สัญญาณบอกอาการไส้ติ่งอักเสบ


สัญญาณบอกอาการไส้ติ่งอักเสบ

อาการปวดของไส้ติ่งแบบมาตรฐาน จะเริ่มปวดทั่วๆ บอกตำแหน่งแน่นอนไม่ได้ มักเป็นรอบๆ สะดือ อาจเป็นพักๆ หรือตลอดเวลาก็ได้

           แต่โดยทั่วไปมักเป็นแบบตลอดเวลา หลังจากนั้นประมาณ 6-10 ชั่วโมง อาการปวดจะย้ายมาที่บริเวณท้องน้อยด้านขวา ต่ำกว่าสะดือ ปวดตลอดเวลา อาจมีไข้ขึ้น มีเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย อาการปวดแบบมาตรฐาน (classical symptom) จะพบประมาณ 25% เท่านั้น ส่วนที่เหลืออาจไม่เป็นแบบนี้ เช่น อาจไม่มีย้ายจุดปวด อาจปวดเป็นพักๆ ได้ (กรณีระยะแรก หรือเป็นชนิดที่อยู่หน้าหรือหลังลำไส้เล็ก pre-ileal or post-ileal type) แต่ประเด็นสำคัญคือปวดด้านขวาล่างๆ กดเจ็บ เดินตัวงอ มีเบื่ออาหาร มักปวดตลอดเวลา

           อาการเบื่ออาหารเป็นอาการที่สำคัญมาก พบเกือบ 100% ฉะนั้น ถ้าปวดท้องแต่ไม่เบื่ออาหาร กินข้าวได้ดี โอกาสเป็นไส้ติ่งอักเสบแทบจะไม่มี ถ้าไส้ติ่งแตก ไข้จะสูงลอย 40 องศา ปวดทั่วท้องทั้งซ้ายและขวา ท้องจะแข็งเกร็งไปหมด เดินไม่ไหว ต้องนอนนิ่งๆ

           การรักษาไม่ว่าไส้ติ่งจะแตกหรือไม่ ต้องทำการผ่าตัดสถานเดียว

           ปวดท้องทั่วไปจากโรคอื่นๆ โดยทั่วไป มักปวดเป็นพักๆ

           ถ้าเป็นจากโรคแผลในกระเพาะ มักปวดใต้ลิ้นปี่ สัมพันธ์กับอาหาร โดยจะท้องอืด เหมือนอาหารไม่ย่อย หรือปวดจุกเสียดก็ได้ มักเป็นหลังอาหาร( คือทานอาหารแล้วแย่ลง) แต่ถ้าเป็น แผลในลำไส้เล็กส่วนต้น อาจเป็นที่ใต้ลิ้นปี่หรือชายโครงขวา มักปวดจุกเสียดก่อนอาหาร พอทานอาหารแล้วจะดีขึ้น

           อาการปวดจากถุงน้ำดี มักเป็นที่ชายโครงขวา อาจมีร้าวไป บริเวณมุมล่างของสะบักขวาหรือบริเวณระหว่างสะบัก จะมีลักษณะที่สำคัญ คือ จะมีอาการแน่นหรืออืด หลังทานอาหารมันๆ (Fat Intolerance) หรือมีปวดท้องหลังอาหารเย็นเป็นพักๆ ที่ชายโครงขวา (Biliary Colic) ปวดจากนิ่วในท่อไต อาการปวดจะเป็นพักๆ มากบริเวณเอวด้านหลังอาจร้าวมาขาหนีบ หรือบริเวณอัณฑะ ร่วมกับมีปัสสาวะเป็นเลือด หรือเป็นสีน้ำล้างเนื้อ

           ปวดจากปีกมดลูก หรือรังไข่ จะปวดบริเวณท้องน้อย ไม่สัมพันธ์กับอาหาร มักมีเลือดหรือตกขาวผิดปกติ ทางช่องคลอดร่วมด้วย

           จะสังเกตว่าอาการปวดท้อง ในระยะแรกไม่ว่าจะเป็นไส้ติ่ง หรือโรคอื่นๆ ก็ตาม จะแยกกันยาก ต้องใช้การสังเกตอาการ ดังนั้น ในกรณีที่เริ่มปวดท้องที่ยังไม่ทราบว่าเป็นอะไร อย่าเพิ่งกินยาแก้ปวด ควรไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยก่อน เพราะการกินยาแก้ปวดจะทำให้ แพทย์วินิจฉัยแยกโรคลำบาก เนื่องจากยาจะบดบังอาการปวด

ที่มา www.vcharkarn.com

หมายเลขบันทึก: 406097เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2010 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท