ต้นเดือนเป็นเศรษฐี หลังวันที่สิบสี่เป็นยาจก


เกิดมาเป็นคนอย่าให้จนความดี เกิดมาทั้งทีต้องมีดีติดตน....“คนจนมักจะเป็นเดียวกับคนขี้เกียจสันหลังยาว ส่วนคนรวยมักมีประวัติว่าเป็นคนขยันขันแข็งเป็นนักต่อสู้มาอย่างโชกโชนแทบทุกคน” ยกเว้นคนที่โชคดีมีมรดกพ่อแม่ยกให้

                      จงมองต่ำไว้ดีกว่าถ้าใคร่สุข   คนที่ทุกกว่าเรานี้มีอีกถม

                      เรายังดีมีทางไปไม่ล่มจม      รู้จักข่มทุกข์กันเถิดจะเกิดคุณฯ

                ความลำบากความยากแค้นลำเค็ญ ยากเงินจนทอง ขาดแคลนไปทุกสิ่ง จนถึงขนาดไปขอเขากินหรือลามปามไปถึงฉกชิงวิ่งราวหรือปล้นทรัพย์สินเพื่อเอามากินมาใช้ บางคนจนเฉพาะไม่มีเงินทองพอจับจ่ายใช้สอย แต่ยังมีที่ดิน เรือกสวนไร่นา บ้านอยู่อาศัยแบบนี้เรียกได้ว่า "จนไม่จริง"  

               คนจนจริงคือคนที่ไม่มีทรัพย์สินเงินทองเป็นของตัวเองเลยต้องอาศัยผู้อื่นอยู่หรืออาศัยวัดนอน คนจนจริงๆในประเทศอินเดียเขานอนข้างถนน ตามทางเท้า ใต้ต้นไม้ สถานเทวาลัย เสื้อผ้าแทบจะไม่มีติดกาย คนที่หาเช้ากินค่ำหรือหาวันกินวันถือว่าเข้าข่าย “คนจนจริง”

                                        

              คนเราที่เกิดมาต่างเลือกเกิดเองไม่ได้ ทุกคนเกิดมาแบบบุญกรรมส่งมาให้เกิด ถ้าเลือกเกิดได้คงไม่มีใครเลือกเกิดมาเป็นลูกคนจน คงแย่งกันไปเกิดเป็นลูกของผู้มีอันจะกินหรือลูกมหาเศรษฐีกันทั้งหมด แต่เมื่อเกิดมาเป็นลูกคนจน ถ้าขวนขวายหาความรู้ หมั่นขยันทำมาหากินโดยสุจริต ไม่คิดที่จะทำให้ใครเดือดร้อน ประพฤติตนตามคำสอนในโคลงในโลกนิติว่า

                                                      ถึงจนทนสู้กัด       เกลือกิน

                                               อย่าเที่ยวแล่เนื้อเถือ      พวกพ้อง

                                                อดอยากเยี่ยงอย่างเสือ สงวนศักดิ์

                                                โซก็เสาะใส่ท้อง         จับเนื้อกินเอง    

             ความจนเป็นโรคร้ายชนิดเหนึ่งที่เกิดได้กับทุกคนถ้าไม่ระวัง บางคนติดมาจากมารดาบิดาที่จน จึงนึกผิดไปว่าความจนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแก้ไขได้ แท้ที่จริงนั้นความจนเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถแก้ไขให้พ้นได้หรืออย่างน้อยก็ทำให้ผ่อนหนักเป็นเบาได้ หรือแม้แต่ผู้ที่เกิดมาเป็นลูกคนรวย เป็นผู้ที่ไม่เผชิญกับความจนก็ควรระวังหาวิธีป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ อย่าได้ประมาท เพราะว่าความยากจนนั้นเหมือนโจรที่มาปล้นความสุขของเราตลอดเวลา ฉะนั้นเราจึงต้องทำความรู้จักความจนหรือความยากจนเพื่อป้องกันไม่ให้มันคืบคลานเข้ามาสู่รั้วบ้านหรือหัวใจของเรา "ทฬิทฺทํ ทุกฺขํ โลเก" ความจนเป็นทุกข์ในโลก(พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๓๙๔,ย่อสั้นๆว่า. องฺ.ฉกฺก.๒๒/๓๙๔ )

                  จน ในหนังสือพจนานุกรมไทยได้อธิบายไว้ว่า จน (poverty) คือ ขัดสน ไร้ทรัพย์ แพ้ หมดทางเช่น จนตรอกไม่มีทางไป จนใจไม่มีทางคิด จนแต้มไม่มีทางเดิน จนมุมไม่มีทางหนี

ความจนแยกเป็นสองส่วนใหญ่ๆคือ

                    1.จนทรัพย์คือจนเพราะไม่มีทรัพย์ ยากจนและจนเพราะไม่พอ

                     2.จนความดี คือไม่มีความดีสมกับเพศภูมิของตนที่เป็นอยู่

                1.1 จนทรัพย์ บางคนคงรู้ฤทธิ์มันมาแล้วว่าเป็นอย่างไรบ้าง เริ่มแต่การใช้จ่าย กินอยู่ นุ่งห่มแสนจะฝืดเคือง สติปัญญาความคิดก็พลอยจะหดสั้นลงไปด้วย ตรงกับคำที่ว่า “ไร้ทรัพย์อับปัญญา”  กลายเป็นคนเจ้าทุกข์ ใจก็ไม่เบิกบาน หมดสง่าราศี ญาติมิตรก็ดูจะอัตคัดขัดสน เหมือนคำว่า ยามมั่งมีญาติมาก ยามตกยากญาติหมด” “ทุกข์เพิ่นบ่ว่าดี มีเพิ่นจั่งว่าพี่น้องลุงป้าเอิ้นว่าหลาน

          มีภาษิตโบราณที่ทุกคนเคยได้ยินกล่าวว่า

                              มีเงินนับเป็นน้อง  มีทองนับเป็นพี่

                              ยากเงินจนทอง    พี่น้องไม่มี

         โคลงสี่สุภาพอีกบทหนึ่งที่ผู้เขียนจำได้กล่าวไว้ว่า

                              โบราณวางหลักไว้       จำมา

                              ไร้ทรัพย์อับปัญญา       อัดอั้น

                              มีเงินมากพูดจา           เต็มปาก

                              เพราะสิ่งทั้งหลายนั้น    ย่อมสร้างด้วยเงินฯ 

                  ความยากจนยังเป็นมารคอยบันดาลให้คนเสียคนได้ง่าย ความจนทำให้คนบางคนหลงผิดไม่คิดทำมาหากินโดยสุจริต เพราะคิดผิดว่าหาเงินยากสู้ฉกชิงวิ่งราว ปล้นธนาคาร ร้านทอง ซึ่งรวยทันใจดีกว่าแต่แล้วก็ต้องไปนอนคุก และความจนนั้นทำให้คนบางคนมีหนี้สินรุงรังและกลายเป็นคนทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงหลอกลวงปล้นสะดมทั้งๆที่บางคนไม่อยากทำเช่นนั้นแต่ความจนบังคับให้ทำ  บางคนเมื่อจนมากๆเห็นโลกนี้ว่ามีแต่ความทารุณไร้เมตตาปรานีเกิดมามีแต่ความอาภัพวาสนาเลยจบชีวิตอย่างน่าอนาถก็มีมิใช่น้อย นี่แหละชะตาชีวิตของคนจนที่ใครๆพากันกลัวนักแต่ก็หนีกันไม่พ้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสาเหตุหลายอย่าง ในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย พระพุทธเจ้าตรัสสาเหตุแห่งความยากจนไว้ 4 อย่างคือ

                       1. เกิดจากความเกียจคร้าน

                       2. เกิดจากไม่รู้จักหาทรัพย์

                       3. เกิดจากมีมิตรชั่ว

                       4. เกิดจากไม่เข้าใจในการใช้จ่ายทรัพย์

                  ความเกียจคร้าน การไม่รู้จักหาทรัพย์ การมีเพื่อนชั่ว การใช้เงินไม่เป็น ในเหตุ 4 อย่างนี้ดูเหมือนว่าข้อสุดท้ายจะปฏิบัติกันได้ยาก เพราะโดยมากคนเรามักมีนิสัยสุรุ่ยสุร่ายไม่ค่อยประหยัด พอได้ทรัพย์มาแล้วก็ลืมตัว ลืมยากจน

                บางคนต้นเดือนเป็นเศรษฐี แต่พอปลายเดือนเป็นยาจก"ต้นเดือนเป็นเศรษฐี เลยวันที่สิบสี่เศรษฐีหายไป" "ต้นเดือนเป็นเศรษฐี หลังวันที่สิบสี่เป็นคนจนอีกรอบ"  "ต้นเดือนพอมีใช้ผ่านกลางเดือนไปหาใช้ไม่มี"  "ต้นเดือนมั่งมี หลังวันที่ยี่สิบสิบสี่มีมั่งไม่มีมั่ง" "ต้นเดือนพอมีใช้ ปลายเดือนมีไม่พอ" "ต้นเดือนเป็นเศรษฐี เล่นพนันบอลไม่ถึงปีชีวิตนี้ไม่เหลืออะไร" "ต้นเดือนเป็นเศรษฐี พอค้ำประกันให้เพื่อนคนนี้ชีวิตวุ่นวาย" "ทุกเดือนก็พอมีใช้แต่ใช้หนี้ กยศ.ทีไรไงดอกขึ้นทุกปี(ยังเหลือหนี้อีกตั้งหลายปี)"

         คนไทยเราทุกวันนี้ทั้งคนจนและคนมั่งมี รวมไปถึงพวกมีบ้างไม่มีบ้าง จะเป็นพวกรวยต้นเดือนพอถึงกลางเดือนปลายเดือนเหมือนจะขาดใจ ในสังคมเมืองไทยเป็นแบบนี้มาช้านาน บริหารการเงินไม่เป็น มักชอบกู้เงินเขาใช้ เพียงเพื่อให้ได้จำนวนเงินที่ต้องการเท่านั้น ไม่หวั่นไหวเรื่องดอกเบี้ยร้อยละ 10 หรือ 20 และใช้จ่ายฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย ข้าราชการมักนิยมกู้เงินมากที่สุด   คนที่สุรุ่ยสุร่ายแม้รายได้จะมากจนถึงขนาดเต็มปากถุงหรือเต็มกระเป๋า แต่ตราบใดที่ก้นถุงยังรั่วก็ตั้งตัวได้ยาก เพราะมีแต่รายรับกับรายจ่าย แต่ไม่มีรายเหลือ 

            การต่อสู้กับความยากจนนั้น ต้องสู้ด้วยความขยันหมั่นเพียร ประหยัดอดออม สะสมทรัพย์ที่หามาได้  ไม่นานนักก็จักพ้นจากความยากจนได้  โคลงโลกนิติอีกบทสอนไว้ว่า

                                 เห็นท่านมีอย่าเคลิ้ม         ใจตาม

                                 เรายากหากใจงาม           อย่าคร้าน

                                 อุตส่าห์พยายาม              การกิจ

                                 เอาอย่างเยี่ยงเพื่อนบ้าน     อย่าท้อทำกินฯ

                ยังมีสาเหตุอื่นๆที่ทำให้ยากจนเช่นหนักไปทางอบายมุข มัวเมาการพนัน ชอบเสพสุราเมรัยเกินขอบเขตตลอดจนมักมากในกาม บางทีความจนเกิดจากนิสัยสะเพร่า ของอะไรหายก็ไม่คิดติดตามหาโดยถือเสียว่าหมดหาใหม่หายช่างมัน เครื่องใช้ชำรุดนิดหน่อยก็ทิ้งไม่รู้จักซ่อมแซม ถ้าผู้ใดมีลักษณะเช่นนี้ทายได้ว่า ตั้งตัวได้ยาก ถึงจะรวยมาก่อนก็คุ้มทรัพย์ไว้ไม่ได้นาน ความสุขของเราชาวบ้านในแนวพุทธศาสนาคือความสุขเพราะมีทรัพย์สิน ใช้ทรัพย์พอเหมาะพอควร ไม่เป็นหนี้และมีงานที่สังคมยอมรับและไม่ผิดกฏหมายบ้านเมือง      

               

                ฉะนั้น ถ้าเรากลัวจนหรือเห็นภัยของความยากจน จึงควรรีบแก้ไขอย่าปล่อยไปชีวิตตามยถากรรม ชีวิตนี้ยังมีหวังเพราะยังไม่สายเกินไป “เมื่อจนได้ก็รวยได้" เป็นของคู่กัน  นักปราชญ์แนะหลักธรรมที่ทำให้ร่ำรวยไว้ 4 ข้อดังนี้

                         1. ต้องขยันทำงาน

                         2. ต้องรักษาทรัพย์ไว้ให้ปลอดภัย

                         3. ต้องเลือกคบคนดี

                         4. ต้องเข้าใจใช้จ่ายทรัพย์              

            นักปราชญ์ตั้งชื่อหลักปฏิบัติเหล่านี้ว่าหัวใจเศรษฐี และแนะว่าให้ท่องภาวนาอยู่เสมอแล้วจะร่ำรวย ความจริงที่ท่านแนะนำให้ท่องภาวนาเช่นนี้อาจเป็นเพราะมีจุดประสงค์ให้ลงมือปฏิบัติตามหลักธรรมทั้ง 4 ข้ออย่างจริงจัง จนกว่าจะได้ผลสมความมุ่งหมาย ขอให้เราลองท่องภาวนาหัวใจเศรษฐีนี้ทุกวันดูบ้างเผื่อได้ผลดังที่นักปราชญ์ท่านสอนไว้

                    1.2 จนเพราะไม่รู้จักพอ คือแม้ว่ามีทรัพย์มากเหลือล้นความรู้สึกก็ยังจนอยู่เสมอ จนแบบนี้ทำให้ใจดิ้นรนอยู่เป็นนิจ หาความสุขได้ยาก บางคนกินอยู่ใช้สอยอดๆอยากๆ มุ่งแต่จะสะสมท่าเดียว มีทรัพย์ก็เหมือนก้อนดินไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควรผลสุดท้ายก็ได้คล้ายน้ำหวานผึ้งที่สะสมไว้แล้วให้คนอื่นมาเอาไปกินสบายๆ จนชนิดนี้ต้องแก้ไขด้วยการทำใจให้รู้จักพอคือถ้าใจพอเพียงเมื่อไหร่ก็รวยเมื่อนั้น ดังคำประพันธ์ที่ว่า

                     ความไม่พอ ใจจน เป็นคนเข็ญ     พอแล้วเป็น เศรษฐี มหาศาล

                      จนทั้งนอก ทั้งใน ไม่ควรการ       จงคิดอ่าน แก้จน เป็นคนพอฯ

                    การแก้จนแบบรู้จักพอใจในสิ่งที่ตนมีนั้นไม่ใช่สอนให้งอมืองอเท้าแต่เป็นการสอนให้หาความสุขในทรัพย์สินที่มีอยู่ให้ได้เท่านั้น เพราะเราจะหาความสุขไม่เจอหรือได้ยากยิ่งถ้าเรามีความอยากได้เกินกว่าที่ควรจะได้ อยากได้เกินกำลังและอยากได้เกินควร 

                    2. จนความดี หมายถึงการมีความดีไม่พอหรือการไม่มีดีเท่าที่ควร

ความดีมี 2 ประเภทคือ

                     2.1 ดีโดยธรรมชาติได้แก่ รูปดี (รูปสวย รูปหล่อ) เสียงดี  เป็นต้น

                     2.2 ดีโดยคุณธรรมซึ่งต้องอาศัยการปฏิบัติบำเพ็ญขึ้นเช่น ความกตัญญู ความเมตตาปรานี เป็นต้น การที่เราต้องทำดีเพราะความดีเป็นเหตุให้เกิดความสุขความเจริญและสามารถดึงดูดสิ่งที่ดีงามมาอีกมากมายเช่น ทรัพย์ ยศ สรรเสริญและอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน คนดีใครๆก็ต้องการ อยู่ที่ไหนก็เป็นสิริมงคลที่นั่น 

                      ข้อสังเกตว่าอะไรคือความดีหรือไม่ดีมีมีอยู่ 2 อย่างคือ

                                 2.2.1 สิ่งที่ทำลงไปนั้นถูกต้องตามศีลธรรม

                                 2.2.2 สิ่งที่ทำลงไปนั้นเป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น

                ความดีมีมากมายแต่สิ่งที่เราควรทำให้มากที่สุดคือทำหน้าที่ให้ดี ใครมีหน้าที่อะไรก็ทำหน้าที่อันนั้นให้ดีที่สุด พ่อที่ดี แม่ที่ดี ลูกที่ดี ครูที่ดี ศิษย์ที่ดี พลเมืองที่ดี ช้าราชการที่ดีเป็นต้น จดจำไว้สั้นๆว่า “ เกิดมาเป็นคนอย่าให้จนความดี เกิดมาทั้งทีต้องมีดีติดตน 

                 ความจนทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นจนเพราะไม่มีหรือจนเพราะไม่พอ ตลอดถึงจนความดีล้วนเป็นทุกข์ทั้งนั้น เหตุนี้ผู้หวังความสุขจึงควรหาทางป้องกัน อย่าให้ความจนเกิดขึ้นได้หรือเมื่อเกิดขึ้นก็รีบกำจัดเสีย อย่าปล่อยไปตามยถากรรมเมื่อปฏิบัติได้เช่นนี้ชื่อว่าได้อาศัยอยู่ในโลกนี้อย่างมีความสุขตามอัตภาพที่เราทำได้

               ความจนที่ว่าเป็นทุกข์ในโลกจะผ่านพ้นไปได้เพราะ คนจนมักจะเป็นเดียวกับคนขี้เกียจสันหลังยาว ส่วนคนรวยมักมีประวัติว่าเป็นคนขยันขันแข็งเป็นนักต่อสู้มาอย่างโชกโชนแทบทุกคน ยกเว้นคนที่โชคดีมีมรดกพ่อแม่ยกให้ อย่าคิดท้อถอย อย่าคอยวาสนาอยู่เลยเพราะ โชควาสนาย่อมบังเกิดแก่ผู้พากเพียรเท่านั้น ดังพุทธพจน์ที่สอนว่า ปฏิรูปการี ธุรวา อุฏฺฐาตา วินฺทเต ธนํ คนมีงานจงหมั่นทำงานให้เหมาะสมกับหน้าที่ของตนย่อมหาทรัพย์ได้

                         

            เมื่อหาทรัพย์ได้แล้ว วิธีรักษาทรัพย์หรือออมทรัพย์นักปราชญ์แนะวิธีออมทรัพย์เรียงลำดับจากดีน้อยไปหาดีมากได้ดังนี้คือ

                     1. ฝากธนาคารไว้คือเมื่อได้เงินมาควรฝากธนาคารไว้เป็นการออมทรัพย์เบื้องต้นครบปีก็ยังมีดอกเบี้ยให้และถึงเวลาใช้ก็อาจเบิกมาใช้ได้ตามสมควรแต่อย่าใช้จนไม่เหลือ การฝากธนาคารแม้ว่าจะดีแต่ถ้าค่าเงินเฟ้อเงินจำนวนเท่าเดิมก็ยังอาจเหมือนเงินหายไปเพราะอาจซื้อของราคาที่สูงขึ้น แต่อย่าลืมตัวว่าเมื่อฝากได้ก็ถอนง่ายตู้ ATM มีทุกห้างสรรพสินค้าหรืออย่าหลงใช้บัตรที่ธนาคารเสนอบริการจนลืมคำว่า "ฝากนะไม่ใช้ถอน" อย่าเพลินจ่าย ท่องให้ขึ้นใจ

                                  

                     2. ซื้อทองคำไว้ คือเมื่อฝากเงินไว้ในธนาคารได้พอสมควรดอกเบี้ยอาจได้น้อยและอาจเกิดเงินเฟ้อได้ แต่การซื้อทองคำไว้เช่นทองคำแท่งเป็นทางหนึ่งที่ได้กำไรได้ดีแม้เกิดสงครามนำออกไปใช้ได้ทั่วโลกและราคาทองคำไม่คค่อยลงราคามีแต่ราคาสูงไปเรื่อยๆเช่นข้อมูลราคาทองคำปีพ.ศ. 2530 ราคาทองคำราคาบาทละ 6500 บาทเท่านั้นแต่ราคาทองคำปีนี้ (พ.ศ. 2553) ราคาบาทละ 18000 บาทหรือมากกว่าและนับวันจะสูงขึ้น "การซื้อทองคำจึงดีกว่าฝากธนาคาร" ควรซื้อทองคำแท่งจะดีกว่าทองคำรูปพรรณ หรือจะทำมาค้าขายก็ดูที่ความพร้อมของเรา

                           

                    3. ซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ไว้ คือถ้ามีทรัพย์มากควรซื้อที่ดินไว้ปลูกสร้างที่อาศัยหรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่างๆเช่นซื้อบ้านไว้อยู่อาศัย ซื้อที่ดินไว้ถ้าที่ดินมีมากก็ทำสวนไร่นา ทำสวนยางพารา ทำสวนส้ม ไร่มันสัมปะหลัง ทำตลาด ทำบ้านจัดสรรหรืออะไรก็สุดแต่ท่านจะคิดทำเพราะทุกสรรพสิ่งตั้งอยู่บนดิน ทรัพย์อยู่ในดินสินอยู่ในน้ำ ไฟไหม้ที่ดินยังเหลืออยู่

          

                     4. ทำประกันชีวิตไว้คือถึงคราวประสบอุบัติเหตุหรือตายก็พอจะมีเงินทำศพไม่ก่อความยากลำบากให้กับคนอยู่เบื้องหลัง ประกันชีวิตถ้าเงินมีน้อยไม่ควรเพราะอาจส่งเบี้ยประกันไม่ทัน ถ้ามีเงินมากจึงคิดทำประกันชีวิต และเมื่อคิดว่าสามข้อต้นท่านมีครบถ้วนก็ควรทำข้อที่สี่ได้ จะทำให้ไม่ขัดสน  ผู้มีปัญญาย่อมรู้สิ่งที่ควรและไม่ควรเอาตนพ้นจากทุกข์ได้ดั่งโคลงสี่สุภาพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีนิพนธ์ว่า

                                   ปัญญาเป็นทรัพย์ล้ำ    เลอเลิศ

                                   เป็นสิ่งอันประเสริฐ      ยิ่งล้น

                                   อาจก่อเกียรติช่วยเชิด   ชูชื่อ

                                   รู้จักนำตนพ้น             จากห้วงทุกข์กรรมฯ 

                                  

หมายเลขบันทึก: 405703เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2010 05:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 21:10 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ

สพฺพทานํ ธมฺมทาน ชินาติ

การให้ธรรมทาน ชนะการให้ทั้งปวง

อาจารย์น้องชาย เขียนได้ดีมาก ยกย่อง

สวัสดีพี่สาวคนดี

- ขอบคุณครับที่แวะมาทักทายให้กำลังใจแต่เช้าตรู่ (ปกติของพี่สาว)

- ขอบคุณในคำให้กำลังใจ จะเก็บเอาไว้ยิ้มตอนคิดถึงคำชม

- เขียนบล็อคมาสองสามปีได้แค่นี้แหละพี่สาว อยากเขียนให้ได้มากแต่บางครั้งชีวิตที่ห่างไกลเมืองเข้าเล่นเนตยากครับ

- อยากมีเรื่องทุกวันครับ จะพยายามสร้างเรื่องให้มากกว่านี้ (หาเรื่องมาเขียนครับผม ไม่ได้หาเรื่องฟ้องศาลนะครับกลัว)

-ขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์อำนวยพรให้พี่สาวและพี่เขยและหลานๆสุขภาพแข็งแรง

-ขอให้ผู้แวะมาอ่านและไม่อ่านมีงานทำ มีเงินใช้ มีเงินเก็บ

-ขอบคุณครับผม

ข้อมีคิดดีมากค่ะ

ความจนเป็นทุกข์ แต่ความอยากรวยที่ไม่สิ้นสุด เป็นทุกข์ยิ่งกว่า

-ขอบคุณ (ครูหยุย) ,พิกุล น้อยอามาตย์ ,สุทธดา ศรีไทย ที่แวะมาเยี่ยมชม

-บล๊อคยาวนิดครับ ระยะนี้ว่างๆเลยเขียนยาวหน่อย

-บทกลอนที่เป็นโคลงสี่สุภาพ เก็บหมาจากผู้รู้ประพันธ์

-ความไม่รู้จักพอก็อาจเป็นทุกกข์ได้จริงๆ ขนาดไปทอดกฐินยังมีปริศนาธรรมจากจระเข้ เตือนใจให้เรารู้ว่า จระเข้เป็นภัยในน้ำ บนบกอาจมีกิเลสในจิตใจเราคือความเห็นแก่กิน กินไม่เลือก ทำให้ให้เราเป็นจระเข้โดยนิสัย ชาติหน้าอาจเป็นสัตว์ปริศนาจากกบินก็ได้

-ภาพจระเข้ ด้านพระสอนพระให้ระวังความอยากฉันไม่รู้จักอดทน สำหรับชาวบ้านท่านคงสอนให้ภาพจรเข้สอนให้รู้จักเลือกกินเปอร์เซ็นต์จากทางวัดเอาแค่จากงบรัฐก็น่าจะพอ กินของสงฆ์ท่านว่าเป็นเปตรถ้าเป็นจริงก็น่ากลัว

-ภาพนางมีฉาก็เตือนพระให้ระวังอย่าไปหลงรักผู้หญิง คนชาวบ้านก็เตือนเราว่าอย่าเป็นคนครึ่งสัตว์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท