วันเทคโนโลยีของไทย


วันเทคโนโลยีของไทย

วันเทคโนโลยีของไทย (19 ตุลาคม) เป็นวันเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงาน และกิจกรรมเกี่ยวกับการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในฐานะที่ทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” โดยมีการเริ่มจัดงานครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2544

 

ประวัติ
            จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2543 ได้มีมติว่า ให้ความเห็นชอบในการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะทรงเป็น "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" และให้วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปีเป็น "วันเทคโนโลยีของไทย" เนื่องจากวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่ครั้งแรกของโลกด้วยพระองค์เอง ณ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และทรงพระปรีชาสามารถทำให้ฝนตกลงตรงเป้าหมาย ท่ามกลางสายตาของคณะผู้แทนของรัฐบาลจากต่างประเทศ เป็นครั้งแรก  โดยมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงาน "พระ บิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" และ "วันเทคโนโลยีของไทย" ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี และรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด โดยทรงศึกษาค้นคว้าวิจัย และทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนเป็นการแสดงเทคโนโลยี ที่คิดค้นประดิษฐ์และพัฒนาโดยคนไทย เพื่อเป็นการกระตุ้น ให้สาธารณชนเกิดความเชื่อมั่นและเข้าร่วมพัฒนาเทคโนโลยีของไทย

พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย

พระราชประวัติ

            พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ ณ โรงพยาบาลเมานท์ออเบอร์ เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสสาชูเซตต์ สหรัฐอเมริกา มีพระนามในชั้นเดิมว่า พระวรวงค์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี) และสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ซึ่งภายหลังทั้งสองพระองค์ทรงได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

            เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จขึ้นครองราชเมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๗ ทรงได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช

            สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ในวันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓

            วันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งการมหาพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์กิติยากร ธิดาในหม่อมเจ้านักขัตรมงคลกิติยากร (ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสสริยศขึ้นเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล และพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ ตามลำดับ) กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร มีพระราชโอรสและพระราชธิดา ๔ พระองค์ คือ

            สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
            สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ซึ่งต่อมาในพุทธศักราช ๒๕๑๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร
            สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ต่อมาในพุทธศักราช ๒๕๒๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยะชาติ สยามบรมราชกุมารี
            สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้ารับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนมาแตร์ เดอี ถนนเพลินจิต กรุงเทพมหานคร เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๕ ในปีต่อมาได้โดยเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินี และสมเด็จบรมเชษฐาธิราช ไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และทรงเข้าศึกษาชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเมียร์มองต์ เมืองโลซานน์ วันที่ ๑๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๘ ทรงย้ายมาศึกษาชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเอกอล นูแวล เอด ลา ซืออิส โรมองค์ เมืองแชลลี ซูร โลซานน์ จากนั้นทรงเข้าศึกษาและได้รับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์ บาเชอเลียร์ เอสแลตรส์ จากโรงเรียน ยิมนาส คลาสสิค กังโตนาล แห่งเมืองโลซานน์ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๑ เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยและทรงพระปรีชาสามารถ ในวิชาวิศวกรรมตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ จึงทรงเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษา ณ มหาวิทยาลัยโลซานน์ ในแผนกวิทยาศาสตร์ สาขาสหวิทยาศาสตร์และแขนงวิชาวิศวกรรมศาสตร์

 

 

            หลังจากเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จฯ กลับไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม แต่ทรงเปลี่ยนแนวการศึกษาใหม่ให้เหมาะสมกับที่จะต้องทรงรับพระราชภาระในฐานะพระประมุขของประเทศ โดยทรงศึกษาวิชากฎหมายและวิชารัฐศาสตร์แทนวิชาในแผนกวิทยาศาสตร์ที่ทรงศึกษาอยู่เดิม

 

ขอขอบคุณข้อมูลจากTLC Thai

ที่มา www.vcharkarn.com

หมายเลขบันทึก: 406109เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2010 16:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท