Training Academy (ศูนย์ฝึกอบรม)


สถานประกอบการจะต้องดำเนินการคือ การยกย่อง ให้เกียรติ และพัฒนาผู้สอนให้มีความรู้และทักษะในการสอนที่เพิ่มขึ้น เปิดโอกาสให้ผู้สอนเหล่านั้นได้เปิดโลกทัศน์ เห็นสิ่งที่แตกต่างและสิ่งที่ดีกว่าด้วยการพาไปดูงานส่งไปเข้ารับการสัมมนาอยู่เนืองๆ และสำคัญที่สุดคือการรักษาไว้ (Keep) ซึ่งบุคคลเหล่านั้นให้อยู่กับองค์กรให้ได้นั่นเอง

Training Academy (ศูนย์ฝึกอบรม)

Training =   การศึกษา การอบรม 

Academy = โรงเรียน สำนัก สถาบันการศึกษา

          Training Academy คือสถานที่ ที่ใช้สำหรับการเรียนรู้และฝึกอบรม ทั้งความรู้และทักษะ (Skill) เพื่อสนองต่อการทำงานในองค์กร เป็นการพัฒนาทั้งองค์กรและบุคลากร บางแห่งก็ใช้คำว่า Training Center คือศูนย์การเรียนรู้ขององค์กร

“การฝึกอบรมฝีมือแรงงาน” หมายความว่า การฝึกเตรียมเข้าทำงาน การฝึกยกระดับฝีมือแรงงานและการฝึกเปลี่ยนสาขาอาชีพ

 “การฝึกเตรียมเข้าทำงาน” หมายความว่า การฝึกอบรมฝีมือแรงงานก่อนเข้าทำงาน เพื่อให้สามารถทำงานได้ตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน

 “การฝึกยกระดับฝีมือแรงงาน” หมายความว่า การที่ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นนายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้ฝึกอบรมฝีมือแรงงานเพิ่มเติมในสาขาอาชีพที่ลูกจ้างปฏิบัติงานอยู่ตามปกติ เพื่อให้ลูกจ้างได้มีความรู้ความสามารถและทักษะในสาขาอาชีพนั้นสูงขึ้น

 “การฝึกเปลี่ยนสาขาอาชีพ” หมายความว่า การที่ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นนายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้ฝึกอบรมฝีมือแรงงานเพิ่มเติมในสาขาอาชีพอื่นที่ลูกจ้างมิได้ปฏิบัติงานอยู่ตามปกติ เพื่อให้ลูกจ้างได้มีความรู้ความสามารถที่จะทำงานในสาขาอาชีพอื่นนั้นได้ด้วย

          ขอบข่ายคือ สถานประกอบการที่มีพนักงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป [1]

          หลายต่อหลายสถานประกอบการเริ่มเล็งเห็นประโยชน์ของการพัฒนาบุคลากร ของตนเอง แม้ว่าจะมี พระราชบัญญัติ พัฒนาฝีมือแรงงาน และมีกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานไว้สำหรับเก็บค่าปรับในกรณีที่สถานประกอบการไม่ได้ดำเนินการพัฒนาฝีมือแรงงาน ตามที่ พรบ. กำหนด

          แม้ว่าจะมีสถานประกอบการบางแห่งยอมที่จะจ่ายค่าปรับก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่เขาก็บอกว่าไม่อยากได้ค่าปรับ แต่อยากที่จะให้สถานประหกอบการพัฒนาฝีมือแรงงานหรือการจัดการฝึกอบรมให้กับแรงงานมากกว่า เพื่อต้องการให้แรงงานมีฝีมือ ทักษะ (SKILL)  ส่วนหนึ่งเพื่อให้ตัวของพนักงานมีความก้าวหน้า (Grow) มั่นคง (Stability) ในหน้าที่การทำงาน อีกส่วนหนึ่ง ทำให้เกิดการสร้างผลผลิต (Product) ที่ดี มีคุณภาพ (Quality) และปริมาณ (Quantity) ตามที่ลูกค้าต้องการ เป็นการสร้างความเชื่อมั่น (Believe) ให้กับลูกค้าและเพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการจากลูกค้า และเพื่อให้ลูกค้าได้รับสิ่งที่ดีที่สุดจากเราทั้งสินค้าและบริการ (Product & Service)

          การจัดตั้ง Training Academy หรือ Training Center นั้นเป็นการลงทุนที่ไม่ได้ผลกำไร (Profit) เป็นรูปธรรม หากแต่ต้องเสียบุคลากร ที่จะต้องมาเป็นผู้ฝึกสอน (Trainer) และเสียบุคลากรที่ต้องเข้ารับการฝึกสอน (trainee) อาจส่งผลให้กระบวนการทางด้านการผลิตติดขัด ไม่สะดวกลื่นไหล เพราะอัตรากำลังไม่ครบถ้วน อีทั้งยังต้องเสียเงินเพื่อการซื้อ เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ ต่างๆ ที่จำเป็น สำหรับการฝึกอบรม และการส่งครูผู้ฝึก ไปเรียนรู้แนวทางวิทยาการในการสอนอี ซึ่งมองเผินๆ แล้ว มีแต่เสีย ไม่มีได้ แล้ว

ทำไมสถานประกอบการจึงมีการขออนุมัติจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมกันเป็นจำนวนมาก?

          การเรียนการสอนในสถานศึกษา ที่มอบวิชาความรู้ให้กับนักศึกษาก่อนที่จะมาเป็นพนักงาน นั้นไม่เพียงพอ หรือไม่ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการหรือไร?

          ปัจจุบันการเรียนการสอนในสถานประกอบการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปมาก จากที่เคยทำ Training survey เพื่อค้นหาความต้องการในการฝึกอบรมของแต่ละหน่วยงาน ที่อยากรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ส่วนมากไม่อยากรู้เรื่องที่ตนเองกำลังทำอยู่ บอกว่าเป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่าย เพราะทำงานในเรื่องนั้นๆ แล้วยังมาฟังการบรรยาย หรือเรียนรู้ในเรื่องนั้นๆ อีก จึงอยากรู้เรื่องใดก็ได้ที่ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน จึงทำให้การสำรวจ (Training survey) นั้นได้มาแต่เพียง Training want เท่านั้น ไม่เคยได้รับ Training Need เลยสักครั้ง

          เมื่อจำเป็นต้องทำ

จำเป็นต้องจัดการสอน

          จำเป็นต้องให้มีการเรียน

          จากเดิมที่มีการเรียนการสอนแบบ อะไรก็ได้เท่าที่อยากรู้ ก็ดำเนินการกันไป จนกระทั้งพัฒนามาเป็นการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับงานมากขึ้น เพื่อเพิ่มทักษะ (Skill) อย่างจริงจังและเป็นระบบมากขึ้น

          การฝึกอบรมมีผลมาจากอะไรบ้าง และเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง และการพัฒนาอย่างไร

          1. ระบบการบริหารส่งผลให้มีการอบรม

                   องค์กรมีแนวทางการบริหารงานที่ต้องการผลกำไรที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปีตามทิศทางของเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป จึงมีการกำหนดเป้าหมายขององค์กรไว้และแต่ละหน่วยงานก็ต้องกำหนดเป้าหมายของหน่วยงานเพื่อให้สอดคล้องกับองค์กร และการดำเนินการหรือการบอกถึงทิศทาง แนวทาง วิธีการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของทุกหน่วยงานนั้น การใช้ช่องทางด้านการฝึกอบรมจึงมีความสำคัญมาก เพื่อให้เกิดความสามารถในการดำเนินการ “การฝึกอบรมก็เกิดขึ้น” ในองค์การทั้งการอบรมภายใน (In house) และการส่งบางคนออกไปอบรมภายนอก (Public)

 

 

          2. สภาพหรือสภาวะขององค์กรส่งผลด้านการอบรม

                   องค์กรอาจอยู่ในสภาวะหนึ่งที่ไม่สามารถรับบุคคลากรตามที่ต้องการได้ จึงต้องรับบุคลากรเข้าทำงานตามสภาพ ภูมิประเทศ สภาพความรู้ ความสามารถ ตามที่มีอยู่ อีกทั้งความสามารถในการรับรู้ และการเรียนรู้ไม่ดีมากเท่าไหร่นัก ฉะนั้นการจัดโปรแกรมการฝึกอบรมจึงต้องคำนึงถึง ลักษณะการรับได้ของผู้เรียนเป็นสำคัญเพราะว่า ถึงแม้ว่าจะมีโปรแกรมที่เลิศหรู หรืออาจารย์ที่ดีเยี่ยมแค่ไหนก็ตามถ้าหากพนักงานหรือผู้เรียนไม่สามารถรับได้ ก็ไม่สามารถถือได้ว่าเป็นการอบรม นั่นหมายถึงว่า สถานประกอบการต้องจัดโปรแกรมและกลยุทธ์ในการสอน เพื่อให้การเรียน การสอนนั้นประสบความสำเร็จ โดยคำนึงถึงวิธีการและเทคนิคการสอน นั่นเอง

          3. วิธีการฝึกอบรมเพื่อประสิทธิผล ส่งผลด้านการอบรม

                   การฝึกอบรมนั้นเป็นการนำทฤษฎีมาถ่ายทอดเพื่อให้เกิดเป็นการปฏิบัติที่สามารถทำได้จริง แม้กระทั้งการรับแนวคิด นโยบาย หรือคำสั่งจากผู้บริหารระดับสูงมาเพื่อการนำไปสู่การปฏิบัติจริงนั้นก็ควรจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและระมัดระวัง ผู้สอนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องควรรู้ถึงเทคนิควิธีการอย่างดีที่สุด และการเรียนนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดควรตระหนักถึงข้อดี (ประสิทธิผล) ข้อเสีย (ข้อจำกัด) ของเทคนิคต่างๆ ให้ดีด้วย สิ่งสำคัญคือการศึกษาสถานที่จริง รู้สึกถึงข้อดีข้อเสียด้วยตนเองไม่หลงเชื่อคำเชียร์ขายของบุคคลภายนอก เพราะธุรกิจ ผู้นำเสนอหรือผู้ขายย่อมต้องการที่จะขายจึงอาจอวดอ้างสรรพคุณต่างๆ นานาให้หลงเชื่อได้ ควรไปดูของจริงสักครั้งเพื่อการตัดสินใจว่าเทคนิคเหล่านั้นใช้กับเราได้หรือไม่ เพราะ ราคาที่แพงอาจไม่ใช่ของดี หรือไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมกับเราเสมอไป

          4. อำนาจของฝ่ายฝึกอบรมนำไปสู่แผนการที่เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรม

                   ฝ่ายฝึกอบรมหรือหน่วยงานฝึกอบรมนั้นควรรู้ว่าตนเองอยู่ตรงไหนขององค์กร มีอำนาจหน้า หน้าที่แค่ไหน ไม่ควรตัดสินใจโดยใช้ความรู้สึกของตนเองเป็นหลักในการจัดการด้านการฝึกอบรมและบางงานอาจเกินกำลังความสามารถของฝ่ายฝึกอบรมก็เป็นได้ ซึ่งอาจได้รับการโต้ตอบในแง่ลบได้ ซึ่งไม่ใช่ผลดีในการพัฒนาบุคลากร เพราะฝ่ายฝึกอบรมย่อมเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติงานอย่างมีชั้นเชิงเป็นอันดับแรกขององค์กร และการทำงานได้ในทุกอย่างของแต่ละคนในฝ่ายฝึกอบรมก็มีความจำเป็นและสำคัญมากเพื่อเป็นการสร้างศักยภาพของหน่วยงาน เพราะถ้าหน่วยงานฝึกอบรมมีช่องว่างมาก หรือมีจุดผิดพลาดมาก จะทำให้เกิดความมั่นใจแก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้อย่างไร ว่าการฝึกอบรมนั้นจะมีประสิทธิภาพที่ดีได้จริง [2]

          ทั้ง 4 ข้อนี้เป็นการกระทำเพื่อให้เกิดการพัฒนาความสามารถในการทำงาน ถึงแม้ว่าจะไม่มีการเรียนการสอนที่เป็นรูปแบบทางการแต่การเรียนรู้ก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องในการปฏิบัติการจริงอยู่แล้วแต่ จะเป็นในลักษณะค่อยเป็น ค่อยไป ซึ่งต้องใช้เวลานานมากในการทำให้เกิดทักษะ (Skill) ในการทำงาน การเรียนการสอนที่เป็นทางการ ด้วยศูนย์ฝึก จะเป็นส่วนที่เพิ่มทักษะของผู้ปฏิบัติการแบบก้าวกระโดด ซึ่งต้องระวังในข้อจำกัดทั้งในส่วนของผู้เรียน และผู้สอนด้วย

          สิ่งที่พบในการตั้งศูนย์ฝึกส่วนมาก

          เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ วัสดุ วัตถุดิบ เป็นสิ่งที่สถานประกอบกิจการสามารถคัดสรรมาได้ด้วยศักยภาพของงบประมาณขององค์กร การจัดตั้งศูนย์ฝึกให้เป็นไปตามกฎระเบียบปฏิบัติก็สามารถดำเนินการได้ ด้วยศักยภาพของหน่วยงานฝึกอบรมหรือหน่วยงานพัฒนาบุคลากรที่มีอยู่ในแต่ละสถานประกอบการอยู่แล้ว แต่ก็ อดไม่ได้ที่จะพบปัญหาที่เกิดขึ้นในศูนย์ฝึกอบรมที่กำลังดำเนินการเป็นส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้

          1. เครื่องจักรที่อยู่ในศูนย์ฝึกแตกต่างจากที่ปฏิบัติจริงในสายการผลิต เช่น คนละรุ่นที่ห่างกันมากจนทำให้ไม่สามรถช่วยให้การเรียนการสอนประสบความสำเร็จและเกิดทักษะได้ เป็นต้น และการขาดความรู้ของผู้รับผิดชอบว่า เครื่องจักรประเภทใดเป็นเครื่องจักรที่เป็นการสร้างงานหลักให้กับองค์กร และเหมาะสมที่ควรจะมีไว้เพื่อการพัฒนาบุคลากร

          2. อุปกรณ์ เครื่องมือและวัสดุที่ใช้ในศูนย์ฝึก เป็นการดัดแปลงมาเพื่อเป็นการสอน ทำให้ด้อยประสิทธิภาพ และด้อยคุณภาพในการสอน ทำให้ไม่สามารถบรรลุถึงผลที่จะเกิดการสร้างคุณภาพและประสิทธิภาพการสอนที่ดีได้

เพราะไม่สามารถบ่งชี้ถึงจุดสำคัญ ข้อควรระวัง ในการทำงาน อีกทั้งยังไม่ทำให้เกิดการสนับสนุนในเรื่องความปลอดภัยในการทำงานด้วย [3]

          3. ผู้สอน  เป็นสิ่งที่หลายสถานประกอบการมีความต้องการผู้สอนที่สามารถในการสอน และเข้าใจในวัฒนธรรมของงานและจารีต ประเพณีขององค์กร ซึ่งผู้ที่ถูกคัดสรรมานั้นก็คือหัวหน้างานที่มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานที่เป็นชั้นเลิศขององค์กร แต่ผู้สอนเหล่านั้น ไม่รู้ว่าจะสอนอย่างไร ไม่รู้จะพูดอย่างไรให้ผู้เรียนเข้าใจ และไม่เข้าใจในความต้องการที่แท้จริงขององค์กรว่าต้องการอะไร หากแต่เข้าใจว่าเป็นการเพิ่มภาระให้กับหัวหน้า จึงเกิดการไม่ยอมรับ และเกิดการต่อต้านกับศูนย์ฝึก

          4. คู่มือและหลักสูตรการเรียนการสอน การตั้งศูนย์ฝึกแล้วไปนำเอาหลักสูตร วิชาต่างๆที่คิดว่า น่าจะเกี่ยวข้องกับงานขององค์กร จากสถานศึกษาหรือแหล่งความรู้อื่นๆ ที่น่าเชื่อถือ มาใช้ทั้งหมดอย่างเต็มรูปแบบ อาจทำให้ไม่ตรงกับแนวทางหรือวิธีการเดิมที่เป็นจุดแข็งขององค์กรอยู่แล้ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ด้อยลง จนทำให้เกิดการต่อต้านของผู้เรียนและหัวหน้างาน ด้วยไม่มีคู่มือหรือหลักสูตรที่เป็น ความรู้ขององค์กร (Knowledge management)

          5. การตั้งศูนย์ฝึกเพื่อวัตถุประสงค์ที่แอบแฝง ไม่ได้จัดตั้งเพื่อการพัฒนาบุคลากรของตนเองอย่างแท้จริงหากแต่มีวัตถุประสงค์อื่นซ่อนเร้นอยู่ในที ทำให้การเรียนรู้และการพัฒนาบุคลากรเกิดการ ชะงัก ขาดตอน หรือไม่มีการพัฒนา อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดปัญหาในกระบวนการหรือสายการผลิต ทั้งด้านคุณภาพ (Quality) ปริมาณ (Quantity) และระยะเวลา อาจส่งผลถึงความเฉื่อยในการทำงานด้วยขาดแรงกระตุ้น

          ดังนั้นการจัดทำศูนย์ฝึกอบรม จึงต้องดำเนินการทั้งสอง หรือสามทางพร้อมๆ กันแบบคู่ขนาน ทั้งการสร้างสถานที่สำหรับฝึก (Training Shop) การสรรหาและสร้างศักยภาพของผู้ฝึก (Trainer) และการค้นหาความจำเป็นของการฝึก (Training need) เพื่อสร้างเป็นหลักสูตรของตนเองเพื่อการจัดการความรู้ (Knowledge management)

          สุดท้ายที่สถานประกอบการจะต้องดำเนินการคือ การยกย่อง ให้เกียรติ และพัฒนาผู้สอนให้มีความรู้และทักษะในการสอนที่เพิ่มขึ้น เปิดโอกาสให้ผู้สอนเหล่านั้นได้เปิดโลกทัศน์ เห็นสิ่งที่แตกต่างและสิ่งที่ดีกว่าด้วยการพาไปดูงานส่งไปเข้ารับการสัมมนาอยู่เนืองๆ และสำคัญที่สุดคือการรักษาไว้ (Keep) ซึ่งบุคคลเหล่านั้นให้อยู่กับองค์กรให้ได้นั่นเอง

 

 

 

 

 


[1] พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545

[2] เทคนิคการสอน(การฝึกฝนเพื่อเป็นอาจารย์) DENSO AHRDP สถาบันยานยนต์

[3] วิธีสอนงาน TWI JI, AHRDP สถาบันยานยนต์

หมายเลขบันทึก: 405431เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2010 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 11:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท