาจมีการผสมข้ามพันธุ์เกิดเป็นลูกผสม ทำให้ลูกที่ออกมามีอัตราการรอดต่ำและเป็นหมันในรุ่นต่อ ความหลากหลายทางพันธุกรรมเดิมเสื่อมลง เช่น ปลาดุกรัสเซียและลูกผสม(ปลาดุกบิ๊กอุย) ที่มีการปนเปื้อนกับพันธุกรรมของปลาดุกด้านหรือปลาดุกอุย เป็นต้น

          

หน้าที่ 2 - ผลกระทบจากการรุกรานของ Alien Species

             

             Alien Species สายพันธุ์รุกรานได้แพร่กระจายและสร้างความเสียหายให้ประเทศต่างทั่วโลก มีทั้งพืช สัตว์ชนิดต่างๆ ที่พบเห็นทั่วไปในประเทศไทย เช่น ผักตบชวา ปลากดเกราะหรือปลาซัคเกอร์หรือปลาเทศบาล ไมยราบยักษ์ หอยเชอร์รี่ หนอนใยผัก เป็นต้น

             มีงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์หลายท่านที่ศึกษาผลกระทบของ Alien Species ในเมืองไทย เช่น การศึกษาของ ดร.รัฐชา ชัยชนะ ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของปลาเทศบาลที่พบตามแหล่งน้ำธรรมชาติพบว่าเกิดการลดลงและสูญพันธุ์ของปลาท้องถิ่นชนิดอื่นไปเรื่อยๆ ปลาเทศบาลเป็นปลาที่นำเข้ามาจากทวีปอเมริกาใต้เพื่อใช้กำจัดสาหร่ายและของเสียที่ตกค้างอยู่ในตู้ปลา เมื่อมีขนาดใหญ่ผู้เลี้ยงมักจะนำไปปล่อยยังแหล่งน้ำธรรมชาติ ปลาก็สามารถเจริญเติบโตและสืบพันธุ์ได้ดี เนื่องจากปลาเทศบาลเหล่านี้เป็นปลาขนาดใหญ่ จึงมีความสามารถในการแก่งแย่งอาหารและที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะกับปลาที่มีขนาดเล็กกว่า จนมีผลทำให้ประชากรปลาอื่นลดจำนวนลงและสูญหายไปในที่สุด อีกทั้งพฤติกรรมการกินของปลากดเกราะที่ดูดกินอาหารใต้น้ำ รวมทั้งไข่ปลาและลูกปลา ขณะที่ตัวมันมีเกล็ดแข็ง ครีบด้านข้างลำตัวและครีบด้านหลังเป็นเงี่ยงแข็งหนา จึงทำให้มีศัตรูธรรมชาติค่อนข้างน้อย ถ้าหากปล่อยให้ปลากดเกราะเพิ่มจำนวนขึ้น จะทำให้ปลาดุกอุยและปลาดุกด้านมีโอกาศสูญพันธุ์ได้

             ส่วน Alien Species อีกชนิดที่มีการศึกษาก็คือ จอกหูหนูยักษ์ โดย ดร.ศิริพร ซึงสนธิพร ที่ทำการศึกษาผลกระทบของการระบาดของจอกหูหนูยักษ์ พบว่าจอกหูหนูยักษ์เมื่อโตเต็มที่จะเบียดเสียดกันมากและซ้อนทับกันเป็นชั้นหนา 30-40 เซนติเมตร โดยบริเวณที่มีจอกหูหนูยักษ์ขึ้นปกคลุมผิวน้ำอย่างหนาแน่นเป็นพื้นที่กว้าง จะไปแย่งพื้นที่พรรณพืชน้ำอื่นๆ ในท้องถิ่น ทั้งยังบดบังไม่ให้แสงแดดและออกซิเจนผ่านลงไปใต้ผิวน้ำได้ ทำให้พืชใต้น้ำไม่สามารถสังเคราะห์ด้วยแสงได้และตายลง ยิ่งทำให้บริเวณนั้นขาดออกซิเจนที่ต้องใช้ไปกับการย่อยสลายซากพืช และทำให้สัตว์น้ำอยู่อาศัยต่อไปไม่ได้ ซึ่งความน่ากลัวของจอกหูหนูยักษ์คือกำจัดยากยิ่งกว่าผักตบชวา เพราะมีลำต้นเปราะบาง หักง่าย เวลาตักหรือช้อนขึ้นมามักหักเป็นท่อนๆ ที่มีใบติดอยู่ด้วย ซึ่งแม้เพียง 1-2 เซนติเมตร ก็สามารถงอกเป็นต้นใหม่ได้จากตาตรงซอกใบ เรียกได้ว่า ยิ่งแตกก็ยิ่งโต
          
             ยังมีการระบาดของหอยเชอรี่ : Pomacea canaliculata (Lamarck) ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานในประเทศไทย หอยดังกล่าวสร้างความเสียหายในพื้นที่นาข้าวของประเทศไทยไม่น้อยกว่า 1 พันล้านบาทต่อปี และยังส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย โดยหอยเชอรี่มีความสัมพันธ์แบบแก่งแย่งอาหารและที่อยู่อาศัยกับหอยโข่งพันธุ์พื้นเมืองทำให้ปริมาณของหอยโข่งพันธุ์พื้นเมืองลดลง  และมีรายงานว่าหอยเชอรี่สามารถผสมพันธุ์กับหอยโข่งพันธุ์พื้นเมืองทำให้เกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรมระหว่างหอยทั้งสองชนิด อีกทั้งลูกผสมที่เกิดขึ้นมาอาจจะเป็นชนิดพันธุ์รุกราน การกำจัดหอยเชอรี่ในนาข้าวโดยใช้สารเคมีอาจทำให้สัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ที่อยู่ในแหล่งน้ำรอบพื้นที่พิการ นอกจากนี้การเพิ่มจำนวนของหอยเชอรี่อย่างรวดเร็วยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงปริมาณชนิดพันธุ์ในระบบนิเวศ โดยทำให้นกปากห่างที่อพยพมาจากบังคลาเทศไม่อพยพกลับประเทศตามฤดูกาล เพราะประเทศไทยมีหอยเชอรี่ ซึ่งเป็นอาหารของนกปากหางอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ นกปากห่างเหล่านี้จะแย่งพื้นที่ทำรังของนกน้ำเฉพาะถิ่นขนาดใหญ่อื่นๆ ในประเทศไทย 

             และอีกชนิดที่จะยกตัวอย่างของ Alien Species คือ ไมยราบยักษ์ เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณอเมริกาเขตร้อน นำเข้ามาประเทศไทยโดยเกษตรกรไร่ยาสูบเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด ไมยราบยักษ์เจริญเติบโตดีตามบริเวณชายฝั่งลำธารเป็นพืชที่ สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของภาคเหนือได้ดีและผลิตเมล็ดขยายพันธุ์ได้มาก ดังนั้น ในช่วงระยะเวลาไม่นานนักจึงกลายเป็นวัชพืชระบาดทั่วไปพบทั่วประเทศทั้งบริเวณริมน้ำ ที่ชื้นแฉะ และพื้นที่การเกษตร จากระดับน้ำทะเลจนขึ้นไปถึง 1200 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่การระบาดยังรุนแรงในบริเวณที่ลุ่มน้ำขังหรือที่ชื้นแฉะ พบมีการระบาดอย่างหนักในภาคเหนือและภาคกลาง

             นอกจาก 4 ชนิดที่ยกตัวอย่างก็ยังมีอีกร้อยกว่าชนิดที่มีการรุกรานอย่างรุนแรงจากทั้งหมด 3500 กว่าชนิดของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในประเทศไทย การรุกรานจะกินวงกว้าง ขยายพื้นที่ขึ้นเรื่อยๆ การแก้ปัญหาและการจัดการเมื่อชนิดพันธุ์ต่างถิ่นพวกนี้ขยายไปยังแหล่งที่อยู่อาศัยในธรรมชาติเป็นไปได้ยาก เนื่องจากชนิดพันธุ์เหล่านี้มีการปรับตัวจนทนทานและสามารถสืบพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการแก้ปัญหาในตอนนี้ที่ดีที่สุดคือ ผู้ประกอบการหรือเจ้าของที่เลี้ยงดูชนิดพันธุ์ต่างถิ่นเหล่านี้ ซึ่งส่วนมากจะเป็นการเลี้ยงในธุรกิจสัตว์เลี้ยงสวยงาม ดูแลชนิดพันธุ์เหล่านี้เป็นอย่างดี ไม่นำไปปล่อยเมื่อมีขนาดใหญ่ ถ้าไม่สามารถเลี้ยงต่อได้ก็ควรติดต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ตัวอย่างของสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อความสวยงามและมักพบในพื้นที่ธรรมชาติ เช่น ปลาเทศบาลหรือปลาซัคเกอร์ ปลาการ์จระเข้ ปลาอราไพม่า อีกัวน่า จระเข้ เป็นต้น

            ด้วยความวิตกและห่วงใยของประชาคมโลก อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่ง ประกอบด้วย 42 มาตรา ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 8 (h) ว่า "ประเทศภาคีภายใต้อนุสัญญาฯ จะต้องดำเนินการเท่าที่จะกระทำได้และเป็นไปในแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกัน การนำเข้า ควบคุม หรือกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศ ถิ่นที่อยู่อาศัย และชนิดพันธุ์อื่น" ใน ฐานะประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ลำดับที่ 188 ต้องดำเนินการตามกรอบการดำเนินงานตามข้อกำหนดในอนุสัญญาฯ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 3/2537 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2537 ได้มีมติให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกรอบของอนุสัญญาฯ และในคราวประชุมเกี่ยวกับชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (alien species) ที่เมือง Trondheim ราชอาณาจักรนอร์เวย์ ที่ประชุมได้เน้นย้ำว่า สาเหตุสำคัญที่จำเป็นต้องให้ความสนใจ เนื่องจากชนิดพันธุ์ต่างถิ่นเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อความ หลากหลายทางชีวภาพรองจากการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย 

             เมื่อดูจากตัวอย่างที่ยกตัวอย่างของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (Alien Species) เพียงไม่กี่ชนิดแต่กลับสร้างปัญหาและผลกระทบมากมาย แต่ในสถานการณ์จริงของประเทศไทยในตอนนี้มีชนิดพันธุ์ที่รุกรานประเทญไทยแล้วนับร้อยชนิด “เรา” พร้อมกันหรือยังที่จะร่วมมือกันปกป้องชนิดพันธุ์ในท้องถิ่นซึ่งเป็นทรัพสมบัติของชาติอย่างหนึ่งที่มีคุณค่าให้รอดพ้นจากการรุกรานจากชนิดพันธุ์ต่างด้าวเหล่านี้
          

ที่มา www.vcharkarn.com

คำสำคัญ (Tags): #alien species คืออะไร
หมายเลขบันทึก: 406108เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2010 16:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 11:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท