SaaS บริการซอฟต์แวร์ผ่านอินเทอร์เน็ต


SaaS บริการซอฟต์แวร์ผ่านอินเทอร์เน็ต

 ปัจจุบันเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงช่วยให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการต่างๆ ผ่านทางอินเทอร์เน็ตทำได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น หนึ่งในบริการที่น่าสนใจ คือ บริการซอฟต์แวร์ผ่านทางอินเทอร์เน็ต หรือที่เรียกว่า SaaS ซึ่งย่อมาจาก Software as a Service ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และถือเป็นทิศทางใหม่ของธุรกิจออนไลน์ที่น่าจับตามอง

               SaaS หรือ “Software as a Service” คือการรูปแบบการขายซอฟต์แวร์โดยให้บริการผ่านทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งในอดีตหากเราต้องการใช้ซอฟต์แวร์ธุรกิจไม่ว่าจะเป็นซอฟท์แวร์ประเภท ERP, CRM เราจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างมากกับการซื้อ License เพื่อนำมาติดตั้งที่เครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่อง และยังต้องจัดเตรียมในส่วนของ Hardware เช่น Server, Harddisk เพื่อใช้ในการประมวลผลและเก็บข้อมูลเป็นส่วนกลาง อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาระบบ ค่าจ้างทีมงาน IT ค่าทำระบบ Backup ข้อมูล หรือแม้แต่การทำสัญญาประกันความเสียหายให้กับอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความยุ่งยากและต้องเตรียมการกันอยู่นานกว่าจะได้ใช้ซอฟต์แวร์สักหนึ่งตัว แต่ SaaS เปลี่ยนความยุ่งยากทั้งหมดเหล่านี้ให้กลายเป็นเรื่องง่าย เพียงแค่ผู้ซื้อจ่ายค่าบริการตามการใช้งานจริง เช่น จ่ายตามจำนวนผู้ใช้และตามระยะเวลาที่ต้องการใช้ ก็สามารถเข้าใช้งานซอฟต์แวร์ได้ทันทีผ่านทางอินเทอร์เน็ต จึงทำให้ผู้ซื้อซอฟต์แวร์ไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้าน Hardware เหมือนแต่ก่อน ซึ่งวิธีนี้นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับองค์กรมากกว่าการซื้อ License แล้ว ยังช่วยประหยัดเวลาในการใช้ซอฟท์แวร์อีกด้วย

               อย่างไรก็ดี SaaS อาจดูเหมือนเป็นคำตอบที่ดีของการเลือกซื้อซอฟต์แวร์ แต่ SaaS ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายๆ ด้านที่ธุรกิจองค์กรควรให้ความสำคัญว่าข้อจำกัดต่างๆ นั้นมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหนกับธุรกิจหรือองค์กร ซึ่งในรายงานฉบับนี้ จะอธิบายถึงรูปแบบการให้บริการซอฟต์แวร์ SaaS ประโยชน์ สรุปการเปรียบเทียบกับการซื้อซอฟแวร์แบบติดตั้ง ฯลฯ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเห็นถึงข้อดี ข้อเสีย และนำไปพิจารณาเพิ่มเติมในการเลือกซื้อต่อไป เพื่อให้องค์กรได้ประสิทธิภาพสูงสุด

SaaS คืออะไร
                             
               SaaS ย่อมาจาก “Software as a Service” หรือเรียกว่า “On Demand Software” คือรูปแบบการให้บริการซอฟต์แวร์ผ่านทางอินเทอร์เน็ต คล้ายกับการเช่าใช้ เพียงแค่ผู้ซื้อจ่ายค่าซอฟต์แวร์ตามลักษณะการใช้งานที่ต้องการ (Pay-as-you-go) เช่น ตามจำนวนผู้ใช้และตามระยะเวลาที่ต้องการใช้ เพียงเท่านี้ผู้ซื้อก็สามารถเข้าใช้งานซอฟต์แวร์นั้นๆ ได้ทันทีผ่านทางเว็บเบราเซอร์ โดยที่ไม่ต้องติดตั้งโปรแกรมลงเครื่องเหมือนการซื้อซอฟต์แวร์แบบเดิมที่เป็นลักษณะการซื้อแบบ License 
                             
               SaaS ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ซื้อเนื่องจากการจะใช้ซอฟต์แวร์บางประเภทเช่น ERP, CRM มักจะมีราคาค่อนข้างสูง และจำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์ Hardware เพิ่มเติม เช่น Server, Harddisk นอกจากนี้ ธุรกิจหรือองค์กรยังต้องเตรียมพร้อมค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา (Maintenance Cost) ในระยะยาวซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายจุกจิก ไม่ว่าจะเป็น ค่าจ้างทีมงาน IT ค่า Backup ข้อมูล ค่าเสื่อมของอุปกรณ์ หรือแม้แต่ค่าใช้จ่ายในการทำสัญญาประกันความเสียหายให้กับ Server เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดมีความยุ่งยากและใช้เวลาในการเตรียมการค่อนข้างนาน แต่ SaaS เปลี่ยนความยุ่งยากทั้งหมดเหล่านี้ให้กลายเป็นเรื่องง่าย เพราะผู้ให้บริการจะเป็นผู้ดูแลฐานข้อมูลและระบบต่างๆ ให้พร้อมใช้งานได้ทันที  

               SaaS มีลักษณะการทำงานภายใต้แนวคิด Cloud Computing เนื่องจากแนวคิด Cloud Computing เป็นการแบ่งปันการเข้าใช้ทรัพยากรต่างๆ ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ซึ่ง SaaS ก็มีการทำงานที่คล้ายกันคือเป็นการเปิดสิทธิ์ให้ผู้ใช้งานจากทั่วโลก สามารถเข้าถึงทรัพยากรเช่น ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ ผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ โดยที่ผู้ใช้งานแทบไม่ต้องรู้เลยว่าซอฟต์แวร์หรือฮาร์ดแวร์ที่ใช้อยู่นั้นถูกเก็บอยู่ที่ไหน ประมวลผลบน Server หน้าตาเป็นอย่างไร หรือฐานข้อมูลถูกเก็บไว้ที่ไหน เพียงแค่ผู้ใช้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตก็สามารถเข้าใช้ซอฟต์แวร์ได้ทันที เข้าถึงฐานข้อมูลเดิมที่เก็บข้อมูลที่สำคัญไว้ได้ทุกที่ทุกเวลา ดังนั้น ในอนาคตหากเราต้องการจะทำงานในขณะที่อยู่นอกออฟฟิศหรือบนรถโดยสารก็สามารถทำได้อย่างไร้ขีดจำกัด เพียงแค่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้เท่านั้น

ลักษณะผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ SaaS
               ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ประเภท SaaS ทำหน้าที่เหมือนเป็น Host Application โดยเปิดสิทธิ์ให้ลูกค้า (End User) จากทั่วโลกเข้ามาแชร์การใช้งานซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ร่วมกันผ่านทางเว็บเบราเซอร์ โดยใช้ Username และ Password เพื่อระบุความเป็นเจ้าของซอฟต์แวร์นั้นๆ เพื่อเข้าสู่ระบบในการใช้งานแต่ละครั้ง ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเพิ่มข้อมูลต่างๆ เข้าสู่ระบบและเรียกดูได้ในภายหลัง เมื่อการใช้งานเสร็จสิ้นก็แค่ทำการ Log Out ออกจากระบบ ระบบก็จะถูกปิดและรอการเรียกเข้าใช้ใหม่ในครั้งต่อไป

               ตัวอย่างของซอฟต์แวร์ประเภท Saas ที่เป็นบริการฟรี เช่น Web-based Email Service ต่างๆ เช่น Hotmail, Gmail, Yahoo, Facebook, Twitter, eBay, Amazon ที่มีการเก็บโปรแกรมและข้อมูลต่างๆไว้ที่ Host แล้วให้ผู้ใช้สามารถเรียกใช้ application ต่างๆ ผ่านทางเว็บได้ หรือตัวอย่างบริการซอฟต์แวร์ SaaS ที่คิดค่าบริการและได้รับความนิยม เช่น NetSuite, Salesforce, Thinkfree, Zimbra, Zoho, CRMOnDemand ที่คิดค่าบริการการเข้าใช้ซอฟต์แวร์ตามลักษณะการใช้งาน

คุณสมบัติหลักของซอฟต์แวร์ SaaS
               • สามารถเข้าใช้ผ่านเว็บ Browser ผ่านอุปกรณ์ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์พีซี เครื่องคอมพิวเตอร์พกพา (Laptop) หรือโทรศัทพ์มือถือ โดยไม่ต้องติดตั้งซอฟต์แวร์ที่เครื่องของผู้ใช้ 
               • ระบบหลักของ SaaS จะถูกควบคุมจากผู้ให้บริการ SaaS เอง โดยผู้ใช้บริการเพียงแค่ access เข้ามาด้วย Username และ Password เพื่อระบุตัวตนเท่านั้น
               • SaaS คิดค่าบริการตามจำนวนผู้ใช้งานและระยะเวลาที่ต้องการใช้งาน โดยจะไม่มีการเรียกเก็บค่าบริการช่วยเหลือ ค่าแก้ไขบั๊กของโปรแกรม การอัพเดทต่างๆ เพิ่มเติม 
               • การปรับแต่งซอฟต์แวร์ตามลักษณะการใช้งานสามารถทำได้ผ่านโปรแกรม แต่หากผู้ใช้งานต้องการปรับแต่งคุณสมบัติพิเศษอื่นๆ เฉพาะเพิ่มเติม จำเป็นต้องว่าจ้างโปรแกรมเมอร์ที่มีความเชี่ยวชาญกับโครงสร้างของแอพลิเคชั่นนั้นๆ ปรับแต่งให้ 
               • มีลักษณะการใช้งานที่ง่าย มีคู่มือการใช้งานที่ละเอียดและมีหลายภาษา เพื่อรองรับผู้ใช้งานจากทั่วโลก

ตารางเปรียบเทียบการใช้ซอฟต์แวร์แบบ License และ SaaS
                       
ประโยชน์ด้านผู้ให้บริการ:
               1. สามารถบริหารจัดการและควบคุมซอฟต์แวร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 
               2. ลดปัญหาการก๊อบปี้ซอฟต์แวร์จากซีดีได้ 100% เพราะลูกค้าจ่ายเงินตามการใช้งานจริง และได้รับเพียง Username และ Password ในการล็อคอินเพื่อเข้าใช้งานซอฟต์แวร์ผ่านทางอินเทอร์เน็ต
               3. ลดต้นทุนในการผลิตและค่าใช้จ่ายในการขายซอฟต์แวร์ เช่น ค่าแผ่นซีดี ค่าผลิตแผ่นซีดี กล่องแพ็คเกจ ค่าขนส่ง หน้าร้าน ฯลฯ
               4. สามารถเรียนรู้พฤติกรรมการใช้ซอฟต์แวร์ของลูกค้าได้อย่างละเอียดและ Real time
               5. สามารถอัพเดท ปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์ได้ง่าย เพราะสามารถทำที่ฝั่งผู้ให้บริการได้ทันที
               6. ลดปัญหาการติดต่อสอบถามปัญหาการใช้งานของลูกค้าที่เกิดจากการติดตั้ง และการใช้อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่ไม่ถูกต้อง 
               7. ทำให้เกิดการผูกติดกับลูกค้าในระยะยาว เนื่องจากฐานข้อมูลที่สำคัญของลูกค้าถูกเก็บไว้ที่ฝั่งผู้ให้บริการ

ประโยชน์ด้านผู้ซื้อ:
               1. ลดต้นทุนในการซื้อซอฟต์แวร์ เพราะมีลักษณะการคิดค่าบริการแบบ Pay-as-you-go คือจ่ายตามระยะเวลาที่ใช้งานจริง ไม่ต้องจ่ายก้อนใหญ่ทีเดียว
               2. ลดต้นทุนในการซื้อฮาร์ดแวร์ เช่น Server, Harddisk เพราะทั้งหมดนี้ผู้ให้บริการจะเป็นผู้รับผิดชอบ
               3. ลดต้นทุนในการจ้างทีมงาน IT ที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อการติดตั้ง ดูแลรักษาระบบ และแก้ปัญหา ซึ่งจะตามมาด้วยค่าสวัสดิการต่างๆ 
               4. ลดเวลาในการวางแผน ติดตั้ง และดูแลรักษาในระยะยาว เพียงแค่จ่ายค่าบริการ ผู้ซื้อสามารถใช้งานซอฟต์แวร์ที่ต้องการได้ทันที
               5. สะดวกในการเข้าใช้ เพราะสามารถเข้าใช้ซอฟต์แวร์ได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านเว็บเบราเซอร์
               6. ไม่ต้องคอยอัพเดทโปรแกรมด้วยตัวเอง เพราะผู้ให้บริการจะเป็นผู้ดูแลให้ทั้งหมด

ข้อจำกัดด้านการใช้งาน:
               1. ไม่สามารถเชื่อมต่อกับระบบอื่นๆ ได้อย่างสมบูรณ์ เช่น หากองค์กรนั้นๆ มีระบบภายในแต่เดิมที่ซับซ้อน หรือ หากองค์กรนั้นๆ มีระบบ SaaS อื่นที่ใช้อยู่ การให้ทุกระบบนั้นเชื่อมโยงกันได้อย่างสมบูรณ์เป็นไปได้ยาก เพราถูกพัฒนากันคนละแพลตฟอร์ม 
               2. การปรับแต่ง (Customization) ยังต้องอาศัยโปรแกรมเมอร์ในการปรับคุณสมบัติให้ตรงตามความต้องการของธุรกิจ ซึ่งอาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในส่วนนี้ เพราะบางองค์กรอาจจะมีกระบวนการดำเนินธุรกิจที่ซับซ้อน

ตัวอย่างซอฟต์แวร์ SaaS
               Salesforce.com (http://www.salesforce.com/) คือผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ SaaS ประเภท CRM ก่อตั้งขึ้นในปี 1999 โดยผู้บริหารของ หลายปีที่ผ่านมา Salesforce เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันมีลูกค้าที่เป็นสมาชิกกว่า 77,300 รายทั่วโลก และในปี 2010 ได้รับการคัดเลือกให้เป็นอันดับหนึ่งด้านผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ CRM สำหรับองค์กรขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ จากนิตยสาร CRM (http://www.destinationcrm.com/Articles/ReadArticle.aspx?ArticleID=68708) บริการ SaaS ที่น่าสนใจได้แก่ Sales Cloud, CRM Cloud, Chatter, Force.com ซึ่งมีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป แต่ทั้งหมดเป็นบริการประเภท SaaS เหมือนกัน

               Netsuite.com (http://www.netsuite.com) คือผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ SaaS ประเภท ERP, CRM, Inventory และ E-Commerce ซึ่งจะครอบคลุมกว่า Salesforce เนื่องจากสามารถเชื่อมโยงกับระบบอื่นๆ ที่ทาง Netsuite ให้บริการอยู่ได้อย่างครบวงจร เรียกได้ว่าสามารถทำงานได้เทียบเท่ากับระบบ ERP ที่เป็นแบบติดตั้ง (Premise ERP) แบบเดิมได้อย่างเต็มรูปแบบ

ตัวอย่างหน้าจอซอฟต์แวร์ Netsuite CRM+
                             
               จากภาพตัวอย่างข้างต้น จะเห็นได้ว่า รูปแบบหน้าตาซอฟต์แวร์แบบ SaaS แทบจะไม่ต่างจากซอฟต์แวร์แบบ License แต่อย่างใด ต่างกันเพียงแค่การเข้าใช้ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเท่านั้น โดยการพิมพ์ URL เพื่อเข้าสู่หน้า Login เพื่อเข้าสู่ระบบ โดยภายในระบบ Netsuite จะมีเมนูในการจัดการเมนูและการจำกัดสิทธิ์ผู้เข้าใช้งาน เช่น พนักงานขาย พนักงานฝ่ายการตลาด ผู้จัดการ ผู้บริหาร เพื่อเห็นหน้าสรุปข้อมูลที่จัดแสดงอยู่ในรูปแบบ Dashboard หน้าแรกที่แตกต่างกันตามลักษณะการใช้งาน 
                             
               จากภาพตัวอย่าง เป็นการแสดงหน้าจอ Dashboard ของพนักงานฝ่ายการตลาดที่ต้องการเห็นข้อมูลที่แตกต่างจากฝ่ายขาย เช่น อาจจะต้องการดูกำไรที่ได้จากการจัดแคมเปญทางการตลาดต่างๆ หรือดูยอดขายเทียบกับ KPI ของตนเองว่าบรรลุแล้วหรือยัง เป็นต้น

บทสรุป SaaS 
               ในปัจจุบัน แนวคิด SaaS ถูกนำไปใช้กับการเข้าใช้เว็บไซต์ทั้งในรูปแบบการให้บริการฟรี และแบบคิดค่าใช้จ่าย ตัวอย่างบริการฟรี อาทิเช่น Hotmail, Yahoomail, Facebook, Twitter เป็นต้น แต่หากมองถึง SaaS ที่เป็นแบบคิดค่าใช้จ่าย เช่น Netsuite, Salesforce, CRMonDemand เป็นต้น ความคาดหวังของผู้ซื้อหรือผู้ใช้บริการย่อมแตกต่างกัน เพราะการใช้แอพพลิเคชั่นจำเป็นต้องพึ่งผู้ให้บริการแต่เพียงฝ่ายเดียว หากเกิดกรณีที่ระบบล่ม หรือซอฟต์แวร์ไม่สามารถเข้าใช้งานได้ ธุรกิจอาจจะเกิดผลกระทบได้ ดังนั้น ระบบแอพลิเคชั่นจะต้องมีความเสถียรสูงที่จะรองรับการใช้งานพร้อมกันทั่วโลก ผู้ใช้งานสามารถที่จะทำงานได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง 7 วัน 

               การตัดสินใจซื้อซอฟต์แวร์ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์แบบ License หรือ SaaS จำเป็นต้องพิจารณาถึงข้อดีข้อเสีย และลักษณะของธุรกิจว่าเหมาะสมกับประเภทไหนมากกว่ากัน โดยเฉพาะการลงทุนซอฟต์แวร์ประเภท License นั้นบริษัทไม่ได้ลงทุนแค่เฉพาะ License อย่างเดียว แต่เป็นการลงทุนในด้านอื่นๆ อีกไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายด้าน Hardware ค่าจ้างทีมงาน IT ค่าดูแลรักษาระบบ ค่าเสื่อมของอุปกรณ์ ฯลฯ ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดเหล่านี้เมื่อนำมาวิเคราะห์ถึงความคุ้มค่าและความปลอดภัยแล้ว อาจจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แต่หากธุรกิจจะหันมาใช้ซอฟต์แวร์ในลักษณะ SaaS ก็อาจจะต้องพิจารณาถึงความเสถียร นโยบายในการแก้ปัญหาแบบทันท่วงที หรือแม้แต่การจ่ายเพิ่มเพื่อปรับแต่งซอฟต์แวร์ ฯลฯ เพื่อหาจุดคุ้มทุนมากที่สุดและส่งผลดีกับธุรกิจมากที่สุด

แหล่งอ้างอิง
• ความหมายของ SaaS, Wikipedia, http://en.wikipedia.org/wiki/Software_as_a_service
• SaaS, Bcoms.net, http://webcache.googleusercontent.com/search?q=cache:7yQGKQc-YokJ:www.bcoms.net/dictionnary/detail.asp%3Fid%3D590+saas&cd=2&hl=th&ct=clnk&gl=th
• SaaS, CRMinAction, http://www.crminaction.com/article/7/47/SaaS.html

ที่มา www.vcharkarn.com

หมายเลขบันทึก: 406102เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2010 16:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท