วิถีชีวิตคนลุ่มแม่น้ำ..ตอน "การยาเรือป้าบ"


ขั้นตอนการยาเรือป้าบ

รูปที่ 1 ชันบดละเอียด

รูปที่ 2 ปูนแดง

รูปที่ 3 น้ำมันยาง

รูปที่ 4,5 ขั้นตอนการผสมชันยาเรือ ใส่ปูนแดงลงไปก่อน (สมัยก่อนภาชนะที่ใช้จะเป็นกะลามะพร้าวค่ะ)

รูปที่ 6,7 ผสมน้ำมันยางกับปูนแดงให้เข้ากัน

รูปที่ 8-10  จากรูปที่ 7 ผสมชันบดเข้าไปแล้วคนให้หมาดได้ที่พร้อมยาเรือ

รูปที่ 11 ก่อนจะยาเรือ นำน้ำมันยางทาบนเนื้อไม้ก่อน เพื่อให้เนื้อชันติดเนื้อไม้

รูปที่ 12 นำชันที่ผสมอุดตามร่องไม้ (แล้วใช้มือพอกให้เนียน)

รูปที่ 13 เรือที่ยาเสร็จจะมีลักษณะแบบนี้ ทิ้งให้แห้งแล้วนำเรือมาใช้ได้เลยค่ะ เรือจะไม่รั่ว น้ำไม่เข้าท้องเรือค่ะ

นี่คือ..วิถีชีวิตคนลุ่มแม่น้ำ

                คนอยุธยาแท้ๆต้องว่ายน้ำเป็น ต้องคุ้นเคยกับแม่น้ำ พอถึงหน้าน้ำต้องลงข่ายหาปลาเป็น ต้องทำปลาได้ ทำอาหารจากปลาได้ และต้องมีรสชาติอร่อยด้วย ที่สำคัญต้องมีใจเป็นนักเลง เหมือนคำพูดที่ว่า  “เป็นการง่ายยิ้มได้ไม่ต้องฝืน เมื่อชีพชื่นเหมือนบรรเลงเพลงสวรรค์ แต่คนที่เขาชื่นชมนิยมกัน ต้องใจมั่นยิ้มได้เมื่อภัยมา”  หมายถึง ต้องสบายๆกับชีวิต ไม่คิดเล็กคิดน้อย ไม่คิดมาก ไม่กลัวความทุกข์ ต้องกล้าหาญเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคโดยไม่เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่โตอะไร คือไม่คิดว่าความทุกข์ลำบากของเรามันสำคัญที่สุด เราเป็นแค่เงาและผงธุรีของโลกใบนี้  พ่อของโอ๋ชอบพูดให้ฟังบ่อยๆ แต่โอ๋เกิดที่กรุงเทพ โตที่กรุงเทพไม่มีคลองให้ว่ายน้ำเลยว่ายน้ำไม่เป็น พ่อก็บ่นมาจนทุกวันนี้ว่าเสียชาติสายเลือดอยุธยาหมด แต่ความรู้เกี่ยวกับสายน้ำ เรือ และการพายเรือ โอ๋ก็พอมีวิชาติดตัวมาบ้าง แปลกเน๊อะว่ายน้ำไม่เป็นแต่พายเรือเป็นแล้วก็ยาเรือเป็นด้วย เดี๋ยวมาดูกันว่าการยาเรือเขาทำกันอย่างไร

การยาเรือ

อุปกรณ์ที่จำเป็นต้องมี

เรือไม้ (ที่นิยมใช้ตามบ้านเรือนริมน้ำ ได้แก่ เรือป้าบ เรือสำปั้น เรือบด เรือหมู เรือมาด )

  1. น้ำมันยาง
  2. ชัน
  3. ปูนแดง

ส่วนวิธียา

                เรือป้าบลำนี้ขนาด 8 ศอก หรือ 2 วา ซึ่งส่วนใหญ่เรือเขาจะมีหน่วยวัดเป็นศอก

ขั้นตอนการยาเรือ

  1. นำปูนแดงที่ใช้กินกับหมากนี่แหละค่ะ มาผสมกับน้ำมันยาง แล้วคนให้ปูนแดงละลายในน้ำมันยากก่อน
  2. จากนั้นให้นำชันบดละเอียดผสมเข้าไป ตรงนี้จะยากเพราะต้องผสมให้หมาดพอดี ถ้าเหลวไปเวลาไปยาจะไม่แห้ง และถ้าข้นไปเวลาไปยาจะไม่ติดเนื้อไม้ค่ะ
  3. เมื่อผสมเสร็จแล้ว เราเรียนกว่า ชันยาเรือ เราจะนำชันนี้ไปอุดตามรูรัวต่างตามท้องเรือและตามร่องระหว่างรอยต่อไม้ ต้องใช้มือเท่านั้น หยิบเนื้อชันทาลงไปบนท้องเรือตามร่องแล้วใช้นิ้วของเราดันเนื้อชันลงไปตามร่อง และพอกด้านนอกให้เนียน
  4. เมื่อยาเรือเสร็จคือ อุดร่องได้ทั้งลำเรือแล้ว เพื่อให้แน่ใจว่าเรือจะไม่รั่ว
  5. ต้องทำการพอนเรือ การพอนเรือ คือ นำชันที่เราผสมแล้วตามข้อ 2 นั้น ผสมน้ำมันยางเข้าอีกให้เหลวขึ้นแล้วพอกไปทั้งตัวเรือ เป็นการรักษาเนื้อไม้และทำให้เรือไม่รั่วค่ะ
หมายเลขบันทึก: 405626เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2010 16:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาเยี่ยมชมผลงานและ ให้กำลังใจครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท