จระเข้ซอมบี้


จระเข้ซอมบี้


 

             ผมได้ดูสารคดีเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับจระเข้ที่ตายอย่างปริศนา เรื่องนี้เกิดขึ้นที่ทะเลสาบกริฟฟิน (Griffin) รัฐฟลอริดา  สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีจระเข้หลายสิบตัวนอนตายหงายท้องอยู่ในทะเลสาบและตายเพิ่มขึ้นทุกวัน สร้างความสยดสยองให้กับชาวบ้านแถวนั้น ทางการจึงส่งทีมนักวิทยาศาสตร์เข้าไปตรวจสอบ เบื้องต้นพบว่าจระเข้ในบริเวณทะเลสาบมีอาการผิดปกติ คือ มีอาการเซื่องซึม  ตัวสั่น เดินและว่ายน้ำติดขัด มีอาการชักกระตุก ไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้า อาการคล้ายซอมบี้ในภาพยนตร์ นอกจากนี้ยังพบว่าไข่จระเข้ส่วนใหญ่บริเวณฝั่งทะเลสาบไม่ฟักเป็นตัว การชันสูตรศพเบื้องต้นระบุสาเหตุการตายว่าเกิดจากการจมน้ำ!?

 

 


จระเข้ติดเชื้อ?
             ทีมนักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าจระเข้น่าจะป่วยจากการติดเชื้อโรคบางอย่าง (คล้ายๆ กับภาพยนตร์หลายเรื่อง) จนทำให้ไม่สามารถว่ายน้ำได้ แต่เมื่อทดสอบในห้องปฏิบัติการนอกจากจะไม่พบเชื้อโรคใดๆ ไม่ว่าจะเป็นไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อรา ยังพบว่าเลือดจระเข้มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อก่อโรคหลายชนิด ทั้งนี้เพราะในเลือดจระเข้มีโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์ทำลายเซลล์แบคทีเรีย (อ่านเพิ่มเติม) เนื่องจากจระเข้อาศัยในแหล่งน้ำเน่าเสียและมักกัดกันเองจนได้รับบาดแผล ร่างกายจึงสร้างโปรตีนเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ เลือดจระเข้จึงมักถูกนำไปเป็นยาบำรุง

สมองผิดปกติ?
             เมื่อไม่พบการติดเชื้้อนักวิทยาศาสตร์จึงผ่าชันสูตรเพิ่มเติมพบว่าสมองจระเข้มีลักษณะที่ผิดปกติ คือ โดยปกติเซลล์สมองจะมีสีชมพูสด แต่ในสมองจระเข้ที่ผิดปกติพบจุดสีดำกระจายอยู่ในเนื้อเยื่อสมอง จุดเหล่านี้เกิดจากเซลล์สมองที่ตาย ซึ่งช่วยอธิบายถึงสาเหตุของอาการต่างๆ เช่น อาการสั่น กระตุก ไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้า รวมทั้งการที่จระเข้ไม่สามารถว่ายน้ำได้จนจมน้ำตาย

 

เพราะสารเคมี?
             อาการผิดปกติที่สมองของจระเข้ทำให้ทีมนักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะสารเคมี จึงเก็บตัวอย่างน้ำและดินมาวิเคราะห์หาสารเคมีที่เป็นพิษต่อสมอง เช่น ตะกั่ว ปรอท และยาฆ่าแมลง เนื่องจากบริเวณทะเลสาบมีโรงงานตั้งอยู่ โรงงานจึงเป็นจำเลยของสังคมไปโดยปริยาย ผลการตรวจตัวอย่าง ผลปรากฏว่าน้ำและดินในบริเวณทะเลสาบพบปุ๋ยที่มาจากฟาร์มบริเวณนั้น คลอรีนที่มาจากสระว่ายน้ำตามบ้านเรือน และคราบน้ำมันเล็กน้อยจากเรือที่ผู้คนบริเวณนั้นใช้เดินทาง แต่ไม่มีสารตัวใดเลยที่เป็นพิษ ข้อสงสัยนี้จึงตกไป ส่วนโรงงานถูกผู้คนประณามอย่างรุนแรงจนต้องปิดกิจการไป ไม่มีใครแก้ต่างให้

 

สาหร่ายพิษ?
             เมื่อข้อสันนิษฐานเดิมไม่ถูกต้อง ข้อมูลต่างๆ ถูกนำมาทบทวนใหม่อีกครั้ง ข้อมูลแหล่งน้ำระบุว่าสาหร่ายเซลล์สีเขียวแกมน้ำเงินที่อยู่ในทะเลสาบมีการเจริญเติบโตมากผิดปกติ (algal bloom) ซึ่งเป็นผลจากปุ๋ยที่ฟาร์มบริเวณรอบๆ ทะเลสาบปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำ จากการตรวจสอบพบว่าสาหร่ายเหล่านี้สร้างสารพิษที่ทำลายระบบประสาทได้ ดังนั้นสมมุติฐานใหม่ คือ ปุ๋ยที่ปนเปื้อนทำให้สาหร่ายเพิ่มมากขึ้น สาหร่ายเพิ่มมากขึ้นผลิตสารพิษมากขึ้น สารพิษทำลายระบบประสาทของจระเข้จนสมองเสียหาย และตายในที่สุด ฟังดูสมเหตุสมผลดี แต่จากการให้จระเข้กิน และฉีดสารพิษจากสาหร่าย พบว่าถึงแม้จะได้รับสารพิษในปริมาณสูงมากแต่จระเข้กลับมีอาการผิดปกติน้อยมาก หมายความว่าถ้าหากจะให้สารพิษสามารถทำลายสมองได้อาจต้องให้จระเข้กินสาหร่ายจนท้องแตกเลยทีเดียว การสืบสวนจึงมาถึงทางตันอีกครั้ง ระยะเวลาผ่านไป 2 ปี ระหว่างนี้มีจระเข้ตายไปทุกวัน

แซลมอนก็ป่วย
             เมื่อข้อมูลที่มีอยู่ไม่สามารถช่วยให้วิเคราะห์หาคำตอบได้ ทีมนักวิทยาศาสตร์พยายามหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการป่วยแบบเดียวกันนี้ในงานวิจัยอื่นๆ และได้พบกับงานวิจัยหนึ่งเกี่ยวกับลูกปลาแซลมอนที่มีอาการผิดปกติ ว่ายน้ำไม่ตรง คล้ายคนเมา และตายในเวลาต่อมา ในตอนแรกผู้วิจัยพยายามหาสารเคมีที่ทำให้ปลาเกิดอาการป่วยแต่ไม่สำเร็จ จึงเปลี่ยนแนวคิดว่าอาการป่วยเหล่านั้นอาจไม่ได้เกิดจากการได้รับสารเดมีแปลกปลอมแต่อาจเกิดจากการขาดสารเคมีบางอย่าง และได้ทดลองพ่นสารอาหารต่างๆ เท่าที่จะหาได้ให้ลูกปลาแซลมอน ปรากฏว่าเมื่อพ่นสารไธอามีน (thiamine) ลงในตู้ปลา ลูกปลาแซลมอนที่เคยมีอาการเซื่องซึม กลับสามารถว่ายน้ำได้อย่างคล่องแคล่วในเวลาไม่ถึงชั่วโมง สรุปได้ว่าที่ลูกปลาแซลมอนป่วยตายเพราะขาดสารไธอามีน หรือ ที่เรารู้จักกันดีในชื่อ วิตามินบี 1

ขาดสารอาหาร?
             ไธอามีนหรือวิตามินบี 1 เป็นวิตามินที่ละลายน้ำได้ มีหน้าที่เป็นตัวช่วยในการเผาผลาญสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต และมีส่วนช่วยในการทำงานของระบบประสาท การขาดวิตามินบี 1 จะทำให้เป็นโรคเหน็บชา (beriberi) ซึ่งเป็นอาการผิดปกติของระบบประสาทอย่างหนึ่ง หลังจากที่ทราบสาเหตุอาการป่วยของลูกปลาแซลมอน ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองให้วิตามินบี 1 กับจระเข้ ปรากฏว่าอาการผิดปกติต่างๆ  ค่อยๆ ดีขึ้น อาการสั่นกระตุกหายไป ตอบสนองต่อสิ่งเร้ามากขึ้น และสามารถว่ายน้ำได้ สรุปได้ว่าจระเข้ป่วยเนื่องจากขาดวิตามินบี 1 เช่นเดียวกับลูกปลาแซลมอน อาการผิดปกติต่างๆ ของจระเข้เป็นอาการที่เกิดจากระบบประสาทผิดปกติอย่างรุนแรงเนื่องจากขาดวิตามินบี 1 แต่การสืบสวนยังไม่จบเพียงเท่านี้

วิตามินหายไปไหน?
             จระเข้ไม่ได้ป่วยเพราะเชื้อโรค ไม่ได้ป่วยเพราะมลพิษ แต่ป่วยเพราะขาดสารอาหาร ถึงแม้จะทราบแล้วว่าจระเข้ป่วยเนื่องจากขาดวิตามินบี 1 แต่อะไรล่ะที่ทำให้จระเข้นับร้อยนับพันเกิดขาดสารอาหารขึ้นมาพร้อมๆ กัน? ทั้งที่ร่างกายต้องการวิตามินบี 1 เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจระเข้ดำรงอยู่ในฐานะผู้ล่า กินสัตว์อื่นๆ เกือบทุกชนิด การกินอาหารปกติของจระเข้น่าจะได้รับวิตามินบี 1 เพียงพออยู่แล้ว ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงเก็บข้อมูลพฤติกรรมการกินอาหารของจระเข้ ทีมนักวิทยาศาสตร์เสี่ยงอันตรายจับจระเข้เป็นๆ มาง้างปาก ฉีดน้ำล้างท้องเพื่อนำเศษอาหารมาวิเคราะห์ ตลอดระยะเวลา 7 เดือน สิ่งที่พบคือในบรรดาเหยื่อที่จระเข้กิน มีปลา American Gizzard Shad  (Dorosoma cepedianum) มากผิดปกติ ปลาชนิดนี้อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดและน้ำเค็มที่น้ำค่อนข้างนิ่ง กินแพลงตอนเป็นอาหาร และเมื่อวิเคราะห์เนื้อเยื่อของปลาอย่างละเอียดจึงพบว่าในเนื้อปลา Gizzard Shad มีเอนไซม์ไธอะมิเนส (thiaminase) ในระดับสูง เอนไซม์ชนิดนี้ทำหน้าที่ย่อยสลายไธอามีน (วิตามินบี 1) ทีมนักวิทยศาสตร์เชื่อว่าปริมาณปลา Gizzard Shad ที่จระเข้กินนั้นให้เอนไซม์ไธอะมิเนสมากเกินพอที่จะทำลายวิตามินบี 1 ทั้งหมดที่มีในอาหาร จนทำให้จระเข้ขาดวิตามินบี 1 อย่างรุนแรง

 

 

             โดยปกติจระเข้ก็กินปลา Gizzard Shad อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยเป็นอันตรายต่อจระเข้เลย เพื่อพิสูจน์ผลของเอนไซม์ไธอะมิเนสในปลา Gizzard Shad ทีมนักวิทยาศาสตร์ ทดลองให้ปลา Gizzard Shad เป็นอาหารแก่จระเข้ปกติ พบว่าจระเข้ที่กินปลา Gizzard Shad 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ค่อยๆ เซื่องซึม เคลื่อนไหวน้อยลง มีอาการกระตุก เช่นเดียวกับจระเข้ที่ทะเลสาบ แสดงให้เห็นว่าอาการผิดปกติของจระเข้ที่ทะเลสาบเกิดจากการกินปลา Gizzard Shad จำนวนมาก

             การที่จระเข้กินปลา Gizzard Shad ในสัดส่วนและปริมาณมากขนาดนี้ ไม่น่าจะป็นเพราะจระเข้ถูกใจในรสชาติของปลาชนิดนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์จึงได้ออกสำรวจประชากรปลาและสัตว์น้ำที่เป็นอาหารของจระเข้ในทะเลสาบ พบว่าในทะเลสาบมีปลา Gizzard Shad อยู่อย่างหนาแน่น ในขณะที่ปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ พบได้น้อยมาก จระเข้ในทะเลสาบจึงต้องกินเพียงปลา Gizzard Shad เป็นอาหารหลักอย่างเลี่ยงไม่ได้

 

            นอกจากปลา Gizzard Shad ยังมีการศึกษาเอนไซม์ไธอะมิเนสในปลาอื่นๆ อีก ซึ่งแสดงไว้ในตาราง อาหารอื่นๆ ที่มีเอนไซม์ไธอะมิเนส ได้แก่ หอยลาย และปลาร้า โชคยังดีที่เอนไซม์ไธอะมิเนสไม่ทนความร้อนดังนั้นเพียงปรุงให้สุกก็ปลอดภัยจากไธอะมิเนสแล้ว อย่างไรก็ตามมีสารเคมีบางประเภทที่สามารถทำลายวิตามินบี 1 ได้ และทนต่อความร้อน พบใน ใบชา ใบเมี่ยง หมากพลู สีเสียด และปลาน้ำจืดบางชนิด สำหรับคนแล้วการได้รับเอนไซม์ไธอะมิเนสหรือสารที่ทำลายวิตามินบี 1 ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต หากเราไม่ได้กินติดต่อกันเป็นเดือนหรือเป็นปี ดังนั้นการกินอาหารให้ปลอดภัยจึงไม่ควรกินอาหารชนิดเดียวกันซ้ำๆ เป็นเวลานานเพื่อให้ร่างกายมีโอกาสได้รับสารอาหารชดเชยและมีช่วงเวลาขจัดสารพิษออกจากร่างกาย



ปลาที่มีรายงานว่ามีเอนไซม์ไธอะมิเนส ปลาที่มีรายงานว่าไม่มีเอนไซม์ไธอะมิเนส
ปลากระพงขาว - Morone chrysops
ปลา Bowfin - Amia calva
ปลาคาร์พ - Abramis brama, Cyprinus carpio
ปลา Buffalo - Ictiobus cyprinellus
ปลาดุกนา - Ameiurus m. melas
ปลาดุกอเมริกัน - Ictalurus punctatus
ปลา Fathead minnow - Pimephales promelas
ปลา Garfish - Belone belone
ปลาทอง - Carassius auratus
ปลาไหลมอเรย์ - Gymnothorax ocellatus
ปลา Gizzard Shad - Dorosoma cepedianum
ปลา Spottail Shiner - Notropis hudsonius
ปลา Buckeye shiner - Notropis atherinoides
ปลา Central Stoneroller - Campostoma anomalum pullum
ปลา Common White Sucker - Catostomus commersoni
ปลา Lake Whitefish - Coregonus clupeiformis
ปลา Largemouth Bass - Huro salmoides
ปลา Rock Bass - Ambloplites  rupestris
ปลา Smallmouth Bass - Micropterus dolomieu
ปลา Bluegill - Lepomis macrochirus
ปลา Chub (Bloater) - Coregonus hoyi
ปลาคอด - Gadus morhua
ปลา Crappie - Pomoxis nigromaculatus
ปลาไหล - Anguilla rostrata
ปลา Northern Longnose Gar - Lepisosteus osseus oxyurus
ปลา Northern Pike - Esox lucius
ปลา Pumpkinseed - Lepomis gibbosus
ปลาแซลมอน - Salmo salar
ปลาเทราท์สีน้ำตาล - Salmo trutta fario
ปลาเลคเทราท์ - Salvelinus namaycush
ปลาเทราท์สายรุ้ง  - Salmo gairdnerii irideus

 


Gizzard Shad มาจากไหนมากมาย?
             เพื่อหาสาเหตุว่าทำไมปลา Gizzard Shad เพิ่มขึ้น ในขณะที่ปลาอื่นๆ ลดลง เมื่อทีมนักวิทยาศาสตร์ศึกษาแหล่งน้ำเพิ่มเติมพบว่าสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่เพิ่มขึ้นอย่างมากทำให้น้ำเริ่มเน่าเสีย มีอ๊อกซิเจนละลายในน้ำต่ำลงจนทำให้ปลาหลายชนิดไม่สามารถอยู่ได้ นอกจากนี้สารพิษจากสาหร่ายยังทำให้ปลาชนิดตายไป แต่ในทางกลับกันปลา Gizzard Shad เจริญเติบโตได้ดีในน้ำที่ค่อนข้างเน่าเสีย และกินสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินเป็นอาหารหลัก การเพิ่มขึ้นของสาหร่ายจึงเป็นปัจจัยที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตอย่างมาก ในทะเลสาบปลา Gizzard Shad จึงขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างมากมาย

สรุปผลการสืบสวน
             การตายของจระเข้เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่จาก
ปุ๋ยจากฟาร์มถูกชะล้างลงสู่ทะเลสาบ -> สารเคมีซึ่งเป็นสารอินทรีย์ทำให้สาหร่ายเจริญเติบโตมากผิดปกติ -> สาหร่ายจำนวนมากทำให้น้ำในทะเลสาบเน่าเสีย รวมทั้งสร้างสารพิษจนปลาอื่นๆ ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ เหลือเพียงปลา Gizzard Shad -> จระเข้ที่อาศัยในทะเลสาบต้องกินปลา Gizzard Shad เป็นอาหารหลัก -> ในเนื้อปลา Gizzard Shad มีเอนไซม์ไธอะมิเนสอยู่ ทำให้จระเข้ไม่ได้รับวิตามินบี 1 จากอาหาร -> การขาดวิตามินบี 1 อย่างรุนแรงทำให้เซลล์สมองของจระเข้ถูกทำลาย -> เมื่อสมองถูกทำลายทำให้จระเข้มีอการการผิดปกติ ดูคล้ายซอมบี้ ไม่สามารถเดินและว่ายน้ำได้เหมือนเดิม -> จระเข้จมน้ำตาย!

 

ทางแก้ไข

 

             เมื่อทราบถึงต้นเหตุการตายปริศนาแล้วทีมนักวิทยาศาสตร์แก้ปัญหาโดยให้วิตามินกับจระเข้ ผันน้ำออกจากทะเลสาบ และปล่อยปลาอื่นๆ แน่นอนว่าการเยียวยาคงใช้เวลานานกว่าจะกลับคืนสู่สภาพเดิม

 


เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า          

 

              ระบบนิเวศน์มีความเกี่ยวโยงกันอย่างซับซ้อนระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างๆ และเรายังเข้าใจธรรมชาติเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นได้ชัดเจน ปุ๋ยที่ใช้ในการเกษตรที่ดูเหมือนไม่มีอันตรายใดๆ กลับเป็นเหตุให้จระเข้จำนวนมากต้องตายไป จระเข้ซึ่งเป็นผู้ล่าแทบจะไม่มีสัตว์ใดๆ ทำอันตรายมันได้ เกือบจะอยู่สูงสุดของห่วงโซ่อาหาร กลับตายได้อย่างง่ายดายเพราะการเพิ่มขึ้นของสาหร่าย การกระทำต่างๆ ของคนที่ตอนแรกดูเหมือนไม่มีอันตรายใดๆ แต่ความเป็นจริงอาจเกิดผลกระทบที่เรามองไม่เห็นส่งต่อไปเป็นทอดๆ เหมือนปฏิกิริยาลูกโซ่ และสุดท้ายวนกลับมาทำลายเราอย่างคาดไม่ถึง

 

             การศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอาศัยความมุ่งมั่นและความอดทนอย่างมาก ในการสืบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์ต้องลองผิดลองถูกหลายครั้ง ต้องใช้เวลาถึง 6 ปี กว่าจะได้ข้อสรุป อาศัยนักวิทยาศาสตร์จากสาขาที่ต่างกันถึง 13 คน แสดงให้เห็นว่าผู้ที่เกี่ยวข้องประเมินคุณค่าของชีวิตสัตว์และสิ่งแวดล้อมไว้สูง พร้อมที่จะสนับสนุนด้านต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามหากเหตุการณ์แบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นในประเทศเรา ด้วยข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน ปัญหาเรื่องการตายของจระเข้อาจไม่ได้รับความใส่ใจมากนักเพราะเห็นเป็นเรื่องไกลตัว อาจต้องใช้เวลายาวนานกว่านี้กว่าจะหาคำตอบได้ หรืออาจจบลงกลางคันหลังจากตรวจไม่พบเชื้อโรค ไม่พบสารพิษ แล้วหันไปทำพิธีขอขมาต่อเจ้าที่แทนก็เป็นได้

 

อ้างอิงจาก

 

National Georaphic http://channel.nationalgeographic.com/series/nature-untamed/2747/Photos#tab-Overview

 

กองโภชนาการ http://nutrition.anamai.moph.go.th/b1.htm

 

http://www.austinsturtlepage.com/Articles/Thiaminase.htm

ที่มา www.vcharkarn.com

คำสำคัญ (Tags): #จระเข้ซอมบี้
หมายเลขบันทึก: 406099เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2010 16:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 20:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท