นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ ตอน กุญแจแห่งความสำเร็จ


นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ ตอน กุญแจแห่งความสำเร็จ

              จากการที่สหประชาชาติ (United Nation) ได้ประกาศเป็นวิสัยทัศน์ให้เทคโนโลยีบรอดแบนด์เป็นหนึ่งในระบบสาธารณูประโภค ของโลกในศตวรรษที่ 21 โดยมอบหมายให้สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union : ITU) จัดตั้งหน่วยงาน Broadband Commission for Digital Development เพื่อรับผิดชอบในการปฏิบัติต่อไป และจากวิสัยทัศน์ดังกล่าวทำให้องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯทุกประเทศทั่วโลก ต้องปรับตัวและเร่งวางแผนเพื่อให้ประเทศตนเองมีขีดความสามารถทางด้านการให้ บริการสื่อสารโทรคมนาคมบรอดแบนด์ที่ทันกับประเทศอื่นในโลก 

              ส่วนในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนานั้น การที่จะทำให้นโยบายด้านบรอดแบนด์ประสบความสำเร็จ จะต้องอาศัยกลไกการส่งเสริมการสร้างโครงสร้างโทรคมนาคมพื้นฐานอย่างทั่วถึง โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการบริการอย่างทั่วถึง (Universal Service Obligation - USO)

USO คืออะไร?  ใครทำ?
  
              การบริการอย่างทั่วถึง (Universal Service - US) คือ นโยบายที่มุ่งเน้นเรื่องการส่งเสริมหรือรักษาให้แต่ละครัวเรือนมีการเชื่อม ต่อไปยังโครงข่ายโทรคมนาคมสาธารณะ “อย่างทั่วถึง” วัตถุประสงค์ของการเชื่อมต่อทุกครัวเรือนหรือแทบทุกครัวเรือนไปยังโครงข่าย โทรคมนาคมสาธารณะ โดยทั่วไปมีชื่อเรียกว่า พันธะของการบริการอย่างทั่วถึง (Universal Service Obligation - USO) 

              การจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงนั้น เป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ตามอำนาจที่ระบุไว้อย่างชัดเจนใน พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุ โทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 ภายใต้รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของ กทช. ซึ่งก็ยังคงมีผลบังคับใช้จนกว่า พรบ. กสทช. ภายใต้รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 จะออกมาบังคับใช้

 

 

กทช. ในภารกิจ USO
              จากอำนาจหน้าที่ดังกล่าวจึงทำให้ กทช. ได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการกำหนดนโยบายการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและ บริการเพื่อสังคม” โดยมีท่าน กทช. สุรนันท์  วงศ์วิทยกำจร เป็นประธานฯ ประกอบไปด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น การศึกษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ศาสนา และความมั่นคง ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการจัดทำร่างนโยบายการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน โดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมขึ้น และมีการพิจารณาให้มีความประสานสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติที่รัฐบาลกำลังจัดทำขึ้น ประกอบกับการอ้างอิงแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2551-2553) อีกด้วย ทั้งนี้เพื่อที่จะสามารถกำหนดเป้าหมายที่ถูกต้องในการพัฒนาด้านการบริหาร เทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เพื่อให้มีการใช้บริการโทรคมนาคมอย่างกว้างขวางในทุกพื้นที่ และสามารถนำมาใช้งานในการส่งเสริมบริการสาธารณะ ตลอดจนถึงความปลอดภัยในการดำรงชีวิตสู่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งการรักษาคุณค่าของวัฒนธรรมที่ดีต่อสังคมไว้ด้วย

 


ศาสตราจารย์ประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ ประธานกทช. เยี่ยมชมโครงการ USO

 

              วัตถุประสงค์ของนโยบายการครอบคลุมอย่างทั่วถึงที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือ การขยายและรักษาไว้ซึ่งการมีอยู่ของบริการโทรคมนาคมสำหรับสาธารณชนในราคาที่สามารถจะจ่ายเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการมุ่งที่การจัดให้มีหรือการคงบริการไว้ให้แก่กลุ่มคน ซึ่งตามปกติจะไม่ได้รับบริการดังกล่าว กลุ่มคนเหล่านี้ประกอบด้วย ผู้คนในพื้นที่มีต้นทุนการให้บริการสูง เช่น ในเขตชนบท และในภูมิภาคที่อยู่ห่างไกล และรวมถึงกลุ่มชนที่มีรายได้ต่ำ ดังนั้นในแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2551-2553) ที่เป็นประกาศของ กทช. ลงในราชกิจจานุเบกษา จึงได้กำหนดให้การกระจายบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการสังคม เป็นหนึ่งในสาระสำคัญ 8 ด้าน ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยมีเนื้อหาดังนี้คือ

              “ มุ่งเน้นการเร่งนำบริการโทรคมนาคมซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในปัจจุบัน มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในอันที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและสังคมไทย โดยเฉพาะในท้องถิ่นชนบทห่างไกล อาทิ การใช้โทรคมนาคมเพื่อพัฒนาการศึกษาการสาธารณสุข โดยการสร้างโอกาสให้แก่ประชาชนในพื้นที่ชนบทห่างไกล และประชาชนกลุ่มเป้าหมายผู้ด้อยโอกาสทางสังคมได้มีโอกาสในการเข้าถึงบริการโทรคมนาคมตามความเหมาะสม การส่งเสริมให้มีการกระจายบริการโทรคมนาคมพื้นฐานให้ครอบคลุมและทั่วถึง การจัดสรรเงินกองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะมาใช้ให้เกิด ประโยชน์ รวมทั้งนำเทคโนโลยีใหม่ๆที่เหมาะสมมีต้นทุนที่สามารถยอมรับได้มาปรับใช้ในการให้บริการโทรคมนาคม ให้เกิดความเท่าเทียมในการใช้บริการบนมาตรฐานคุณภาพและอัตราค่าบริการที่เหมาะสม”

 


ภาพจาก 
http://www.vtf.vn/en/news/

 

USO คือกุญแจแห่งความสำเร็จของนโยบายบรอดแบนด์
              หลายประเทศทั่วโลกได้กำหนดนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติให้เป็นนโยบายในระดับยุทธศาสตร์ชาติโดยมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง (USO) เช่น

              • รัฐบาลควรปฏิรูปกลไกการให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมเพื่อความปลอดภัยด้าน สาธารณะและความมั่นคงของรัฐ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการสร้างและใช้งานบริการบรอดแบนด์และบริการ สื่อสารทางเสียงในพื้นที่ที่ยังมีค่าบริการที่สูง และต้องให้มั่นใจได้ว่าประชาชนที่มีรายได้ต่ำสามารถเข้าถึงบริการบรอดแบนด์ที่มีราคาถูกได้ รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการตอบรับการใช้งานบริการบรอดแบนด์อย่างแพร่หลาย
              • รัฐบาลควรปฏิรูปกฎหมาย นโยบาย มาตรฐาน และระบบผลตอบแทน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากบริการบรอดแบนด์ในภาครัฐทุกด้าน เช่น การศึกษา การสาธารณสุข และการปฏิบัติงานในภาครัฐ 
              • ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการสร้างระบบสื่อสารโทรคมนาคมเพื่อความปลอดภัยด้าน สาธารณะและความมั่นคงของรัฐเป็นเครือข่ายสื่อสารเคลื่อนที่ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ สามารถเชื่อมโยงกับเครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคมอื่นๆได้ โดยมีการจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอทั้งงบประมาณที่ใช้ในการสร้างโครงข่ายพื้นฐานและการดูแลรักษา
              • ส่งเสริมสนับสนุนในการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและการใช้งานระบบฉุกเฉินและแจ้งเตือนภัย

              จากสาระสำคัญดังกล่าวจึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า โครงการ USO ที่จะเกิดขึ้นจากการกำหนดนโยบายการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่ว ถึงและบริการเพื่อสังคม ของ กทช. จะเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญยิ่งที่จะทำให้โครงสร้างพื้นฐานของการให้ บริการบรอดแบนด์เกิดเป็นรูปธรรมได้ ดังนั้นรัฐบาลจึงควรหันมาช่วยส่งเสริมสนับสนุน กทช. ในการดำเนินการกำหนดนโยบาย USO ให้สอดคล้องกันกับนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติด้วย!

ที่มา www.vcharkarn.com

หมายเลขบันทึก: 406110เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2010 16:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 01:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท